ทรงห่วงใยสุขภาพปชช. พระราชทานรถตรวจเชื้อโควิด13คัน/วันหยุดการ์ดอย่าตก


เพิ่มเพื่อน    

 "ในหลวง" พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย 13 คันแก่ สนง.เขตสุขภาพทั่ว ปท.-เขตพื้นที่ กทม. เพิ่มประสิทธิภาพค้นหาโควิดเชิงรุกในโรงเรียน-วัด-ชุมชนแออัด "ศบค." เผยไทยไร้โควิด 42 วันแล้ว พบผู้ป่วยใหม่ 5 รายกลับจากคูเวต "นายกฯ" ย้ำอย่าการ์ดตก

    เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เวลา 10.55 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยาสาขาต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามลำดับดังนี้ นางกุสุมา รักษมณี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา สาขามนุษยศาสตร์ ประจำปี  2562 นางประคอง นิมมานเหมินท์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขามนุษยศาสตร์ ประจำปี 2562 นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2562 นายสุรพงษ์  โสธนะเสถียร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2562 นายบุญเสริม วิทยชำนาญกุล เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญ ดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2562
    นายสุธี ยกส้าน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2562 นายผดุงศักดิ์ รัตนเดโช เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ประจำปี 2562 นายชายชาญ โพธิรัตน์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาแพทยศาสตร์ ประจำปี 2562 นางสาวศศิธร ผู้กฤตยาคามี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา  สาขาแพทยศาสตร์ ประจำปี 2562  
    ต่อมาเวลา 11.01 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นำ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย จำนวน 13 คัน เพื่อกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้ประโยชน์ ณ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 1-12 ทั่วประเทศ และเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลรับผิดชอบ เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการเก็บตัวอย่างโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เชิงรุกในโรงเรียน วัด ชุมชนแออัด และกลุ่มอาชีพเสี่ยงทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีความสุข ทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพพลานามัยของประชาชน ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด และทรงห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือให้ทันต่อสถานการณ์
พระราชทานรถตรวจโรค
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้จัดทำรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ซึ่งอุปกรณ์ภายในรถมีประสิทธิภาพในการตรวจโรค และมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ภายในห้องเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยจัดเป็นห้องปลอดเชื้อระดับ 1000 ประกอบด้วยระบบปรับอากาศเพื่อควบคุมความเย็น ระบบกรองอากาศจากภายนอกเพื่อให้บริสุทธิ์ ระบบและอุปกรณ์ควบคุมความดันภายในห้องให้เป็นบวกตลอดเวลา รวมทั้งส่วนปฏิบัติการเก็บตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสอดมือผ่านหน้าต่างและถุงมือยางที่ติดตั้งไว้ มีระบบฆ่าเชื้อภายในตัวรถหลังปฏิบัติงานรายวันด้วยระบบโอโซน และติดตั้งระบบไมโครโฟนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้รับบริการได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยได้ทดลองให้บริการไปแล้วครอบคลุมประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 12,094 ราย ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.63 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้เกิดผลสำเร็จในการค้นหาผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างมีความปลอดภัยได้อย่างดียิ่ง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย เป็นผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทั้งหมด และอยู่ในสถานกักกันของรัฐใน  กทม. นับเป็นวันที่ 42 ที่ไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ โดยทั้ง 5 รายกลับจากประเทศคูเวต แบ่งเป็นชาย 4 คน อาชีพรับจ้าง อายุ 34 ปี 46 ปี 48 ปี และ 53 ปี และเป็นหญิง 1 ราย อาชีพพนักงานนวด ทั้งหมดเดินทางมาถึงไทยวันที่ 29 มิ.ย. ในเที่ยวบินดังกล่าวมีผู้ตรวจพบเชื้อและยืนยันก่อนหน้าแล้วด้วย
    "ผู้ติดเชื้อ 5 รายดังกล่าวตรวจพบเชื้อ 3 รายวันที่ 2 ก.ค. และตรวจพบอีก 2 รายวันที่ 5 ก.ค. ทั้งหมดไม่มีอาการใดๆ ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 3,195 ราย หายป่วยสะสม 3,072 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดคงที่อยู่ 58 ราย และอยู่ระหว่างรักษา 65 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 11,556,681 ราย เสียชีวิตสะสม 536,776 ราย" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับผู้ที่เดินทางกลับประเทศไทยวันที่ 6 ก.ค. มี 2 เที่ยวบิน จำนวน 328  คน จากสิงคโปร์และเกาหลีใต้ ส่วนวันที่ 7 ก.ค.จะมีคนไทยกลับจากญี่ปุ่นและจีน 3 เที่ยวบิน 220 คน  และจะมีนักธุรกิจจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งเพิ่มเข้ามาอีก 52 คน ซึ่งจะเห็นว่าโควตาต่อวันสำหรับผู้เดินทางกลับประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 500 คน และหากโควตาเหลือจะให้นักธุรกิจเดินทางเข้ามา แต่ต้องอยู่ในสถานกักกันของรัฐ
    นอกจากนี้ หน่วยงานความมั่นคงรายงานว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีผู้ลักลอบเข้าประเทศตามช่องทางชายแดนกว่า 3,000 คน บางส่วนอยู่ในการดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) โดยนำมากักตัวไว้ ขณะที่บางส่วนได้ผลักดันกลับประเทศ ดังนั้นในช่วงวันหยุดยาวที่ปรากฏภาพประชาชนเดินทางไปท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องป้องกันตัวเอง การ์ดอย่าตก เพราะเรามีผู้ลักลอบเข้าประเทศปะปนในประเทศของเรา ส่วนที่สวนดุสิตโพลสำรวจพบประชาชน 2 ใน 3 มีความกังวลลดลงหลังผ่อนคลายระยะ 5 นั้น เป็นเรื่องน่ากังวล จึงขอให้ระมัดระวังตัว สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ เพราะเรายังไม่มีวัคซีนรักษา
    ถามว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ประเทศอังกฤษ และยาหมดเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้เนื่องจากต้องรอคิวนาน ศบค.จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ปัญหาการเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษคือเที่ยวบินไม่เพียงพอ ขณะนี้มีคนรอคิวกว่า 600 คน  เราจึงจัดทำแผนการเดินทางระยะสั้นให้ผู้ที่มีความจำเป็น เช่น มีอาการป่วยเหมือนกรณีดังกล่าว มีญาติไม่สบายหรือเสียชีวิต จะจัดหาเที่ยวบินให้เดินทางกลับมาก่อน แต่ต้องต่อเครื่อง ระยะที่สองจะมีการเช่าเครื่องบินเหมาลำเพื่อเดินทางกลับ 2 เที่ยวบิน ในวันที่ 20 ก.ค.และ 26 ก.ค. ใครที่ต้องการเดินทางกลับขอให้ไปลงทะเบียนให้เต็มลำ ส่วนระยะยาวนั้นขอให้สถานทูตอังกฤษเป็นหน่วยงานกลางประสานกับหน่วยงานแพทย์หรือหน่วยงานความมั่นคงเพื่อให้คนไทยกลับมา
อย่าการ์ดตกแม้ดีขึ้น
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนโปรแกรมการรับผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศ เพราะเรื่องการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาผู้มีบุตรยาก การเสริมความงาม  การทำฟัน ขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว 67 แห่ง คลินิกเฉพาะทาง 1 แห่ง มีผู้ลงทะเบียนจะเดินทางเข้ามารักษาตัวจาก 34 ประเทศ ในระยะเวลา 3 เดือน จำนวนผู้ป่วย 1,169 คน ผู้ติดตาม 1,521 คน โดยทั้งหมดจะมีขั้นตอนก่อนเดินทาง คือตรวจโควิด-19 เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง  เดินทางเข้ามาทางสนามบินที่กำหนด เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง สถานพยาบาลไปรับผู้ป่วยที่สนามบิน
    "ยืนยันต้องปลอดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น และต้องอยู่โรงพยาบาลให้ครบ 14 วัน ไม่ให้กลับก่อนกำหนด ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบ เพราะมันจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่งด้วย" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า? พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงความห่วงใยประชาชนถึงช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันหยุดต่อเนื่องและตรงกับช่วงเวลาผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 5  ที่ประชาชนตั้งใจใช้ช่วงเวลานี้เดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อทำบุญและพักผ่อน จึงขอให้ทุกคนใช้ถนน ยานพาหนะขับขี่อย่างปลอดภัย ไม่ประมาท รวมทั้งการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
    "แม้ไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมานานกว่า 40 วันติดต่อกัน แต่อย่างไรก็ดีขอให้ทุกคนไม่ประมาท การ์ดอย่าตกดูแลป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ไม่อยู่ในที่แออัด เว้นระยะห่างและหมั่นล้างมือทำความสะอาด เป็นต้น รวมทั้งขอให้ทุกคนได้ร่วมทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา ได้บุญดังที่ตั้งใจและร่วมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    วันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งระบุว่า "องค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศเมื่อวานนี้ว่า ได้ตัดสินใจหยุดการให้ยาในกลุ่มผู้ป่วย  COVID-19 ที่ได้ยา Hydroxychloroquine และ Lopinavir/ritonavir ในงานวิจัย Solidarity trial แล้ว  เพราะจากการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างดำเนินการวิจัย พบว่าไม่ได้ผลในการลดอัตราการเสียชีวิต ตอนนี้ไทยควรคิดแผนไว้ล่วงหน้าว่า หากเกิดระบาดระลอกสองหลังรับชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศจะทำอย่างไรดี แม้จะค่อยๆ ก้าวเป็นระยะตามที่ออกข่าวมาทางสื่อ แต่สุดท้ายต้องยอมรับว่าความเสี่ยงจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนสูงสุดหลังจากที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบนโยบายฟองสบู่ท่องเที่ยว"
    รศ.นพ.ธีระระบุว่า "ยาในคลังมี Favipiravir จำนวนหนึ่งสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยได้ราว 10,000 คน  นอกนั้นคือ Hydroxychloroquine และ Lopinavir/ritonavir ที่องค์การอนามัยโลกเพิ่งประกาศไปตามข่าว ส่วนยา Remdesivir นั้นคงยากที่จะไปต่อกรแย่งกับอเมริกา ซึ่งได้สั่งซื้อสต๊อกไว้ล่วงหน้าหมดทั้ง 3  เดือนไปเรียบร้อยแล้ว คนที่เล่นหมากรุกไม่ว่าจะไทย จีน ฝรั่ง พอเห็นกระดานแบบนี้ รูปการณ์แบบนี้ คงไม่ใช่เวลาที่จะเดินเกมรุกเพื่อหาเงิน แต่ตาหมากที่ควรเดินคือการป้องกันให้เข้มแข็ง เพราะสถานการณ์ระบาดทั่วโลกนั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าว่าจะควบคุมได้ในเร็ววัน
    "ประหลาดใจที่รัฐและหน่วยงานความมั่นคงกลับเลือกเดินตามมาตรการของกลุ่มการเมืองที่เคยฝากผลงานให้เราต้องมาช่วยกันสู้ระลอกแรกอย่างเหนื่อยแสนสาหัสมาแล้ว ถ้าผมเป็นคนบริหารประเทศ...ผมจะคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนทุกคนเป็นอันดับแรก และจะไม่เลือกเดินหมากฟองสบู่ท่องเที่ยวระยะที่สามโดยเด็ดขาดครับ แค่ปล่อยแง้มให้เกิด Medical and  wellness tourism ก็มากเกินพอแล้ว
    และที่แน่ๆ ผมจะปรับคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลังเลครับ ต้องไม่ให้เกิดปรากฏการณ์เชียร์แข่งรถขณะโรคระบาด หน้ากากล่องหน หวัดธรรมดา หักหัวคิวโรงแรม หรือยาเสพติดรักษาสารพัดโรค เกิดขึ้นอีกต่อไปในอนาคต สุขภาพ...ท่องเที่ยว...และเดินทาง ไม่ควรอยู่ในการกำกับของวงอำนาจเดียว เพราะส่งผลต่อสวัสดิภาพของทุกคนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดอีกยาวเช่นนี้".

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"