นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ตรวจความคืบหน้าในการเตรียมการจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2563 เรื่อง "ศิลปวิทยาการจากสาส์นสมเด็จ" ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พุทธศักราช 2505 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติ ปีถัดมานายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปี 2506 นักปราชญ์ทั้งสองพระองค์ ทรงมีคุณูปการในการวางรากฐานการศึกษา อนุรักษ์ และสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรม ในยุคแรกเริ่มของการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปกรรมของสยามหรือประเทศไทย ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา
ในช่วงบั้นปลายพระชนม์ชีพ ทั้งสองพระองค์ได้มีจดหมายแลกเปลี่ยนพระดำรัส ตอบข้อวินิจฉัยในสรรพวิทยาระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยจดหมายซึ่งเขียนด้วยลายพระหัตถ์นี้ ประกอบด้วย พระวิจารณ์และถ้อยอรรถาธิบายในเรื่องต่างๆ เป็นหลักฐานหนักแน่น เป็นเสมือนคัมภีร์บันทึกองค์ความรู้ในศาสตร์และศิลป์หลายแขนงสำหรับผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรมในประเทศไทย พุทธศักราช 2500 เป็นต้นมา จึงมีการรวบรวมจดหมายโต้ตอบดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร และเรียบเรียง จัดพิมพ์เป็นหนังสือ “สาสน์สมเด็จ” ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และด้วยสาระความรู้ในหนังสือ ครอบคลุมเนื้อหางานอันเป็นภารกิจของกรมศิลปากรทุกแขนง กรมศิลปากรจึงพิจารณาเลือกสาระความรู้จากพระวินิจฉัยทั้งสองพระองค์ในหนังสือสาสน์สมเด็จ มานำเสนอประกอบโบราณวัตถุที่พบร่วมสมัย ผนวกเข้ากับผลการทำงานสาขาต่างๆ ของ กรมศิลปากร ที่ได้สืบทอดองค์ความรู้ ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อมาจนได้พบหลักฐาน ขยายความองค์ความรู้จากพระวินิจฉัยให้กว้างขวางและชัดเจนยิ่งขึ้นในปัจจุบัน นำเสนอเป็นนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “ศิลปวิทยาการจากสาสน์สมเด็จ” ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
นิทรรศการพิเศษศิลปวิทยาการจากสาสน์สมเด็จนี้ ประกอบด้วยโบราณวัตถุจัดแสดงจำนวนกว่า 300 รายการ และสื่อมัลติมีเดีย ภายใต้หัวเรื่องย่อยที่ลำดับเรื่องจากปฐมบทสองสมเด็จ ไปสู่สรรพวิทยาความรู้แขนงต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับภารกิจของกรมศิลปากร ได้แก่ พิพิธภัณฑวิทยา นาฏศิลป์ดนตรี
ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา หนังสือ และศิลปกรรม ในพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร ของพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมหลังจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดนิทรรศการแล้ว
วันนี้่...คุยกันสบายๆ ตามประสา "โควิดรักโลก" ละกัน! เมื่อวาน (๒๒ ม.ค.๖๔) รัฐบาลออนไลน์ข่าว "ขึ้นทะเบียน อย.แล้ว วัคซีนแอสตราเซเนกา" |
ช่องว่าง "ระหว่างคิด-คุก" |
"วัคซีนสมอง"มาแล้วจ้ะ |
'ประตูบานที่ ๒ ของธนาธร' |
พงศาวสันดานเรื่อง 'อุ้ม' |
ขาลง 'สามนิ้ว-สามสัส' |
กาสิโนในมุม"ศีลธรรม" |