'โควิด' เริ่มคลี่คลาย การเมืองเริ่มระอุ วิกฤติเศรษฐกิจเขย่าเก้าอี้ 'ประยุทธ์'


เพิ่มเพื่อน    

 

        หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และการคลายล็อกระยะที่ 2 สอดรับกับการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ เสียงเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเริ่มดังกระหึ่ม ความเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เริ่มคึกคัก

โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงข่าวดีว่า สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นวันแรกของการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นศูนย์ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นวันที่ 17 แล้วที่ไทยมีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่หลักเดียวติดต่อกันมา และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมคงอยู่ที่ 56 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,025 ราย หายแล้วรวม 2,855 ราย

                อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า การเป็นศูนย์ในวันนี้ แต่อาจมีคนที่ฟักเชื้ออยู่แล้วเจอในวันพรุ่งนี้ เหมือนกับเกาหลีใต้ที่พบ 1 ราย และนำไปสู่การติดเชื้ออีก 102 ราย ของไทยก็เหมือนกัน ถ้ามีแม้แต่คนเดียวแล้วเขาไปสัมผัสกับคนอื่นก็สามารถติดเชื้อได้ การเป็นศูนย์นั้นต้องเป็นศูนย์ไปตลอด บางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 14 วัน หรือบางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 21 วัน ขนาดจีนเป็นศูนย์มาหลายวันยังกลับมาระบาดใหม่ จึงวางใจไม่ได้

                โดย ศบค.ได้ออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.นี้ กิจการ/กิจกรรมบางประเภทอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า เริ่มปิดกิจการได้ รวมถึงมาตรการเคอร์ฟิวที่ให้ปรับเวลาจาก 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 23.00-04.00 น. ภายใต้เงื่อนไขยังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการต่อไปอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องรักษาเรื่อง Social Distancing อย่างเข้มงวด

                ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธาน ศบค. กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า การดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เป็นความจำเป็นเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ แต่ก็เป็นความกังวลใจของพวกเราทุกคนที่จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 (Second wave) ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดจนกว่าจะถึงห้วงเวลาที่มีวัคซีนรักษาโรค

ทางด้านฝ่ายค้านยังคงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แม้ฝ่ายค้านจะขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่ร่วมมือในการป้องกัน รักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย จนทำให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่ไม่เคยยอมรับหรือชื่นชมรัฐบาลเหมือนผู้นำหลายชาติที่ชมรัฐบาลไทยว่าแก้ไขปัญหาไวรัสโควิดได้เป็นอย่างดี และยังโจมตีรัฐบาลว่าหากมีการจัดการปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพจะไม่เกิดผลกระทบมากเท่านี้

โดยเฉพาะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิว และการล็อกดาวน์ ปิดกิจการต่างๆ ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและต่อวิถีชีวิตของประชาชน จึงเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปลดล็อกให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตปกติ ทั้งที่แกนนำพรรคเพื่อไทย นายวัฒนา เมืองสุข เป็นคนแรกๆ ที่ผู้เสนอให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

รวมทั้งพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 27-29 พ.ค.นี้ ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตและใช้หาเสียงแก่พรรคพวกตัวเอง

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายถึงความจำเป็นของการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า เรื่องการประกาศเคอร์ฟิวต้องใช้ควบคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หลายอย่างสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ แต่ก็มีจุดอ่อน เพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ได้ให้อำนาจอะไรกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด หาก 77 จังหวัด รวมทั้ง กทม.ใช้มาตรการคนละมาตรฐานกันจะลำบาก ขณะเดียวกันผู้ว่าฯ เองก็ไม่มีความมั่นใจที่จะสั่งปิดหรือเปิด เช่น ถ้าไปสั่งปิดอะไรแล้วเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อประเทศ ทำให้มีคนตกงาน และคนเหล่านี้วิ่งมาขอความช่วยเหลือรัฐบาลกลาง เพราะจังหวัดเยียวยาไม่ได้ วันนี้รัฐบาลกลางมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถสั่งการได้ทีเดียวทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลกลางสั่งปิดอะไรก็ต้องมั่นใจว่าเกิดอะไรขึ้นจะต้องลงไปเยียวยา  เพราะหากผู้ว่าฯ ใดสั่งปิดกิจการและทำให้ได้รับผลกระทบต่อประชาชนจะให้กระทรวงการคลังมาเยียวยา กระทรวงการคลังก็คงไม่เยียวยาให้ ตรงนี้คือช่องว่างหากไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ มีรายงานว่านายกฯ มีคำสั่งให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังจากใช้มากว่า 1 เดือน เพื่อดูผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน และอาจยกเลิกภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ โดยพิจารณาปัจจัยหลายๆ ด้านมาประกอบกัน

สำหรับในช่วงเดือนพฤษภาคมมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือ พฤษภา’35 นักศึกษาและประชาชนนุมนุมขับไล่เผด็จการ รสช.และการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 53 โดยแกนนำ นปช.มีแนวคิดเรื่องการจัดงานใหญ่รำลึก 10 ปี แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงยังไม่เหมาะสมกับกิจกรรมที่จะมีคนร่วมงานจำนวนมาก จึงขอพักแผนงานเดิมไว้ก่อนและปรับรูปแบบงานเป็นกิจกรรมออนไลน์ และนัดแนะมวลชนในวันที่ 17 พ.ค. ไปพบกันที่สวนสันติพร เวลา 09.00 น. เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วีรชนคนตายพร้อมกัน

แต่น่าแปลกใจ แกนนำคณะก้าวหน้า นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณการ์ วาณิช ฉวยโอกาสในวาระครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าว ชูแคมเปญ “ตามหาความจริง” ด้วยการยิงแสงเลเซอร์ใส่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยระบุว่า พฤษภา 35|53 ความจริงต้องปรากฏ ถีบลงเขา-เผาลงถังแดง 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา ’35 พฤษภา ’53 กี่ครั้งที่ประชาชนมือเปล่าถูกสังหารอย่างเลือดเย็น กี่ครั้งที่ผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่า ไม่เพียงไม่ต้องรับโทษ แต่ยังเติบใหญ่ในเส้นทางอำนาจ

สอดรับกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ที่บ้านพักใจกลางกรุงลอนดอนถึงการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ว่าเห็นผู้นำหลายชาติในโลกไม่เข้าใจเชื้อโรคนี้อย่างแท้จริงจึงแก้ปัญหาโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากเขาได้มีโอกาสแก้ปัญหาประเทศตอนนี้ก็จะไม่ล็อกดาวน์ ได้ไม่คุ้มเสีย และหากมีอำนาจเขาจะคลายเรื่องของการล็อกดาวน์ทันที และยังกล่าวถึง นายธนาธร ว่า "ธนาธรก็ยังหนุ่ม มีอนาคตทางการเมืองก็มีมาก แม้จะถูกลงโทษไปบ้าง ก็คิดว่าได้ทำก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะตอนนี้คนไทยต้องช่วยกันทุกฝ่าย"

ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย ตอบโต้ว่า ความจริงที่คณะก้าวหน้าต้องการตามหา โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 สามารถหาอ่านฉบับเต็มจากรายงานของ คอป. เช่น การปราศรัยมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ชี้นำ หรือส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง มีกองกำลังชุดดำติดอาวุธ ถ้าต้องการเห็นความยุติธรรมจริงคณะก้าวหน้าต้องให้ความเป็นธรรมกับคดีเหล่านี้ด้วย ฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ ตากใบ 84 ศพ มัสยิดกรือเซะ 32 ศพ กปปส. 25 ศพ 

เมื่อหันไปดูศึกภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ปะทุขึ้นอีกรอบ โดยมีรายงานว่า กลุ่มสามมิตร นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปลี่ยนใจร่วมสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.เป็นหัวหน้าพรรคแทน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และมีกระแสเปลี่ยนตำแหน่งเลขาธิการพรรคของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ด้วยเช่นกัน ซึ่งคาดว่าเป็นเรื่องของการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี โดยเฉพาะเก้าอี้ รมว.พลังงาน และหวังจะมีอำนาจควบคุมการจัดสรรงบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทด้วย

ท้ายที่สุดหากมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งตัวหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค พปชร.ก็จะเกิดแรงกระเพื่อมถึงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายค้านก็เริ่มเคลื่อนไหวหนักขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอนได้มากนัก แต่ผลพวงของวิกฤติไวรัสโควิดส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ประชาชนทุกระดับชั้นได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้า จะเป็นปัจจัยเร่งสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมให้ร้อนระอุมากขึ้น และสั่นคลอนเก้าอี้ พล.อ.ประยุทธ์ จนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในที่สุด!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"