เรียนออนไลน์ป่วน! วันแรกเว็บล่มตั้งแต่เช้าครู-นร.เจอปัญหาอื้อ/สะท้อนความเหลื่อมล้ำ


เพิ่มเพื่อน    

  ประเดิมวันแรกเรียนออนไลน์วุ่น! เว็บล่มตั้งแต่เช้า  "ครู-นร." พบปัญหาอื้อ ทั้ง "อินเทอร์เน็ตไม่เสถียร-กล้อง-ไมค์" บางคนใช้งานไม่ได้ "บิ๊กตู่" แจงแค่ใช้เรียนช่วงแก้โควิด-19 เท่านั้น "รมว.ศธ." รับต้องปรับปรุงอีกหลายด้าน ยัน 1 ก.ค.เปิดเรียนที่ รร.แน่ เล็งชง ครม.ช่วยจ่ายค่าเน็ตแทนผู้ปกครอง "เด็ก พปชร." ชี้ปัญหาเรียนออนไลน์สะท้อนสังคมเหลื่อมล้ำ "ก้าวไกล" แนะ 12  มาตรการโรงเรียนปลอดภัยสู้โควิด 

    เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563 ซึ่งเป็นวันแรกในการเริ่มออกอากาศการศึกษาทางไกลโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 
    โดยโรงเรียนต่างๆ ได้แจ้งกับทางผู้ปกครองให้จัดเตรียมและตรวจสอบความพร้อมของนักเรียนในเรื่องการเตรียมตัวในเรื่องการเรียนผ่านช่องทางในการรับชมที่สามารถเข้าได้ 2 ช่องทางคือ 1.โทรทัศน์ที่มีสัญญาณทางไกลผ่านดาวเทียมระบบ Ku-Band ช่อง 186 ถึง 200 ช่องทางที่ 2.โทรทัศน์ที่มีกล่องสัญญาณทีวีดิจิตอล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ช่อง 153 อินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ w ww.dltv.ac.th หรือพิมพ์ใน Google ว่า dltv6 สามารถชมรายการสดและรายการย้อนหลังได้ 4 แอปพลิเคชัน DLTV ดูในโทรศัพท์ ในการนี้ ทางด้านโรงเรียนได้มีการจัดเตรียมเอกสารแบบฝึกหัดให้ผู้ปกครองไปรับและระบุวันส่ง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจังหวัดแพร่การเรียนทางไกลวันแรก นักเรียนได้เตรียมความพร้อมและเข้าไปเช็กชื่อตั้งแต่เวลา 08.00 น. และเริ่มเรียนเวลา 08.30-14.30 น. ตามตารางสอนภายใต้การกำกับดูแลของผู้ปกครอง ซึ่งหลังจากที่มีการเข้าไปรับชมไม่ถึง 10 นาที ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อได้ ทั้งผู้ปกครองประสานทางด้านครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดเมธังกราวาส (เทศรัฐราษฎร์นุกูล) ต.ในเวียง อ.เมืองฯ จ.แพร่ ให้นักเรียนเข้าไปในยูทูบที่ส่งให้ในกลุ่มไลน์ผู้ปกครองแทน
    เช่นเดียวกับที่ จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 100/123 ต.ศิลา อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น น.ส.มาฆพร ก้านพลู ครู คศ.1 โรงเรียนกัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น ได้จัดให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในกลุ่มวิชาภาษาต่างประเทศภาษาที่ 2 วิชาภาษาญี่ปุ่น ที่วันนี้เปิดทำการเรียนการสอนเป็นวันแรก เพิ่มเติมจากวิชาพื้นฐานที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดการศึกษาทางไกล ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีนักเรียนเข้ารับการเรียนในรายวิชาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
    น.ส.มาฆพรกล่าวว่า วันแรกของการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ในวิชาภาษาญี่ปุ่น ตามแผนการเรียนภาษาอังกฤษ-ญี่ปุ่น ของโรงเรียนกัลยาณวัตร ซึ่งปัญหาที่พบคือนักเรียนที่จะต้องเข้าระบบการเรียนการสอนนั้น เมื่อเชื่อมต่อระบบแล้วหลุดไม่สามารถล็อกอินเข้ามาในห้องเรียนได้ ขณะที่บางคนกล้องไม่สามารถใช้งานได้ แต่ไมค์สามารถสื่อสารตอบโต้ได้ บางคนกล้องใช้งานได้ ไมค์ไม่สามารถใช้งานได้ 
    "อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือระบบอินเทอร์เน็ตที่ไม่ค่อยเสถียร จึงแก้ไขด้วยการใช้กูเกิลคลาสรูม เพื่อให้นักเรียนที่เรียนไม่ทัน สามารถกลับมาดูเพาเวอร์พอยต์ที่สอนได้อีกครั้ง ทั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่จะได้ประสิทธิภาพหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวเด็กด้วยว่าให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน อาจารย์เองก็ต้องมีการพูดคุยกับเด็กตลอดเวลา เพื่อจะเป็นการกระตุ้นตัวเด็กด้วย เพราะวิชาภาษาต่างประเทศภาษาที่ 2 เป็นวิชาที่ต้องทำความเข้าใจให้มาก จึงจะสามารถเข้าใจได้" ครู คศ.1 โรงเรียนกัลยาณวัตร จ.ขอนแก่น ระบุ 
เรียนออนไลน์แค่ทดลอง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ชี้แจงการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์เป็นการแก้ปัญหาในช่วงรอการเปิดเรียนในเดือน ก.ค.นี้ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ก็จะกลับมาเรียนในห้องเรียนตามปกติ 
    นางนฤมลกล่าวว่า สำหรับปัญหาต่างๆ เช่น การเข้าไม่ถึงระบบ ค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์ ภาระการดูแลของผู้ปกครอง และความรับผิดชอบของผู้เรียนที่จะต้องมีวินัยติดตามการเรียนด้วยตนเองนั้น รัฐบาลจะได้นำมาพิจารณาและแก้ปัญหาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเบื้องต้นจะมุ่งไปที่การลดเวลาเรียนในห้องเรียน ความพร้อมของผู้ปกครอง รวมทั้งการลดภาระการส่งเด็กไปโรงเรียน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรอีกทางหนึ่งด้วย 
    "นายกฯ ได้มอบหมายหน่วยงานด้านการศึกษาเร่งทำการชี้แจง ทำความเข้าใจต่อข้อกังวลของประชาชนและผู้ปกครอง ซึ่งต้องขอความร่วมมือช่วยกันผ่านช่วงนี้ไปก่อน จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 ยุติลง" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    วันเดียวกัน นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนโรงเรียนวัดศรีมหาโพธิ ณ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เพื่อติดตามการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ในวันแรก โดยนายณัฏฐพลกล่าวว่า เราได้เห็นการปล่อยสัญญาณจริง แล้วก็พบว่าเราคงต้องไปหาทางปรับปรุงในหลายๆ เรื่อง ในส่วนของอุปกรณ์ความพร้อมในแต่ละพื้นที่ ส่วนสัญญาณสาระต่างๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เด็กๆ ก็มีความเข้าใจดีพอสมควรในทุกๆ ชั้นเรียน อาจจะมีเด็กบางกลุ่มที่มองว่าสาระอาจจะเร็วไปหรือช้าไป อันนี้คุณครูก็ต้องเข้ามาปรับจูนความเหมาะสม ในการที่จะให้เด็กๆ ทำข้อสอบ แบบฝึกหัด แสดงความสามารถของเด็กๆ หลังจากที่ได้ดูสาระทางโทรทัศน์แล้ว 
    "ผมยังยืนยันครับว่าในวันที่ 1 ก.ค.นี้ การเรียนการสอนน่าจะเกิดขึ้นได้ที่โรงเรียน โดยมีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของสาธารณสุข หากพวกเราคนไทยทั้งประเทศสามารถรักษาความปลอดภัย เฝ้าระวังซึ่งกันและกัน เราก็น่าจะผ่านจุดนี้ไปได้" นายณัฏฐพลกล่าว
    ถามถึงปัญหาระบบออนไลน์ในการเรียนการสอนวันแรกล่มจะแก้ปัญหาอย่างไร รมว.ศธ.กล่าวว่า การล่มของเว็บไซต์แปลว่า มีคนเข้าไปสนใจมาก ก็ต้องเตรียมความพร้อมในอนาคตเท่านั้นเอง การเตรียมคลาวด์หรือว่าเตรียมเซิร์ฟเวอร์ไว้เพิ่มเติมก็น่าจะเป็นทางออกที่ทำได้ งบประมาณเรามี ในการที่จะทำตรงนั้นก็เป็นประโยชน์สำหรับการเตรียมความพร้อม 45 วัน ที่เราจะเจอปัญหาต่างๆ และหาแนวทางแก้ไข
    นายณัฏฐพลให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ตามที่ตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการทดลองการเรียนการสอนทางไกลผ่านทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ทำให้พบว่านักเรียนใช้สมาร์ทโฟนในการเชื่อมต่อ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ดังนั้น ศธ.จะไปหารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในการจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ต โดยจะนำเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า
พปชร.ชี้สะท้อนเหลื่อมล้ำ
    ด้าน น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า เสียงสะท้อนของประชาชนต่อเรื่องนี้ พบมีปัญหาและอุปสรรคอยู่หลายเรื่อง หลายครอบครัวที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีอุปกรณ์ในการรองรับการเรียนออนไลน์ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ เพราะบางครอบครัวนั้นมีลูกหลายคน พ่อแม่ต้องออกไปทำงาน ทำให้ดูแลเรื่องการเรียนในระบบออนไลน์ไม่ได้
     "กรณียายและหลานต้องแคะกระปุกจูงมือกันไปหาซื้อสมาร์ทโฟนราคาถูก เพื่อให้หลานได้เรียนผ่านออนไลน์ เพราะกลัวจะเรียนไม่ทันเพื่อนๆ เห็นแล้วก็สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องนี้ บางครอบครัวกว่าจะหาเงินได้แต่ละบาทต้องทำงานหนักมาก ดังนั้นเราต้องมาดูว่าการบริหารจัดการต่างๆ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือยัง และเราควรต้องวางแผนในการจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รวมทั้งเป็นการวางโครงสร้างทางระบบโทรคมนาคมเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในด้านอื่นๆ ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย" ส.ส.พปชร.รายนี้ระบุ
    ส่วน น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกลและคณะทำงานด้านการศึกษาพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากการติดตามการเรียนออนไลน์วันแรก พบล่มไม่สามารถเข้าได้ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งแนวทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าแนวทางที่ออกมาดูเหมือนมุ่งเน้นไปที่การเรียนแบบออนไลน์และทางไกลมากกว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย ซึ่งตนขอเห็นแย้งและเสนอว่า แนวทางที่ควรเป็นคือการเปิดเทอมให้ได้เร็วที่สุด โดยเตรียมความพร้อมให้เด็กสามารถกลับมาเรียนในโรงเรียนได้ เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง 
    โฆษกพรรคก้าวไกลยังเสนอทางออกเรื่องนี้ว่า ควรเปิดโรงเรียนเป็นทางเลือกหลัก และเชื่อว่าในวันที่ 1 มิ.ย. จะสามารถเปิดเรียนได้หากตั้งใจจริงและทำตามมาตรการ 12 ข้อ คือ 1.มาตรการคัดกรองเด็กก่อนเข้าโรงเรียน เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การมีจุดล้างมือหน้าโรงเรียน 2.การงดกิจกรรมเข้าแถวหน้าเสาธง หรือกิจกรรมการนำเอาเด็กมารวมกลุ่มกัน เช่น วิชาลูกเสือ เป็นต้น 3.มีการจัดเวรทำความสะอาด เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น โต๊ะเรียน พื้นที่ที่มือสัมผัสบ่อยๆ เช่น ราวบันได ราวระเบียง ลูกบิดประตู ขอบประตู ขอบหน้าต่าง ฯลฯ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน 4.การจัดโต๊ะเรียนให้อยู่ห่างกัน หากยังมีระยะห่างกันไม่มากพอ ก็อาจจะทำอุปกรณ์ฉากกั้นระหว่างโต๊ะเรียน ซึ่งฉากกั้นนี้ นอกจากจะเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่คอยเตือนใจให้นักเรียนเว้นระยะห่างกันได้ดีอีกด้วย
    5.กำหนดกติกาต่างๆ ให้กับนักเรียนทราบ เช่น การใส่หน้ากากอนามัยในโรงเรียน การเล่นกับเพื่อนในช่วงพักกลางวัน การรณรงค์การเว้นระยะห่างระหว่างกันภายในโรงเรียน การกำหนดจุดยืนเข้าคิวที่มีการมาร์กจุดให้ยืนห่างๆ กันภายในโรงเรียน การไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน การรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลาง ฯลฯ 6. ปรับรูปแบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ ให้มีการรักษาระยะห่างระหว่างกัน งดการนำเด็กมารวมกลุ่ม 7.จัดคาบเรียน เพื่อลดการเวียนสอนของครู เพื่อป้องกันไม่ให้ครูมีการเวียนพบปะกับเด็กจำนวนหลายห้อง เพื่อลดความเสี่ยง 8. การจัดทำจุดอ่างล้างมือบริเวณหน้าห้องเรียน 9.มีมาตรการในการตรวจคัดกรองครูด้วยเช่นกัน 10.หากพบว่าเด็กคนใดป่วย ควรให้เด็กคนนั้นพักรักษาตัวจนกว่าจะหาย 11.ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าพยายามให้เด็กเว้นระยะห่างจากปู่ย่าตายาย หรือผู้สูงอายุภายในบ้าน และงดที่จะใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน และ 12.เด็กทุกคนจะต้องมีรายงานกลับมาส่งครูทุกวัน (เด็กเล็กให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้กรอก) เหมือนกับสมุดจดการบ้าน เพื่อรายงานว่าที่บ้านมีผู้ป่วยหรือไม่ หรือมีบุคคลภายนอกมาพักอาศัยรวมกันหรือไม่ 
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรค พท. กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ย่ำแย่ไม่พร้อมในการสนับสนุนการเรียนออนไลน์ของเด็กนักเรียน ลำพังผู้ปกครองจะประคับประคองชีวิตให้ครอบครัวพออยู่พอกินยังลำบาก ดังนั้นนโยบายการเรียนออนไลน์จึงเสมือนกับการผลักภาระให้ผู้ปกครองรับภาระมากขึ้นโดยปริยาย
    "อยากจะเรียนว่า หลายครอบครัวจำนวนมากหวังให้ลูกฝากท้องไว้กับโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน ดังนั้นสิ่งที่สังคมควรฉุกคิดช่วยกันพิจารณาว่าทำอย่างไรเปิดเทอมที่จะถึงนี้โครงการอาหารกลางวันถึงจะมีคุณภาพ เด็กๆ ได้รับประทานอาหารครบหมู่ การเรียนถึงจะมีคุณภาพ ผู้ที่มีฐานะพอจะแบ่งปันให้ลูก หลานของเราได้มีอาหารกินอิ่มท้องในช่วงโรงเรียนเปิด ขอได้โปรดทบทวนนโยบายการเรียนออนไลน์ เพราะผู้ปกครองในชนบทจำนวนมากยังไม่พร้อม" ส.ส.พรรค พท.รายนี้ระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"