ปลุก Passion สิ่งแวดล้อมในสังคมไทย


เพิ่มเพื่อน    

 1 ปีบนเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรฯ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องตบมือสองข้าง

            27 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันครบรอบ 1 ปีในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ประยุทธ์ 2/1 ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับ ครม.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อจากนี้ โดยเฉพาะหลังอดีต 4 แกนนำพรรคพลังประชารัฐ นำโดยอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง-อดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา จนถูกมองว่ายิ่งเป็นตัวเร่งให้การปรับ ครม.เพื่อนำไปสู่รัฐบาล ประยุทธ์ 2/2 อาจเกิดเร็วยิ่งขึ้น 

การปรับ ครม.จะเกิดขึ้นเมื่อใด กระทรวงไหนบ้าง ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่หนึ่งในกระทรวงที่ถูกมองว่าคงไม่มีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงในโควตาพรรคชาติไทยพัฒนา

            วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม-ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการทำงานในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาบนเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรฯ โดยออกตัวว่า เรื่องการปรับ ครม.เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ยืนยันได้ว่าเมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผมเชื่อว่าตลอดเวลาของการทำงานที่จะครบ 1 ปีในปลายเดือน ก.ค.นี้ ผมทำงานเต็มที่ เต็มความสามารถของผู้ชายคนหนึ่งแล้วที่ชื่อ "วราวุธ ศิลปอาชา" ถ้ามันไม่ดีพอก็ต้องขอโทษ แต่ถ้ามันดีพอก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป เพราะเรื่อง "งาน" ไม่เคยกลัวใคร

            วราวุธ ที่เป็นหนึ่งในคนที่ชอบออกกำลังกายทุกชนิด แต่บอกว่า 1 ปีของการทำงานในกระทรวงทรัพยากรฯ ยอมรับว่ามันกว่าเล่นกีฬาเสียอีก เพราะรู้สึกท้าทาย กว่าช่วง 1 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมันอะไรแบบนี้มาก่อนในชีวิต ไม่เคยทำงานแล้วสนุกกับชีวิตแบบนี้มาก่อนในชีวิต สนุกทุกนาที ทำงานมา 1 ปี ผมหงอกมาหลายเส้น ไม่เคยสนุกเท่านี้ มันมาก

“เคยถูก ส.ส.ตั้งกระทู้ถามในสภา วันเดียวโดนไปสามกระทู้ แต่มีแรงถามก็ถามมา ผมก็มีแรงตอบ ถามมาผมก็ตอบได้หมด เพราะทุกอย่างทำเอง การทำงานไม่มี Hidden Agenda ผมอยากทำงานอย่างเดียว และจะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นในเรื่องการทำงาน เป็นคนทำงานแบบว่ากันตรงๆ ผมไม่รู้เรื่องไหนก็ยอมรับว่าไม่รู้ การเป็นรัฐมนตรีไม่ใช่ว่าต้องเป็นซูเปอร์แมน เรื่องไม่รู้ก็มี แต่อะไรรู้ไม่จริงก็จะไม่พูด

...ถ้าผิดก็ต้องบอกว่าผิด อย่างเรื่องอาคารบอมเบย์เบอร์มาที่จังหวัดแพร่ มันเป็นความผิดของผู้ใต้บังคับบัญชา เมื่อผิดผมก็ขอโทษ แต่ถ้าอะไรที่มันคลาดเคลื่อนก็ต้องดูเหตุการณ์กันไปก่อน เพราะไม่ใช่คนที่จะมาตะแบง ไม่รู้ก็คือไม่รู้

            วราวุธ-รมว.ทรัพยากรฯ บอกว่า การทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้เข้ามาแก้ปัญหาไว้หลายเรื่อง อย่างเช่นเรื่อง สิ่งแวดล้อม ก็ผลักดันนโยบาย การลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก แบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง จนถึงวันนี้ก็ได้มีความตื่นตัวของสังคมมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่อง ขยะทะเล ประเทศไทยเราลดอันดับเรื่องมีขยะทะเลจากที่ 6 มาอยู่อันดับ 10 ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวมากขึ้น หรืออย่างวันลอยกระทงปีที่แล้ว ปริมาณกระทงเฉพาะในกรุงเทพมหานครแห่งเดียวก็หายไป 40 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าสิ่งที่เราทำสามารถสร้างความตื่นตัว กระแสการรับรู้ให้กับประชาชนได้

            สำหรับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในเรื่อง น้ำ ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ผมก็ได้ให้นโยบายกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปว่าที่ผ่านมา คนจะเรียกหาหน่วยงานตอนหน้าแล้ง คือน้ำไม่มี เลยเรียกหาน้ำบาดาล แล้วก็ไปเจาะน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ แต่บทบาทของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หากคิดแบบนั้นก็จะทำงานแค่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ เพราะจริงๆ ต้องคิดถึงตอนน้ำท่วมด้วย ทำให้เป็นที่มาของ ธนาคารน้ำใต้ดิน คือเวลาน้ำมา ต้องขุดรูระบายน้ำให้กับน้ำ เพื่อที่จะได้กักเก็บเอาไว้

...พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรฯ ก็บอก ธนาคารน้ำใต้ดินเปรียบเสมือนโครงการแก้มลิง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงริเริ่มไว้ เพียงแต่เราประยุกต์ไอเดียของโครงการแก้มลิงไปไว้ที่ใต้ดิน ก็เป็นการต่อยอดโครงการของพระองค์ท่าน โดยกรมทรัพยากรน้ำกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจับมือกันทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ ซึ่งนโยบายที่ผมให้ไปในเรื่องนี้ก็คือ ทุกแห่งที่มีแหล่งน้ำบนดินจะต้องมีแหล่งน้ำใต้ดินควบคู่กันไปด้วย เพราะพอน้ำบนดินแห้ง เราก็นำน้ำใต้ดินมาเติมน้ำบนดิน สิ่งนี้เป็นเรื่องเดิม ทั้งกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลยังไม่ได้คิดมา เราก็ขอให้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติที่ก็ประสบความสำเร็จพอสมควร

            นอกจากนี้เรื่อง อุทยานแห่งชาติ ก็เช่นกัน ก็เป็นครั้งแรกที่มีการเสนอให้ปิด อุทยานแห่งชาติประจำปี จากเดิมที่เมื่อก่อนไม่มีใครกล้าปิด เพราะพออย่างช่วงโควิด-19 เราก็เห็นแล้วว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป เราเลยกล้าที่จะออกนโยบายนี้ออกมา รวมถึงการห้ามนำสิ่งของต่างๆ เช่น ถุงพลาสติก ที่อาจทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ ก็ห้ามนำเข้าอุทยาน

            สำหรับแผนการทำงานในช่วงต่อจากนี้ ที่จะเข้าสู่ปีที่สองของการทำงานในกระทรวงทรัพยากรฯ สิ่งที่สำคัญพอๆ กับปีแรกก็คือ การดูแลเรื่องปัญหาปากท้องประชาชน เพราะ รมว.ทรัพยากรฯ เป็นประธานอนุกรรมการจัดหาที่ดินภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่จะมอบสิทธิ์ที่ดิน ที่ทำกินให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้ได้ทำไปหลายส่วนแล้ว และนับจากนี้เราจะเร่งเพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิ์ทำกินในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของกรมป่าไม้ หรือที่ดินต่างๆ ของกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำสิทธิประโยชน์บนที่ดินแปลงต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยคนที่จะได้สิทธิ์ดังกล่าวก็ต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมาย เช่น ต้องเป็นเกษตรกร มีรายได้น้อย และเมื่ออยู่แล้วจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น แต่จะได้รับสิทธิทำกินบนที่ดินแปลงนั้น แต่ไม่สามารถนำไปขายได้ เพราะประชาชนที่ได้สิทธิ์ดังกล่าว จะไม่ได้เอกสารสิทธิของที่ดินแปลงดังกล่าว แต่สามารถส่งต่อให้กับผู้สืบสันดานคือคนในครอบครัวได้ เช่น ลูก แต่ไม่สามารถส่งต่อให้ญาติพี่น้องได้

            รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวต่อไปว่า การทำงานในกระทรวงแห่งนี้ที่ผ่านมา ยอมรับว่า ก็ต้องเจอข้อจำกัด-ปัญหาต่างๆ บ้างเป็นเรื่องปกติ เพราะการทำงานกับประชาชนแต่ละภูมิภาค ร้อยคนก็ร้อยปัญหา ร้อยปัญหาก็ร้อยทางออก ดังนั้นการหา solution ให้กับประชาชนแต่ละพื้นที่ เช่น ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 หรือปัญหาการเผาทำลายป่า ทุกปัญหาล้วนแล้วแต่มีความละเอียดอ่อนในตัวของมันเอง ดังนั้นก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าจะหาวิธีแก้ปัญหาอย่างไร 

-เรื่องสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 หลังจากนี้จะดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่?

            ถ้าเอาในเมืองใหญ่ก่อน แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 มากที่สุดเลย 70 เปอร์เซ็นต์มาจากท้องถนน มาจากเครื่องยนต์ของยานพาหนะ ที่ใช้ยานพาหนะไม่ได้ใช้ว่ารถยนต์ เพราะว่าจริงๆ แล้วรถยนต์ไม่ใช่บ่อเกิดใหญ่ที่สุดของ PM 2.5 แต่มาจากรถกระบะเยอะสุด แล้วก็มาจากรถบรรทุกที่เยอะพอกัน โดยหัวใจสำคัญคือ เจ้าของยานพาหนะแต่ละคันดูแลเครื่องยนต์ของตัวเองได้ดีขนาดไหน คือแม้รถจะมีอายุการใช้งานมาแล้ว 7 ปี แต่ว่ามีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หัวเทียน ไส้กรองตลอด รถก็อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่หากไม่ดูแลอะไรเลย เหยียบรถแต่ละครั้งก็เปลี่ยนกลางวันให้เป็นกลางคืน เพราะควันรถสีดำ

ปัญหาเรื่อง PM 2.5 แน่นอนว่ารัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะช่วยบรรเทาปัญหา เช่น การตรวจจับรถยนต์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องถามประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายที่ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ต้องปรบมือสองข้าง คำถามที่ผมกำลังถามสาธารณะก็คือ ตอนช่วงโควิด ปัญหา PM 2.5 หายหมดเลย รถก็ไม่ติด แต่เมื่อเราลดการ์ดป้องกันลงมา รถก็กลับมาเริ่มติดแบบเดิม PM 2.5 ยังไม่รู้จะกลับมาเมื่อไหร่ ที่ตอนนี้ดีที่เข้าหน้าฝนพอดี แต่ก็ต้องถามว่าแล้วเรื่องนี้เราจะช่วยกันแก้ปัญหาอย่างไร เพราะแม้จะเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาลที่ต้องออกมา แต่ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกันด้วย โดยเฉพาะการช่วยกันลดปริมาณ PM 2.5 เช่น เปลี่ยนลักษณะนิสัย เช่น หันมาใช้การเดินมากขึ้น หรือเดินทางด้วยการปั่นจักรยาน

การกระทำอาจเป็นสิ่งที่ยากกว่าการพูด แต่ก็เหมือนกับการรณรงค์ให้ลด-ละการใช้ถุงพลาสติก หากไม่เริ่ม ก็ไม่รู้ว่าปัญหาอุปสรรคอยู่ตรงไหน ก็จะได้ค่อยๆ แก้ไปทีละเรื่อง เช่น ต้องกวดขันการตรวจสภาพรถยนต์ โดยรถยนต์ทุกคันต้องตรวจสภาพประจำปี เพราะบางครั้งพอละเลยกัน ผลที่ตามมาก็อย่างที่เราเห็นกันบนท้องถนน ฝุ่นควันเต็มไปหมด 

ปิดอุทยานแห่งชาติเพื่อผลระยะยาว

หลังมีบทเรียน 'อ่าวมาหยา'

สำหรับกระทรวงทรัพยากรฯ หน่วยงานสำคัญกรมหนึ่งนั่นก็คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ดูแลรับผิดชอบอุทยานแห่งชาติ 157 แห่งทั่วประเทศ โดยการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติในยุค Post Covid-19 ที่คนมองว่าจะทำให้การท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติอาจไม่เหมือนเดิมเป็น  New Normal

เรื่องดังกล่าว วราวุธ-รมว.ทรัพยากรฯ ย้ำว่า การท่องเที่ยวตามแนววิถีใหม่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็มีการปรับตัวให้เข้ากับ New Normal หลังโควิดเช่นกัน อย่างเช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็มีการใช้แอปพลิเคชัน "QueQ" เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กดจองคิวการเข้าอุทยานแห่งชาติ  แต่ยังเพิ่งใช้ได้ไม่นานจึงทำให้ยังยากต่อการประเมิน ว่าประสบความสำเร็จหรือมีอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง ต้องรออีกสักระยะเพื่อดูผลตอบรับ

การที่ใช้ระบบการจอง แล้วจำกัดจำนวนคนที่จะเข้าไปในอุทยานฯ แต่ละแห่งจะเป็น New Normal  ของการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแนวใหม่ โดยเรื่องของการเปิดปิดอุทยานแห่งชาติ เมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้เห็นชอบตารางการปิดอุทยานแห่งชาติทั้ง 155 แห่งแล้ว โดยบางแห่งปิดสองเดือน บางแห่งปิดสามเดือน แต่ Minimum คือสองเดือน แต่บางแห่งเช่นอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันจะปิดสองเดือนไม่ได้เพราะมีช่วงมรสุม ก็จะปิดตามฤดูกาล ส่วนกลุ่มอุทยานแห่งชาติทางบกจะมีผลกระทบน้อย ก็จะปิดประมาณสองเดือน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่สามเดือนเวลาปิดเพื่อให้ธรรมชาติได้พัก สัตว์ป่าได้เอนจอยเต็มที่ ได้ให้โอกาสเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติมีเวลาซ่อมแซมบูรณะสิ่งต่างๆ  ในอุทยานแห่งชาติ

-อุทยานแห่งชาติต่างๆ หลังจากนี้แนวทางการท่องเที่ยวแบบ New Normal จะวางนโยบายอย่างไร หากวันหนึ่งสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้วก็ต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาจำนวนมาก?

            ประเด็นแรก ผมอยากเห็นปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งของเรา หากเปรียบเหมือนรถยนต์ก็คือรถโรลส์-รอยซ์ แต่เรากลับเก็บค่าเข้าเหมือนขึ้นรถสามล้อหน้าปากซอย เราจึงอยากจะเพิ่มราคาของค่าเข้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ขณะเดียวกันกรมอุทยานฯ ก็ต้องพัฒนาเรื่องการให้บริการด้วย

...เช่น หากจะเพิ่มจาก 400 บาทต่อคน เป็น 800 บาทต่อคน เมื่อเพิ่มราคาแล้วจะเพิ่มอะไรให้มากขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติบ้าง เช่นการให้บริการที่ดีขึ้น ที่ผมก็ได้เน้นบางเรื่องไปเช่นความสะอาดของห้องน้ำ ต้องทันสมัยแต่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ก็จะเป็นการสกรีนปริมาณนักท่องเที่ยวไปในระดับหนึ่งด้วย ส่วนที่อาจจะมีคำถามตามมาว่า แบบนี้เท่ากับคนไม่มีเงินก็หมดสิทธิ์เข้าไปเที่ยวในอุทยาน ผมก็บอกว่าไม่ใช่ เพราะหากยังไม่มีก็ใช้เวลาเก็บเงินเพิ่มขึ้น พอมีแล้วค่อยมาเที่ยว   

"แหล่งท่องเที่ยวของไทย หากจะใช้หลักถูกเข้าว่า ก็จะเกิดวิกฤตการณ์แบบอ่าวมาหยา ที่มาเที่ยวกันจนตอนนี้ต้องปิดยาวไป 18 เดือน และอีกหนึ่งปีก็ยังไม่รู้จะเปิดได้หรือไม่ ดังนั้นถ้าสกรีนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปน้อยๆ ได้ ผมก็เก็บไว้ให้คนไทยได้ดูจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ถ้าผมปล่อยให้เข้าไปแบบอุตลุด ก็ต้องบอกว่าเด็กที่เกิดมาวันนี้ เกิดมาก็ยังไม่ได้เข้าไปในอ่าวมาหยาหรอก ต้องรออีกนานกว่าปะการังจะโต สิ่งสำคัญวันนี้คือไม่ใช่เรื่องปริมาณนักท่องเที่ยว แต่อยู่ที่ รายได้ต่อหัวที่เราจะได้จากนักท่องเที่ยว"

 ผมพูดตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานว่า อย่าวัดความสำเร็จของกรมอุทยานฯ จากเงินรายได้ที่ได้จากอุทยานแห่งชาติ 157 แห่ง แต่ให้วัดจากความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ให้วัดจากอัตราการตายของสัตว์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์ทะเล ว่าผ่านไปหนึ่งปีแล้วเราสามารถลดปริมาณการตายของเขาลงไปได้เท่าใด เราสามารถดูแลธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานแห่งชาติได้เพิ่มขึ้นมาเท่าใด

สิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่ใช่ว่าเราต้องการเงิน ปีนี้ได้ร้อยล้าน ปีหน้าต้องได้สองร้อยล้านบาท ผมไม่ได้ต้องการแบบนั้น เพราะเงินได้มาแต่ไม่สามารถไปปรับปรุงปะการังได้  ไม่สามารถเอาไปฟื้นคืนชีวิตสัตว์ป่าได้ สิ่งที่ต้องการคือความสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติทั้งหมด ไม่ใช่แค่เงิน

Reduce -Reuse-Recycle

ถึง Rethink-ปลุ Passion รักสิ่งแวดล้อม

                รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวถึงสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยว่า ตัวเลขล่าสุดพื้นที่ป่าในประเทศไทยมีประมาณ 31 เปอร์เซ็นต์ เป้าหมายของกระทรวงคือต้องการให้มี 41  เปอร์เซ็นต์ พื้นที่สีเขียวเป้าหมายของเราคือ 55 เปอร์เซ็นต์ วันนี้เป็นเป้าหมายที่ดูแล้วไม่ไกลเกินความเป็นจริง เราสามารถทำได้

            สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยต้องยอมรับว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา คนไทยตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันคนรุ่นใหม่ Gen-Y หรือแม้แต่ Gen-Z เป็นกลุ่มคนที่มี Passion  เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะคนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่เขาจะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะ Gen-Z ในอีก 10-20 ปี หากเราไม่เริ่มทำอะไรกันวันนี้เรื่องสิ่งแวดล้อม พวกเขาจะได้รับผลกระทบโดยตรง วันนี้ต้องบอกตรงๆ เมื่อก่อนเราพูดกันแค่สามคำ คือ 3R ได้แก่ Reduce-Reuse-Recycle (ลดการใช้-นำกลับมาใช้ซ้ำ-นำกลับมาใช้ใหม่) แต่วันนี้เราเริ่มมีคำใหม่เข้ามาคือ Rethink ซึ่งไม่ได้มาจากใครเลย แต่มาจากเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปีคนหนึ่ง ที่วันนี้เขาออกมาเตือนผู้ใหญ่ว่าดูแลสมบัติมรดกของเขาให้ดีด้วย จึงขอให้ผู้ใหญ่ Rethink ได้แล้วเพื่อเขาจะได้ไม่ลำบากในภายหน้า วันนี้เราคงไม่ต้องให้มีเด็กอายุ 12 ปีเพิ่มขึ้นอีกเพื่อมาเตือนผู้ใหญ่ ให้มีมาตรการการแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานเราจะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตามก็ยังมีพวกคนมักง่ายบางคน คนเห็นแก่ตัวบางกลุ่มที่บอกว่าจะอยู่แค่อีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้ผมเห็นแล้วบางทีก็สะท้อนใจ อย่างเมื่อไม่กี่วันก็มี กลุ่มนักดำน้ำ ส่งภาพมาให้ดูหลังไปดำน้ำแถวชุมพร แล้วไปเจอเรือปราบที่เป็นจุดดำน้ำที่ชุมพร ก็ไปเจอตาข่ายคลุมทั้งเรือที่มาจากชาวประมงมักง่ายบางกลุ่ม ที่เวลามีปัญหาก็ตัดอวนทิ้ง ทำให้ลงมาคลุมเรือทั้งลำ กว่าจะตัดได้ก็ใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม หรือชาวประมงบางกลุ่มก็มักง่ายทิ้งตะแกรงลงไปในก้นทะเล แล้วพอเอาขึ้นมาไม่ได้ก็ตัดทิ้ง ก็จมอยู่อย่างนั้น จนบางทีสัตว์ทะเลเข้าไปแล้วไปติดอยู่ในนั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจิตสำนึกที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่ม วันนี้มีคนที่ไปกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องนี้กันมากขึ้น

            เมื่อถามถึงนโยบายรณรงค์ให้ลดการใช้ และลดการแจกถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าสะดวกซื้อทั่วประเทศ ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน วราวุธ-รมว.ทรัพยากรฯ บอกว่า ผมไม่ได้ต่อต้านพลาสติก ถุงพลาสติก แต่ต่อต้านการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวแล้วทิ้ง จนตอนนี้มีการพูดกันถึงถุงหนา โดยถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งความหนาจะอยู่ที่ประมาณ 36 ไมครอน ซึ่งถ้าไปผลิตถุงพลาสติกแบบ 50-60 ไมครอน ที่บรรจุน้ำหนักได้เยอะขึ้นและทำออกมาแล้วดูดี สามารถใช้ได้ถึง  50-60 ครั้ง ก็ลองคิดดูว่าถุงใบหนึ่งใช้กันได้สิบครั้ง ก็เท่ากับประหยัดถุงก๊อบแก๊บได้สิบใบ หากใช้ 50 ครั้งก็เท่ากับประหยัดถุงถุงก๊อบแก๊บ 50 ใบ

ปัจจุบันเราทิ้งถุงขยะพลาสติกกันประมาณ 4 หมื่นล้านใบต่อปี ซึ่งหากทุกคนหันกลับมาใช้ถุงพลาสติกกันแบบใช้แล้วนำมาใช้ใหม่ 2-3 ครั้ง ถุงพลาสติกที่ใช้กัน 4 หมื่นล้านใบก็จะลดไปครึ่งต่อครึ่ง  ลดไปได้สองหมื่นล้านใบ

            วันนี้จึงอยู่ที่ว่าพวกเราพร้อมจะเปลี่ยนวิถีชีวิตกันหรือไม่ เพราะว่าการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาเรื่องขยะ ทุกอย่างต้องอาศัยความมีวินัยและความอดทน ความร่วมมือจากทุกฝ่าย เรื่องการรณรงค์ไม่ให้แจกถุงพลาสติกับคนที่มาซื้อของ บางทีบางแห่งทำกันมาแค่สองเดือนแล้วมาอ้างว่าหากไม่ให้ถุงพลาสติกก็ทำให้ลูกค้าไม่สะดวก ซึ่งหากไม่สะดวกก็ต้องไม่สะดวก เพราะที่เป็นปัญหาทุกวันนี้ก็เพราะการอ้างเรื่องความไม่สะดวกถึงได้เป็นปัญหา อย่างที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือ มาเรียม พะยูนที่ต้องตายก็มาจากเรื่องความสะดวกทั้งนั้น เหมือนที่ผมบอกว่าเรื่องแบบนี้ก็จะมีคนบางกลุ่มที่มักง่าย คนบางกลุ่มที่เอาสะดวกเข้าว่า จนกลายเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ก็จะมีร้านค้าที่มักง่ายบางกลุ่ม ก็มีร้านสะดวกซื้อหลายแห่งที่ก็ไม่แจกถุงพลาสติก แต่ก็มีหลายแห่งเริ่มกลับมาแจกเหมือนเดิม ซึ่งหากบางแห่งยังทำแบบนี้อยู่ก็อาจบอกให้เขาถอนตัวจากการรณรงค์เรื่องการลดใช้ถุงพลาสติก 

                -เรื่องปัญหาขยะหรือมลพิษต่างๆ ในพื้นที่อุตสาหกรรม อย่างเช่นในจังหวัดทางภาคตะวันออกที่มีโรงงานจำนวนมาก มีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ จะเข้าไปแก้ไขดูแลอย่างไร?

            เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมพูดมาตั้งแต่วันแรก คือกระทรวงเราเหมือนยักษ์ไม่มีกระบอง เพราะหากค่อยๆ  ไล่ไป เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันพิษออกมา คนก็จะร้องให้กรมควบคุมมลพิษเข้าไปดูแลจัดการ  เมื่อข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษเข้าไปตรวจแล้วเจอมลพิษในภาวะที่เป็นอันตราย แต่กรมควบคุมมลพิษจะไปสั่งให้ปิดโรงงานดังกล่าวได้หรือไม่ ก็ทำไม่ได้ สิ่งที่กรมฯ ทำก็คือไปแจ้งความต่อตำรวจ แล้วรีบส่งเรื่องไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอำนาจสั่งเปิดปิดโรงงานอุตสาหกรรม หรือเวลาพบปัญหาการปล่อยน้ำเสียของโรงงาน การจัดการแก้ปัญหาก็จะอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

            ...ผมก็ได้คุยกับปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ว่าอยากจะตั้ง Thai Environmental Protection Agency  อย่างที่สหรัฐอเมริกาเรียก US-EPA ใส่เสื้อกั๊กหนึ่งตัวที่เป็นของ US-EPA ใหญ่ถึงขนาดที่ว่าเดินเข้าไปในร้านอาหารแห่งใด หากร้านดังกล่าวไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ สั่งปิดได้เลย สามารถทำได้ แต่วันนี้ ด้วยอำนาจที่กรมควบคุมมลพิษเรามี เราไม่สามารถไปสั่งปิดอะไรได้ สิ่งที่เราทำได้กรมควบคุมมลพิษ อยู่ในสถานะการให้ข้อมูลทางวิชาการแก่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งจริงๆ ควรต้องเป็น กรมตรวจสอบมลพิษ ด้วยซ้ำ เพราะบอกว่าควบคุม แต่จริงๆ ควบคุมไม่ได้ จะไปสั่งปิดโรงงานปิดร้านอาหารก็ไม่ได้ สั่งดำเนินคดีก็ไม่ได้.

.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"