ศธ.ลั่นไม่ยุบองค์การค้าฯ แต่จะฟื้นฟูองค์กร ใช้พนักงานดำเนินการเพียงแค่124คน ทำธุรกิจล้างหนี้ขาดทุนสะสมต่อไป


เพิ่มเพื่อน    


 
3ก.ค.63-นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) วาระพิเศษ ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางในการเบิกจ่ายค่าชดเชยบางส่วนให้กับพนักงานองค์การค้าที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 961 คน เป็นจำนวนเงินคนละ 100,000 บาท โดยเจ้าหน้าที่ต้องลงนามในบันทึกการรับเงินเยียวยาจากการเลิกจ้างเป็นพนักงานองค์การค้าของ สกสค .ได้ตั้งแต่วันนี้ (3 ก.ค.2563) เป็นต้นไป โดยไม่ต้องรอเบิกจ่ายในเดือน กรกฎาคม ตามวงรอบบัญชีเงินเดือน ซึ่งถ้าไม่เซ็นเอกสารดังกล่าวก็จะเสียสิทธิ์ในการรับเงินเยียวยาเร่งด่วนทันที แต่สามารถรับเงินจำนวนดังกล่าวในรอบชดเชยเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เห็นว่าควรที่จะเยี่ยวยาคนกลุ่มนี้ในเบื้องต้นทันที เพื่อที่จะได้ใช้เงินจำนวนนี้ในการต่อยอด อีกทั้งช่วงนี้ก็เป็นช่วงของการเปิดภาคเรียนด้วย

“ในการดำเนินการครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการยุบองค์การค้าของสกสค. แต่เป็นการฟื้นฟูองค์กร ให้มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ เนื่องจาก 18ปีที่ผ่านมา องค์การค้ามีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 6.7 พันล้านบาท และหากไม่ดำเนินการในลักษณะนี้ก็จะทำให้องค์การค้าของ สกสค. ขาดทุนสะสมเพิ่มไปกว่าหมื่นล้านบาท เพราะผลกำไรมีไม่เท่ารายจ่าย และถึงแม้ว่าองค์การค้าของ สกสค.จะได้กำไรจากการจัดพิมพ์หนังสือ 35 ล้านเล่มในปีที่ผ่านมา แต่กำไรก็ยังต่ำกว่าเงินเดือนที่จะต้องเสียประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน” ปลัด ศธ. กล่าว

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับการจ่ายค่าชดเชยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท เต็มจำนวนตามกฎหมายกำหนด โดยใช้เงื่อนไขอายุการทำงานและเงินเดือนล่าสุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยรวม 400 วัน หรือประมาณ 13 เดือน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน  รวมถึงจะได้เงินบำเหน็จรวม 4 ล้านบาทเศษ โดยผู้ที่ได้รับต่ำสุดจะได้รับไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท ซึ่งการชดเชยโดยรวมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ จะได้รับมากกว่าพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไปที่มีการเลิกจ้าง  นอกจากนั้นจะได้เงินในส่วนของค่าขยันในการมาทำงานในช่วงพักร้อนอีกด้วย ดังนั้น พนักงานองค์การค้าของสกสค.ที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 961 คน จะได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมาย เงินบำเหน็จ และเงินค่าขยันร่วมด้วย

ด้านนายธนพร สมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ในฐานะโฆษก สกสค. กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้มีกระแสการบิดเบือนข้อมูลเรื่องการเซ็นเอกสารเพื่อขอรับเงินเยียวยาเร่งด่วน ว่าถ้าหากมีการเซ็นแล้วจะไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องสกสค.ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ เพราะบันทึกการรับเงินฉบับนี้ ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า เงินช่วยเหลือเยียวดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดเชยบางส่วนที่จะได้รับรวมทั้งเงินเดือน หรือเงินบำเหน็จ หรือเงินอื่นใดที่มีสิทธิ์ได้รับจากองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งองค์การค้าของ สกสค.สามารถนำเงินดังกล่าวไปหักกลบหนี้กับค่าชดเชย และเงินอื่นใดที่ข้าพเจ้า พึงจะได้รับ และในหนังสือดังกล่าวจะไม่มีการระบุว่าเสียสิทธิในการฟ้องร้องทางกฎหมาย ดังนั้น หากพนักงานเซ็นเอกสารดังกล่าว ก็ไม่เสียสิทธิ หากจะดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายในภายหลัง  และที่ให้เซ็นเพื่อเป็นการหักกลบหนี้เท่านั้น ทั้งนี้ หากพนักงานคนใดต้องการรับเงินเยียวยาในส่วนนี้สามารถติดต่อไปยังฝ่ายบุคคลได้ทันที สำหรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 961 รายนั้น มีอายุงานโดยเฉลี่ย 25 ปี 5 เดือน และมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยเดือนละ 31,287 บาท ซึ่งการพิจารณาค่าชดเชยครั้งนี้ ทาง สกสค. ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 423 ล้านบาทเศษ และเมื่อรวมกับค่าบำเหน็จของเจ้าหน้าที่จำนวน 861 ล้านบาทเศษแล้ว ต้องใช้จำนวนเงินโดยรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,285 ล้านบาท และยังคงสิทธิในการพิจารณาค่าการทำงานในวันพักร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดคำนวณเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งทางองค์การค้าของ สกสค. ต้องกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการในการจ่ายค่าชดเชยครั้งนี้

“การเลิกจ้างพนักงานครั้งนี้ ผมขอยืนยันว่าสาเหตุหลักเกิดจากขาดสภาพคล่องและการเป็นหนี้สะสมจากองค์การค้า ไม่ใช่มาจากเรื่องทุจริต ซึ่งหากคนใดมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตขององค์การค้าของสกสค. ผมยินดีที่จะรับข้อมูลทั้งหมด”นายธนพร กล่าว

ด้านนายสมบูรณ์  ม่วงกล่ำ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องมูลเหตุขาดทุนขององค์การค้าของสกสค. 18 ปีนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้องค์การค้าของ สกสค.เป็นองค์กรผูกขาดในการจัดพิมพ์หนังสือเรียน และอื่นๆ ซึ่งทำให้ผลประกอบการดีมาตลอด จนกระทั่งมี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่กำหนดให้การจัดพิมพ์หนังสือดำเนินการได้อย่างเสรี ส่งผลให้เอกชนเข้ามาร่วมการแข่งขัน ขณะเดียวกันศักยภาพขององค์การค้าของ สกสค.เอง ก็ไม่สามารถสู้เอกชนได้ ทั้งในด้านนวัตกรรมในการพิมพ์ เครื่องจักร และอื่นๆ  ทำให้องค์การค้าของสกสค.ขาดทุนมาตลอด แต่ที่พนักงานองค์การค้าของ สกสค.ไม่ได้รับผลกระทบ ได้รับเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อองค์การค้าของ สกสค.ขาดสภาพคล่องก็ไปกู้ยืมเงินจาก สกสค.ซึ่งเป็นองค์กรแม่ ทำให้ขณะนี้องค์การค้าของ สกสค.เป็นหนี้ สกสค.รวมแล้วประมาณ 3,400 ล้านบาท โดยในประเด็นดังกล่าว ทำให้สกสค.ถูกสมาชิกยื่นคำร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เพื่อขอตรวจสอบการใช้เงิน ดังนั้น สกสค.จึงต้องหาทางออกในเรื่องดังกล่าว

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางเลือกในการบริหารงานองค์การค้า 3 แนวทาง คือ 1.การหยุดกิจการ 2.ดำเนินกิจการเช่นเดิมต่อไป และ 3.การปรับองค์กรด้วยลดจำนวนพนักงาน ซึ่งในแนวทางแรก การหยุดกิจการ ทำให้สกสค.จะสูญเงินทันที 5,000 ล้านบาท เพราะหนี้ที่ สกสค.ในฐานะนิติบุคคลขององค์การค้าของ สกสค. ยังคงต้องรับผิดชอบในหนี้ 6,700 ล้านบาททั้งหมด  แต่จากมูลค่าทรัพย์สินขององค์การค้าของ สกสค. เช่น ที่ดิน เป็นต้น ได้เพียง 3,000 กว่าล้านบาท ส่วนแนวทางที่สอง หากยังคงเดินหน้ากิจการต่อไปก็จะเป็นการเพิ่มหนี้สูงถึงหมื่นล้านบาทในระยะเวลาอันใกล้ นั่นหมายความว่า สกสค.ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด และมีครูทั่วประเทศที่นำเงินมาฝากไว้ จะได้รับผลกระทบจากยอดหนี้ที่สูงมากขึ้น ดังนั้น แนวทางที่ 3 การปรับองค์กรด้วยการลดจำนวนพนักงาน จึงเหมาะสมที่สุดเพื่อให้องค์กรยังคงอยู่ และคัดสรรบุคคล คิดแผนกลยุทธ์ ปรับทิศทางการดำเนินงาน ให้สามารถดำเนินกิจการ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ต่อไป ทั้งนี้ส่วนกรณีที่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค.ไม่ได้เงินเดือนในเดือนมิถุนายนนั้น เนื่องจากคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. เห็นว่าควรจะรับเงินชดเชยรายเดือนในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากกองทุนประกันสังคม แต่ในเดือนเม.ย.-พ.ค.ซึ่งเกิดโควิด-19 แต่พนักงานได้รับเงินเดือน เพราะองค์การค้าของสกสค.มีมติที่จะจ่ายเงินให้พนักงานเอง จำนวนร้อยละ 75


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเลิกจ้างพนักงานและมีการเกษียณอายุของพนักงาน จะส่งกระทบให้การผลิตหนังสือเรียนในปีการศึกษา 2564 หรือไม่นั้น นายสมบูรณ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว เป็นหน้าที่ของผอ.องค์การค้าของ สกสค.คนใหม่ ที่ต้องนำเสนอแผนงาน การบริหารจัดการองค์การค้าของ สกสค. แต่เท่าที่มีการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะใช้คนบริหารจัดการกระบวนการจัดพิมพ์หนังสือ 124 คน โดยในจำนวนดังกล่าวจะมีการเปิดรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแผนการดำเนินงานของผอ.คนใหม่  ซึ่งการจ้างพนักงานหลังจากนี้คงต้องปรับเงินเดือน สวัสดิการใหม่ให้เหมาะสมกับสถานะขององค์การค้าของสกสค.ในขณะนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดรับพนักงานขององค์การค้าของสกสค.หลังจากนี้ ไม่ได้สนใจว่าจะเป็นใครทุกคนมีสิทธิ์สมัครได้ แต่ต้องยอมรับสวัสดิการ เงื่อนไขต่างๆ ตามกติกาใหม่ทั้งหมดขององค์การค้าของ สกสค.

“การดำเนินการเลิกจ้างพนักงานในครั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทั้งหมด รวมถึงคำสั่งดังกล่าว ซึ่งถือว่ามีการประกาศล่วงหน้า 30 วันตามกฎหมาย ดังนั้น หากสหภาพแรงงานองค์กรคุรุสภาจะไปฟ้องร้องก็สามารถดำเนินการได้ตามสิทธิ์ แต่หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองกลุ่มคนที่ฟ้องก็จะยังคงไม่ได้เงินชดเชย เงินบำเหน็จและเงินค่าขยัน แต่จะได้เป็นเพียงเงินเดือนในแต่ละเดือนแทน”นายสมบูรณ์ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"