ผ่อนปรน ‘เฟส 3’ หัวเลี้ยวหัวต่อ ปท. พิษเศรษฐกิจบีบ 'ศบค.' ต้องจัดสมดุล


เพิ่มเพื่อน    

      การผ่อนปรนในระยะที่ 3 ได้รับการจับตามองอย่างมาก เพราะถือเป็นกลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่าบรรดากิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 2

      ปัจจุบัน มีกิจการ/กิจกรรมที่ถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง และยังไม่ได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 1  และ 2 ดังนี้ 1.ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต อาทิ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิง สเกต คาราโอเกะ/ สวนสนุก สวนน้ำ สวนสัตว์/ พื้นที่ส่งเสริมการขาย แข่งกีฬา/ ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญ/ สถานที่ออกกำลังกายฟิตเนส/ ศูนย์ประชุม ฮอลล์/ สถานที่จัดนิทรรศการ/ โรงเรียน สถาบันกวดวิชา/ สนามพระเครื่อง/ นวดแผนไทย สปา

      2.ด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ อาทิ สถานเสริมความงาม ควบคุมน้ำหนัก/ สถานที่สัก เจาะผิวหนัง/ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร และอาบอบนวด/ นวดเสริมความงาม นวดตัว/ สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้/ สวนน้ำ สวนน้ำบึงธรรมชาติ กีฬาทางน้ำ

      และ 3.ด้านอื่นๆ อาทิ การจัดอบรม สัมมนา จัดแสดงสินค้า นิทรรศการ/ จัดงานเลี้ยง อีเวนต์ในโรงแรม/ ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า

      หากดูการจัดประเภทกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง จะพบว่ามีการจัด ผับ บาร์ สนามมวย ไว้ในข่ายที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 4

      ทว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ค่อนข้างจะควบคุมได้ ยังมีตัวเลขหลักเดียวติดต่อกันต่อเนื่องจาก หลังผ่านการผ่อนปรนในระยะที่ 1 และ 2 มาแล้ว ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.

      ขยับกิจการ/กิจกรรมบางประเภทที่อยู่ในการผ่อนปรนระยะที่ 4 มาผ่อนปรนระยะที่ 3 นี้เลย

      ช่วงที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยดีขึ้น กลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีแดง ผับ บาร์ สนามมวย เริ่มขยับออกมาเรียกร้องให้รัฐผ่อนคลายเร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ตอนแรก เพราะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากรายได้ที่หายไปตลอดหลายเดือน โดยเริ่มมีการแสดงสัญลักษณ์ประท้วง ศบค.ในบางพื้นที่

      ยิ่งการที่กลุ่มกิจการ/กิจกรรมอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันได้รับการผ่อนปรนไปก่อน ยิ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และต้องการความเท่าเทียม รวมถึงการดูแลในฐานะที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับท้าย

      แน่นอนว่า เสียงเรียกร้องที่กว้างขวางมากขึ้น สร้างแรงกดดันในการตัดสินใจให้ ศบค. เพราะแม้จะยึดหลักด้านสาธารณสุขเป็นหลัก แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วย

      ยิ่งวันนี้ผ่านการผ่อนปรนมา 2 ระยะแล้วสถานการณ์ของประเทศไทยยังไม่เพลี่ยงพล้ำ ยิ่งทำให้การตัดสินใจค่อนข้างยากลำบาก ไม่ว่าจะยืนยันหลักเดิม หรือผ่อนปรนให้เร็วกว่าที่วางไว้ตอนแรก

      ในมิติด้านสาธารณสุขย่อมต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาด และย่อมอยากที่จะยึดมาตรฐานเดิมที่วางเอาไว้ แต่ในขณะที่ปัญหาเรื่องรายได้ของประชาชนขณะนี้ โดยเฉพาะแรงงาน ลูกจ้าง ในกิจการ/กิจกรรมที่ถูกจัดอยู่ในเฟสสุดท้าย ดูจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากสุด เพราะต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มกิจการ/กิจกรรมอื่นกว่าจะกลับมามีรายได้

      การตัดสินใจของ ศบค. ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ไม่ว่าออกทางไหนย่อมมีเสียงท้วงติง และปฏิกิริยาต่อการตัดสินใจ

      หากมีการขยับกลุ่มกิจการ/กิจกรรม ในเฟสที่ 4 ขึ้นมาอยู่ในเฟส 3 ที่จะได้รับการผ่อนปรน ก็ต้องมีมาตรการที่ค่อนข้างรัดกุมพอสมควร เพราะเป็นประเภทความเสี่ยงสูง

      แต่หากยึดแนวทางเดิมคือ ยึดหลักสาธารณสุข ยืนยันการผ่อนปรนตามที่เคยมีการจัดเอาไว้ ก็ต้องรีบเข้าไปดูแลกลุ่มกิจการ/กิจกรรมเหล่านี้ ในฐานะที่ต้องสูญเสียรายได้และขาดโอกาสนานกว่าประเภทอื่นๆ เพื่อลดแรงกระเพื่อมหลังการตัดสินใจในวันที่ 29 พฤษภาคม

      ถือเป็นการตัดสินใจผ่อนปรนครั้งที่ยากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา เพราะกิจการ/กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงสูงทั้งสิ้น

      และเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่ต้องจัด “สมดุล” ให้ดี เพื่อประคองให้ประเทศยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ควบคุมได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"