พายุเศรษฐกิจ ในมรสุมโควิด-19 ว่างงานกี่ล้านคน?


เพิ่มเพื่อน    

 

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หากให้เหมือนเดิม3-4ปีเป็นอย่างน้อย

                ปลายสัปดาห์หน้านี้ พฤหัสบดีที่ 30 เม.ย. จะครบกำหนดการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะตัดสินใจว่าจะขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การประกาศเคอร์ฟิวต่อไปหรือไม่ภายในวันอังคารที่ 28 เม.ย.นี้ ขณะที่ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ-ภาคธุรกิจหลาย sector ทั้งรายใหญ่-รายเล็ก เรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงเพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมา Re-start กิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งโดยเร็ว เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องจนต้องเลิกกิจการ เลิกจ้างแรงงาน

            ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ นักวิชาการที่เชี่ยวชาญคร่ำหวอดอยู่ในสายงานด้านแรงงาน-การวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจระดับโครงสร้าง ให้ข้อมูลทางวิชาการหลังมีการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะ ผลกระทบกับภาคแรงงาน ทั้งระบบ

            เริ่มต้นที่ ดร.ยงยุทธ ย้ำว่า วิกฤติครั้งนี้สร้างผลกระทบทำให้แรงงานทั้งในระบบและนอกระบบกว่า 37 ล้านคนได้รับผลกระทบกันหมด แต่พวกกลุ่มแรงานในระบบประมาณ 15 ล้านคนจะมีเงินเดือน มีระบบของรัฐในการดูแลแล้วระดับหนึ่ง หากรัฐโดยกระทรวงแรงงานมีการออกมาตรการช่วยเหลือออกมาก็จะช่วยเหลือได้อีกทางหนึ่ง ส่วนแรงงานนอกระบบที่มีร่วม 22 ล้านคนจะเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะเป็นแรงงานที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น พวกลูกจ้างชั่วคราว คนที่ไม่อยู่ในประกันสังคม เพราะมาตรา 40 ของกฎหมายแรงงาน ทำให้แรงงานกว่า 2 ล้านคนถูกดึงเข้ามาอยู่ในแรงงานในระบบหมด ทำให้แรงงานนอกระบบร่วมกว่า 20 ล้านคนจะได้รับผลกระทบมาก และในกว่า 20 ล้านคนดังกล่าวพบว่า เกือบครึ่งหนึ่ง กว่า 10 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร เขาก็มีความคาดหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือ รัฐบาลก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้คลายความเดือดร้อนได้ โดยต้องแยกฐานข้อมูลออกมาให้แม่นยำว่าจะช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรได้ถูกคนจริงๆ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

- มาตรการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่ช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบหลายล้านคน และมีการขยายฐานออกไปอีก เป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาคนที่ได้รับผลกระทบในภาคแรงงานที่ถูกจุดหรือไม่?

            รูปแบบการช่วยเหลือ รัฐบาลมั่นใจในตัวเองมากเกินไปว่าจะมีข้อมูลที่สมบูรณ์พอที่จะทำในสิ่งที่เรียกว่า การหากลุ่มเป้าหมาย ที่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่ที่จริงแล้วข้อมูลที่มีอยู่ไม่พร้อม เลยทำให้เกิดการคาดหวังมากเกินไปจากข้อมูลที่มีอยู่ สำหรับประเทศไทยวัฒนธรรมการทำงานของบ้านเราไม่เหมือนกับต่างประเทศ เพราะของบ้านเราเป็นวัฒนธรรมของคนทำงานหลายอาชีพ เพราะทำอาชีพเดียวไม่พอกิน เลยทำหลายอาชีพ โดยมีฐานของภาคเกษตรยังใหญ่อยู่ คือ แรงงานนอกระบบยังใหญ่อยู่มาก คิดเป็น 65-67 เปอร์เซ็นต์ ยังมากกว่าแรงงานในระบบอยู่มาก

ดังนั้น นโยบายรัฐบาลที่ทำออกมาก็ควรต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย การช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ 22 ล้านคนจึงต้องให้ความสำคัญมาก เพราะแรงงานในระบบ 15 ล้านคนเขายังพอช่วยตัวเองได้ ระบบต่างๆ ก็มีการวางไว้อยู่ โดยใน 22 ล้านคนดังกล่าว เกือบครึ่งหนึ่งคือเกษตรกร รวมถึงพวกที่อยู่ในสายอื่นๆ เช่น ทำ SME รัฐบาลต้องเข้ามาดูว่าจะช่วยเหลือพวกเขาทั้งหมดอย่างไร

การช่วยเหลือในรอบนี้ถือว่ายังช้าไป เพราะไปเสียเวลากับฐานข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ โดยเมื่อฐานข้อมูลไม่สมบูรณ์ก็ทำให้การช่วยเหลือต่างๆ ออกมาแล้ว ประชาชนที่ไม่ได้ก็เสียความรู้สึก น้อยอกน้อยใจ เกิดความรู้สึก ทำไมคนนั้นได้ แต่เขาไม่ได้ ก็เป็นเพราะข้อมูลที่รัฐมีอยู่ไม่เพียงพอในการไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่จะช่วยได้แม่นยำ ดังนั้นตรงนี้การให้เงินเยอะๆ แล้วทำให้คนมีความคาดหวัง ก็เลยทำให้ทุกคนก็อยากได้โดยที่เขาเองอาจไม่ได้ดูว่าตัวเขาเองควรจะได้หรือไม่ได้ หลายประเทศนโยบายที่เขาทำกันจะเริ่มจากการ "ให้น้อยแต่ให้แบบถ้วนหน้าไปก่อน"

ดร.ยงยุทธ-นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ มีความเห็นเรื่องการช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 ว่า ประเทศไทยเรามี 21 ล้านครัวเรือน การให้เงินช่วยเหลือประชาชนก็ควรให้ 21 ล้านครัวเรือนไปเลย เพียงแต่ต้องใช้เทคนิคตรวจสอบด้วย เช่น ครัวเรือนไหนพอมีฐานะ โดยใช้ฐานการเสียภาษี ก็จัดกลุ่มคนเหล่านี้แยกออกไปได้ แล้วก็ให้แต่ละครัวเรือนไปเลย โดยให้ไม่มาก คือ ให้ไปก่อนเลยครัวเรือนละ 3,000 บาท จากนั้นหากรัฐบาลจะเพิ่มให้เงินรอบสองค่อยไปแยกดูรายละเอียดจัดแต่ละกลุ่มประชากรออกมา โดยครั้งที่สองการให้ก็จะง่ายขึ้น เพราะรอบแรกมีการประเมินคัดกรองคนออกมา แต่เมื่อรัฐบาลไปให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท โดยที่รายละเอียดของกลุ่มอาชีพในประเทศไทยมีร่วม 40-50 ประเภทธุรกิจ แล้วในนั้นยังมีแยกย่อยออกมาอีกได้ร่วมกว่า 400 อาชีพ ซึ่งรัฐบาลจะไปดูกว่า 400 อาชีพ ถามว่าจะไหวหรือ มันก็ไม่ไหว

ผมถึงเห็นว่าวิธีการที่ช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ให้ได้ก่อน แล้วค่อยๆ ใช้วิธีการ Inclusion "เอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป โดยให้เขาสมัครใจ" ส่วนกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในทะเบียนก็ให้ใช้วิธีเก็บตก อย่างในต่างประเทศเขาก็มีตัวอย่างทำมาแล้ว คือ การใช้ "คูปอง" โดยประชาชนก็มา identify ตัวเองว่าเขาควรจะได้ แต่เขาไม่ได้เพราะติดขัด เช่น ไม่มีทะเบียนต่างๆ เช่น กลุ่ม minority กลุ่มชายขอบ คนเร่ร่อน แล้วก็รับคูปองไป ก็จะไม่มีใครอดตาย ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเสริมให้คนที่ตกสำรวจ

“ตอนนี้รัฐบาลไปใช้วิธีกดปุ่มเลย แล้วจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะรายละเอียดมันเยอะมาก จากรอบแรกต่อไปพอจะทำรอบสอง แล้วไปใช้ AI มาทำ ก็อาจมีคนมาร้องเรียนอีก”

            ..การให้เงินช่วยเหลือดังกล่าวของรัฐบาล เป็นเรื่องการบริโภค เพื่อพยุงเครื่องยนต์การบริโภคเท่านั้นเอง ไม่ให้ประชาชนอยู่ด้วยความยากลำบากมาก อย่างที่รัฐบาลให้เดือนละ 5,000 บาท แต่ฐานของทีดีอาร์ไอที่เราทำ ต้องให้ 7,000 กว่าบาทถึงจะอยู่ได้ การให้เดือนละ 5,000 บาทถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานค่าครองชีพ แต่ที่ทำเพื่อให้เศรษฐกิจมันหมุนเวียน

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานจากทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงภาพรวมผลกระทบกับภาคแรงงานจากวิกฤติรอบนี้ว่า ที่มีบางกลุ่มเคลมจำนวนการว่างงานออกมา เป็นแค่ระยะสั้นๆ เช่น ของหอการค้า ที่บอกจะมีแรงงานได้รับผลกระทบ 6 ล้านคน ในช่วง 3 เดือน คือมีนาคมถึงพฤษภาคม ที่ไม่มีการผ่อนผันให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจใดๆ เลย แต่หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีก เลยเดือน พ.ค.ไปอาจขึ้นไปถึง 9 ล้านคน แต่จริงๆ ผมมองว่าก็คงไม่ถึงขนาดนั้น เพราะหากมีการผ่อนคลายแล้วสถานประกอบการต่างๆ เริ่มกลับมาประกอบการได้ บางส่วนก็อาจจะยังไม่เปิดทันที ที่ก็จะมี 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง กลับมาเปิดใหม่ แต่จะไม่ใช้คนเท่าเดิมแล้ว เพราะได้โอกาสเมื่อกลับมาเปิดใหม่แล้วต้นทุนสูง ผู้ประกอบการดูแล้วรายได้คงไม่เข้ามาเหมือนเดิม ก็จะกลับมาจ้างแรงงานไม่เท่าเดิม ก็เลยเลิกจ้างแรงงานบางส่วน หรือบางแห่งก็ไม่เปิดเลย เพราะไม่ไหวเลยเลิกกิจการ โดยเฉพาะพวก SME ที่จะปิดตัวง่าย

- หากนายกฯ ตัดสินใจขยายการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีก 1 เดือน จะมีผลกระทบตามมามากแค่ไหน?

            ธุรกิจหากไม่เปิดนานขนาดนั้น กลับมามันก็ไม่เหมือนเดิม เพราะกรณีของวิกฤติครั้งนี้ทำให้รูปแบบการทำงานมันเปลี่ยนไป เพราะอย่างที่เห็น พอเกิดการทำงานแบบ work from home ทำให้การทำงานก็อาจใช้คนน้อยลง อย่างที่หอการค้าบอกอาจมีคนว่างงานถึง 6 ล้านคน ถามว่าเป็นไปได้ไหม ผมก็มองว่าหากสถานประกอบการไม่กลับมาทยอยเปิด ก็อาจเป็นไปได้ แต่หากธุรกิจขนาดใหญ่กลับมาเปิดแบบเดิมได้ก็จะทำให้ปัญหาการว่างงานลดน้อยลง

- สถานการณ์ต่อไปจากนี้ภาคแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ กลุ่มอาชีพไหนที่มีความเสี่ยงมากสุดในสถานการณ์โควิด?

กลุ่มกิจการธุรกิจที่ปิดทันที ในนโยบาย social distancing ก็จะได้รับผลกระทบมาก ที่มากสุดก็คือภาคบริการ ซึ่งมีประมาณ 19 ล้านคน และเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ไม่มีงานแน่นอน ประมาณ 10.8 ล้านคน ที่พอมีการปิด ให้หยุดก่อน ก็ได้รับผลกระทบทันที เพราะเป็นพวกลูกจ้างชั่วคราว โดย 10.8 ล้านคนดังกล่าวกระจายอยู่ในพวกค้าส่ง-ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร แม้แต่พวกสถานศึกษา พวกครูผู้ช่วยที่เป็นลูกจ้างรายวัน ดูแลพวกเด็กเล็กที่มีอยู่เยอะเหมือนกัน ร่วมกว่า 800,000 คน หากตัดกลุ่มคนที่ทำงานในภาครัฐออก จาก 10.8 ล้านคน ก็จะเหลือประมาณกว่า 8 ล้านคน ที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างใดอย่าง 1 ในช่วง 3 เดือนนี้ มี.ค.-พ.ค.

- ที่มีกลุ่มภาคธุรกิจบางคณะ โดยเฉพาะที่อยู่ในคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์โควิด-19ของนายกฯ บอกว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจทำให้เกิดการว่างงาน 10 ล้านคน เป็นไปได้ไหม?

            อันนี้ดูแล้วตัวเลขมากไป เพราะตัวเลขสิบล้านกว่าคนดังกล่าว จากตัวเลขแรงงาน ทั้งในระบบและนอกระบบ 37 ล้านคน การที่จะมีคนว่างงานถึงร่วม 10 ล้านคน จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ เท่ากับจะว่างงานถึงเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนแรงงาน มันแทบเป็นไปไม่ได้ ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่จะมีคนว่างงานถึงขนาดนั้น เพราะขนาดที่เราเคยเจอวิกฤติเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ ว่างงานก็แค่ประมาณ 8-9 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ที่บอกจะว่างงาน 10 ล้านคน เท่ากับเกือบ 25-26 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นแบบนี้จริง ก็เป็นประวัติการณ์ใหม่แล้ว

 คำว่า "ว่างงาน" แบบนั้นอาจหมายถึงแค่ชั่วคราว 1-2 เดือน แต่หากเป็นแบบไตรมาสเป็นปี คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่โอเค อาจเป็นไปได้แต่แค่ระดับชั่วคราว แต่ถึงเป็นสิบล้านคน โดยให้คนที่เคยทำงานแล้วอยู่เฉยๆ โดยหากเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือชดเชย ถ้าในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในแรงงานในระบบ 15 ล้านคนด้วย ยังไงเขาก็ต้องได้รับการเยียวยาชดเชย ที่กระทรวงแรงงาน จะให้ 62 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนที่เคยได้ แต่พวกที่เดือดร้อนกว่าคือพวกแรงงานนอกระบบ 22 ล้านคน

...ตัวเลขคนว่างงานที่จะสูงขนาดนั้น จะเป็นไปได้ ก็คือกรณีที่สถานประกอบการ จะยังคงปิดกิจการต่อไป แต่เมื่อกลับมาเปิดกิจการ สถานการณ์การว่างงาน ก็จะเบาลง เพราะคนก็จะทยอยกลับไปทำงาน ทำให้ดูแล้ว ยังไง การว่างงานก็ไม่ถึงสิบล้านคน แต่ถ้าถึงระดับสิบล้าน ก็เป็นประวัติศาสตร์ประเทศไทยแล้ว เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยมีการว่างงานแค่ 1.1 เปอร์เซ็นต์

ก่อนหน้านี้ ตอนต้นปี 2563 เคยประเมินไว้ว่า มากสุดก็ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ 7 แสนคน แต่แย่สุดก็คือ 1 ล้านคน แต่พอมีโควิด แล้วมีการปิดกิจการกันเยอะ หลังใช้พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว ทำให้กิจกรรมหลายอย่างทำไม่ได้ เลยทำให้ตัวเลขการว่างงานมันเลยขึ้นมา แต่ผมก็มองว่าหากการว่างงานในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ  10 เปอร์เซ็นต์ ก็แค่ 3 ล้าน 7 แสนคน แค่นี้ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะต้องไม่ลืมว่า เมื่อคนเราไม่มีเงิน เขาก็ต้องพยายามทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กลับบ้านไปปลูกผัก ทำเกษตร แบบนี้ถือว่าไม่ได้ว่างงาน มีงานทำ

... การว่างงานจากวิกฤติรอบนี้ ผมประเมินว่า มากสุด ก็คงไม่เกิน 14-15 เปอร์เซ็นต์ ที่ก็คือ ประมาณ 5-6 ล้านคน โดยดูจากเกณฑ์ความยืดหยุ่นต่อรายได้ของแรงงานจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็น่าจะอยู่ประมาณนี้ อันนี้คืออยู่ในช่วงถึงเดือน พ.ค. แต่หากหลัง พ.ค.ไปแล้ว ยังไม่ดีขึ้น การว่างงานก็ต้องมีเป็นหลักล้าน แต่ละเดือน เพียงแต่จะกี่ล้านเท่านั้นเอง เพราะก็มีอีกบางปัจจัยเช่น หลังจากนี้พอเข้าฤดูฝน พวกที่อยู่ภาคเกษตรมาก่อน ก็อาจจะกลับไปทำการเกษตรที่ภูมิลำเนา การนับคนทำงาน ต้องนับจากการจ้างงาน ทำให้การจ้างงาน ก็อาจดร็อปลงสักครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะประมาณ 3-4 ล้านคนเป็นอย่างมาก แต่หากยังแบบนี้ลากยาวหกเดือนขึ้นไป แบบนี้ก็ยาว ยังคาดการณ์ไม่ได้ตัวเลขจะไปถึงขั้นไหน

ดร.ยงยุทธ-จากทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า สำหรับการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการของภาครัฐบาล เพื่อไม่ให้มีการเลิกจ้างแรงงานนั้น การช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นเรื่องใหญ่เพราะสถานประกอบการก็มีการจ้างแรงงานมาก ก็เห็นมีการใช้มาตรการ เช่น การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พวก soft loan แต่มันก็ยังยากอยู่ เพราะอย่างมาตรการที่ให้ พักเงินกู้แต่ยังคงให้จ่ายดอกเบี้ยแก่ธนาคาร มันก็คือการเลื่อนกำหนดการจ่ายเงิน มันไม่ได้หายไป เพราะพอทุกอย่างกลับมาแบบเดิม ก็ต้องกลับมาในระบบแบบเดิม ทำให้หนี้ยังอยู่

ภาครัฐควรต้องไปให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่อง กระแสเงินสด และช่วยดูเรื่องตลาดให้ แต่เรื่องของตลาดก็มีปัญหา เพราะสถานการณ์เวลานี้ การส่งออกก็ยังส่งออกไม่ได้ เพราะฐานใหญ่การส่งออก เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป หากยังไม่มีการเปิด ถึงผลิตไป ก็ยังส่งออกไปไม่ได้ พวกสถานประกอบการที่เป็น real sector ที่จ้างแรงงานร่วม 5-6 ล้านคน เขาก็ทำงานไม่เต็มที่ ก็ทำให้การดำเนินกิจการก็ต้องชะลอออกไป

ต้องเร่งช่วยแรงงานนอกระบบ

ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน จากทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือดูแลกลุ่มแรงงาน ที่ไม่ได้เป็นทางการ แรงงานนอกระบบ เช่น ภาคเกษตร เพราะภาคเกษตร เป็น 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดที่เรามีอยู่ หากเราทำให้ภาคเกษตรยังคงผลิตอาหารที่คนต้องกินต้องใช้อยู่ แต่ผมมองว่าหากทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ พวกแรงงานในระบบน่าจะมีปัญหามากกว่าแรงงานนอกระบบ เพราะหากนอกระบบ เขาสามารถไปทำกินอย่างอื่นได้ เช่นทำเกษตร มันทำอะไรได้มาก ภาครัฐบาลก็คอยดูแลเรื่องการหาตลาดให้ เพราะเรื่องธุรกิจอาหาร ไทยยังมีศักยภาพ สามารถส่งออกได้

            แต่อันที่สำคัญที่สุดคือกลุ่มแรงงานประเภท กึ่งทางการ-ไม่เป็นทางการ คือพวกภาคบริการหลายสิบล้านคนที่หายไป ยังไม่รู้ว่าเมื่อใดแรงงานกลุ่มนี้จะกลับมาได้ เพราะอย่างเรื่องการท่องเที่ยว ประเทศจีน ต่อไปเขาก็ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศตัวเองก่อน เพราะจีนมีแหล่งท่องเที่ยวเยอะ เขาก็จะเที่ยวในประเทศก่อน จนกว่าเขาจะมั่นใจในประเทศอื่นๆ ถึงจะกลับออกมาเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ภาคบริการ การท่องเที่ยว ที่สร้างกระแสเงินสดก็จะเกิดสภาพชะลอ เพราะยุโรปก็เชื่อว่า ก็ยังไม่มั่นใจในประเทศของเขาเอง เพราะก็อยู่ในสภาพอยางที่เห็น ทำให้คนยุโรปที่จะออกมาท่องเที่ยว มากินมาเที่ยว ก็จะหายไป ต้องใช้เวลา

...แรงงานภาคบริการ น่าจะหนักกว่าภาคการผลิตพวก real sector เสียด้วยซ้ำ ภาคบริการทั้งระบบ ที่กลุ่มนี้มีประมาณ 18-19 ล้านคน ถึงต่อให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดแล้วก็ตาม ก็อาจไม่มีคนไปเดิน ไปจับจ่ายเหมือนเดิม ดังนั้น การจะให้ธุรกิจฟื้นตัวแล้วกลับมาเหมือนเดิม ทั้งภาคบริการและภาค real sector ก็จะช้ากว่าภาคอื่นๆ ยกเว้นพวกสินค้าอาหาร หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสุขภาพ ก็จะมีบางส่วนได้ประโยชน์ แต่ส่วนมากจะไม่ได้ประโยชน์

            วิกฤติแรงงาน รอบนี้เรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสที่สุด หนักกว่าช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 เพราะตอนนั้นยังเป็นวิกฤติที่เรามีปัญหาในประเทศ อาจลามไปถึงอาเซียนและในเอเชีย แต่ไม่ได้ลามไปถึงตลาดใหญ่ของเราหรืออย่างตอนปี 2552 ที่เป็นช่วงวิกฤติซับไพรม์หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่เป็นปัญหาจากภายนอก แต่เราก็ยังเอาตัวรอดได้ แต่รอบนี้มันเจอสองเด้ง เราก็มีปัญหาภายในด้วย จากโควิด และทั่วโลกก็มีปัญหาจากโควิดด้วย เลยเป็นปัญหาสองเด้ง ทำให้ตัวเลขคนว่างงาน ณ จุดใดจุดหนึ่ง ในระยะเวลาสั้นๆ อย่างที่หอการค้าประเมิน ว่าจะมีคนว่างงานหลายล้านคน แม้อาจดูสูงเกินไป แต่ระยะสั้นๆ ก็อาจเป็นไปได้ แต่ว่าถ้ามองระยะยาวทั้งปี คงไม่ถึงขนาดนั้น

เจอ twin action-ศก.อีกนานฟื้นตัว

                ดร.ยงยุทธ-นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลงว่า ต้องขึ้นอยู่กับมาตรการที่รัฐบาลจะพิจารณาเรื่องการผ่อนคลายต่างๆ หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อพบว่าเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งเพื่อให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ธุรกิจแต่ละ sector ก็ต้องออกแรงผลักดันให้รัฐบาลผ่อนคลาย เช่น ยกเลิกเคอร์ฟิว โดยช่วง 2-3 เดือนที่รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ ซึ่งเมื่อพ้นระยะสัก 3 เดือนไปแล้ว ธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้ แต่ละฟังก์ชันในภาคธุรกิจ เช่น การบิน การขนส่ง เช่นพวกอาหาร สามารถส่งออกได้ ก็จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยกลับมาได้ แต่มันก็คงลำบาก เพราะตราบใดที่การส่งออกของไทย ยังเจอสองวิกฤติแบบที่บอกข้างต้น โอกาสที่เราจะใช้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอย่างอื่น ที่เป็นการบริโภคในประเทศมันชะลอไปหมด

ขณะที่การลงทุนก็ยังไม่น่าจะมีแหล่งทุนจากที่ไหนมาลงทุน ก็ทำให้เรื่องการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ก็ยังจะไม่ดี ก็เหลือแต่การใช้จ่ายของภาครัฐ ที่ตอนนี้ก็เริ่มจะติดเพดานแล้ว ที่เข้าข่ายจะไปถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ถ้าจะทำต่อไปอีก ก็จะมีปัญหา เพราะการกู้เงินจากภายในประเทศก็จะเริ่มลำบาก ก็ทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังทำงานไม่ได้มาก ทำให้ยังไง ปีนี้ GDP  ก็ติดลบ จะติดลบตั้งแต่ไตรมาสแรก ก็อยู่ที่สองไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะฟื้นตัวได้มากแค่ไหน ซึ่งหากยังพอฟื้นตัวได้บ้างในช่วงสองไตรมาสหลัง ก็อาจทำให้อยู่ในช่วง 3-4 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังเป็นตัวเลขที่อาจเป็นไปได้ 

            “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องใช้เวลา อย่างช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เราต้องใช้เวลาร่วม 3-4 ปี กว่าที่ทุกอย่างจะกลับมาเท่าเดิม จากที่เคยตกไปแล้วดึงกลับมา รอบนี้หากจะฟื้น ก็อาจฟื้นในปีที่สอง แต่หากจะให้กลับมาเหมือนเดิม ผมว่าน่าจะใช้เวลานานกว่าเก่า น่าจะเป็น 3-4 ปีอย่างน้อย เพื่อจะกลับสู่สภาวะปกติ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรอบนี้มันกระทบแบบ twin action คือมันเกิดปัญหาทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศพร้อมกัน

            - มองว่าอาจต้องใช้เวลา 3-4 ปี หากจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาแบบเดิม?

            ครับ อย่างมาตรฐานของยุโรป ตอนวิกฤติแฮมแบเกอร์ก็สองปี ก็วูบไปสักระยะแล้วก็กลับคืนมา แต่ต้มยำกุ้งตอนปี 2540 ก็สี่ปี ก็ทำให้โควิด ตอนนี้ก็น่าจะเกิน 4 ปี ถึงคืนสู่ภาวะปกติ รอบนี้การว่างงาน สุดท้ายจะอยู่ที่เท่าใด ก็อยู่ที่การฟื้นตัวของผู้ประกอบการที่ก็น่าห่วงอยู่.

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"