หลายหน่วยงานหนุน ‘กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น’ จ.อุทัยธานี จัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมตามมติ ค.ร.ม.ปี 2553


เพิ่มเพื่อน    

จ.อุทัยธานี /หลายหน่วยงานสนับสนุน ‘กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น’ จัดตั้งพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม  เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงรอบด้าน  เช่น  เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน  การจัดการทรัพยากร  ส่งเสริมการทำไร่หมุนเวียน  เกษตรพอเพียง  การสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมและภาษา  ฯลฯ  ตั้งเป้าสถาปนา ‘เขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม’ ในเดือนพฤศจิกายนนี้  หลังจากมีชุมชนกะเหรี่ยงในประเทศไทยจัดตั้งเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมฯ ตามมติ ค.ร.ม. 3 สิงหาคม 2553 นำร่องไปแล้ว 12 พื้นที่ทั่วประเทศ  รวมทั้งเตรียมยกระดับมติ ค.ร.ม.ให้เป็น พ.ร.บ.ภายในปี 2564

           

ระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม  มีการจัดงาน ‘แลกเปลี่ยนบทเรียนเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น’(พุเม่น  ภาษากะเหรี่ยง  หมายถึงต้นเข้าพรรษา  มีดอกสีเหลือง) ที่บ้านภูเหม็น  ต.ทองหลาง  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี   โดยมีการจัดเวทีเสวนา  แลกเปลี่ยนประสบการณ์  เพื่อเตรียมการประกาศหรือสถาปนา ‘เขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น’ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้   โดยมีพี่น้องชาวกะเหรี่ยงและผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ  เข้าร่วมงานประมาณ 300   คน

 

เยาวชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นหรือ ‘พุเม่น’ แปลว่าต้นเข้าพรรษา

           

ผศ.ดร.วรวิทย์  นพแก้ว  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์  กล่าวว่า  กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและอื่นๆ  เช่น  ชาวม้ง  อาข่า  ชาวเล  ฯลฯ  ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเปราะบาง  และได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ เช่น  เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน  การจัดการทรัพยากร  สิทธิการถือสัญชาติ  ฯลฯ  คณะรัฐมนตรีในสมัยนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  จึงมีมติ ค.ร.ม.วันที่ 3 สิงหาคม 2553  เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและชาวเล’  โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กระทรวงวัฒนธรรม  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ศึกษาธิการ  ฯลฯ  นำไปจัดทำแผนฟื้นฟูระยะสั้นและระยะยาว 

 

“แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง  มติ ค.ร.ม. 3 สิงหาคม 2553  จึงไม่ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง  จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว  แต่กลุ่มชาติพันธุ์  โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงยังได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ  เช่น  ปัญหาเรื่องการประกาศเขตป่าสงวนฯ หรือวนอุทยานทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง  ทำให้ชาวกะเหรี่ยงถูกขับไล่หรือถูกจับกุมดำเนินคดี  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  หน่วยงานต่างๆ จึงร่วมกับพี่น้องชาวกะเหรี่ยงจัดงานนี้ขึ้นมา  เพื่อระดมความคิดเห็น  สร้างกลไกเครือข่าย  และวางแผนการรณรงค์ขับเคลื่อนให้มติ ค.ร.ม.ดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติ  สามารถคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงได้อย่างแท้จริง  รวมทั้งผลักดันให้มติ ค.ร.ม.ยกระดับเป็นกฎหมายที่มีผลในการปฏิบัติต่อไป”   ผศ.ดร.วรวิทย์กล่าว

 

บรรยาการชาวกะเหรี่ยงที่มาร่วมงาน

 

ผ.ศ.ดร.วรวิทย์  กล่าวถึงเป้าหมายในการจัดงานครั้งนี้ว่า  1.เพื่อจัดเวทีประชุมระดมความเห็นแลกเปลี่ยนบทเรียนการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษระหว่างชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือกับภาคตะวันตก เตรียมจัดงานสถาปนาเขตวัฒนธรรมพิเศษในภาคตะวันตก  2.เพื่อสร้างกลไกการประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงภาคตะวันตกกับเครือข่ายกะเหรี่ยงในประเทศ ในการขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ให้เกิดการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และยกระดับเป็นกฎหมาย  และ  3. เพื่อวางยุทธศาสตร์ แผนงาน ระดับพื้นที่ในการผลักดันและยกระดับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวให้เป็นกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่าและชาติพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม

 

“เราผลักดันให้มีการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงในหลายพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการคุ้มครองชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ  บนพื้นฐานความเชื่อ  วิถีวัฒนธรรมและการจัดการทรัพยากรธรรม  ‘คนอยู่กับป่า’ อย่างสอดคล้องและสมดุล  เคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์  โดยให้ชุมชนมีอำนาจในการจัดการทุกรูปแบบ  ทั้งสิทธิการตัดสินใจในการเลือกรูปแบบวิถีชีวิตและวัฒนธรรมด้วยตนเองได้”  ผ.ศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว

 

ทั้งนี้ตามมติ ค.ร.ม.ดังกล่าว  มีมาตรการฟื้นฟูระยะยาวดำเนินการภายใน 1-3 ปี  โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ  เช่น  ด้านการจัดการทรัพยากร  ให้เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ป่าอนุรักษ์  ป่าสงวนฯ ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีข้อเท็จจริงจากการพิสูจน์อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้อยู่อาศัย  ดำเนินชีวิต  และใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน  หรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมาย  หรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว  โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปดำเนินการ

 

นายอังคาร  คลองแห้ง  อายุ 52 ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  กล่าวว่า  ปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีทั้งหมดประมาณ  200 ครัวเรือน  ประมาณ 700  คน  อาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ดั้งเดิม  โดยมีนายปองซ่า  คลองแห้ง  บรรพบุรุษของตนเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกเมื่อปี 2415  ปัจจุบันนี้มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 11 คน  รวมระยะเวลาเกือบ 150 ปี  โดยชาวกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ  โดยการทำไร่แบบหมุนเวียน  เช่น  ปลูกข้าวไร่  ข้าวโพด  ฟักทอง  ฯลฯ  เก็บผักและอาหารจากป่า  เช่น  เห็ด  หน่อไม้  น้ำผึ้ง  พอปีต่อไปก็จะหมุนเวียนจากไร่ข้าวแปลงนี้ไปปลูกแปลงอื่น  เพื่อให้ดินได้พักฟื้น  กลับมาสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย  ไม่ใช่เป็นการทำไร่เลื่อนลอย  แต่เป็นการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป 

 

อังคาร  คลองแห้ง  ชี้ให้ดูเขตสวนป่าที่ประกาศในปี 2535 ทับที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงประมาณ 400 ไร่

 

“พอถึงปี 2528 ชาวบ้านเริ่มได้รับผลกระทบ  เพราะมีการประกาศเขตป่าสงวนฯ ป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควายทับที่ดินทำกินที่ชาวกะเหรี่ยงทำมาแต่เดิม  พอปี 2535 มีการประกาศเป็นเขตสวนป่า  เอาต้นไม้มาปลูกทับที่ทำกินอีก  เจ้าหน้าที่ห้ามชาวบ้านทำไร่หมุนเวียน  ชาวบ้านไม่มีที่ทำกินก็ไม่มีรายได้  ไม่มีอาหาร  ต้องไปเป็นหนี้พ่อค้า  หนี้ ธกส.  จนถึงปี 2557  เป็นต้นมา  ปัญหารุนแรงขึ้น  เพราะมีการประกาศเป็นเขตวนอุทยานอีก  และจะให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายออกไปอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก.ที่อำเภอลานสัก  ภายในเดือนเมษายน 2560  พวกเราจึงเริ่มร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอความเป็นธรรม  เพราะพวกเราอยู่มานานก่อนประกาศเขตป่า”  ผู้นำชาวกะเหรี่ยงเล่าความเป็นมาของปัญหา

 

นายสมบัติ  ชูมา  สถาบันธรรมชาติพัฒนา  กล่าวว่า  จากปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นที่ถูกทางเจ้าหน้าที่ประกาศเขตวนอุทยานทับที่ดินทำกินของชาวบ้านในปี 2557  ทำให้ชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี 1 ราย  แต่ต่อมาศาลได้ยกฟ้อง  เพราะเห็นว่าชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน  ต่อมาชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนปัญหาไปยังอนุกรรมการด้านสิทธิในที่ดินและการจัดการทรัพยากรป่าไม้  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกครั้ง  รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

 

หลังจากนั้นจึงได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2560  เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาในระดับจังหวัด  คือ 1.คณะกรรมการเพื่อกำหนดพื้นที่ทำกินในเขตพื้นที่บ้านภูเหม็น  ตามมติ ค.ร.ม. 3 สิงหาคม 2553  และ 2.คณะกรรมการตรวจสอบรังวัดแนวเขตพื้นที่สวนป่าบ้านไร่  วนอุทยานห้วยคต  โดยมีคณาจารย์จาก ม.ราชภัฏนครสวรรค์  และสถาบันธรรมชาติพัฒนา  ร่วมเป็นที่ปรึกษาแก้ไขปัญหาให้กับชาวกะเหรี่ยง  รวมทั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรสนับสนุนชุมชนจัดทำข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นหลักฐานของชุมชน

 

 สมบัติ  ชูมา (ที่ 2   จากซ้าย)

 

จนถึงเดือนสิงหาคม  2562  ชุมชนชาวกะเหรี่ยงและทีมที่ปรึกษาได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าอุทยานห้วยคต  โดยทางอุทยานฯ แจ้งว่า   อุทยานฯ จะกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวบ้าน  และให้ชาวบ้านบริหารจัดการ  ดูแลรักษาป่า  รวมทั้งเพื่อให้เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงตามมติ ค.ร.ม.  รวมเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  9,000 ไร่เศษ  โดยชุมชนจะร่วมกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานฯ เดินสำรวจแนวเขตที่ดินร่วมกัน

 

“ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนและสิงหาคมที่ผ่านมา  ทีมที่ปรึกษาและชาวกะเหรี่ยงได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลต่างๆ เช่น  ประวัติศาสตร์  วิถีชีวิต  วัฒนธรรม    และสำรวจพื้นที่เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  เพื่อร่วมกันหาแนวทางการจัดการเขตพื้นที่ทำกิน  ที่อยู่อาศัย  และการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  และจะมีการประกาศหรือสถาปนาเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงภายในเดือนพฤศจิกายนนี้”  นายสมบัติกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการจัดงาน‘แลกเปลี่ยนบทเรียนเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น’ ที่บ้านภูเหม็นแล้ว  ในวันที่ 19 กรกฎาคม  ทีมที่ปรึกษาชาวกะเหรี่ยงและตัวแทนชาวกะเหรี่ยงได้เดินทางไปพบกับนายนพดล  พลเสน  ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อหารือเชิงนโยบายในการสนับสนุนการจัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงตามติ ค.ร.ม.  รวมทั้งการผลักดันมติ ค.ร.ม.ดังกล่าวให้เป็น ‘พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกล่มชาติพันธุ์’ ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคม  ภายในปี 2564  โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่าง พ.ร.บ.

 

การสำรวจแนวเขตที่ดินบ้านภูเหม็น

 

ทั้งนี้หน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งเขตคุ้มครองวัฒนธรรมกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ประกอบด้วยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันตก  สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม   มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  ฯลฯ

 

สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงที่มีการจัดตั้งเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมแล้วในประเทศไทย  ขณะนี้มี 12  พื้นที่   เช่น บ้านห้วยลาดหินใน  ตำบลป่าโป่ง  อำเภอเวียงป่าเป้า  จังหวัดเชียงราย, บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ตำบลแม่วิน  อำเภอแม่วาง  จังหวัดเชียงใหม่, ชุมชนบ้านกลาง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง,  บ้านแม่หมี  อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง, บ้านดอยช้างป่าแป๋  ตำบลป่าพลู  อำเภอบ้านโฮ่ง  จังหวัดลำพูน  ฯลฯ

 

นายอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  กล่าวในตอนท้ายว่า  เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงก็คือ  การดำรงวิถีชีวิตตามปกติของชาวกะเหรี่ยงนั่นเอง  คือ  มีการทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวและอาหารเอาไว้กิน  มีจารีต  มีประเพณี  มีวัฒนธรรมอย่างไร  เราก็ปฏิบัติไปตามนั้น  ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่หรือเป็นเรื่องพิเศษแต่อย่างใด  แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้ยอมรับในเรื่องสิทธิที่ดินที่พวกเราอยู่มาก่อน  เราจึงต้องเรียกร้องเรื่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมขึ้นมา  และเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดอยู่อาศัยและทำกินต่อไป 

 

“กะเหรี่ยงมี 3  กฎที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  คือ  กฎจารีต  กฏประเพณี  และกฎวัฒนธรรม  แต่ที่ผ่านมาเราถูกกฎหมายเพียงกฎเดียวที่มากดขี่  บีบบังคับพวกเรา   เราจึงต้องต่อสู้และฟื้นฟูทั้ง 3  กฎของเราขึ้นมาเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนกะเหรี่ยง”  ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นหรือ ‘พุเม่น’  กล่าวทิ้งท้าย

 

บ้านชาวกะเหรี่ยง

 

เจ้าวัด (เจ้าวัตร) ผู้นำทางจิตวิญาณของชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นนับถือพุทธศาสนา (ถือศีล 5)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"