'ดร.สุวินัย'วิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19จะเดินไปทิศทางไหน


เพิ่มเพื่อน    

22 เม.ย.2563 -  ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย โพสต์เฟซบุ๊กอย่างยาววิเคราะห์ถึงสถานการณ์โควิด-19 มีเนื้อหาว่า จากเพจของคุณกานต์ ยืนยง ผมตัดสินใจลำบากเหมือนกันที่จะโพสต์รายงานฉบับนี้ คิดอยู่หลายตลบเหมือนกันด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่ในที่สุดผมก็ตัดสินใจว่าก็คงจำเป็นที่จะต้องพูดถึง

1.ผมเคยพูดว่าสงครามกับโรคระบาดโควิด-19 เป็นสงครามยืดเยื้อ (protracted war) หมายถึงมันจะไม่สิ้นสุดโดยง่ายในห้วงเวลา 1-2 เดือน โรคระบาดไข้หวัดสเปนเกิดการระบาดสามระลอกคร่าชีวิตคนไปอย่างต่ำ 17 ล้านคน ส่วนเชื้อโคโรนาไวรัสในปัจจุบันเกิดการกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่อินเดียมีลักษณะพันธุกรรมที่ต่างไปจากสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดขณะนี้มาก และมีแนวโน้มที่จะทำให้วัคซีนที่เร่งค้นคว้าตอนนี้อาจไม่สามารถใช้งานได้ (ดูงานวิจัยเรื่องนี้ได้ที่ https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2020.04.09.034942v1 และ https://www.medrxiv.org/conte…/10.1101/2020.04.14.20060160v1 ; ทั้งสองงานวิจัยนี้เป็น non-peer reviewed / Preprint) ที่เคยคิดว่าโรคระบาดนี้จะสิ้นสุดภายใน 12 - 24 เดือนเนื่องจากสามารถค้นพบวัคซีนใหม่ได้ จึงอาจจะไม่จริง เพราะต่อให้วัคซีนผ่านขั้นตอนสุดท้ายในการทำ clinical trial ก็อาจจะไม่ทันต่อการกลายพันธุ์ครั้งใหม่ ๆ ในไวรัส ซึ่งความสามารถในการกลายพันธุ์ของไวรัสนี้มีลักษณะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ ที่ทำให้ไม่สามารถใช้วัคซีนป้องกันได้อย่างได้ผล

2.มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าปัจจัยเรื่องการใช้หน้ากากอนามัยไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดในการหยุดยั้งการระบาดของโรค (ดูงานวิจัยเรื่องนี้ได้ที่นี่ https://www.medicalnewstoday.com/…/new-study-questions-the-… ; ความจริงเป้าหมายในการใช้หน้ากากอนามัยไม่ใช่เพื่อป้องกันไม่ให้รับเชื้อ แต่มีวัตถุประสงค์ในการลดโอกาสผู้ติดเชื้อแต่ไม่รู้ตัวว่าเป็นพาหะไม่ให้แพร่กระจายเชื้อออกไปเพิ่มขึ้น) แต่ปัจจัยชี้ขาดในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดคือเรื่องการทำการชะงักเมือง (city lockdown) และการวางระยะห่างทางสังคม (social distancing) รวมทั้งการตรวจค้นและแยกผู้ป่วยที่มีอาการออกมากักกันเอาไว้เป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 14 วัน (ทั้ง state quarantine และ volunteering quarantine) ซึ่งถือเป็นเวลาครอบคลุมช่วงระยะฟักตัวของเชื้อ ยิ่งทำมาตรการเหล่านี้เร็วขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งได้ผลป้องกันความเสียหายได้มากเท่านั้น แต่วิธีนี้ยังมีปัญหาอยู่ ผมจะชี้ในข้อต่อไป

3.อเมริกาเป็นประเทศที่เสมือนยักษ์หลับ เครื่องเดินช้า แต่เมื่อลุกตื่นขึ้นมาแล้ว จุดเครื่องติด ก็มักจะสร้างการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้เสมอ เหมือนสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเริ่มต้นของสงครามดูเสมือนหนึ่งว่าอเมริกาเสียเปรียบต่อฝ่ายอักษะ โดยเฉพาะญี่ปุ่นในสมรภูมิแปซิฟิก แต่เมื่ออเมริกาตั้งหลักได้ และระดมทรัพยากรอย่างเต็มที่ เศรษฐกิจสงครามของอเมริกาเหนือกว่าญี่ปุ่นอย่างมาก เทคโนโลยีที่ดูล้ำหน้าในตอนแรกของญี่ปุ่น อย่างการลดน้ำหนักเครื่องบินซีโร่ ทำให้สร้างความได้เปรียบเรื่องความคล่องตัวในระยะแรกของสงครามในที่สุดก็ไม่สามารถไล่กวดทันการสร้างนวัตกรรมของสหรัฐอเมริกาในระยะหลังได้ ระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกจากผลการระดมเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์หัวกระทิในโครงการแมนฮัตตันเป็นข้อพิสูจน์อย่างดีในเรื่องนี้

เรื่องโรคระบาดครั้งนี้ก็เช่นกัน ก็จำต้องประเมินสถานการณ์ในระยะยาว ผมเฝ้าติดตามโครงการ P3 (The Pandemic Prevention Platform) ของ DARPA มาโดยตลอด ในช่วงแรกก็รู้สึกแปลกใจอยู่เหมือนกันว่า ถ้าอเมริกามีเทคโนโลยีที่อยู่ในชั้นแนวหน้าขนาดนี้ ทำไมถึงปล่อยให้มียอดผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตมากขนาดนี้ได้ (ตอนนี้คือเป็นยอดผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดในโลก)

ในความเป็นจริง การดำเนินนโยบายของอเมริกามีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะในปัจจุบันการเมืองอเมริกามีลักษณะแบ่งขั้วอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งมีฐานเสียงส่วนหนึ่งอิงอยู่กับพวกทฤษฎีสมคบคิด และพวกมีแนวโน้มต่อต้านวิทยาศาสตร์ ต่อต้านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ โดยเชื่อว่าเป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการ อาทิเช่น ต่อต้านเรื่องโลกร้อน ต่อต้านการใช้วัคซีนเป็นต้น นอกจากนี้ก็มีข้อสงสัยและต่อต้านการทำนโยบาย surveillance ในรูปแบบต่าง ๆ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ลำพังข้อจำกัดเหล่านี้ก็บดบังศักยภาพการตัดสินใจเรื่องนโยบายมากพออยู่แล้ว ทั้งนี้ยังไม่รวมการประเมินต่ำต่อสถานการณ์และการขาดความเข้าใจของตัวประธานาธิบดีทรัมป์เอง ยิ่งถ้าไม่สามารถสะสมโมเมนตัมทางการเมืองได้มากพอหรือไม่ใช่สถานการณ์ที่สุกงอมพอ ต่อให้เป็นประธานาธิบดีที่มีความนิยมสูงกว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็ยังดำเนินนโยบายอย่างเช่นการชะงักเมืองเหล่านี้ในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโรคได้อย่างยากลำบาก

โครงการ P3 ยังมีช่องโหว่ในช่วง 60 วันแรก (ซึ่งในห้วงเวลานี้จำเป็นที่ผู้นำต้องใช้นโยบายที่เข้มงวดเพื่อสะกัดกั้นการระบาดดังที่ระบุไปข้างต้น) เพราะที่ห้องทดลองจำเป็นจะต้องได้รับสารพันธุกรรมตัวอย่างในปริมาณมากพอ แล้วหลังจากนั้นก็ผลิต วัคซีน แอนติบอดี ชุดทดสอบ ฯลฯ แล้วต้องรอผ่านขั้นตอนการทำ clinical trial จนมีความปลอดภัยพอ แล้วรอการอนุมัติให้ใช้งานได้ในคนทั่วไปจาก FDA ที่สำคัญโครงการ P3 มีการใช้เทคโนโลยีและแนวคิดสมัยใหม่ อย่างกรณีการสร้างชุดทดสอบไม่ใช่ใช้เทคนิคแบบ RT-PCR ซึ่งคนคิดเทคนิคแบบ RT-PCR ได้ก่อนคือแล็ปในเยอรมนีแล้วในภายหลัง WHO ได้ตรวจสอบแล้วรับรองให้สามารถใช้เป็นมาตรฐานได้ทั่วโลก (ดูข้อมูล https://www.eurosurveillance.org/…/1560-7917.ES.2020.25.3.2…) แต่เทคโนโลยีใหม่นี้ ใช้ความสามารถของ CRISPR CAS-13 ในการแยกสารพันธุกรรมออกมาตรวจสอบ ระยะเวลาการทดสอบจะใช้เวลาสั้นกว่า RT-PCR และมีต้นทุนต่ำกว่า (งานวิจัยอีกชิ้นใช้ CRISPR CAS-12 ดูที่ https://www.nature.com/articles/s41587-020-0513-4) ส่วนเรื่องการใช้ยารักษา (therapeutic) จากแอนติบอดี การผลิตวัคซีน ทั้งชั่วคราวออกผลระยะสั้นและถาวร ต่างก็ล้วนใช้เทคโนโลยีใหม่ล้ำหน้าทั้งสิ้น อย่างเดิมทีระยะเวลาในการผลิตวัคซีนเหล่านี้ต้องใช้เวลาราว 10 ปี ใช้เงินลงทุนนับพันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ย่นเวลาให้สั้นลงมาก อย่างที่เราเห็นว่าระยะเวลาเป้าหมายลดลงมาเหลือเพียง 12 - 18 เดือนเท่านั้น หรืออาจจะเร็วกว่านั้นอีก ที่สำคัญเทคโนโลยีเหล่านี้ผ่านการทดสอบกับการใช้งานมากับการระบาดของไวรัสอีโบลามาแล้ว จึงไม่ใช่การลองผิดลองถูก แต่เป็นการหวังผลอย่างแท้จริง การใช้ยารักษาจากแอนติบอดี กับวัคซีนชั่วคราวมีเป้าหมายเพื่อเจาะจงใช้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อป้องกันการติดต่อจากโรคระบาด จึงได้อีกชื่อหนึ่งว่า "การสร้างแนวกันไฟ" (firebreak technology)

4.วิธีคิดของ P3 ไม่ใช่เกิดขึ้นมาเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นวิธีคิดที่มีจุดมุ่งหมายในการ "ต่อต้านภัยคุกคามทางชีวภาพ" ไม่ว่าจะเกิดจากสงครามชีวภาพและการก่อการร้ายชีวภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข้อเสนอของกลุ่มที่ปรึกษา JASON (BIOTECHNOLOGY: GENETICALLY ENGINEERED PATHOGENS) โปรดดู https://apps.dtic.mil/dtic/tr/fulltext/u2/a556597.pdf โดยที่กลุ่ม JASON เป็นที่ปรึกษาทางเทคโนโลยีของหน่วยวิจัยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และมีบทบาทชี้นำให้กับ DARPA อย่างสำคัญ กลุ่ม JASON นี้ถูกก่อตั้งขึ้นมาใหม่แยกต่างหากจากคณะที่ปรึกษาชุดเดิมอย่าง กลุ่มห้องวิจัย Los Alamos และ MIT Radiation Laboratory สำหรับที่มาของชื่อ JASON นั้นเป็นชื่อเจสันในตำนานเทพนิยายกรีกเรื่องตำนานขนแกะทองคำ

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หน่วยวิจัยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ จึงตั้งเป้าให้โครงการ P3 สร้างระบบป้องกันรับมือกับภัยคุกคามทางชีวภาพฯ อย่างครบวงจร และกำหนดระยะเวลาเป้าหมายในการวางแนวป้องกันในระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน

ในสหรัฐฯ เริ่มมีการวางนโยบายป้องกันภัยคุกคามทางชีวภาพฯ นี้ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก แต่เนื่องจากในยุคสมัยนั้นภัยคุกคามหลักมาจากการก่อการร้าย ถึงแม้จะมีการเก็งกันว่าอาจมีการใช้อาวุธชีวภาพดังเช่นที่กังวลการโจมตีด้วยเชื้อแอนแทร็กซ์ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่ากลุ่มก่อการร้ายใช้อาวุธตามแบบ หรือไม่ก็ใช้เทคนิคแบบสงครามอสมมาตร (asymmetric warfare) มากกว่าสงครามชีวภาพ แต่ในที่สุดนโยบายการป้องกันภัยคุกคามชีวภาพฯ นี้ก็มาสมบูรณ์สมัยประธานาธิบดีโอบามา ในแผนนโยบาย มีทั้งการประเมินเรื่องลักษณะการระบาดของโรค ซึ่งใช้การประเมินด้วยแบบจำลองทั้ง SIR, MSIR, MSEIR, MSEIRS มีการประเมินผลของข้อจำกัดจากศักยภาพสาธารณสุขในการรับมือกับโรคระบาด และผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งหมดอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญคือยังมีคู่มือการตัดสินใจทางนโยบายเสนอต่อประธานาธิบดีอีกด้วย (Playbook) คือเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น หรือเช่นนี้คือใน playbook จะมีข้อเสนอทางนโยบายต่อประธานาธิบดีว่าจะต้องมีการตอบสนองอย่างไร และใช้เครื่องมืออย่างไร ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดวิกฤติการณ์

นอกจากเรื่องการออกแบบนโยบาย ยังมีการจัดทำเวิร์กช็อปเพื่อซักซ้อมความเข้าใจระหว่างผู้บริหารนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯ เพื่อเตรียมการรับมือภัยคุกคามทางชีวภาพฯ นี้ด้วย ในชื่อว่า "Clade-X" (โปรดดูเวิร์กช็อปนี้ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=rsha-Ui2Cww) ซึ่งในที่นี้เป็นการจำลองการระบาดจากไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นในห้องทดลองที่ชื่อว่า Clade-X จากปีกสุดขั้วขององค์กรสมมติที่มีชื่อว่า “A Brighter Dawn” (ABD) ที่มีเป้าหมายในการใช้ไวรัสเพื่อลดประชากรของมนุษย์เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน เพราะเนื่องจากในที่สุดแล้วปัญหาทั้งหมดเรื่องสภาวะโลกร้อนและการเสียสมดุลทรัพยากรที่มีจำกัดของโลกนี้ สามารถลดทอนลงมาเป็นเพียงปัญหาประชากรล้น (overpopulation) เท่านั้น เวิร์คช็อปนี้มีการจัดขึ้นโดย the Johns Hopkins Center for Health Security เมื่อ 15 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ และสถานทูตสหรัฐฯ เริ่มส่งข่าวกรองเรื่องความน่าสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของสถาบันวิจัยไวรัสแห่งอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology, WIV) ที่มีระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพในระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด (อนึ่งเรื่องเป้าหมายและขีดความสามารถของสถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่น ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งผมจะละเอาไว้ไม่พูดถึงอย่างละเอียดในรายงานฉบับนี้)

ในเวิร์คช็อปนี้มีการประเมินสถานการณ์อย่างละเอียด ถึงขนาดที่ว่าคาดว่าการผลิตวัคซีนมีปริมาณจำกัด ไม่สามารถแจกจ่ายให้จนครบประชากรทุกคน ทางเลือกทางนโยบายหนึ่งในการแก้ปัญหานี้คือการสุ่มผู้ได้รับวัคซีนขึ้นมา

5.เราสามารถทำการสังเคราะห์ หรือสร้างไวรัสขึ้นมาใหม่จากศูนย์ได้จากการทราบข้อมูลรหัสพันธุกรรม การทดลองการสร้างไวรัสใหม่นี้มีการทำขึ้นเป็นครั้งแรก จากงานวิจัยสร้างไวรัสโปลิโอตามข้อมูลในรหัสพันธุกรรมตั้งแต่เมื่อ 18 ปีก่อน ในปี 2545 งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและการป้องกันเป็นหลัก

มีข้อสงสัยว่าเชื้อโคโรนาไวรัสอาจถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ที่สถาบันวิจัยไวรัสแห่งอู่ฮั่น เป้าประสงค์ในการสร้างเชื้อโคโรนาไวรัสไม่เป็นที่แน่ชัด ในช่วงต้นมีคำสั่งให้กวาดล้างเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั้งหมด มีการลบข้อมูลของนักวิจัยบางคนในสถาบันออกไป มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยหมายเลขศูนย์ (patient zero) ไม่ใช่ผู้ป่วยที่เกิดการติดต่อในตลาดสดอู่ฮั่น แต่ไวรัสนี้ไม่ได้มีเป้าหมายในการทำเป็นอาวุธชีวภาพโดยตรง มีความเป็นได้สูงที่อาจมีการรั่วไหลออกมาจากห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้เคยมีนักวิจัยจากฝรั่งเศสเคยส่งคำเตือนเรื่องการรั่วไหลนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อต้นเดือนมีนาคมมีห้องวิจัยในสวิสได้ทำการสร้างเชื้อโคโรนาไวรัสขึ้นมาใหม่จากศูนย์ ตามรหัสพันธุกรรมที่มีการเผยแพร่กันอยู่ นี่เป็นข้อพิสูจน์ในทางปฏิบัติที่แสดงว่าการสังเคราะห์เชื้อโคโรนาไวรัสขึ้นมาใหม่นี้มีความเป็นไปได้ ทั้งนี้การสร้างไวรัสขึ้นมาใหม่ตามปกติจะต้องได้รับการอนุญาต และมีการกำกับควบคุมจากหน่วยงานรัฐอย่างเข้มงวด และจะต้องทำการปฏิบัติการในห้องวิจัยที่มีความปลอดภัยระดับ ๔ ที่มีความปลอดภัยสูงสุดเท่านั้น

6.ปัจจุบันมีผลการทดสอบจากชุดทดสอบในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากกว่าสี่ล้านเคส ซึ่งมากที่สุดในโลก หรือเฉลี่ยวันละ 1 แสน 5 หมื่นเคส (ตามมาด้วยเยอรมนีที่ 1.7 ล้านเคส รัสเซีย 1.6 ล้านเคส และอิตาลี 1.1 ล้านเคส)
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา มีข้อเสนอที่เป็นแผนนำร่องสร้างการยืดหยุ่นทนทานต่อโรคระบาด (ROADMAP TO PANDEMIC RESILIENCE) จาก Edmond J. Safra Center for Ethics แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ โดยให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขยายการทดสอบขึ้นไปให้ถึงระดับวันละ 5 ล้านครั้ง โดยอาจต้องใช้อาสาสมัครทำการทดสอบด้วยชุดทดสอบราว 3 แสนคน ข้อเสนอนี้ใช้คำว่า "Massive Scale Testing, Tracing, and Supported Isolation" (TTSI) ซึ่งผมเห็นว่ามีความต่างจากคำว่า "Contact Tracing" ซึ่งเป็นการทำการทดสอบแบบจำกัดวง ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขใช้เป็นมาตรฐานอยู่

ผมเห็นว่าแผนนำร่องฯ นี้มีความสอดคล้องกับ โครงการ P3 นโยบายรับมือภัยคุกคามทางชีวภาพฯ และเวิร์กช็อป "Clade X" ในระดับหนึ่งอยู่

ผมเสนอให้รัฐบาลทำการศึกษาแผนนำร่องฯ นี้อย่างละเอียด และหากเห็นความเป็นไปได้ ควรทุ่มทรัพยากรของประเทศทั้งหมด เพื่อดำเนินการตามแนวทางนี้ เพื่อสร้างแผน modernizing disease surveillance อย่างเต็มรูปแบบ ในระดับประเทศไทยควรทำการทดสอบให้ได้วันละ 1 ล้านเคส เพื่อตรวจการกระจายตัวของเชื้อและวางแผนป้องกันและจำกัดบริเวณการระบาดอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ กำลังตกอยู่ในระหว่างทางเลือกนโยบายเขาควาย คือระหว่าง "ปิดเมืองรักษาชีวิต แต่จมเศรษฐกิจ" กับ "เปิดเมืองกู้เศรษฐกิจ แต่สูญเสียชีวิต" ผมเห็นว่าทางเลือกทางแรกเป็นทางเลือกทางนโยบายที่บีบให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระยะยาว ในขณะที่ทางเลือกทางที่สองเป็นทางเลือกที่อับจนปัญญา ขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ และไร้ความรับผิดชอบ

ทางเลือกตามแผนนำร่องฯ นี้ ซึ่งกำหนดเป้าหมายการเปิดเมืองแบบสมบูรณ์ภายในเดือนสิงหาคม น่าจะเป็นทางออกที่สมเหตุสมผลและไม่ตกอยู่ในเขาควายทางนโยบายข้างต้น ส่วนการพิจารณาเรื่อง การใช้วัคซีนทั้งชั่วคราวและถาวร การใช้ยารักษาแบบแอนติบอดี ตลอดจนการใช้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จภายหลังจากการควบคุมโรคได้อย่างสมบูรณ์ ควรพิจารณาให้เป็นลำดับความสำคัญถัดไปภายหลังจากการดำเนินตามแผนนำร่องฯ มีความสำเร็จตามสมควร ทั้งนี้การขยายขีดความสามารถในการทดสอบ และการพิจารณาแผนประคับประคองทางเศรษฐกิจเป็นข้อจำเป็นเร่งด่วนอันดับแรก อนึ่งขีดความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีการทดสอบที่ใช้เทคโนโลยี CRISPR-CAS13 ขณะนี้ในไทยมีการทำอยู่และกำลังดำเนินการตรวจสอบเพื่อเทียบเคียงความแม่นยำกับชุดผลทดสอบมาตรฐานที่ใช้เทคนิคแบบ RT-PCR

ข้อเสนอของคุณกานต์กล้าหาญมากและซื่อตรงต่อข้อมูลและองค์ความรู้อย่างรอบด้าน ผมขอส่งต่อไปให้ถึงผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลด้วย

สรุปย่อๆ
(1) คุณสมบัติการกลายพันธุ์ของเจ้าโควิดสูงกว่าที่นักวิจัยคาดคิดไว้มาก การผลิตวัคซีนอาจไม่สำเร็จภายใน 18 เดือน โลกอาจต้องอยู่กับโควิดตัวนี้นานเป็นปีๆ

(2) city lockdown กับ social distancing และการกักตัวผู้สงสัยติดเชื้อ 14 วัน คือปัจจัยชี้ขาดในการควบคุมการระบาดของโควิด

(3) ในที่สุดคิดว่า DARPA ของอเมริกาจะคิดค้นวัคซีนสำเร็จ ไม่ใช่ประเทศอื่นเพราะมีวิทยาการที่ล้ำสุดและบุคคลากรพร้อมที่สุดในโลก

(4) การมีแผนนำร่องที่ทนทานยืดหยุ่นต่อโรคระบาด (Roadmap To Pandemic Resilence) เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกประเทศ ดังนั้นไทยควรศึกษาเรื่องนี้จากอเมริกา
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"