3วันไม่พอชำแหละกม.เงินกู้


เพิ่มเพื่อน    

 "ชวน" ตรวจห้องประชุมพระสุริยันอีกรอบ รับปากคุมเข้มไม่ให้โควิด-19 ระบาดในหมู่ ส.ส. มีเสียวแค่ตอนลงมติที่ต้องนั่งใกล้กัน ส่วน พ.ร.ก. 3 ฉบับ 22 พ.ค.จะหารือกับพรรคการเมือง ให้เวลา 2  วันและต้องเลิกประชุมก่อนเคอร์ฟิว ขณะที่ฝ่ายค้านโวยได้เวลาน้อย เงินกู้มหาศาลมีเรื่องให้พูดเยอะ  ต้องให้ผู้แทนอภิปรายให้เต็มที่

    เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจความพร้อมของห้องประชุมพระสุริยันซึ่งเป็นห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง มีการนำฉากพลาสติกตั้งไว้บนโต๊ะกั้นระหว่างที่นั่ง ส.ส.มาทดลองวาง หากเห็นด้วยพร้อมจะติดตั้งทุกที่นั่ง 
    จากนั้นนายชวนให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ดูฉากดังกล่าวไม่ค่อยช่วยป้องกันเท่าใด จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นและจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ อีกทั้งแพทย์แนะนำแล้วว่าไม่ได้ผลอะไร คิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการเข้มข้นในการตรวจคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาในอาคารรัฐสภา และตนก็พยายามหาทางเลือกตามที่สมาชิกเสนอมา คำตอบที่ดีที่สุดและคิดเหมือนกันคือ คนที่ไม่มีอาการ ไม่มีเชื้อ หากอยู่ใกล้กันก็ไม่มีปัญหา แต่เราก็พยายามเว้นระยะห่างของที่นั่ง มีเพียงตอนลงมติเท่านั้นที่สมาชิกต้องลงมติในที่นั่งของตัวเอง ซึ่งเข้ามาใกล้กันเพียงระยะเวลาสั้นๆ 
    ประธานรัฐสภากล่าวว่า มาตรการที่เตรียมไว้ต้องใช้ตลอดช่วง 120 วัน ฝ่ายอาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จก็ดำเนินการไป ขณะที่ในส่วนของห้องประชุมจะต้องพร้อมที่สุด เพราะเราจะใช้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.เป็นต้นไป
    ส่วนการกำหนดกรอบเวลาการประชุมเพื่อพิจารณาพระราชกำหนด 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินในการฟื้นฟูประเทศจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ นายชวนกล่าวว่า  วันที่ 22 พ.ค.นี้จะมีการหารือกับพรรคการเมืองเรื่องระยะเวลาการประชุม เพราะเดิมการประชุมวันพุธจะเริ่มประชุมช่วงบ่ายแล้วเลิกในเวลา 21.00 น. แต่เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว การประชุมวันที่ 27 พ.ค.นี้เราจะเริ่มประชุมตั้งแต่ช่วงเช้าแล้วเลิกประมาณ 19.00 น. ส่วนจำนวนวันการอภิปรายเบื้องต้นกำหนดไว้ 2 วัน หากไม่แล้วเสร็จก็ขยายวันต่อไปได้
'บิ๊กตู่' มาชี้แจงสภาเอง
    ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยว่า  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่นๆ จะมาชี้แจงรายละเอียดการเสนอพระราชกำหนดที่เกี่ยวกับการกู้เงินทั้ง 3 ฉบับต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วยตัวเอง
    ประธานวิปรัฐบาลยังกล่าวว่า ในการพิจารณา พ.ร.ก. ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะสลับกันอภิปรายในระยะเวลาที่เท่าๆ กัน โดยคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสามารถอภิปรายชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามต่อที่ประชุมได้ และจะพยายามควบคุมเวลาการประชุมในแต่ละวันเพื่อไม่ให้กระทบกับช่วงเวลาการเคอร์ฟิว 23.00 น. 
    ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมแกนนำ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อแสดงจุดยืนต่อ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท), พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563, พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 และ พ.ร.ก.การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการเสนอญัตติด่วนต่อสภาให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อติดตามการใช้งบประมาณตาม พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ
    นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยกับการที่ไม่มีรายละเอียดอะไรเลย นอกจากนี้การออก  พ.ร.ก.กู้เงินยังใช้ระบบคณะกรรมการจำนวน 10 คน เป็นข้าราชการประจำตำแหน่งวิชาการและอำนวยการ 5 ตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีตั้งอีก 5 คน ไม่ได้กำหนดคุณสมบัติสามารถตั้งใครก็ได้ ทั้ง 10 คนมีอำนาจหน้าที่ใช้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่เป็นภาษีอากรของประชาชน แต่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหรือข้อห้ามเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาจทำให้กรรมการใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อหาประโยชน์ของตนเองของผู้อื่น 
    "อยากฟังว่ารัฐบาลมีการควบคุมการปล่อยกู้ หรือการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร เพราะอาจจะเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน หรือเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องได้" นายสมพงษ์กล่าว
    ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การกู้เงินครั้งนี้มีความจำเป็น แต่การใช้เงินจำนวนมากไปสู่อนาคตต้องมีความเท่าเทียม โควิด-19 เปรียบเหมือนมหาพายุ เป็นจุดตัดของโลกและของประเทศไทย เป็นวิกฤติที่ต้องใช้งบประมาณมากที่สุดในการแก้ไขปัญหา กลไกสภาจึงมีความสำคัญ การให้เวลาแค่ 3 วันในการอภิปรายเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ควรให้เวลามากกว่านี้ และควรเปิดโอกาสให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ ขณะเดียวกันประชาชนสอบถามเข้ามาจำนวนมากว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่ ทั้งหมดไม่ใช่การเล่นการเมืองในช่วงวิกฤติ แต่เราต้องการรักษาประโยชน์ในช่วงที่เป็นจุดตัดของประเทศและของโลกเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ไม่ใช่กลับไปสู่อดีตที่เปลือยประเทศว่าทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยบอบช้ำแค่ไหน
ฝ่ายค้านโวย 3 วันน้อยไป
    นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า อยากได้รายละเอียดในการใช้งบประมาณ และไม่เห็นด้วยกับการที่กำหนดให้อภิปรายได้เพียง 3 วัน ควรเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายอย่างเต็มที่ เพราะเป็นการใช้จ่ายเงินที่ประชาชนต้องรับผิดชอบหนี้จำนวนมหาศาล ที่สำคัญไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะนำ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับมาควบรวมพิจารณาพร้อมกันในคราวเดียว พ.ร.ก.กู้เงินแต่ละฉบับมีรายละเอียดที่ต่างกัน ในส่วนของการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิ 10 คนเข้ามาดูแลเงินจำนวนมหาศาลของประชาชน ควรให้มีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในสภาแทนการแต่งตั้งจากนายกฯ
    นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับในเรื่องของหลักการเหตุผลคนละอย่างกัน เมื่อรัฐบาลแยกมาสภาต้องพิจารณาแยกทีละฉบับ ยังไม่เคยเห็นการที่แยก พ.ร.ก.มาแล้วเอามาพิจารณารวมกัน แม้จะต้องเสียเวลาไปบ้าง จำนวนเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านบาท และเป็นประโยชน์ของประชาชน ก็ต้องยอมเสียเวลาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ นอกจากนี้มีเสียงสะท้อนจากประชาชนมาว่า เงินเยียวยาทำไมรัฐบาลจึงกลั่นกรองในลักษณะที่ยุ่งยาก 2 เดือนแล้วยังไม่ได้ คนหิวเขารอไม่ได้ เพราะแบบนี้จึงมีการฆ่าตัวตาย เพราะการกระทำของรัฐที่ทำให้ยุ่งยาก ไม่มีสมอง กระดุมเม็ดแรกเมื่อมันติดผิด มันก็ผิดเรื่อยไป จึงคิดว่าไม่น่าไว้วางใจที่จะมอบอำนาจให้รัฐบาลมาแก้ปัญหา และดำเนินการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤตินี้เพราะช้าเกินการ
    นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤติแล้วเราได้ผู้นำที่มีความรู้ความสารถ ปัญหาจะไม่หนักขนาดนี้ แต่เราได้ผู้นำแบบนี้ จึงเหมือนการซ้ำเติมประชาชน โชคดีที่เราได้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถ การกู้เงินที่ลูกหลานวันข้างหน้าต้องเป็นคนใช้หนี้ ดังนั้นต้องโปร่งใส ไม่ใช่หยิบฉวยเอาโอกาสนี้ไปเป็นของคนบางกลุ่มหรือของผู้มีอำนาจ อย่าสร้างโอกาสบนซากศพและความเดือดร้อนของประชาชน
    ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการใช้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายใช้เงินให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะวิกฤติโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 2 จึงต้องใช้เงินอัดฉีดและดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม 
    รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้มแข็งเดินหน้าไปได้ น่าจะอยู่ที่การจัดการงบประมาณประจำปี 2564 ที่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการลงทุนของภาครัฐที่จะช่วยให้เกิดผลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และการที่จะใช้งบ 4 แสนล้านบาทในการพยุงเศรษฐกิจให้เกิดผล หัวใจสำคัญอยู่ที่ต้องใช้เงินให้ตรงจุด ตรงเป้าหมาย ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง แต่เมื่อพิจารณาลำดับขั้นตอนการใช้เงินแล้วรู้สึกเป็นห่วงว่าจะใช้เงินตรงจุดหรือไม่ เพราะลำดับขั้นตอนการใช้เงินโดยให้หน่วยงานต่างๆ ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการฟื้นฟู 
    "หลังจากนั้นก็นำเข้าคณะกลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วส่งเรื่องไปให้คลังกู้เงินนั้น อาจจะเกิดการลูบหน้าปะจมูกได้ เนื่องจากคณะกรรมการหรือคณะกลั่นกรองส่วนมากเป็นข้าราชการที่คุ้นเคยกับหน่วยงานต่างๆ เกรงว่าจะพิจารณาเรื่องใช้เงิน 4 แสนล้านบาทแบบเกรงใจกัน  ปล่อยให้มีโครงการที่ไม่ได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจเพื่อเป็นฐานรากในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างแท้จริง กลายเป็นโครงการที่ช่วยพยุงความต้องการของหน่วยงานต่างๆ หรือเอาโครงการที่หลุดจากงบประมาณปกติมาแต่งตัวใหม่เสนอให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งจะทำให้การใช้เงิน 4 แสนล้านบาทไม่เกิดประโยชน์ตามเป้าหมาย ขอฝากนายกรัฐมนตรีกำชับทุกหน่วยงานให้เสนอโครงการใช้เงิน 4 แสนล้านบาทที่เป็นไปตามเป้าหมายอย่างจริงจัง และควรย้ำให้คณะกรรมการฟื้นฟูรวมทั้งคณะกลั่นกรองทำหน้าที่กรองให้ละเอียด เพื่อให้การใช้เงินทุกบาททุกสตางค์เป็นไปอย่างคุ้มค่า นำพาให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างแท้จริง" นายองอาจกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"