โจทย์ใหญ่ภาครัฐรอแก้ไข หลัง "โควิด" คลี่คลาย


เพิ่มเพื่อน    

       สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หากดูตัวเลขทั่วโลก ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อทะลุกว่า 3.3 ล้านคน ผู้เสียชีวิตมากกว่า 2.3 แสนราย ว่ากันว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิต เทียบเท่ากับภาวะสงครามเลยทีเดียว สงครามรอบนี้ไม่ได้มาในรูปแบบการใช้กำลัง ใช้อาวุธเข้าปะทะ ประหัตประหาร แต่มาในรูปแบบไวรัส เชื้อโรค ศัตรูที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อานุภาพร้ายแรง คร่าชีวิต ทำคนพลัดพรากกันอย่างน่าสังเวช เศร้า หดหู่ใจยิ่งนัก

                สถานการณ์ในประเทศไทยดีวันดีคืน ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เดือนที่ผ่านมาหลักร้อย ค่อยๆ ลดเหลือหลักสิบ มาถึงทุกวันนี้ผู้ติดเชื้อมีไม่ถึง 10 คนต่อวัน เป็นผลมาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งว่า ‘..ตามที่ผมเคยกล่าวไว้ว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ ใหญ่และซับซ้อนมาก หน้าที่ของเราคือต้องต่อสู้ไปด้วยกันแบบเป็นหนึ่งเดียวทั้งประเทศ เราต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มธุรกิจ และทุกคน’

                สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) รวมถึงแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ปกครอง ที่ร่วมกันเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับไวรัสร้าย ทำงานอย่างแข็งขัน เข้มงวด ได้รับเสียงชื่นชมจากคนในประเทศ ประกอบกับระบบสาธารณสุขไทยที่ดีเยี่ยม อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก การเฝ้าระวัง ดูแล ป้องกัน รักษา ทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังให้คำชม

                ยังมีสิ่งที่น่ากังวล ห้วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่เห็นชอบให้วันหยุดนักขัตฤกษ์ตลอดเดือนพฤษภาคม วันแรงงาน 1 พ.ค. วันฉัตรมงคล 4 พ.ค. วันวิสาขบูชา 6 พ.ค. วันพืชมงคล 11 พ.ค. เป็นวันหยุด ประกอบกับในเวลาต่อมา รัฐบาลโดย ศบค.คลายล็อกธุรกิจ 6 ประเภท ให้เริ่มกลับมาเปิดบริการได้ตามปกติ ได้แก่ 1.ตลาด คือ ตลาดสด ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน แผงลอย 2.ร้านจำหน่ายอาหาร คือ ร้านอาหารทั่วๆ ไป ไม่เกิน 2 คูหา ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม (นอกห้าง) ร้านอาหารริมทาง รถเข็น หาบเร่ 3.กิจการค้าปลีก-ส่ง คือ ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ บริเวณพื้นที่นั่งยืน รับประทาน รถเร่ หรือรถวิ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านค้าปลีกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม

                4.กีฬาและสันทนาการ คือ กิจกรรมในสวนสาธารณะ ได้แก่ เดิน รำไทเท๊ก เป็นต้น สนามกีฬากลางแจ้ง ที่เป็นการออกกำลังกายโดยไม่ได้เล่นเป็นทีมและมีการแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงปืน ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟและสนามซ้อม 5.กลุ่มร้านตัดผมเสริมสวย คือ เฉพาะตัด สระ ไดร์ผม 6.อื่นๆ เช่น ร้านตัดขนสัตว์ ร้านรับฝากเลี้ยงสัตว์

                ภายใต้ข้อกำหนด ข้อที่ต้องทำ ในการดูแล การป้องกันทั้งผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ จะต้องเป็นไปอย่างเข้มงวดก็ตาม ประกอบกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงจากร้อยลงมาเหลือหลักหน่วย ทำให้ผู้คนคลายความกังวลมากขึ้น กลายเป็นว่า ช่วงวันศุกร์ 1 พ.ค.-จันทร์ 4 พ.ค.ได้เป็นวันหยุดยาวไปในตัว คนแห่กันออกไปเที่ยว จับจ่ายกันในต่างจังหวัด ตัวเลขการเดินทาง จำนวนรถยนต์ที่สัญจรออกต่างจังหวัดกราฟพุ่งขึ้นสูง ทำให้สถานการณ์กลับมาสู่ในจุดล่อแหลมอีกครั้ง และดีไม่ดีในทางเลวร้าย สิ่งที่ทำมาอย่างเข้มงวดเป็นเดือนๆ อาจจะต้องย้อนกลับมานับหนึ่งกันใหม่อีกครั้ง เป็นข้อกังวลที่น่าห่วงใยอย่างยิ่งยวด ไม่รู้ว่าหลังวันหยุดยาว หลังวันที่ 4 พ.ค.เป็นต้นไป ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่จะยังลดลง หรือพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ยังยากต่อการประเมิน

                สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่ยังคงเข้มงวด บังคับใช้ต่อไป การประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ถูกขยายเวลาการบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ข้อกำหนด ข้อห้าม ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 22.00-04.00 น. เว้นแต่ ธุรกิจ การขนส่งบางประเภท ที่มีความจำเป็นที่เดินทางได้เท่านั้น

                การห้ามการขายสุรา จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะมีการผ่อนคลายให้ร้านค้าเริ่มจำหน่ายได้ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป ในเงื่อนไขที่ต้องซื้อนำกลับไปกินที่บ้านเท่านั้น ป้องกันไม่ให้ผู้คนมารวมกลุ่มสังสรรค์ ที่เป็นภาวะเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง ในเมื่อธุรกิจ 6 ประเภท ภาครัฐผ่อนปรน คลายล็อก แต่ต้องปฏิบัติตามในเงื่อนไขการเฝ้าระวัง จับตาจากภาครัฐอย่างเข้มงวด ประเมินสถานการณ์ และพร้อมจะกลับมาใช้ไม้แข็งได้เหมือนเดิมตลอดเวลา หากผ่อนปรนแล้วไม่ได้รับความร่วมมือ

                ที่ผ่านมาภาครัฐ หน่วยงานราชการ มีมาตรการเข้มทั้งการดูแลด้านสุขอนามัยประชาชนอย่างใกล้ชิด และมีมาตรการให้การช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนออกมาเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของตัวเงิน ที่เปิดให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 คนลงทะเบียน ผู้ที่ผ่านการคัดกรอง ตรวจสอบ จะได้รับเงินเยียวยา รายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และยังเพิ่มกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ กลุ่มเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่เข้าเงื่อนไขในรอบแรก รวมไปถึงกลุ่มคนด้อยโอกาส ผู้พิการ ก็มีหน่วยงานเข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ หากเข้าเกณฑ์ก็จะได้รับการเยียวยาเช่นกัน

                มาตรการเยียวยาภาครัฐที่ออกมายังมีข้อติติง กระบวนการตรวจสอบล่าช้า การใช้เครื่องมือประมวลผลอย่าง AI เข้ามาช่วยก็เกิดจุดบกพร่องจริง และมีข้อเสนอที่น่าสนใจ โดยให้ดูแบบอย่างจากบางประเทศที่เยียวยาให้คนทุกคน เพราะมองว่าในภาวะที่โควิดแพร่ระบาด ทุกคนต่างได้รับผลกระทบ สำหรับการเยียวยา ยกเว้นเพียงกลุ่มที่มีรายได้มาก ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้น โดยรัฐมีฐานข้อมูลตรงนี้อยู่แล้ว ไม่ต้องเปิดให้ลงทะเบียน คัดกรองให้ยุ่งยาก เมื่อตรวจสอบแล้ว คนที่ได้บางคนก็ไม่สมควรได้รับ ขณะที่คนที่เดือดร้อนแสนสาหัสกลับไม่ได้รับการเยียวยา กลายเป็นปัญหาสังคมอย่างที่ปรากฏข่าวทุกวันนี้

                ผู้คนที่เดือดร้อนไปชุมนุมเรียกร้องหน้ากระทรวงการคลัง และบางคนตัดสินใจ ประชดภาครัฐ ขู่ฆ่าตัวตาย และพยายามฆ่าตัวตายก็มี รวมไปถึงคนที่คิดสั้น ตัดสินใจฆ่าตัวตายไปแล้วหลายราย

               กลุ่มการเมืองจากบางพรรค อาศัยจังหวะนี้โหนความสูญเสีย อย่างในรายของ รปภ.สาว ที่วาดภาพนายกฯ พร้อมแต่งบทกลอนตัดพ้อเอาไว้ก่อนจบชีวิต นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รัฐบาล เลือกที่จะมองในบางแง่มุมปัญหาด้านเดียว แล้วพุ่งเป้าหาแพะรับบาป โยนมาให้คนอีกฝ่ายในทันที วังวนการเมืองรูปแบบเอาดีเข้าตัว ไม่ว่าจะในภาวะมีไวรัสโควิดแพร่ระบาดหรือไม่มี สิ่งนี้แก้ไม่หายเสียที

               พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่เป็นการกู้เงินอย่างมโหราฬ แม้ในวงเงินบางส่วนจะถูกอ้างว่า กู้มาเพื่อใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นรายบุคคล และภาคธุรกิจ แต่ก็ยังมีงบบางส่วน อาทิ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่การระบุเพียงว่า เป็นโครงการ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ร่วม 4 แสนล้านบาท และในรายละเอียดอื่นๆ เรื่อง soft loan ที่หลักการจะให้ธนาคารเข้าไปอุ้มธุรกิจขนาดเล็ก ที่จะต้องกระจายไปอย่างทั่วถึง ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

                เป็นเพียงบางข้อห่วงใย ที่ภาครัฐ หน่วยงานที่จะต้องตระหนัก ระลึกถึงให้มาก ในการบริหารจัดการเงินกู้ที่กำลังจะได้มา เพราะนับแต่วงเงินเข้ามา คนไทยทุกคนถูกนำมาหาร กลายเป็นคนที่มีหนี้ติดตัวไปด้วยกันทั้งสิ้น

        กระบวนการเยียวยาภาครัฐไม่ใช่เพียงแค่เหตุที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อเยียวยาแล้วจะจบลง การบ้านใหญ่ของภาครัฐคือ จะหาเงินจากไหนมาใช้เงินที่กู้มา จะดูแลธุรกิจทั้งจากในส่วนของกระทรวงการคลังที่มีหุ้นอยู่ การบินไทย ธุรกิจขนาดใหญ่อีกหลายบริษัทจะทำอย่างไร จะดึงความเชื่อมั่นเม็ดเงินการลงทุน การส่งออก นำเข้า การท่องเที่ยว จะไปในทิศทางไหน นโยบาย มาตรการต่างๆ จะช่วยให้ประชาชนในระดับกลาง ระดับล่าง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จะช่วยประคับประคองมีมาตรการ มีนโยบายอย่างไร เพื่อให้เขาเหล่านั้นกลับมาแข็งแกร่ง ยืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง  

                ยามโควิดมา ‘การรับมือ’ ว่าหนักแล้ว ยามโควิดไป ‘แก้ไข ฟื้นฟู ทำให้เกิดความเชื่อมั่น’ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์ ภาครัฐ ต้องนำไปขบคิดต่อ ในวันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"