ป่วยใหม่เพิ่ม1ติดเชื้อจ่อเป็นศูนย์


เพิ่มเพื่อน    

  เฮทั้งประเทศ! พบติดเชื้อเพิ่มแค่ 1 ราย ศบค.ย้ำต้องมีสติ-ร่วมมือกัน 100% คาด 2 เดือนปลอดโควิด สธ.แจงสาเหตุตรวจเชื้อยะลาผิดพลาด รู้ผลรอบสาม 6 พ.ค. กมธ.สาธารณสุขสภาจ่อเรียกสอบ ชี้เรื่องใหญ่กระทบเชื่อมั่นประเทศ กห.เตรียมโรงแรม 7 แห่งชลบุรีกักตัวคนไทยกลับจากต่างแดน

     ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า  สถานการณ์ในประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 46 ปี อยู่ใน จ.นราธิวาส มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน มีอาการไข้ น้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบเมื่อวันที่ 25 เม.ย. จากนั้นไปรักษาตัวในโรงพยาบาลแห่งใน จ.นราธิวาส และตรวจพบโควิด-19 ในวันที่ 4 พ.ค.มีประวัติไปร่วมศาสนพิธีในต่างประเทศ และยังมีการสัมผัสในครอบครัว ชุมชน ซึ่งยังต้องหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป ยังไม่เจาะจงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,988 ราย หายป่วยสะสม 2,747 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม
     สำหรับกรณีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อที่ จ.ยะลา ขอให้รอผลอีกสักนิด เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต้องเก็บตัวอย่างและทบทวนกระบวนการทั้งหมด โดยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  จะประชุมเพื่อหาแนวทางคลายข้อสงสัยให้เห็นถึงมาตรฐานของการปฏิบัติการ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการตรวจเชื้อนั้น เรื่องนี้ สธ.ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งตามนโยบายที่ให้เพิ่มปริมาณห้องปฏิบัติการจะต้องเพิ่มคุณภาพไปด้วยกัน  แต่ยอมรับว่าการปฏิบัติทุกอย่างมีเรื่องต้องเรียนรู้ให้เท่าทันกัน แล็บที่เปิดใหม่กับแล็บที่เปิดมา 3-4  เดือนมีข้อจำกัด แต่ผู้บริหารให้ความสำคัญจึงคิดในหลายระบบ แล็บใหม่อาจต้องตรวจสองแล็บ และแล็บอ้างอิงในส่วนกลางเพื่อความมั่นใจของประชาชน ต้องทำทุกอย่างเพื่อความมั่นใจของประชาชน  เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าข้อต่อเชื่อมไม่สนิท หลวมเมื่อไหร่จะขับเคลื่อนไม่ได้ เราจะนำข้อห่วงใยไปสู่การพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าสถานที่ที่พบเชื้อมากที่สุด ได้แก่ ในศูนย์กักกัน รองลงมาคือ การสัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้า การค้นหาเชิงรุก ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้และสถานที่ชุมชน ขณะที่ปริมาณการตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.มีมากถึง  50,741 ราย พบผู้ติดเชื้อ 767 ราย คิดเป็นความสามารถในการค้นหา 1.51%
     นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ในหัวข้อ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ที่ สธ.ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำการสำรวจประชาชน 99,865 ราย จำนวน 4 ครั้ง ตลอดเดือนเมษายน ที่ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า พบว่า 99.8% เข้าใจว่าควรทำมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติอย่างไร และ 93.8% คิดว่า มาตรการนี้ช่วยลดการแพร่ระบาดได้ ส่วนพฤติกรรมป้องกันตัวเองของประชาชน พบว่าการใส่หน้ากากอนามัยมีเพิ่มสูงขึ้นและคงที่อยู่ที่ 91.2% การล้างมือด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์คงที่อยู่ที่ 87.2% ขณะที่การกินร้อนช้อนตัวเองเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86.1% การรักษาระยะห่างลดลงอยู่ที่ 65.3% ไม่เอามือจับหน้า จมูก  ปาก อยู่ที่ 62.9% เราอยากให้ความร่วมมือของประชาชนเกิน 90% ขึ้นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
มีสติ-ร่วมมือ 2 เดือนไร้โควิด
    "ขอฝากว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เน้นย้ำเสมอว่าตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ 1 รายวันนี้มาจากพฤติกรรมเมื่อ 14 วันที่ผ่านมา ซึ่งเราร่วมมือกันจึงทำให้ได้ตัวเลขแบบนี้ แต่หลายคนมีความกังวลใจกันมาก รวมถึงผม ว่าใน 7-14 วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ที่แล้วมาไม่เป็นไร แต่วันนี้ต้องมีสติตลอดเวลา  อย่างน้อยที่สุดใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง รวมถึงเวลาออกไปร้านค้าก็ให้ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา คอยแนะนำร้านค้าด้วยไมตรีจิต ให้เป็นไปตามมาตรการ เราต้องพึ่งกันและกัน ต้องร่วมมือกัน 100% เพราะจะทำให้เราไม่มีตัวเลขผู้ป่วยอีก ถ้ายกระดับเป็นขั้นๆ เต็มที่คือ 2 เดือนเท่านั้นเราจะปลอดโรคและปลอดภัยกันทุกคน" โฆษก ศบค.ระบุ
     ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คาดว่าวันที่ 6 พ.ค.นี้จะรู้ผลยืนยันกรณียะลาจากการตรวจซ้ำรอบสาม ซึ่งขณะนี้ทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่ กำลังนำตัวอย่างของสารคัดหลั่งของทั้ง 40 คนส่งมาตรวจหาเชื้อรอบสามที่ห้องปฏิบัติการในกรุงเทพฯ โดยอยู่ระหว่างเดินทาง น่าจะมาถึงคืนนี้และจะใช้เวลาตรวจไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ก็ย้ำว่าต้องทำอย่างรอบคอบ
     สำหรับสารคัดหลั่งที่นำมาตรวจ ประกอบด้วย สารคัดหลั่งเก่าที่เคยตรวจในสองรอบก่อนหน้านี้  และสารคัดหลั่งใหม่ ผู้ใกล้ชิดทั้ง 40 คนเบื้องต้นได้กักตัวไว้ บางส่วนได้ตรวจหาเชื้อไปแล้ว หากผลยืนยันว่าติดเชื้อต้องตรวจหาผู้ใกล้ชิดทั้งหมด พร้อมชี้แจงสาเหตุความผิดพลาดของผลตรวจว่า ปกติแล้วการตรวจหาเชื้อแต่ละครั้งจะมีการสอบทานผลตรวจจากสองทาง คือนำสารไปผสมกับน้ำเปล่าที่ต้องไม่เจอเชื้อ และนำไปผสมกับตัวเชื้อที่ต้องเจอเชื้อเช่นกัน แต่ในกรณีนี้ผลตรวจกับน้ำเปล่ากลับพบเชื้อ  ห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อที่ยะลาจึงต้องยุติการตรวจตามหลักการที่กำหนดไว้ และเจ้าหน้าที่กำลังเข้าตรวจสอบว่าความผิดพลาดนี้มาจากอะไร ซึ่งคงมาจากอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 อย่าง ที่ประกอบด้วย จากทีมผู้ตรวจ จากระบบ และจากเครื่องตรวจหาเชื้อ
     อย่างไรก็ตาม การตรวจเชื้อที่ผิดพลาดเคยเกิดขึ้นแล้ว ขอย้ำว่าเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นอีกได้  เพราะการตรวจเป็นไปไม่ได้ที่จะได้ผลถูกต้องทุกครั้ง แต่ยืนยันว่าห้องปฏิบัติการที่ยะลามีประสิทธิภาพ  เคยตรวจกลุ่มเสี่ยงมาแล้ว 4,000 คน ซึ่งผลแม่นยำ
     นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อจากกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19 ไปแล้ว 227,860 ตัวอย่าง จากห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อที่มีอยู่ 150 ห้อง โดยเฉพาะสัปดาห์ที่แล้วที่ตรวจได้ถึงวันละ  6,000 ตัวอย่าง เพิ่มขึ้นจากต้นเดือน เม.ย.ถึงสองเท่า ส่วนวิธีการตรวจที่เป็นการเก็บสารคัดหลั่ง จากบริเวณจมูกและคอมาตรวจ แม้จะมีข้อด้อยอยู่บ้าง เช่นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจ และมีต้นทุนสูง แต่ยังเป็นวิธีตรวจหาเชื้อที่ดีที่สุด
     ที่ จ.ภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตแจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.-4 พ.ค.63 มีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 220 ราย (ไม่พบรายใหม่) โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 179 ราย (กลับบ้านเพิ่ม 2 ราย) เสียชีวิต 2 ราย กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 38 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 1 ราย ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,183 ราย (รายใหม่ 168 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล  85 ราย (เป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน 38 ราย อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 47 ราย) กลับบ้านแล้ว 5,098 ราย
     จำนวนผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด  9,218 ราย (พบเชื้อ 220 ราย) เป็นผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสม 5,183 ราย  (พบเชื้อ 182 ราย) และเป็นผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก 4,035 ราย  (พบเชื้อ 38 ราย)
ยะลาปัดแล็บตรวจพลาด
    ที่มัสยิด หมู่ที่ 9 ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ทีมสอบสวนโรคจากโรงพยาบาลบันนังสตา สาธารณสุขอำเภอบันนังสตา ได้ลงพื้นที่ทำการตรวจสแกนหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการเชิงรุก หลังจากที่ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้พบผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้จำนวน 22 ราย หมู่ที่ 4 จำนวน 5 ราย หมู่ที่ 5 อีก 5 ราย รวมเป็น 31 ราย จังหวัดยะลาและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาจึงต้องเปิดปฏิบัติการเชิงรุกตรวจเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้สัมผัส เป้าหมายทั้งตำบล 838 คน ซึ่งประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี แต่ในช่วงของเดือนรอมฎอน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำเป็นต้องมาเก็บตัวอย่างในช่วงกลางคืน
     นพ.สงกรานต์ ไหมชุม สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า กรณีของ ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา ยืนยันว่าไม่ได้มีการปกปิดข้อมูล เพราะจังหวัดยะลาต้องการควบคุมโรคให้เร็ว จึงเปิดปฏิบัติการเชิงรุก และทำให้พบผู้ป่วยยืนยัน 40 คนในการตรวจผลปฏิบัติการครั้งแรกที่ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลยะลา ซึ่งมี 24  คน เป็นชาวตำบลบาโงยซิแน ซึ่งเป็นการพบการติดเชื้อเพิ่ม 30 เปอร์เซ็นต์แบบก้าวกระโดด ทำให้สาธารณสุขจังหวัดยะลาต้องขอตรวจซ้ำในห้องปฏิบัติการที่ 2 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดสงขลา ผลตรวจเป็นลบ ไม่พบการติดเชื้อ แต่เพื่อความแม่นยำจึงส่งตรวจในห้องปฏิบัติการที่ 3 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์กรุงเทพฯ
     ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ใช่ความผิดพลาดของห้องปฏิบัติการ แต่อาจเป็นไปได้ในทางเทคนิคที่เป็นผลสงสัยว่าอาจจะเป็นบวก เนื่องจากในช่วง 10 วันที่ผ่านมาห้องปฏิบัติการที่ยะลาต้องตรวจกว่า 3 พันตัวอย่าง และเจ้าหน้าที่เพียง 8 คน จึงให้มีการพักชั่วคราว และตรวจสอบระบบใหม่ทั้งหมด ขณะที่ผู้ป่วย 40 คนยังคงอยู่โรงพยาบาล เพื่อทำการสอบสวนโรคจนกว่าจะมีผลยืนยันว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19
     นายธราวุธ ช่วยเกิด นายอำเภอบันนังสตา กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการตรวจไป 5 อำเภอ ทั้งอำเภอเมืองยะลา, รามัน, ธารโต, ยะหา และบันนังสตา ที่มีการเก็บตัวอย่างมากสุดกว่า 2 พันคน และก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว 72 คน ต้องเก็บตัวอย่างผู้สัมผัส 1,400 คนให้เสร็จภายใน 3 วันนี้
     ขณะที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร  กล่าวว่า ในฐานะแพทย์และที่ปรึกษา กมธ.ฯ เห็นว่าห้องแล็บที่ให้ผลตรวจผิดพลาดเชื่อถือไม่ได้เช่นนี้ไม่ควรนำมาใช้ในประเทศไทย เพราะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง  เนื่องจากการแจ้งผลตรวจเป็นบวกหรือเป็นลบมีผลต่อการควบคุมโรค การป้องกันหรือรักษาโรค มีผลต่อจิตใจของผู้รับการตรวจ เสียงบประมาณ เสียเวลา ซึ่ง สธ.ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมทราบ ไม่เช่นนั้นอาจจะมีคนคิดไปว่าทางราชการกลบเกลื่อนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย คนไทยหรือชาวต่างประเทศอาจจะไม่เชื่อถือตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่เสนอมาตั้งแต่ต้นได้เพราะความผิดพลาดครั้งนี้ และการตรวจครั้งที่ 3 เป็นเรื่องจำเป็นมาก กมธ.สาธารณสุขจะตรวจสอบเรื่องนี้ โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงใน กมธ.ต่อไป
     ที่พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า เรื่องผลตรวจการติดเชื้อที่ยะลาหากชี้แจงไม่เคลียร์จะกระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้เกิดคำถามว่าตัวเลขก่อนหน้านี้และกรณี จ.ยะลา เราเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ศบค.ต้องมีคำตอบให้ประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่น
     วันเดียวกัน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า  พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางไปค่ายนวมินทราชินี จ.ชลบุรี เป็นประธานประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหัวหน้าหลายส่วนราชการในพื้นที่ เตรียมการรองรับคนไทยที่ทยอยเดินทางกลับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเที่ยวบินที่บินตรงลงท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา และยังได้ร่วมพิจารณาแผนการใช้โรงแรมในพื้นที่อีก 7 แห่ง จำนวน 2,500 ห้อง เพื่อหมุนเวียนรองรับเป็นพื้นที่กักควบคุมโรคแห่งรัฐเพิ่มเติม จากโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน ซึ่งมีอยู่เดิม โดยปัจจุบันมีผู้เข้าพักกักควบคุมโรคแล้วจำนวน 577 ห้อง.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"