จุดอ่อนจุดแข็ง ศ.ก.ไทยจากวิกฤติโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

ช่วงต้นเดือนธนาคารโลกได้ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2020 ซึ่งเป็นรายงานแรกขององค์กรระหว่างประเทศที่ออกมาหลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านไปแล้วห้าเดือน ทำให้มีข้อมูลในการวิเคราะห์ผลกระทบต่าง ๆ มากพอควร ในภาพรวมธนาคารโลกมองว่าผลกระทบของวิกฤติโควิดต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรง โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวร้อยละ 5.2 ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวปีหน้า ประเทศส่วนใหญ่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจคือ การขยายตัวติดลบ และในหลายประเทศรายได้ต่อหัวของประชากรจะลดลง ทำให้ความยากจนจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น

            ในแง่อัตราการเติบโต เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมจะหดตัวมากถึงร้อยละ 7 ปีนี้ ขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ การหดตัวจะประมาณร้อยละ 2.5 ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ติดลบ และจะติดลบในทุกภูมิภาคของโลก ยกเว้นเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่เศรษฐกิจยังขยายตัว แต่ในอัตราที่ต่ำมากคือร้อยละ 0.5 ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ธนาคารโลกประมาณว่าปีนี้จะติดลบ 5 เปอร์เซ็นต์ใกล้เคียงกับที่หน่วยราชการไทยประเมิน ภายใต้ข้อสมมุติว่าไม่มีการระบาดรอบสองในประเทศ สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกที่ปีนี้จะยังขยายตัวก็ เช่น จีน และเวียดนาม

            จากที่เศรษฐกิจโลกมีการเชื่อมโยงกันสูง การขยายตัวติดลบของเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ที่จะแบกรับแรงกระแทกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข จากรายได้การทำงานในต่างประเทศที่จะลดลง มีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาสภาพคล่องและกดดันความสามารถในการชำระหนี้ ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าขั้นปฐมที่จะลดลงตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง ผลกระทบเหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ซวนเซเสียขบวนไปทั้งหมด ที่สำคัญการระบาดในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย บราซิล ยังไม่หยุด ทำให้ผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจจะยังมีต่อไป ไม่รวมถึงความเสี่ยงที่การระบาดในรอบสอง รอบสาม อาจเกิดขึ้น นี่คือภาพขณะนี้

            ในแง่นโยบาย ธนาคารโลกมองว่าในระยะสั้นทุกประเทศต้องให้ความสำคัญสูงสุดกับการลดการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในประเทศที่สถานการณ์ยังไม่นิ่ง พร้อมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในระยะยาวจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ และฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน มุ่งไปที่ธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมาก รวมถึงการรักษาระบบการให้บริการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อประชาชนและเศรษฐกิจให้สามารถทำงานได้ต่อไป ทั้งโดยนโยบายของประเทศเองและความร่วมมือระหว่างประเทศ

            เทียบกับประเทศอื่น ๆ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยต้องถือว่ามาก คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบร้อยละห้า แต่หลายคนก็แปลกใจว่าทำไมผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงมาก ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยอยู่ในระดับต้น ๆ ทางด้านสาธารณสุขที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ก็เริ่มปรับตัวหลังยกเลิกมาตราการล็อคดาวน์ต่าง ๆ  อะไรคือจุดอ่อนที่ให้เศรษฐกิจไม่สามารถทัดทานผลกระทบจากโควิดได้ดีกว่านี้ และอะไรเป็นจุดแข็งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้หลังผลกระทบของวิกฤติโควิดผ่านไป นี่คือประเด็นที่จะเขียนให้คิดวันนี้

            อย่างแรกเลยที่ต้องตระหนัก ช่วงห้าปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไม่ได้เป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีในภูมิภาคเอเชีย อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงห้าปีที่ผ่านมาต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของกลุ่มอาเซียนโดยตลอด และบางปีอัตราการขยายตัวของเราต่ำสุดในอาเซียน นี่คือข้อเท็จจริง ที่เป็นอย่างนี้เพราะเศรษฐกิจไทยไม่มีการลงทุนมานาน โดยเฉพาะในภาคเอกชน ทำให้เศรษฐกิจเราไม่มีนวัตกรรม และสินค้าใหม่ ๆ ที่จะแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่ต้นทุนการผลิตในสินค้ากลุ่มเดิมที่เราส่งออกก็แพงขึ้นจากต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง การส่งออกจึงชะลอแต่ก็ได้รายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยพยุงถึงร้อยละ 12 ของจีดีพี เมื่อเศรษฐกิจไม่ลงทุน การขยายตัวของเศรษฐกิจจึงต่ำและต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญในการหารายได้คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจไม่มีความเข้มแข็งของการใช้จ่ายในประเทศที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่จึงไม่มีอำนาจซื้อ ต้องพึ่งการกู้เงินหรือสินเชื่อเพื่อการใช้จ่าย ทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง นี่คือเศรษฐกิจไทยก่อนเจอวิกฤติโควิด และเมื่อวิกฤติโควิดมาถึง การส่งออกและการท่องเที่ยวเกิดติดขัด สร้างรายได้ให้ประเทศไม่ได้ เศรษฐกิจก็ทรุดลงมากและเร็ว

            อย่างไรก็ตาม แม้ผลกระทบจะมาก แต่การที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตในอัตราที่สูงก่อนหน้า ก็มีผลดีในแง่เสถียรภาพเศรษฐกิจ และเมื่อวิกฤติโควิดเกิดขึ้น เศรษฐกิจจึงมีจุดแข็งในส่วนนี้ที่ช่วยยันหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และช่วยให้การทำนโยบายของภาครัฐสามารถตอบสนองได้เร็ว

            หนึ่ง ระบบธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างเข้มแข็ง จากการที่ธนาคารพาณิชย์ได้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง ทั้งในเรื่องเงินกองทุน และการบริหารความเสี่ยงในยี่สิบปีที่ผ่านมาหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ระบบธนาคารพาณิชย์จึงมีความพร้อมที่จะตั้งรับกับผลกระทบของวิกฤติได้ดีพอควร ทั้งในเรื่องเงินกองทุน และประสบการณ์ในการบริหารลูกหนี้ในช่วงวิกฤติ ทำให้สามารถตอบรับมาตรการต่าง ๆ ของภาคทางการได้เร็ว

          สอง วินัยด้านการคลังที่รักษากันมาในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้ระดับหนี้ของภาครัฐค่อนข้างต่ำประมาณ 43 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ ทำให้ภาครัฐมีพื้นที่ที่จะกู้เงินเพิ่ม เช่น การออก พรก. 1 ล้านล้านบาทที่จะดูแลและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด เป็นพื้นที่ทางนโยบายที่หายากถ้าเทียบกับหลายประเทศที่ไม่มีพื้นที่นี้

          สาม ความเข้มแข็งของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ได้สะสมมาตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ล่าสุดอยู่ที่ 226 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม ทำให้ประเทศไม่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศที่มักจะมากับการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศในช่วงวิกฤติ ช่วยให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ ทั้งที่ผลกระทบของวิกฤติต่อเศรษฐกิจรุนแรง

            สี่ ภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางขั้นสูงมีความเข้มแข็งด้านการเงิน เพราะแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำมาตลอด แต่บริษัทเหล่านี้มีกำไรในการทำธุรกิจทุกปี และเมื่อบริษัทส่วนใหญ่ไม่ลงทุน สภาพคล่องและฐานะการเงินจึงดี สามารถรองรับผลกระทบจากการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงห้าเดือนแรกของปีได้อย่างดี รวมถึงรักษาการจ้างงานซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

            ความเข้มแข็งเหล่านี้ได้ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจสามารถรักษาความมีเสถียรภาพต่อไปได้ แม้ผลกระทบของวิกฤติโควิดต่อเศรษฐกิจจะรุนแรง ช่วยให้ภาครัฐสามารถดำเนินนโยบายแก้ไขและบรรเทาผลกระทบได้อย่างทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะในการเยียวยาและการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องกับธุรกิจที่มีปัญหา พูดได้ว่าประสบการณ์ของธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดูแลลูกค้าได้ดีและทำได้เร็วจนสามารถดูแลสถานการณ์ต่าง ๆ ได้พอควร

            แต่จุดสำคัญและพูดถึงกันมากก็คือ ความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขของประเทศ เพราะวิกฤติคราวนี้เป็นทั้งวิกฤติสาธารณสุขและวิกฤติเศรษฐกิจ ด้านเศรษฐกิจจุดแข็งสี่ด้านที่พูดถึงได้ช่วยให้ภาครัฐสามารถทำนโยบายแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นได้เร็ว พร้อมรักษาเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพท่ามกลางผลกระทบที่รุนแรง แต่ที่สำคัญกว่าคือ ความสามารถของระบบสาธารณสุขของประเทศที่สามารถหยุดการระบาดได้เร็ว ทำให้ความเสียหายต่อชีวิตไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และจะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ถ้าการนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจทำได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

            ปัจจุบันมีข้อเขียนมากมายที่ชมเชยความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของเรา จากที่ประเทศเคยมีตัวเลขการระบาดสูงเป็นอันดับสองของโลก ในช่วงต้น ๆ ลดลงมาเป็นอันดับที่ 86 ในปัจจุบัน ล่าสุดการประเมินโดยหน่วยงานอิสระที่มาเลเซียก็ให้ประเทศไทยเป็นอันดับสองรองจากออสเตรเลียในแง่ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ผมเองเคยวิเคราะห์เรื่องนี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถดูแล และหยุดการแพร่ระบาดได้ดีมาจาก

            หนึ่ง ความเข้มแข็งของระบบสาธารณาสุข ทั้งในแง่โครงสร้างของระบบการให้บริการที่เข้าถึงประชาชนในทุกส่วนของประเทศ ความเข้มแข็งบุคลากรทางการแพทย์ คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่การแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ทำงานอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา แต่ที่สำคัญคือ ความไว้วางใจ หรือ Trust ที่ประชาชนมีต่อบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี

          สอง คือ ความร่วมมือของประชาชนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่มีต่อการทำนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะในช่วงล็อคดาวน์ที่กระทบการหารายได้ และความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นการเสียสละอย่างใหญ่หลวงที่คนจำนวนมากที่อยู่ในแรงงานนอกระบบ มีรายได้เป็นรายวันแต่พร้อมที่จะลำบาก ยอมขาดรายได้เพื่อให้นโยบายของภาครัฐในการหยุดการแพร่ระบาดประสบความสำเร็จ นี่คือความร่วมมือของคนในสังคมในยามวิกฤติที่เป็นลักษณะที่หายากในสังคมโลกปัจจุบัน

          สาม คือ น้ำใจและจิตใจของคนไทยที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน พร้อมช่วยเหลือกันในยามลำบาก เห็นได้ว่าในช่วงล็อคดาวน์ที่คนจำนวนมากไม่มีรายได้ ไม่มีอาหารประทังชีวิต เราเห็นคนไทยทุกระดับช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน ประชาชนบริจาค ตั้งโรงทาน ตั้งตู้ปันใจปันความสุข ขณะที่วัดกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ ทำอาหารแจกผู้ยากไร้ วัน ๆ หนึ่งกว่า 300,000 คน เหล่านี้ทำให้ผลกระทบของวิกฤติโควิดต่อสังคมได้ลดทอนลง ไม่เกิดข้อขัดแย้งที่รุนแรงในสังคม ที่สำคัญการช่วยเหลือกันทำให้สังคมมีวินัยที่จะช่วยกันลดการระบาดและรักษาสุขลักษณะอนามัยที่มีผลต่อการลดระบาด

            อย่างไรก็ตาม ภายใต้จุดแข็งเหล่านี้ ทั้งในระดับเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสังคม วิกฤติคราวนี้ก็ชี้ให้เห็นหลายอย่างที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ ที่เราอาจทราบกันดี แต่ไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาจนวิกฤติโควิด ทำให้คนในประเทศตาสว่างกับปัญหาเหล่านี้

            อันดับแรกเลย คือ ความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมี ที่ประเทศมีคนรายได้น้อยหรือคนจนจำนวนมากพร้อมกับคนจำนวนน้อยที่ร่ำรวยมากจริง ๆ เรารู้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศเรามีติดอันดับโลก แต่อาจมองไม่เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาจนเมื่อประชาชนกว่า 20 ล้านคนลงทะเบียนขอความช่วยเหลือจากภาครัฐที่จะช่วยเหลือเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทเป็นเวลาสามเดือน กลุ่มคนเหล่านี้คือ กลุ่มคนที่อยู่ในภาคการผลิตนอกระบบที่ไม่มีประกันสังคม มีรายได้เป็นรายวัน ไม่มีเงินออม และส่วนใหญ่ไม่สามารถช่วยตัวเองและครอบครัวได้ ถ้าไม่มีงานทำ คนกลุ่มนี้กว่า 20 ล้านมีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานที่ประเทศมี

            สอง เศรษฐกิจเราไม่มีระบบการให้ความช่วยเหลือทางสังคม หรือ Safety net ที่จะเป็นหลักพิงให้กับคนกลุ่มที่อยู่นอกระบบประกันสังคม ทำให้พวกเขาไม่เข้มแข็งพอที่จะช่วยเหลือตัวเองในยามที่ไม่มีรายได้ อันนี้ยังไม่นับรวมประชากรในภาคเกษตรอีกกว่าสิบล้านคนที่ไม่มีหลังพิงด้านรายได้เช่นกัน ทั้ง ๆ ที่คนทั้งสองกลุ่มนี้ คือ กำลังแรงงานด้านการผลิตที่สำคัญของประเทศ

          สาม แม้เราจะเป็นประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้เกินความต้องการในประเทศ แต่ชัดเจนว่าภาคการเกษตรไม่สามารถเป็นเสาหลัก หรือเป็นหลังพิงด้านรายได้ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศในยามวิกฤติ ต่างกับข้อเท็จจริงที่ปัจจุบันเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานของเราอยู่ในภาคเกษตร นี่คืออีกจุดอ่อนที่สำคัญ

            ทั้งสามจุดอ่อนนี้ ทำให้คนทั้งประเทศ "ตาสว่าง" ว่ากระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผ่านไปถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และความสามารถในการหารายได้ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนส่วนใหญ่ยังมีความสามารถหารายได้ต่ำ ไม่มีเงินออม และอ่อนไหวมากถ้าการหารายได้ถูกกระทบ ดังนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจจากนี้ไปจึงไม่ควรกลับไปรูปแบบเดิมเพราะจะทำให้ความอ่อนแอที่มีอยู่ยิ่งเลวร้ายลง

            จึงถึงเวลาที่เราจะต้องคิดถึงรูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งในตัวเองมากขึ้นและส่งผ่านผลจากการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่กลุ่มคนทุกส่วนของประเทศอย่างทั่วถึง  วิกฤติโควิดทำให้เราเห็นชัดเจนว่าเราคงไม่สามารถปล่อยให้เศรษฐกิจเติบโตในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป แต่การเติบโตต้องเป็นรูปแบบใหม่ที่จะทำให้ชีวิตคนส่วนใหญ่ของประเทศดีขึ้น และมีความหวัง.

ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"