เยียวยาเกษตรกร ขวางเปิดวิสามัญ


เพิ่มเพื่อน    

  "อุตตม" เตรียมชง ครม.สัปดาห์หน้าแจกเงินเยียวยาเกษตรกร ยันเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเพียงพอดูแลผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม "วิษณุ" เผยนายกฯ เซ็น 4 พ.ร.ก.ส่งสภาไปแล้ว โยนวิป รบ.พิจารณาเปิดสภาสมัยวิสามัญหรือไม่รอความพร้อมห้องประชุมสุริยัน เพราะประชุม  2 สภาต้องเข้มความปลอดภัยป้องกันโรค ฝ่ายค้านลั่นต้องเปิดวิสามัญให้ได้ แต่ประธานวิปรัฐบาลไม่เห็นด้วยย้อนถาม ส.ส.แพร่เชื้อใครรับผิดชอบ  

      เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่ง เกี่ยวกับความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า มาตรการดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยการแจกเงินเกษตรกร 5,000 บาทต่อเดือน จะต้องเสนอเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณารูปแบบว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยจะใช้ฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 เม.ย.63
    "มาตรการแจกเงินเกษตรกรจะต้องมีการหารือในคณะกรรมการกลั่นกรองก่อน เนื่องจากจะใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท โดยอาจเป็นไปได้ว่าสัปดาห์หน้าเรื่องจะถึง ครม. ส่วนเงื่อนไขสุดท้ายจะเป็นอย่างไรขอให้ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก่อน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะกำหนดวงเงิน  ซึ่งจะทำให้รู้ว่าการใช้งบประมาณจะเป็นตัวเลขเท่าไหร่ และกระทรวงการคลังก็จะมากำหนดงบประมาณว่าเงินที่ต้องใช้จาก พ.ร.ก.ควรเป็นเท่าไหร่” 
    นายอุตตมกล่าวอีกว่า มาตรการช่วยเกษตรกรจะยึดข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก เพราะมีการขึ้นทะเบียนมาโดยตลอด จึงต้องเริ่มที่จุดนี้ก่อน ส่วนโครงการสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระแจกเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ผ่านการลงทะเบียนเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ดำเนินการไปแล้ว วันนี้เข้าสู่การทบทวนสิทธิ์ จะเป็นกระบวนการต่อเนื่องไป ส่วนวงเงินจะออกมาเท่าไหร่ขอให้การทบทวนสิทธิ์เสร็จก่อนจะเห็นภาพชัด
     อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังยืนยันว่าวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะเพียงพอดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกู้เพิ่ม โดยในหลักการของ พ.ร.ก. กู้เงินดังกล่าวจะใช้สำหรับเยียวยาผลกระทบ วงเงิน 6 แสนล้านบาท ถ้าไม่พอก็สามารถดึงเงินบางส่วนจาก พ.ร.ก.ในส่วนที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท มาช่วยได้ตามความจำเป็น  ส่วนการชำระคืนหนี้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทยังไม่สามารถระบุได้ เพราะยังไม่รู้จะต้องกู้มาใช้เท่าไหร่ อาจจะไม่กู้ถึง 1 ล้านล้านบาทก็ได้ ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อยู่ระหว่างการเตรียมแผน
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ก.กู้เงิน? 1?ล้านล้านบาทว่า นายกรัฐมนตรีได้เซ็นส่งสภาไปแล้วทั้ง 4  ฉบับ แล้วแต่ว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุอันไหนก่อนอันไหนหลัง ซึ่งต้องตกลงกันระหว่างวิปรัฐบาลกับวิปฝ่ายค้าน ส่วนจะเปิดเป็นการประชุมวิสามัญหรือไม่นั้นยังไม่มีใครพูดกัน คงต้องคุยกันอีกทีว่าถ้าหากเปิดวิสามัญแล้วต้องมีสมาชิกมาประชุมและจะปลอดภัยหรือไม่ ห้องประชุมสุริยันพร้อมแล้วหรือยัง เนื่องจากต้องประชุมร่วมกันสองสภา 
    อีกข้อหนึ่งคือ การดูแลรักษาความปลอดภัยป้องกันโรคมีมาตรการที่ดีหรือไม่ และอีกข้อคือสมาชิกจะเดินทางมาหรือไม่ เพราะขณะนี้ ส.ส.ทั้งหลายท่านอยู่ต่างจังหวัด การจะเดินทางข้ามจังหวัดโดยเฉพาะทางเครื่องบินอาจไม่สะดวกเหมือนตอนปกติ เราต้องเอาทุกอย่างมาประกอบกัน ฉะนั้นคนที่ไปดูเรื่องนี้คือวิปทั้งสองฝ่าย รัฐบาลยังไม่ได้พูดอะไรกัน
    "ตามรัฐธรรมนูญการออกพระราชกำหนดจะต้องนำเสนอต่อสภาโดยเร็ว แต่เมื่อสภากำลังจะเปิดอยู่แล้ว คำว่าโดยเร็วจึงต้องยืดหยุ่นไปได้ แต่ถ้าเห็นพร้อมกันในเรื่องสถานที่ การเดินทาง และสมาชิกเองไม่ห่วงเรื่องความปลอดภัยในการอภิปราย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายวัน ถ้าอย่างนั้นก็เปิดได้ แต่กลัวเปิดแล้วจะไม่มีใครมา เพราะว่าจะต้องคิดไปถึงเจ้าหน้าที่สภาด้วย ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นร้อย" นายวิษณุกล่าว
    ด้านนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะทดสอบความพร้อมการใช้ห้องประชุมสุริยันในครั้งที่ 3 หลังจากการทดสอบใน 2 ครั้งแรกพบระบบเสียงในห้องประชุมไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องปรับปรุงแก้ไข คาดว่าการทดสอบระบบครั้งที่ 3 จะลงตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความพร้อมใช้งานได้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป
สภาหั่นงบ 336 ล้านบาท
    "ตอนนี้ถือว่าพร้อมแล้วที่จะเปิดใช้งานส่วนของห้องประชุม ส.ส. เหลือแค่ระบบเสียง ส่วนการคัดกรองบุคคลเข้าพื้นที่ต้องคุมเข้ม เช่นใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งช่วงการเปิดประชุมสภา หากพบว่าใครมีไข้สูงแล้วเข้ามาในบริเวณสภา จะถูกส่งต่อไปให้สถาบันบำราศนราดูรวินิจฉัยต่อทันที ขณะนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่สภาไม่พบว่ามีใครติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เคยถูกกักตัวเพื่อดูอาการก่อนหน้านี้ 14  วันก็ไม่พบว่าใครติดเชื้อ ดังนั้นบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่มีใครติดเชื้อแม้แต่รายเดียว" 
    เลขาธิการสภาผู้แทนฯ ยังเผยว่า สำนักงานเลขาฯ ได้ตัดงบประมาณจำนวน 336 ล้านบาท ส่งคืนสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นงบประมาณส่วนที่ไม่มีความจำเป็น ประกอบด้วย งบการฝึกอบรมและจัดสัมมนาต่างๆ, งบการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการ 35 คณะ จำนวนคณะละ 4.8 ล้านบาท และเบี้ยประชุมของ กมธ.ทุกคณะ เนื่องจากงบประมาณเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลานี้ เพราะไม่มีการจัดฝึกอบรมและไม่มีการประชุม กมธ.คณะต่างๆ 
     เมื่อเวลา 13.00 น. ห้องประชุมชั้น 10 ที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีการประชุมของหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค ในการเตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 และการเสนอให้มีการใช้ พ.ร.ก.กู้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ มีหัวหน้าพรรคทุกพรรคมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขาดแต่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้านในสภา ที่ติดภารกิจในต่างจังหวัด แต่ได้ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน
    ภายหลังการประชุมนายภูมิธรรมกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาโควิดเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอเสนอให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญหาทางออกให้ประเทศ ให้ ส.ส.ได้สะท้อนเสียงประชาชนในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างถูกทาง ฝ่ายค้านจะทำหนังสือถึงนายกฯ และประธานสภา 24 เม.ย.นี้ เพื่อขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วหน้า รวดเร็ว เพราะการใช้เงินจากเงินกู้ที่เป็นเงินล่วงหน้าในอนาคต  ต้องมียุทธศาสตร์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด จะทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการใช้งบประมาณไปโดยไม่มีการตรวจสอบ สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะหมดลงในวันที่ 30 เม.ย. วันนี้มาตรการสาธารณสุขทำได้ดีพอสมควร จึงไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป แค่ใช้กฎหมาย มาตรการทั่วไปก็น่าจะควบคุมได้ 
    น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญของสภาจำเป็นต้องใช้เสียง ส.ส.หนึ่งในสาม หรือ 246 เสียง แต่ฝ่ายค้านมี 213 เสียง จำเป็นต้องขอเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.อีก 33 เสียง จากนี้จะเร่งประสานไปยังวิปรัฐบาลที่จะมีการหารือในวันที่ 27 เม.ย. เพื่อให้มีการเร่งพิจารณาเรื่องของฝ่ายค้าน เพราะในส่วนของฝ่ายค้านเชื่อว่าการให้ ส.ส.แต่ละคนลงชื่อทั้ง 213 เสียงจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ เราขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลขอให้ความร่วมมือ เพราะข้อติดขัดในการประชุมสภาเรื่องการควบคุมโรค ตอนนี้ทำได้ดีขึ้นห้องประชุมสุริยันเสร็จเรียบร้อย เชื่อว่าจะรองรับการประชุมโดยมีระยะห่างระหว่างบุคคลได้ หวังว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชนและจะรับฟังความคิดเห็นฝ่ายค้าน 
    นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมกันแก้ปัญหาไวรัสโควิด โดยการขอเปิดประชุมสภาวิสามัญของฝ่ายค้าน ก็เพื่อต้องการเสนอแนะให้รัฐบาลนำไปปรับใช้แก้ไขปัญหา เพราะทุกวันนี้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ ซึ่งปัญหาหลังจากหมดโควิดก็ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจตามมาอีก ดังนั้นเราจึงต้องทั้งรีบแก้ไขและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
วิปรัฐบาลขวางเปิดวิสามัญ
     ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเสนอเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญว่า วันนี้เห็นใจนายกรัฐมนตรีที่กำลังแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 จึงผลีผลามไม่ได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กำลังลดลงอาจเพิ่มสูงขึ้นเหมือนบางประเทศได้ อยากให้รอสถานการณ์ของเราสะเด็ดน้ำมากขึ้นกว่านี้ก่อน หรืออาจจะรอพิจารณากันในสภาสมัยสามัญที่จะประชุมนัดแรกวันที่ 22 พ.ค.นี้ อย่างไรก็ตามแกนนำฝ่ายค้านหลายคนได้พูดคุยกับตนแล้ว จะทำเรื่องเสนอรัฐบาลซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย
    "ถ้าเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในช่วงนี้ แล้ว ส.ส.เข้ามาจนทำให้มีการแพร่เชื้อไปทั่วประเทศ ใครจะรับผิดชอบ ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้เปิดในช่วงนี้ แต่เพื่อความรอบคอบผมจะหารือกับแกนนำวิปรัฐบาลคนอื่นๆ นอกรอบก่อน คาดว่าสัปดาห์หน้าจะได้ความชัดเจนระดับหนึ่ง" นายวิรัชกล่าว
    นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเคารพความชอบธรรมของฝ่ายค้านที่มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล แต่ไม่คิดว่าการขอเปิดสภาสมัยวิสามัญตอนนี้ จะทำให้ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐมีเพิ่มขึ้น เพราะสิ่งที่ต้องทำก่อนในวันนี้คือการชั่งน้ำหนักหลักคิดเพื่อรับมือการเเพร่ระบาดที่เหมาะสมกับประเทศ ซึ่งทั่วโลกแก้ปัญหาโควิด-19 ใน 2 รูปแบบ 
    1.ด้านสาธารณสุขนำเศรษฐกิจ เป็นแบบเดียวกับที่ไทยกำลังใช้อยู่ มีข้อดีเรื่องจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ และตัวเลขผู้เสียชีวิตจะค่อนข้างต่ำ แต่ต้องเเลกมากับเรื่องปากท้องที่เริ่มจะมีปัญหา 2.ด้านเศรษฐกิจนำสาธารณสุข เเบบที่ยุโรปบางประเทศใช้อยู่ เศรษฐกิจของเขาได้รับผลกระทบน้อย แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตพุ่งสูง 
    "เข้าใจความหวังดีของฝ่ายค้าน แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลเองคงไม่ดันทุรังและจะฟังเสียงเรียกร้องของชาวบ้านอยู่ตลอดเช่นกัน การปรับวิธีการเยียวยาหรือแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้ว่า รัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนเเนวคิดกลับไปกลับมา เพราะดำเนินนโยบายผิดพลาด แต่จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีการรับมือปัญหาแบบไม่ตายตัวเพื่อทางออกของประเทศเวลานี้ ผมไม่ขัดข้องกับการขอเปิดสภาสมัยวิสามัญของฝ่ายค้าน แต่ไม่ใช่จะมาเปิดเพียงเพื่อจะชำแหละหรือท้วงติงการใช้จ่ายเงินกู้เวลานี้ ถ้าจะเปิดก็ควรจะเป็นการระดมสมองของฝ่ายค้านอีกแรงเพื่อชั่งน้ำหนักมากกว่า ว่าเวลานี้จะสร้างสมดุลระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุข และแนวทางเยียวยาเงินในกระเป๋าของชาวบ้านได้อย่างไร" นายอิสระกล่าว
    มีรายงานว่าภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงเศรษฐีของเมืองไทย เพื่อขอความร่วมมือแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชน จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดเพจ  "ลุงตู่ตูน" ซึ่งเป็นเพจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ได้เผยแพร่รายชื่อมหาเศรษฐีที่ตอบรับคำขอของ พล.อ.ประยุทธ์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล (MTC) ยินดีและพร้อมช่วยเหลือเพิ่มเติมจากที่เคยทำ 2.นายฉัตรชัย แก้วบุตตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทและกลุ่มศรีสวัสดิ์ ยืนยันพร้อมจะช่วยเหลือให้ประเทศฝ่าวิกฤติตามคำขอของนายกฯ  และ 3.นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังพ้นวิกฤติโควิด-19.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"