4หมื่นคนขอพ้นภูเก็ต ‘บิ๊กตู่’วอนงดเดินทางข้ามจว.หวั่นดันยอดโควิดพุ่งรอบสอง


เพิ่มเพื่อน    

 

ยังไม่นิ่ง! ภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 3 ราย ขณะที่ประชาชนยังคงแห่เดินทางออกจากเกาะแน่นด่านท่าฉัตรไชย ลงทะเบียนแล้ว 4 หมื่นคน "บิ๊กตู่" วอนประชาชนงดเดินทางข้ามจังหวัด หวั่นเป็นเหตุของการกระจายเชื้อไปยังพื้นที่ต่างๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
    เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต แจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดภูเก็ต ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม-1 พฤษภาคม 2563 ว่าจังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 220 ราย (รายใหม่ 3 ราย)
    โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 176 ราย (ไม่มีกลับบ้านเพิ่ม) เสียชีวิต 2 ราย จำหน่าย 1 ราย (จำหน่ายเนื่องด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 41 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 1 ราย ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
    ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 4,823 ราย (รายใหม่ 111 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล 99 ราย (เป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน 41 ราย อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 58 ราย) กลับบ้านแล้ว 4,724 ราย
    จำนวนผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด  8,858 ราย (พบเชื้อ 220 ราย) เป็นผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสม 4,823 ราย (พบเชื้อ 182 ราย) และเป็นผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก 4,035 ราย (พบเชื้อ 38 ราย)
    นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตได้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 ที่ต้องการกลับภูมิลำเนา เนื่องจากไม่มีงานทำและไม่มีรายได้ จังหวัดภูเก็ตได้มีหนังสือหารือไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย และล่าสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้ส่งหนังสือ ที่ มท 0230/6963 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
    มีสาระสำคัญคือ จะพิจารณาให้บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และไม่สามารถดำรงชีพ ในการพักพิงอาศัยในจังหวัดภูเก็ต เดินทางออกนอกจังหวัดกลับภูมิลำเนาได้ เป็นการเฉพาะกลุ่ม เฉพาะราย โดยให้จังหวัดภูเก็ตดำเนินการ ดังนี้
ลงทะเบียนแล้ว 4 หมื่นคน
    1.แจ้งรายชื่อผู้เดินทางออกจากจังหวัดภูเก็ต ให้จังหวัดปลายทางทราบ 2.ให้จังหวัดออกเอกสารรับรองการผ่านการคัดกรองจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือผ่านกระบวนการกักกันตัวที่จังหวัดภูเก็ตครบ 14 วันแล้ว เพื่อให้ผู้เดินทางนำไปแสดงระหว่างเดินทางและเมื่อถึงจังหวัดปลายทาง 3.ให้มีหนังสือแจ้งรายชื่อผู้เดินทางให้จังหวัดต่างๆ ที่ผู้เดินทางจะต้องเดินทางผ่านทราบ 4.ให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากจังหวัดให้ถูกต้อง ณ วันที่เดินทาง
    ทั้งนี้ จังหวัดภูเก็ตขอให้ประชาชนที่ประสงค์กลับภูมิลำเนา ลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับหนังสือรับรองผ่านการคัดกรอง และจัดระเบียบการเดินทาง
    ในส่วนของผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้แล้วก่อนหน้านี้ ขอให้ดาวน์โหลดหนังสือรับรองผ่านการคัดกรองตามที่กำหนดเพื่อใช้ประกอบการเดินทาง
    สำหรับการลงทะเบียนออนไลน์ หนังสือรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด FIT TO TRAVEL เพื่อใช้แสดงตนต่อจังหวัดปลายทางในการดำเนินการกักตัว 14 วัน เริ่มวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 12.00 -20.30 น. เป็นวันเเรก
    จังหวัดภูเก็ตอาศัยอำนาจกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 มาเป็นแนวทางในการช่วยเหลือผู้ที่ตกค้างในจังหวัดภูเก็ตให้สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ โดยให้ลงทะเบียนหนังสือรับรองการเดินทางข้ามจังหวัด FIT TO TRAVEL เพื่อใช้แสดงตนต่อจังหวัดปลายทางในการดำเนินการกักตัว 14 วัน
    พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประสบภาวะตกงาน และขาดรายได้ ไม่สามารถดำรงชีพในจังหวัดภูเก็ตได้ และต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 40,000 คน
    ทางจังหวัดรับทราบปัญหาความเดือดร้อนเป็นอย่างดี ได้ให้ความช่วยเหลือในการเดินทางออกทางด่านท่าฉัตรไชยแล้วเมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 พ.ค.  สามารถออกไปได้จำนวนหนึ่ง ส่วนช่วงบ่ายมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ระงับการเดินทางไว้ก่อนให้รอในวันที่ 3 พ.ค.
    ต่อมาวันเสาร์ ประชาชนจำนวนมากได้ไปติดต่อที่ด่านตรวจภูเก็ต หรือด่านท่าฉัตรไชย เพื่อขอเดินทางออกกลับภูมิลำเนา  ทางตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตจึงเสริมกำลังชุดควบคุมฝูงชนไปที่ด่านท่าฉัตรไชย เดิมมีกำลังประจำด่านท่าฉัตรไชยอยู่แล้วจำนวน 101 คน ได้เสริมกำลังเข้าไปอีก เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย 
คนแน่นท่าฉัตรไชย
    สำหรับประชาชนที่ไปรวมตัวกันจำนวนมากที่บริเวณด่านท่าฉัตรไชย บางส่วนได้รับอนุญาตออกไปแล้ว บางส่วนยังไม่ได้ไป  จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนในการเดินทางออกไปตามระบบ รวมทั้งต้องมีการคัดกรอง และได้ขอความร่วมมือผู้ที่จะเดินทางออกทางด่านท่าฉัตรไชย ต้องลงทะเบียนออนไลน์ตามที่จังหวัดกำหนดล่าสุด แล้วพิมพ์แบบฟอร์มเอกสารออกมาเพื่อให้มีลายเซ็นผู้ว่าฯ ลายเซ็นสาธารณสุข แล้วนำไปยื่นกับเจ้าหน้าที่ประจำด่านท่าฉัตรไชย เพื่อจัดคิวอำนวยความสะดวกให้
    พล.ต.ต.รุ่งโรจน์เผยว่า การพิจารณาให้ออกไปนั้น ได้พิจารณาตามความจำเป็นและมีการออกใบอนุญาตให้เดินทางออกไปได้ ต้องมีหนังสือรับรองการคัดกรองโรคกับสาธารณสุขจังหวัด,หนังสือรับรองจากผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นหนังสือราชการให้ถือไป ต้องมีการจัดคิวให้ในการเดินทางเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ที่ด่านท่าฉัตรไชยจะมีการจัดระบบอำนวยความสะดวกให้รวดเร็ว อย่างมีประสิทธิภาพ ในการเดินทางออกไปนั้นต้องมีใบผ่านด่านสามารถเดินทางไปโดยสะดวกจนถึงภูมิลำเนา  
    โดยกำหนดให้เริ่มเดินทางออกจากด่านท่าฉัตรไชยได้ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 05.00 น.เป็นต้นไป คาดว่าใช้ระยะเวลาไม่กี่วัน ในการบริหารจัดการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ทั้งหมด 
     ที่จังหวัดยะลา ยังคงมีสถิติเหมือนวันวาน เนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่สถิติคือมีผู้ป่วยสะสมจำนวน 126 ราย รักษาหายสะสมจำนวน 97 ราย รักษาในโรงพยาบาลจำนวน 27 ราย และเสียชีวิตสะสมจำนวน 2 ราย
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า จากกรณีการเดินทางออกต่างจังหวัดของประชาชนในช่วงหยุดวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะแม้ขณะนี้สถานการณ์ในไทยจะดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าไว้วางใจได้ โดยการแพร่เชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นได้ทุกเมื่อ หากไม่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน 
    ดังนั้น ขอให้ประชาชนที่เดินทางออกต่างจังหวัดปฏิบัติตามข้อห้ามของทางจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากกลับภูมิลำเนา ให้พักอาศัยอยู่ภายในบ้านเรือน งดออกนอกบ้าน โดยเฉพาะการร่วมสังสรรค์และกิจกรรมรวมกลุ่ม อันจะเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อและแพร่เชื้อ
    น.ส.ไตรศุลีเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยังคงข้อกำหนดการให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็นอยู่ จึงขอให้ประชาชนงดการเดินทางข้ามเขตจังหวัดโดยไม่มีเหตุอันจำเป็น เพราะการเคลื่อนย้ายของผู้คน จะเป็นเหตุของการกระจายเชื้อไปยังพื้นที่ต่างๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
แย่แน่ถ้าไม่ช่วยกัน
    "รัฐบาลหวังให้ประชาชนได้ใช้เวลาวันหยุดพักผ่อนคลายความเครียดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่เลื่อนวันหยุดในเดือน พ.ค.ออกไป พร้อมกับจะมีการผ่อนปรนมาตรการตามมา โดย ศบค.จะใช้เวลา 14 วันประเมินผล ซึ่งพวกเราทุกคนช่วยกันระมัดระวัง ป้องกันตัวเอง ร่วมกันช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราก็มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว แต่ถ้าเราไม่ช่วยกัน ปล่อยปละละเลย แล้วสถานการณ์กลับมาแย่ลง พวกเราก็อาจประสบกับความยากลำบากต่อไปอีกยาวนานพอสมควร" น.ส.ไตรศุลีกล่าว
         ขณะที่อำเภอบันนังสตา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวนมากที่สุดในจังหวัดยะลา มีรายงานว่าเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา นายธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอบันนังสตา, แพทย์หญิงเมธา วีวัชรกุล, แพทย์หญิงณัฐกานต์ แรงกล้า โรงพยาบาลบันนังสตา พร้อมพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ระดมเก็บตัวอย่างจากกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยที่บ้านตันหยงนากอ หมู่ที่ 3 ตำบลบาเจาะ จำนวน 30 ราย และที่บ้านสันติ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลเขื่อนบางลาง จำนวน 86 ราย ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจพลร่มที่ประจำฐานภายในหมู่บ้านจำนวน 10 นาย
        ในการนี้ คณะเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จโดยมีนายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา และนายปิยพล อุเซ็งแม สาธารณสุขอำเภอบันนังสตา เดินทางไปให้กำลังใจ
         นายธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอบันนังสตา เปิดเผยว่า เราต้องทำงานเชิงรุกทั้งกลางวันและกลางคืน จะได้กำจัดการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ได้โดยเร็ว เพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนของเรา
    ขณะที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวบนเรือประมง ที่องค์การสะพานปลา ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร โดยนำแรงงานต่างด้าวบนเรือประมงที่เพิ่งเข้าฝั่ง ขึ้นมาสุ่มตรวจหาเชื้อเชิงรุก ด้วยการเก็บตัวอย่างจากน้ำลายส่งไปยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ ซึ่งจะทราบผลภายใน 1-2 สัปดาห์ มีเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 2,100 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการค้นหาเชิงรุก “สมุทรสาครโมเดล” สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2  
         นายมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า ทุกวันนี้ทางสมาคมการประมงสมุทรสาครได้มีมาตรการสำหรับการป้องกันโควิด-19 ในแรงงานเรือประมง ด้วยการออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้เรือแต่ละลำปฏิบัติตาม เช่น การสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งทั้งที่อยู่ในเรือ และเวลานำสินค้าเข้าฝั่ง สวมหน้ากาก Face shield การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ เป็นต้น ขณะที่เมื่อนำสินค้าขึ้นฝั่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ไต๋เรือหรือเจ้าของเรือดูแลแรงงานในเรือประมงด้วยการให้นอนพักในเรือ ไม่ให้ขึ้นมาบนฝั่งถ้าไม่จำเป็น เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อีกทางหนึ่ง.


    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"