‘หน่อย’จี้ฟังหมออย่าสนมั่นคง


เพิ่มเพื่อน    

 ลุ้นอังคารนี้ "บิ๊กตู่" คลายล็อกดาวน์ เปิดเมืองรีสตาร์ทธุรกิจร้านค้า หลังครบบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว 30 เม.ย. "เจ๊หน่อย" ทำสุขุม แนะต้องฟังข้อเสนอแพทย์ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง "ปชป." เตือนทำแล้วต้องเอาอยู่ เชื้อโควิดไม่ระบาดรอบสอง ฝ่ายค้านไล่บี้นายกฯ ยื่น ป.ป.ช.เอาผิดฐานทำ จ.ม.ถึง 20 เจ้าสัว อ้างเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม 

    นับถอยหลังก่อนถึงวันอังคารที่ 28 เม.ย. ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมถึงการต่ออายุการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงมาตรการต่างๆ เช่น เคอร์ฟิว ที่จะครบกำหนดในวันพฤหัสบดีที่ 30 เม.ย.นี้ ก็ได้มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ออกมา 
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ผู้มีอำนาจควรคิดถึงการเปิดเมืองอย่างปลอดภัยมากกว่าต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้ว่าโควิด-?19 จะยังอยู่กับสังคมไทยและสังคมโลก แต่บริบทความมั่นคงของชาติเปลี่ยนไป ที่ปัจจุบันต้องต่อสู้กับเชื้อโรค และผู้ทำหน้าที่สู้รบคือบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่การทหารที่ต้องรบราฆ่าฟันกับศัตรู การจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ต้องฟังแพทย์ไม่ใช่หน่วยงานความมั่นคง และมุ่งสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการให้ธุรกิจดำเนินการได้
    คุณหญิงสุดารัตน์ได้เสนอ 5 ข้อสำหรับการเปิดเมือง คือ 1."Reopening แบบมีข้อบังคับด้านสาธารณสุข" อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยและไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นกลุ่มแรก เมื่อเปิดเมืองต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อในที่สาธารณะและขนส่งสาธารณะสม่ำเสมอ 2.สนับสนุนทุกจังหวัดที่จะเปิดเมืองให้มีความสามารถในการตรวจหาเชื้อ และนำตัวผู้ติดเชื้อมาเข้าระบบแยกตัว รวมทั้งเอกซเรย์พื้นที่สม่ำเสมอ ไม่ให้มีการกลับมาระบาดใหม่
       3.ยังต้องเข้มงวดในการป้องกันผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ ด้วยมาตรการ State  Quarantine 14 วัน อย่างต่อเนื่อง 4.สนับสนุนงบประมาณให้โรงพยาบาลมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเพียงพอ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากมีการระบาดรอบใหม่ 5.สำหรับประชาชนต้องปรับตัวให้เข้ากับ New Normal โดยให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากาก, Social Distancing และรักษาสุขภาพอนามัย ขณะที่รัฐบาลต้องสนับสนุนให้ Work from Home หรือการเรียนออนไลน์อีกสักระยะ
    คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งห้องประชุมใหญ่สร้างเสร็จแล้ว สามารถใช้มาตรการ Social Distancing ได้ เพื่อจะได้นำปัญหาการเยียวยาและความเดือดร้อนของประชาชนเข้าพิจารณาร่วมกันทุกฝ่าย พรรคเพื่อไทยกังวลใจกับเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่ควรนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับการตัดงบประมาณปี 63-64 ที่ไม่จำเป็นออกมาใช้ จะได้ลดจำนวนเงินที่จะกู้ได้เพราะจัดงบในช่วงที่ไม่มีวิกฤติ แต่เมื่อมีวิกฤติที่เปรียบเหมือนไฟไหม้บ้าน หัวหน้าครอบครัวมีเงินจำนวนหนึ่งสามารถที่จะซื้อรถใหม่ แต่ไฟไหม้บ้านพอดีจึงต้องจัดลำดับความสำคัญการใช้เงิน
    ส่วนความเห็นจากคนในพรรคร่วมรัฐบาล นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้คลายล็อกมาตรการต่างๆ ว่า การจะคลายล็อกหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาบนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้าน ทั้งข้อมูลทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้อมูลทางสาธารณสุขถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินสถานการณ์ว่าควรคลายล็อกหรือไม่ แค่ไหนอย่างไร จะคลายล็อกบางจังหวัด บางพื้นที่หรือบางกิจการ ซึ่งขณะนี้ก็มีข้อเสนอจากหลายภาคส่วนเกี่ยวกับมาตรการ เงื่อนไขในการคลายล็อกส่งถึงมือผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนในการตัดสินใจพอสมควร
    นายองอาจย้ำว่าเรื่องนี้จะต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์ มีเหตุผล ตรงไปตรงมา สามารถอธิบายสังคมได้ การคลายล็อกต้องอยู่ภายใต้มาตรการ เงื่อนไข คำสั่ง ข้อควรปฏิบัติที่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ เพราะสังคมไทยคงไม่อยากให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่รุนแรงขึ้นมาอีก และไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องมั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยไม่มีการแพร่ระบาดอีกหรือเรียกว่าเอาอยู่
     "ถึงแม้การตัดสินใจว่าจะคลายล็อกหรือไม่เป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่าย เพราะผลที่ออกมาหลังตัดสินใจไปแล้วอาจออกมาบวกหรือลบก็ได้ แต่เชื่อว่ารัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะตัดสินใจโดยคำนึงถึงข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ทางสาธารณสุขและข้อมูลผลกระทบกับประชาชน ผลกระทบทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป ด้วยความรอบคอบบนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวมเป็นสำคัญ"  นายองอาจกล่าว
พรรครัฐบาลขวางเปิดสภาวิสามัญ
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ฝ่ายค้านเคลื่อนไหวเพื่อขอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญว่า เรื่องพระราชกำหนดกู้เงินทั้ง 3 ฉบับ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ระบุไว้ชัดว่า ในการประชุมรัฐสภาคราวถัดไป คือเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ก็มีการบังคับให้คณะรัฐมนตรีเสนอพระราชกำหนดต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้า เชื่อว่าการรออีกไม่ถึงหนึ่งเดือนก็ไม่ถือว่าช้าไปแต่อย่างใด เพราะกระบวนการต่างๆ ได้ระบุไว้ชัดในรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อถึงเวลานำพระราชกำหนดเข้าที่ประชุม ฝ่ายค้านก็สามารถใช้สิทธิ์แสดงเหตุและผลได้อย่างเต็มที่ว่าจะอนุมัติหรือไม่  ประการที่สอง การขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญโดยใช้ช่องทาง ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 3 หรือ ส.ส.เข้าชื่อกัน 1 ใน 3 นั้น ไม่ว่าจะใช้ช่องทางใดทั้งสองกรณีต้องได้ชื่อจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิ์เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นําความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญได้ ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  123 หากมีการลงชื่อกันครบก็เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ประธานรัฐสภาไม่สามารถตัดสินใจเปิดสมัยประชุมวิสามัญได้ด้วยตนเอง ช่องทางนี้รัฐธรรมนูญก็ระบุไว้ชัดเช่นกัน 
    "เข้าใจดีถึงการที่ ส.ส.ฝ่ายค้านอยากสะท้อนความคิดเห็นในมุมต่างๆ ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้อาจจะไม่เอื้ออำนวยให้เปิดประชุมได้ ช่องทางที่ดีที่สุดคือฝ่ายค้านสามารถสรุปความเห็นจาก ส.ส.ของแต่ละพรรค แล้วนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านผู้นำฝ่ายค้านเพื่อให้เสนอต่อรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ต้องรับฟังอยู่แล้ว ก็จะเป็นช่องทางที่เกิดประโยชน์ในการระดมความเห็น" โฆษกพรรค ปชป.กล่าว 
พท.บี้เอาผิดบิ๊กตู่ทำ จ.ม.ถึง 20 เจ้าสัว 
    ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เตรียมยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 27 เม.ย.นี้ เพื่อขอให้ไต่สวนโดยด่วน และส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาว่า  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่  หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ จากกรณีทำจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีประมาณ 20 ราย
    นายเรืองไกรกล่าวว่า ในหนังสือได้อ้างถึงคำแถลงออกรายการวิทยุโทรทัศน์ และเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เรื่องขอให้มหาเศรษฐีให้ความร่วมมือระดับชาติช่วยเหลือรัฐบาลต่อสู้โรคระบาดโควิด-19 รวมทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ จากการตรวจอย่างถี่ถ้วนรอบด้านทั้งทางรัฐธรรมนูญ กฎหมายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พบว่าเข้าข่ายกระทำความผิดและสมควรได้รับโทษเหมือนกับนักการเมืองในอดีตที่เคยโดนมาแล้ว
    ทั้งนี้ หนังสือคำร้องดังกล่าวของนายเรืองไกรระบุถึงการกระทำความผิดของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นข้อๆ ดังนี้ 1.ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 164 และ 165 โดยมาตรา 164 ระบุว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 4 ประการ เช่น ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ, รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด, รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนฯ ในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน มาตรา 165 ระบุว่า ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
    2.ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ที่เชื่อมโยงถึงมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งเข้าข่ายกระทำผิดอย่างร้ายแรง โดยมาตรา 219 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นบังคับใช้และให้ใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย สำหรับมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2561 หมวด 1 ข้อ 9 บัญญัติว่า "ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่" และข้อ 27 บัญญัติว่า "การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด 1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง"
    นายเรืองไกรกล่าวว่า ในหนังสือคำร้องถึงประธาน ป.ป.ช.ระบุว่า จดหมายเปิดผนึกลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีเลขที่หนังสือ สถานที่ออกหนังสือ กลุ่มมหาเศรษฐีที่ได้รับจดหมายดังกล่าว บางรายก็ได้ตอบสนองต่อคำขอในจดหมายแล้ว จึงถือได้ว่าการกระทำอาจเข้าข่ายความผิดที่สำเร็จแล้ว  โดยเฉพาะในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ย่อมต้องทราบข้อเท็จจริงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งในฐานะผู้ตรา  พ.ร.ก.รวม 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งก็อาจจะนำไปใช้เพื่อเอื้อประโยชน์บริษัทของกลุ่มคนดังกล่าว
    นายเรืองไกรบอกว่า กลุ่มคนดังกล่าวบางรายยังมีธุรกิจที่รับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในโครงการต่างๆ เช่น  โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่, โครงการสัมปทานสินค้าปลอดอากร, โครงการอีอีซี, โครงการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน, โครงการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่,  โครงการเกี่ยวกับกิจการยาสูบ เป็นต้น
    "บางธุรกิจเคยถูกอภิปรายว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตัวนายกฯ อาจมีการเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจเหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวิกฤติโควิด-19 ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดดังกล่าวขึ้นมา มีผลทำให้ธุรกิจต่างๆ ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล กรณีที่เกิดขึ้นจึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะที่ส่อไปในทางทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งแม้เนื้อความในจดหมายมีการสื่อความหมายว่าเป็นการขอความช่วยเหลือจากกลุ่มคนดังกล่าวก็ตาม แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับมูลค่าที่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้ประโยชน์ไปจากรัฐ ย่อมทำให้เห็นเจตนาที่อาจแอบแฝงซ่อนอยู่ในลักษณะอำพรางไว้" อดีต ส.ว.กล่าว 
    นายเรืองไกรกล่าวตอนท้ายว่า พฤติการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ที่ขอความร่วมมือ  ขอความสนับสนุนช่วยเหลือจากมหาเศรษฐี เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมาย  มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามหน้าที่ด้วยการไต่สวนโดยเร็ว แล้วส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง หากดำเนินการล่าช้าในลักษณะประวิงเวลา หรือหาเหตุมากล่าวอ้างวินิจฉัยเพื่อตัดตอนคดีไม่ให้ไปถึงศาลยุติธรรม ป.ป.ช.อาจถูกดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"