สสส.จับมือศศก.-SABส่องพฤติกรรมสิงห์อมควันนักเสพลดลงช่วงโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

 

ปลดล็อกระยะ 4 ยกเลิกเคอร์ฟิว สสส.จับมือ ศศก.-SAB แถลงข่าวส่องพฤติกรรมประชาชนใช้สารเสพติดช่วงโควิด-19 พบนักเสพลดลงในช่วงกักตัวอยู่บ้าน เคอร์ฟิวช่วยสกัดการซื้อขายสารเสพติดลำบาก ชี้คนไทยดูแลสุขภาพมากขึ้น ดื่มน้ำเมาลดลงกว่าครึ่ง 56.4% สูบบุหรี่ลดลง 28.1% แนะรัฐออกมาตรการหนุนคนรักสุขภาพในช่วงคนถอย ห่างสารมอมเมา แพทย์แนะวิธีเลิกบุหรี่-เหล้าเป็นจริง “เราเริ่มใหม่ได้ทุกครั้งที่แพ้”
               

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จัดงานแถลงข่าว “สถานการณ์ยาเสพติดในช่วงระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลงหรือโดดเพิ่มขึ้น” ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกี่ยวกับผลสำรวจการรับรู้ถึงความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 : ดร.สุริยัน บุญแท้ ผจก.ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ผลการใช้ยาเสพติดต่อจิตประสาท (ยาเสพติดมีผลต่อจิตประสาทอย่างไร โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น) : รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผจก.ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) กับการเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดในวัยรุ่น (ครอบครัว ชุมชน สังคม จะช่วยเป็นส่วนในการป้องกันเยาวชนไทยให้ห่างไกลยาเสพติดอย่างไร)

 

              

ดร.สุริยัน บุญแท้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) เปิดเผยผลสำรวจการรับรู้ความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากการโทรศัพท์สอบถามจากฐานข้อมูลผู้เสพยาบ้า เฮโรอิน กระท่อม ยาไอซ์ กระจายตามอาชีพและรายได้ เมื่อวันที่ 20-24 พฤษภาคมที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป 1,825 ราย ในพื้นที่ 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี อยุธยา นครปฐม เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา

               

พบกลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง คือร้อยละ 61.2 รู้ว่าการใช้สารเสพติดเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ร้อยละ 79.3 รู้ว่าสารเสพติดทำลายภูมิต้านทานของร่างกาย ติดเชื้อง่าย ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 12.8 พบเห็น/รับรู้ว่ามีการใช้สารเสพติดในชุมชน โดยบุคคลที่ใช้สารเสพติดส่วนใหญ่เป็นเพื่อนบ้าน รองลงมาคือ คนในชุมชน นอกจากนี้ ร้อยละ 7.6 ยังพบเห็น/รับรู้ว่ามีการซื้อขายสารเสพติดในชุมชน โดยผู้ขายครึ่งหนึ่งเป็นคนในชุมชน
               

ดร.สุริยันกล่าวว่า การสำรวจยังได้ถามถึงการใช้สารเสพติดในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4.6 มีการใช้สารเสพติด อาทิ กัญชา ใบกระท่อม รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ แต่ในช่วงการระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มใช้สารเสพติดน้อยลง ร้อยละ 29.8 หรือบางรายไม่ใช้เลย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากไม่ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ประกอบกับมาตรการภาครัฐที่ให้กักตัวอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ถี่ขึ้น

               

การซื้อขายในยามวิกาลทำได้ยากเพราะมีเคอร์ฟิว ขณะที่กลุ่มที่ใช้ยาเสพติดมากขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 6 เกิดจากความเครียด เบื่อหน่าย และมีเวลาว่างมาก ส่วนประเด็นเรื่องการปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.6 รู้ข่าวการออกกฎหมาย โดยร้อยละ 38.6 เห็นด้วย มองว่าเป็นพืชสมุนไพรใช้เป็นยา ขณะที่ร้อยละ 24.4 ไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ และมอมเมาเด็กและเยาวชนให้ติดยา อย่างไรก็ตาม ควรนำกรณีศึกษาของเสรีกัญชาเป็นตัวอย่าง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่ากัญชาคืออะไร ขณะเดียวกันมาตรการควบคุม กำกับ ติดตาม ยังไม่ชัดเจน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ข้อมูลที่ชัดเจน เพราะคนที่ไม่เข้าใจอาจตีความในทางลบ

               

ข้อสังเกตจากงานวิจัย คนที่ติดสารเสพติดไม่มากนัก ใช้เป็นครั้งคราว ยิ่งในช่วงโควิดลดปริมาณการใช้เพื่อรักษาสุขภาพ สามารถนำไปต่อยอดให้หยุดสารเสพติดได้ คนที่มีโรคแทรกซ้อนมีความเสี่ยงสูงในการใช้สารเสพติด กระทบต่อร่างกาย นำไปขยายผลได้ กลุ่มคนที่เบื่อหน่ายอยู่บ้านช่วงโควิดควรจัดการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์
 

              

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การระบาดของโควิดได้รับผลกระทบทั่วหน้า ยิ่งคนที่ใช้สารเสพติดสะท้อนว่าเราได้รับผลกระทบจากสารเสพติดเพิ่มขึ้น ขณะนี้โควิดอยู่กับเราเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ประเทศไทยรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จากผลสำรวจของ SAB ในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีผู้ใช้สารเสพติด รวมถึงแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงอย่างมาก ในกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่ใช้สารเสพติดร้อยละ 4.6 เป็นผู้ใช้สารเสพติดประเภทใบกระท่อมลดลงถึง 1 ใน 3 หรือร้อยละ 39 ดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ร้อยละ 56.4 สูบบุหรี่ลดลง ร้อยละ 28.1 สาเหตุหลักที่ทำให้ใช้สารเสพติดลดลงมาจากมาตรการ Social distancing ทำให้ลดปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันประชาชนตื่นตัวด้านการรักษาสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยหันมาใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น
               

“ขณะนี้ปัญหายาเสพติดในเด็กและเยาวชนไทยยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 12-19 ปี ที่มีการใช้สารเสพติดมากถึง 3.72 ในปี 2562 โดยครึ่งหนึ่งกำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มสารเสพติดที่ใช้เพิ่มขึ้นคือ กัญชา พืชกระท่อมและเฮโรอีน และมีแนวโน้มการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายมากกว่าหนึ่งชนิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สสส.และภาคีเครือข่ายจะนำผลสำรวจไปศึกษาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานเฝ้าระวังและเยียวยา นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว

               

การเลิกบุหรี่และเหล้าได้อยู่ที่ใจ ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีการจูงใจในการเลิกสิ่งเสพติดเหล่านี้ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน การให้ความรู้แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีกระบวนการอย่างอื่นเข้ามาเสริมอย่างต่อเนื่องด้วย
    

           

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. กล่าวว่า ธรรมชาติเด็กวัย 15 ปี อยากรู้ อยากทดลองสารเสพติด สารออกฤทธิ์ที่สมอง ส่งผลต่อจิตประสาท สมองคนเราพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป ถ้าใครทดลองสารเสพติดออกฤทธิ์ต่อสมอง จิตประสาท โดยเฉพาะเด็กจะออกฤทธิ์รุนแรงกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยย่อมมีเปอร์เซ็นต์สารเสพติดต่างๆ มากยิ่งขึ้น กัญชา กระท่อม ผสมกับสารชนิดอื่นๆ เมื่อผสมสารหลายชนิดรวมกันมีฤทธิ์ซับซ้อนมากขึ้น นักวิจัยศึกษาฤทธิ์สารเสพติดจะกดประสาทและกระตุ้นประสาท บางครั้งจะผสมกับสารอื่นๆ ในยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ กลุ่มโอปิออยล์ ฤทธิ์ที่ผสมรวมกันทำให้เป็นอันตรายมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นเป็นอันตรายทวีคูณ บางคนมีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย

               

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนวินเชสเตอร์คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการสำรวจรวมกัน เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 กับผลทางสุขภาพจิตในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในอังกฤษและไทย ผลศึกษาเบื้องต้นพบเยาวชนมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลสูงร้อยละ 42-62 และมีการใช้สารเสพติดในช่วงโควิด-19 ระบาด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ กัญชา ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลสำรวจของ SAB โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดประเภทสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่เสพโดยการสูดควันเข้าสู่ร่างกาย เช่น ไอซ์ ยาบ้า กัญชาแบบสูบ ซึ่งเป็นอันตรายต่อปอดโดยตรง หากติดโควิด-19 จะมีอาการที่แย่ลงกว่าคนปกติ เนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายปอด รวมถึงสารที่มีฤทธิ์ระงับอาการปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาแก้ปวด จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการทรุดลง เพราะออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้หายใจช้าลงและระดับออกซิเจนในเลือดลดลงตาม
 

               

“หากโควิด-19 ระบาดในไทยรอบสอง แพทย์ต้องเตรียมรับมืออาการของโรคที่เกิดจากผลข้างเคียงในผู้ใช้สารเสพติด ทั้งนี้ ผู้เสพยาเสพติดถือเป็นกลุ่มที่เปราะบาง ในช่วงที่มีผู้ใช้สารเสพติดลดลง รัฐควรออกมาตรการต่อเนื่องหรือเพิ่มเติม เพื่อให้สารเสพติดเข้าถึงประชาชนได้ยากขึ้น รวมถึงสร้างความเข้าใจกับประชาชน ไม่รังเกียจหรือกีดกันผู้ติดยาเสพติด เพื่อให้คนในกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงแพทย์ได้อย่างเต็มที่เมื่อมีการติดเชื้อโควิด-19” รศ.พญ.รัศมนกล่าว

               

การสร้างความรับรู้สารเสพติดให้ระมัดระวัง นโยบายในการเข้าถึงมาใช้ประโยชน์ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงสารเสพติดไม่ง่ายจนเกินไปเป็นโจทย์สำคัญ ทำให้ความชุกและอันตรายจากการใช้สารเสพติดลดลงด้วย ในกรณีที่เด็กเริ่มเข้าไปข้องเกี่ยวกับสารเสพติด พ่อแม่ต้องสังเกตว่าลูกมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ก้าวร้าวขึ้น มีพฤติกรรมไม่เหมือนคนเดิม พ่อแม่ควรให้ความสนิทสนมกับลูก เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกจะได้รับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที สารเสพติดแต่ละตัวนั้นมีความยากง่ายในการหยุดใช้สารเสพติดที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ใหญ่บางครั้งหยุดได้ทันที แต่สารเสพติดบางชนิดต้องค่อยๆ ลดลงวันละนิดจนอยู่ในขั้นที่ปลอดภัย

               

กัญชา ยาไอซ์ ยาบ้าหยุดได้เลย ไม่เป็นอันตราย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นจังหวะที่ดีที่ทำให้ลดการเข้าไปใช้สารเสพติด เพราะทุกคนย่อมเป็นห่วงสุขภาพของตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็อย่าได้ชะล่าใจว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิดเป็น 0 มาแล้วเกือบ 1 เดือน จำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมมือกันในเรื่องการรักษาความสะอาด เว้นระยะห่าง ฯลฯ เพราะถ้าติดแล้วจะทำลายปอด ดังนั้นต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"