เสียงจากที่ประชุมสภาประชาชนจีน:ปะทะรอบใหม่กับวอชิงตันรอวันปะทุ


เพิ่มเพื่อน    

    หากสถานการณ์โควิด-19 สร้างความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจของประเทศจนประเมินได้ยากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ผู้นำประเทศจะทำอย่างไร?
    วิธีของรัฐบาลจีนง่ายมาก...คือไม่เสนอตัวเลขคาดการณ์ใดๆ เลย
    นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีนใช้วิธี “เมื่อมีปัจจัยความไม่แน่นอนสูงอย่างนี้ก็ขอไม่พยากรณ์ใดๆ”
    ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีนก็ว่าได้ที่รัฐบาลบอกประชาชนว่าไม่สามารถจะบอกได้ว่าปีนี้อัตราโตเศรษฐกิจจะบวกหรือลบ ถ้าบวก บวกเท่าไหร่ หรือถ้าลบจะลบกี่เปอร์เซ็นต์
    เพราะไม่มีใครรู้จริง ขืนนำเสนอตัวเลขก็อาจจะผิด และถ้าผิดก็จะทำให้ประชาชนสับสน และรัฐบาลก็จะตอบคำถามอะไรไม่ได้
    นี่คือ New Normal อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน
    การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) และสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนแห่งชาติ (CPPCC) ที่ปักกิ่งในสัปดาห์นี้มีความหมายสำคัญหลายๆ ด้านที่จะต้องจับประเด็นวิเคราะห์กันให้รอบด้าน
    การประชุม NPC หรือ "ฉวนกั๋วเหรินต้า" ชุดที่ 13 ครั้งที่ 3 เริ่มขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เลื่อนมาจากเดือนมีนาคมเพราะโควิด-19
    ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง, นายกฯ หลี่ เค่อเฉียง และทีมผู้นำจีน นำเสนอรายงานต่อสภา ระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 2020
    ที่สร้างความร้อนแรงทันทีก่อนเปิดการประชุมด้วยซ้ำคือ “ร่างกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกง” ที่จะกระชับอำนาจของปักกิ่งเหนือฮ่องกงอย่างชัดเจน
    ทันใดนั้นก็มีปฏิกิริยาจากกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกง 
    เรียกความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนครั้งนี้ว่าเป็น “อวสานของฮ่องกง”
    และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมก์ ปอมปิโอ ออกมาต้านจีนอย่างออกนอกหน้าทันที
    เรียกข้อเสนอใหม่ของจีนครั้งนี้ว่าเป็น “ระฆังมรณะ” หรือ Knell of Death สำหรับเกาะแห่งนี้
    ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาสำทับว่าการที่จีนพยายามจะสยายปีกไปควบคุมความเคลื่อนไหวทางการเมืองของฮ่องกงอย่างเบ็ดเสร็จเป็นเรื่อง “น่ากังวล”
    ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่ได้โต้โดยตรง แต่ยืนยันว่าการออกกฎหมายความมั่นคงเกี่ยวกับฮ่องกงเป็นการสร้างเสถียรภาพให้กับเกาะแห่งนี้
    จีนยังยืนยันนโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ นโยบาย “จีนเดียว” หรือ One China Policy
    ฝ่ายต่อต้านปักกิ่งโต้ว่า “หากปักกิ่งเข้ามาคุมฮ่องกงอย่างนี้ก็เท่ากับการสิ้นสุดของหนึ่งประเทศสองระบบ”
    อาจจะเป็นกลายเป็น “หนึ่งประเทศหนึ่งระบบครึ่ง” เท่านั้น
    ความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เรื่องฮ่องกง เท่ากับเป็นการเพิ่มความตึงเครียดอีกระดับหนึ่งระหว่างสองมหาอำนาจ
    เพราะเดิมก็มีการกล่าวหาจากสหรัฐฯ ว่าจีนเป็นต้นตอของโรคระบาดจนต้องให้ปักกิ่งจ่ายค่าชดเชยอย่างมากมาย
    ทับซ้อนด้วยร่างกฎหมายใหม่ของสหรัฐฯ ที่ผ่านวุฒิสภาให้มีการกำกับควบคุมบริษัทจีนที่มาขึ้นทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ
    โดยให้มีการตรวจสอบว่าบริษัทเหล่านั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลหรือกลไกรัฐมากน้อยเพียงใด
    หากพบว่าธุรกิจเอกชนจีนเหล่านั้นมีความโยงใยถึงกลไกรัฐจีนก็อาจเข้าข่ายเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงของสหรัฐฯ...ให้ถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เสีย
    ในเวลาเดียวกัน อเมริกาก็ยังกดดันไม่ให้เอกชนสหรัฐฯ คบหาหรือมีความเกี่ยวโยงทางธุรกรรมกับหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ของจีนด้วยเหตุผลเดียวกัน
    นั่นคือภัยอันเกิดจากเทคโนโลยีของจีนที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เอง
    ไม่จำต้องเอ่ยถึงสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ที่ยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีการลงนามในข้อตกลง “สงบศึกชั่วคราว” ก่อนหน้าโควิด-19 จะอาละวาดจนทำให้เกิดความปั่นป่วนทั่วโลกรอบใหม่
    ทรัมป์ยังขู่ว่าหากจีนไม่ทำตามเงื่อนไขในข้อตกลงนี้ คือให้จีนซื้อสินค้าสหรัฐฯ มูลค่าไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านเหรียญใน 2 ปี เขาก็จะบอกเลิกสัญญานี้ให้รู้ดำรู้แดงเลย
    อีกทั้งยังตะคอกใส่จีนว่า “ผมสามารถจะยกเลิกความสัมพันธ์กับคุณในทุกๆ ด้านได้เหมือนกัน”
    ทรัมป์ใช้กลยุทธ์ “ทุบด้วยฆ้อน...และฟ้อนรำ” เหมือนที่คุณหมอหลายท่านพูดถึงการจัดการกับโควิด-19 อย่างไร้มารยาททางการเมืองอย่างยิ่ง
    แต่หากฟังน้ำเสียงและถ้อยแถลงของผู้นำจีนจากที่ประชุมสภาประชาชนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็สรุปได้เลยว่า
    ศึกปะฉะดะระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งรอบใหม่กำลังรอการปะทุอีกรอบ!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"