ให้โม้เงินกู้แค่3วันท้ายนไม่ไว้วางใจแทน


เพิ่มเพื่อน    

 ดับฝันฝ่ายค้าน วิปรัฐบาลเสียงแข็งประชุมสภาเห็นชอบ 3 พ.ร.ก.โควิดแค่ 3 วัน ลั่นไม่ใช่ญัตติซักฟอก กร้าวหากไม่พอใจก็ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปเลย "เทพไท-ปชป." เตรียมอภิปราย อ้างหวั่นรัฐบาลตีเช็คเปล่า ใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท 

    ในช่วงก่อนสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมสภาเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โดยท่าทีของฝ่ายค้านต้องการขอเวลาการอภิปรายมากกว่า 3 วัน ไม่ใช่แค่ 27-29 พ.ค.เท่านั้น 
    นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีที่วิปฝ่ายค้านขออภิปราย พ.ร.ก. 3 ฉบับ 10 วัน ว่าฝ่ายค้านคงเสนอความเห็นตามความรู้สึก แต่โดยข้อเท็จจริง การประชุมสภาต้องเป็นไปตามข้อบังคับ ไม่ซ้ำประเด็นต้องอภิปรายสลับกัน ประธานสภาฯ สามารถยุติการอภิปรายได้ หรือที่ประชุมเสนอปิดอภิปรายได้ เพราะฉะนั้นจำนวนวันที่จะอภิปรายต้องมีการหารือกันก่อน ซึ่งพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับนั้น เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ฝ่ายค้านมีหน้าที่ในการพิจารณาว่าจะยืนยันอนุมัติหรือไม่ พ.ร.ก. 3 ฉบับนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และสามารถอภิปรายถึงรายละเอียดของแผนงานว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใส ถึงมือประชาชนหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และอีกประการคือการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับได้ดำเนินการไปแล้ว หากฝ่ายค้านไม่อนุมัติก็ไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการที่ได้ทำมาแล้ว ดังนั้นฝ่ายค้านอย่าหลงประเด็น แต่ขอให้เตรียมอภิปรายได้เต็มที่โดยต้องอยู่ในกรอบดังกล่าว
    “ที่สำคัญฝ่ายค้านยังสามารถติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ผ่านกรรมาธิการชุดต่างๆ หากพบความบกพร่อง ผิดพลาด ทุจริตคอร์รัปชัน ก็สามารถยื่นให้องค์กรอิสระต่างๆ ตรวจสอบตามหลักธรรมาภิบาลได้ นอกจากนี้ ฝ่ายค้านก็ยังมีดาบอาญาสิทธิ์กล่าวคือสามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ทันที แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว สนับสนุนให้มีการอภิปรายในสภามากกว่า เพราะมีสิทธิ์พูดสลับกันทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายค้านเข้มแข็ง  มีข้อมูลดี ก็จะเกิดประโยชน์ในการตรวจสอบและถ่วงดุล เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งวิปรัฐบาลจะได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้” นายชินวรณ์ กล่าว
    ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แม้อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะใช้เอกสิทธิ์ความเป็น ส.ส.ในการอภิปราย ตั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยจะต้องขออนุญาตจากที่ประชุม ส.ส.ของพรรคก่อน เพราะ พ.ร.ก.เงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ มีวงเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ แต่ยังไม่มีรายละเอียดประกอบ พ.ร.ก.เหล่านี้ เหมือนเป็นการตีเช็คเปล่า จึงจำเป็นต้องอภิปรายซักถามข้อสงสัยให้รัฐบาลได้ชี้แจงรายละเอียด เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศที่ต้องรับภาระหนี้สินทั้งหมดได้รับทราบด้วย
     ส่วนการที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กำหนดวันประชุม 3 วันนั้น นายเทพไทกล่าวว่า น่าจะเพียงพอสำหรับการประชุมในครั้งนี้ โดยเปิดให้มีการอภิปรายกันอย่างเต็มที่ เพราะช่วงวิกฤติโรคโควิด-19 ส.ส.จำนวนมากลงพื้นที่ช่วยรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหลายแง่มุม น่าจะนำมาสะท้อนปัญหาเพื่อเป็นประโยชน์กับรัฐบาล เชื่อว่า ส.ส.ทุกคนจะเน้นการอภิปรายที่มีคุณภาพ ถ้าไม่มีการประท้วงหรือตีรวนกันจาก 2 ฝ่ายให้เสียบรรยากาศของการประชุม ก็น่าจะเพียงพอ ซึ่งต้องเปิดการประชุมตั้งแต่เวลา 09.30-21.00 น. แต่ถ้ารัฐบาลยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว ก็สามารถขยายเวลาประชุมได้ถึงเวลา 24.00 น. แต่หากการประชุมไม่จบภายใน 3 วัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถใช้ดุลพินิจขยายเวลาการประชุมได้
    วันเดียวกันนี้ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก @Patricia Mongkhonvanit แจงถึงเรื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ฯ โดยย้ำว่า 1.รัฐบาลกู้ 1.9 ล้านล้านจริงเหรอ? ไม่จริงค่ะ พ.ร.ก.ที่รัฐบาลออกมามีอยู่ 3 ฉบับ แบ่งเป็น 1.พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน 2.พ.ร.ก. Softloan 500,000 ล้าน 3.พ.ร.ก. Bond Stabilization Fund BSF 400,000 ล้าน
    แม้ว่าถ้าบวกกันจะมีมูลค่ารวม 1.9 ล้านล้าน แต่มีเพียง พ.ร.ก. ฉบับที่ 1 ฉบับเดียวเท่านั้นที่จะใช้เงินกู้ ส่วนอีก 2 ฉบับ เป็นการใช้สภาพคล่องของ ธปท.ค่ะ ดังนั้น การบอกว่ารัฐบาลกู้เงิน 1.9 ล้านล้าน เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องค่ะ 2.รัฐบาลจะกู้เงินจากที่ไหน? รัฐบาลมีเครื่องมือในการกู้เงิน ทั้งเครื่องมือระยะยาว เช่น การขายพันธบัตร ตั้งแต่อายุ 5-50 ปี ให้นักลงทุนสถาบัน การขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้ประชาชน การกู้จากองค์การระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และเครื่องมือระยะสั้น เช่น การออกตั๋วเงินคลัง การกู้เงินผ่านสถาบันการเงินในรูป PN หรือ Term loan 
    3.รัฐบาลกู้เงินมา 1 ล้านล้านแล้วหรือยัง? ยังค่ะ รัฐบาลจะทยอยกู้เงินตามความต้องการใช้เงิน ซึ่งในขณะนี้มีเพียง 2 โครงการเท่านั้นที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินกู้ คือการเยียวยาประชาชน และเกษตรกร ในปัจจุบัน ได้ทำการกู้เงินไปแล้ว 170,000 ล้านบาท ผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินและพันธบัตรออมทรัพย์ เครื่องมืออื่นจะทยอยตามมา
    4.จำเป็นต้องกู้ทั้ง 1 ล้านล้านไหม? อาจจะไม่จำเป็น ทั้งนี้ จะต้องกู้เป็นจำนวนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้เงิน ถ้า COVID ทำให้เศรษฐกิจฟุบนาน งบประมาณปี 2564 ใช้ไม่เพียงพอในการดูแลประชาชนและเศรษฐกิจ ก็อาจจะต้องกู้จนครบจำนวน 1 ล้านล้าน แต่ถ้าพวกเราช่วยกันแล้วคุมโรคอยู่ ทุกๆ อย่างค่อยๆ ผ่อนคลาย เศรษฐกิจเริ่มหมุน คนกลับมามีรายได้ เงินงบประมาณ 2564 ดูแลได้อย่างเพียงพอ ก็อาจจะไม่ต้องกู้จนครบ 1 ล้านล้านบาทก็เป็นได้ เป็นต้น. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"