หาดชะอำร่อแร่! 'ประธานมูลนิธิสืบฯ' ชี้เหตุสารพัดโครงการยื่นลงทะเลกักตะกอน จุดชุมวิวชื่อดังแหว่ง


เพิ่มเพื่อน    

“ศศิน”ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้เหตุหาดทรายเมืองเพชรหาย-สารพัดโครงการยื่นลงทะเลกักตะกอน ระบุจุดชมวิวชะอำสร้างขึ้นใหม่ไม่กี่ปีแต่กั้นทรายจนหาดด้านใต้แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังแหว่ง

8 มิ.ย.63 - นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ร่วมกันนายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อดูสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายหาดในจังหวัดเพชรบุรีเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ปัญหาในตอนนี้คือการขาดการจัดการชายหาดทั้งระบบ ตั้งแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมในอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบฯจนถึงแหลมผักเบี้ยในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยโครงการแรกที่ทำให้เกิดปัญหาคือสะพานหินชะอำของบริษัทชลประทานซีเมนต์ที่สร้างเพื่อให้เรือใหญ่เข้ามาขนปูนซีเมนต์โดยสะพานหินแห่งนี้ได้ถมหินเป็นสะพานยาวออกไปในทะเล ทำให้กักตะกอนทราย ส่งผลให้ชายฝั่งชะอำด้านเหนือไปจนถึงหาดเจ้าสำราญหายไปเป็นช่วงๆ และเจ้าของที่ดินแต่ละพื้นที่ต่างแก้ไขปัญหากันเอง บางรายเอาหินมาถม กลายเป็นฟันปลา

นายศศิน กล่าวว่า ในส่วนของทะเลชะอำทางทิศใต้นั้น น่าเห็นใจที่ชายหาดหายไปโดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงแรมรีเจนท์ชะอำ ซึ่งเป็นโรงแรมเก่าแก่ แต่ตอนนี้ชายหาดกลับหายไปเพราะการพัฒนาโครงการป้องกันชายฝั่งผิดพลาดของรัฐบาลในอดีต หลังพายุลินดาเมื่อกว่า 20 ปีก่อน โดยใต้หาดแห่งนี้คือที่ตั้งของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ซึ่งนักวิชาการและหน่วยงานราชการได้"ลองวิชา" เนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่สมัยนั้น มีสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นหน่วยงานต้นเรื่องร่วมกับกรมเจ้าท่า ร่วมกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ โดยทำแพ็คเก็จถมหินกันชายฝั่งอ้างป้องกันโบราณสถานอย่างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

"จริงๆ ทำอย่างเดียวก็พอแล้ว แต่นี่ใส่เกราะเสีย 4 ชั้น ซ่อมกำแพงเดิมของพระราชนิเวศน์ 1 ชั้น ทำลานหินทิ้งหน้ากำแพงเพื่อกันคลื่นเซาะฐานรากอีก 1 ชั้น สร้างคันดักทรายด้วยกองหินยื่นไปในน้ำ 8 คัน เพื่อดักทราย มาเป็นเกราะชั้นที่ 3 ที่นอกฝั่ง มีกองหินวางขนานฝั่งเพื่อกันคลื่นวิ่งหาฝั่งอีก 1 ชั้น ระบบป้องกัน 4 ชั้นนี้เกินความจำเป็นไปมาก แต่อ้างว่า เพื่อจะได้เป็นต้นแบบสำหรับประเทศไทยได้มาดูงานป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งของอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติฯ จะได้เอารูปแบบสัก1-2อย่างไปทำบ้าง กลายเป็นโชว์รูมการถมหินชายหาด

ไอ้ที่ว่ามาทั้งหมดยังไม่ร้ายเท่าของแถมคือ เขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ 4 แท่งยาวยื่นไปที่ปากคลอง 2 คลอง 2 ด้านของโครงการ แต่แรกก็ได้ยินว่าเพื่อให้ชาวบ้านเอาเรือมาจอดหลบคลื่นลม แต่พอเอาจริงบอกว่าเป็นพื้นที่ฝึกของตำรวจตระเวนชายแดน เขื่อนนี้ทำหน้าที่กั้นทรายที่จะปิดปากร่องน้ำเพื่อให้น้ำทะเลเข้ามาได้ตลอดปี เอาน้ำเค็มเข้ามาทำลายพื้นที่ดอนตะกาดทรายด้านใน เพื่อจะได้ทำโครงการให้คนมาช่วยกันปลูกป่าชายเลน กลายเป็นแปลงปลูกป่าที่น่าจะแพงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกทีเดียว”นายศศิน กล่าว

นายศศิน กล่าวอีกว่า ผลกระทบของโครงสร้างทั้งหมดคือกักทรายที่มากับกระแสน้ำเลียบฝั่งที่พัดขึ้นด้านเหนือไว้เกือบหมด โดยเฉพาะเขื่อนปากคลองที่เอาไว้ดึงน้ำเค็มมาปลูกป่า ทำให้ชายหาดด้านเหนือที่มีกระสอบขาดวิ่นอยู่ถูกกัดเซาะ ซึ่งกรมเจ้าท่าก็รู้ว่าผลกระทบเรื่องนี้มีแน่ ก็เลยมีของแถมสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกฝั่งให้หมู่บ้านด้านเหนือที่ประชิดโครงการโดยชาวบ้านบางส่วนดีใจได้ประโยชน์ไว้จอดเรือ การกัดเซาะก็น้อยเพราะมีทรายงอกไปเชื่อมกองหินนอกฝั่ง เป็นอ่าวโค้งวงๆแบบแถวมาบตาพุด แต่นั่นยิ่งซ้ำเติมหาดด้านเหนือขึ้นไป เพราะทรายที่ควรจะเหลืออยู่บ้างที่จะไหลขึ้นเหนือก็ถูกกักอยู่เป็นทรายงอกหลังกองหิน 4 กอง ตัวอย่างที่ชัดเจนคือทรายงอกหน้าร้านอาหารชื่อดังแถวนั้นคือ ร้านปลา

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กล่าวว่าหลังจากนั้นจึงถึงคิวชายหาดหน้าโรงแรมรีเจนท์และโรงแรมอื่นๆที่ถูกกัดเซาะ โดยโรงแรมรีเจนท์ได้ขอความช่วยเหลือไปยังกรมเจ้าท่า ซึ่งเขาไม่อยากได้กำแพงหินเพราะเป็นหาดท่องเที่ยว โครงการ"เติมทรายก็บังเกิดขึ้นยาวไป 1 กิโลเมตร ราคากว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่เติมทรายเฉยๆ เอาใส่กระสอบยักษ์ที่สมัยนั้นเราก็เพิ่งรู้จักว่าชื่อ บิ๊กแบ็ก แล้วเอาทรายกลบทับหน้า เมื่อเวลาผ่านไปทรายกลบได้หายไป กรมเจ้าท่าก็เอามาเติมใหม่ 1-2 ครั้ง แต่ทรายก็หายไปอีก แต่ที่ร้ายกว่านั่นคือกองบิ๊กแบ็กด้านเหนือสุดทำหน้าที่เหมือนกำแพงกันคลื่นจากหิน ทำให้กระแสน้ำเลี้ยวเบนเข้ากัดเซาะหาดด้านเหนือต่อไป ขณะที่ผ่านไป 4-5 ปี กระสอบก็เริ่มขาด และมีชาวบ้านบางส่วนเดินลงหาดไม่ได้เพราะมีตะไคร่ลื่น ก็ต้องมาเจาะเพื่อให้ลงได้ นักท่องเที่ยวบางส่วนลื่นล้มหัวแตก โรงแรมต้องเอาป้ายห้ามลงหาดติดไว้

นายศศิน กล่าวว่า สำหรับชายหาดชะอำฝั่งด้านใต้ซึ่งขณะนี้กรมโยธาได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนก่อสร้างบันไดคอนกรีต 8 ขั้นกันคลื่นนั้น เนื่องจากเกรงว่าการกัดเซาะจะรุนแรงถึงแนวต้นสนใหญ่ริมถนนเลียบชายหาด จริงๆแล้วปัญหาที่ทำให้ชายหาดบริเวณดังกล่าวหายไปเพราะเทศบาลได้สร้างจุดชมวิวยื่นออกไปในทะเลจึงทำให้กั้นตะกอนทรายที่มากับน้ำ ดังนั้นหากต้องการแก้ปัญหาจริงๆก็คือการรื้อจุดชมวิวออก ซึ่งจริงๆแล้วชายหาดชะอำตลอดแนวควรมีทรายถมเพิ่มขึ้นทุกปีเพราะสะพานกินช่วยดักทรายเอาไว้ แต่เมื่อสร้างจุดชมวิวเพื่อทำกิจกรรมต่างๆของเทศบาล ทำให้กักตะกอนทราย

ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้มีทางออกเยียวยาชายหาดอย่างไร นายศศิน กล่าวว่าต้องสร้างสภาวะสมดุลย์ให้ตะกอนทรายกลับคืนมา โดยกรมเจ้าท่าที่ดูแลร่องน้ำทรายที่สะสมมากๆมาไว้อีกฝั่งหนึ่ง หรืออาจจะต้องเสริมทรายอยู่เป็นระยะๆเพราะหาดชะอำเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติ ดังนั้นการจะก่อสร้างใดๆควรปรึกษาวิศวกรชายฝั่งหรือผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้วย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"