สสส. ชวนแอปพลิเคชัน “SOOK Library” เพิ่มความรู้สุขภาพ


เพิ่มเพื่อน    

สสส. ชวนคนไทยคลายเครียดช่วงโควิด-19ระบาด ปรับตัวด้วยการอ่านหนังสือสุขภาพออนไลน์กับแอปพลิเคชัน “SOOK Library” เพิ่มความรู้สุขภาพ รับมือความเปลี่ยนแปลงสู่สุขภาวะดี

 

               

เป็นความว้าวุ่นใจสำหรับคนที่ทำงานประจำบางคน ตื่นแต่เช้าก่อนที่แสงอาทิตย์จะสาดส่องมา ทุกชีวิตก็ต้องกุลีกุจอออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน เมื่อต้อง Work From Home จึงเป็นวิถีชีวิตของสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ระบาด ต้องมีการปรับตัวค่อนข้างมาก เวลาที่ยุ่งเหยิงทั้งวันก็เปลี่ยนเป็นมีเวลามากขึ้น เราจะจัดการบริหารเวลาที่เพิ่มขึ้นอย่างมีคุณค่าและได้รับสาระความรู้เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกโมงยามในการเติมเต็มความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรที่จะต้องตระหนักรู้ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง ไม่เปิดช่องให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเจ็บป่วยก่อนเวลาอันควร

 

 

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลก ทำให้ประชาชนต้องปรับกิจวัตรประจำวัน ลดการรวมกลุ่มกันในพื้นที่แออัด รวมถึงต้องทำงานที่บ้าน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 สถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะความเครียดโดยไม่รู้ตัว ทั้งในเรื่องการปรับตัวและปรับการใช้ชีวิต สสส.จึงอยากเชิญชวนประชาชน หากิจกรรมคลายเครียด ผ่อนคลายด้วยการอ่านหนังสือออนไลน์ที่สนใจ ได้ประโยชน์ ผ่านแอปพลิเคชัน “SOOK Library”

 

               

SOOK Library คือคลังความรู้ที่รวบรวมสื่อน่ารู้ ทั้งวิธีการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ อาหาร การพัฒนาตนเอง เคล็ดลับการดูแลสุขภาพแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและงานอดิเรก รวมถึงสื่อสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ ทั้งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ก) 905 เล่ม คลิปวิดีโอสุขภาพ 327 คลิป นิทานภาพ ฮาวทูน่ารู้แบบอินโฟกราฟฟิก และข่าวสารกิจกรรมสำหรับคนรักสุขภาพที่หลากหลาย รวม 1,667 เนื้อหา อัพเดตข้อมูลเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง ทันสถานการณ์ รวมถึงข้อมูลโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในปัจจุบัน และสามารถส่งต่อเนื้อหาที่สนใจผ่าน เฟซบุ๊ก เพื่อเชิญชวนผู้อื่นร่วมอ่านและติดตามไปพร้อมกับเรา นับว่า “SOOK Library” เป็นช่องทางความรู้ ความสนุก ทางเลือกที่ผู้อ่านค้นหาข้อมูลการดูแลสุขภาพที่สนใจในทุกมิติ จัดหมวดหมู่แบ่งตามประเด็นตามความสนใจ ค้นหาง่าย เข้าถึงได้ตลอดเวลา เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “SOOK Library” ผ่านแอปสโตร์และเพลย์สโตร์ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะแค่โหลดก็สุข

               

“การอ่านหนังสือออนไลน์ทาง “SOOK Library” ถือเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ระหว่างกักตัวหรือหยุดอยู่บ้าน ร่วมลดการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่เดินทางไปที่สาธารณะหากไม่จำเป็น ลดความเสี่ยง ป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ รับผิดชอบส่วนตัวเพื่อส่วนร่วม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความรู้การเสริมสร้างสุขภาพ ส่งเสริมการอ่านของคนไทยในยุคดิจิทัล เพิ่มช่องทางเลือกความรู้ที่มีประโยชน์ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ มีสติรับมือกับปัญหาสุขภาวะในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” นางเบญจมาภรณ์กล่าว

               

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “SOOK Library” ได้ทั้งในแอปสโตร์และเพลย์สโตร์

               

นอกจากนี้ ติดตามข้อมูลความรู้โควิด-19 ได้ที่ https://www.facebook.com/thaimoph #สสส #thaihealth #ไทยรู้สู้โควิด #โควิด #สัญญาว่าจะอยู่บ้าน #คนไทยรับผิดชอบส่วนตัวเพื่อส่วนร่วม.

 

สสส.ภาคีเครือข่ายสร้างโมเดลดูแลผู้หายป่วยจากโควิด-19สุขภาพจิตดีคืนสังคม 

            

สสส.จับมือภาคีเครือข่ายสร้างโมเดลให้บริการผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 ร่วมกันพัฒนานักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาให้คำปรึกษาผ่านแอป เสริมความมั่นใจผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 ส่งกลับสู่สังคมอย่างภาคภูมิ หลังพบผู้เข้าระยะฟื้นฟูที่บ้าน 14 วัน เครียดหนัก นับถือตัวเองน้อยลง

             

หัวข้อสนทนาในยามนี้ เรื่องฮิตที่สุดก็คือสถานการณ์โควิด-19 ในเมืองไทยและทั่วโลก การรับมือกับมฤตยูที่มองไม่เห็น นับตั้งแต่การกักตัวอยู่ภายในบ้าน หลีกเลี่ยงสิ่งเสพติดจากบุหรี่ เหล้า ฯลฯ กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ทำให้มีโอกาสติดโรคได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าติดตามด้วยว่าเมื่อใครป่วยเป็นโควิด-19แล้วจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ และได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้างหรือไม่ ดังนั้นนักจิตวิทยาจึงมีบทบาทสำคัญทั้งในยามที่ป่วยและหายป่วยแล้ว สิ่งเหล่านี้ต้องมีการเยียวยาให้ร่างกายเป็นปกติที่สุด ไม่มีความเสี่ยงที่จะกลับมาป่วยซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

 

           

พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการเสริมพลังภาคี สสส. เป็นความร่วมมือระหว่างคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  ม.ธรรมศาสตร์ สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคลินิก เทเลเมดิซีน มีจุดมุ่งหมายเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตรวจไม่พบเชื้อแล้วและเข้าสู่ระยะฟื้นฟูที่บ้านอีก 14 วัน โดยได้กำลังหลักจากนักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศที่สมัครเข้ามาเป็นจิตอาสาพูดคุยกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ปลอดเชื้อ ผ่านระบบ Telemedicine หรือระบบการแพทย์ทางไกล ในแอป clicknic ที่ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์นำมาใช้คัดกรองผู้ป่วย ต่อเนื่องไปจนถึงการดูแลทางสังคมและจิตใจ หลังจากหายติดเชื้อแล้ว

           

สสส.ได้บูรณาการแผนงานในองค์กร ระหว่างแผนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพและแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต ระดมรับสมัครนักจิตวิทยาจิตอาสาและนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาเข้าร่วมโครงการ บุคลากรเหล่านี้จะต้องได้รับการอบรมทางไกลก่อนจะเริ่มทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่คนกลุ่มนี้คาดว่าจะทยอยออกจากโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ และคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโมเดลให้กับอีกหลายๆ  โรงพยาบาลนำไปปรับใช้ พญ.ขจีรัตน์กล่าว

 

          

ศ.ระพีพรรณ คำหอม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นหลังจากโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เปิดรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสามีหน้าที่เสริมพลัง สร้างความภาคภูมิใจในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เพราะผู้ที่หายป่วยแล้วมักมีความเครียด นับถือตัวเองน้อยลง นอกจากนี้จะต้องให้ความรู้ในครอบครัวต่อการดูแลตัวเองไม่ให้กลับมาติดเชื้อซ้ำอีก คอยแนะนำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในช่วงกักตัว ไม่หมกมุ่นกับการรับข่าวสารทางมือถือมากเกินไป ตลอดจนให้ความรู้แก่ครอบครัว ชุมชน คนรอบข้าง ซึ่งคนเหล่านี้มีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยมากที่สุด

           

ที่ผ่านมามีผู้เข้าสู่ระยะฟื้นฟูที่บ้านประมาณ 40 ราย บางรายมีความกังวลสูง กลัวคนอื่นรู้ว่าเคยติดเชื้อและจะไม่ถูกยอมรับ แต่นักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาจะให้คำปรึกษา เสริมกำลังใจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่คนเดียว เสี่ยงต่อการควบคุมความคิด ซึ่งต้องขอขอบคุณ สสส. และภาคีเครือข่ายที่ให้ความสำคัญไม่ปล่อยให้ผู้ที่เคยติดเชื้อต้องเผชิญกับภาวะความยากลำบากทางจิตใจเพียงลำพัง รวมทั้งการแนะนำบริการทางสังคมของหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการของรัฐลง การดูแลระยะฟื้นฟูทางสังคมมีความสำคัญที่จะลดปัญหาสังคมที่จะตามมาหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจเป็นช่องโหว่นำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายของผู้ป่วยได้ ตามที่เริ่มปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว ศ.ระพีพรรณกล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"