ยกเครื่องการท่องเที่ยวไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

การระบาดของโควิด-19 มีผลทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจไปทั่วโลก และในหลายประเทศ สาขาท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ในประเทศไทยสาขาท่องเที่ยวเคยนำเงินเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก เมื่อปีที่แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเป็นเงินมากถึง 2 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 30 กว่าล้านคน 

ก่อนเกิดภาวะโควิด เคยคาดการณ์กันว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 40 ล้านคนในปี 2563 โดยมาจากจีนมากที่สุด แต่การปิดเมืองปิดประเทศเพื่อหยุดการระบาดของโควิด-19 ทำเอานักท่องเที่ยวหดหายไปจากประเทศไทยในพริบตา ทั้งปีคาดว่าจำนวนจะลดลงถึง 80% เหลือประมาณ 8.2 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงเหลือไม่ถึง 4 แสนล้านบาท

ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งใน GDP มากถึง 15% ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าโควิด-19 จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าหลายประเทศในระดับการพัฒนาเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะติดลบถึง 8% และอาจจะติดลบมากกว่านี้หากไม่สามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวได้ภายในปีนี้ เชื่อกันว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของภาวะถดถอยในเศรษฐกิจไทยเป็นผลจากความซบเซาที่เกิดขึ้นในสาขาท่องเที่ยว

ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีเป็นจำนวนมาก มีทั้งบริษัทนำเที่ยว สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจการเดินทาง ร้านค้าขายของที่ระลึก สถานบันเทิง รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางอื่นๆ อีก คนทำงานในธุรกิจเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 4 ล้านคน มีทั้งที่เป็นมัคคุเทศก์ พนักงานโรงแรม พนักงานเสิร์ฟ คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ หมอนวด พนักงานขาย และพนักงานให้บริการต่างๆ ประเมินกันว่าประมาณ 65% ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดต้องปิดกิจการลงอย่างชั่วคราวและอาจจะถาวรไปเลย ทำให้คนทำงานจำนวนเกือบ 3 ล้านคนต้องตกงานและขาดรายได้ ส่วนใหญ่แม้จะได้รับเงินเยียวยาทั้งที่เป็นเงินอุดหนุนโดยตรงจากรัฐบาลและที่เป็นเงินชดเชยจากกองทุนประกันสังคม แต่ก็เป็นเพียงการเยียวยาในระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น หลังจากนั้นคนเหล่านี้ก็คงต้องพึ่งพาทางอื่นเพื่อความอยู่รอดต่อไป 

คำถามในขณะนี้ก็คือ “การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวได้เมื่อไรและอย่างไร”  รัฐบาลกำลังพิจารณาให้ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวต่างชาติบางประเภทเดินทางเข้ามาในประเทศได้โดยมีการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ในระดับหนึ่งแต่ในขณะที่โรคระบาดนี้กำลังคุกคามหลายประเทศในโลกอยู่อย่างรุนแรง เราคงยังมองไม่เห็นว่าประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้ตามปกติเหมือนในอดีตก่อนหน้าภาวะโควิด  เราจึงคาดได้ว่าสาขาท่องเที่ยวจะยังคงซบเซาอยู่ต่อไปจนกว่าโลกจะมีความมั่นใจว่ามียารักษาโรคหรือวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างแน่นอน ซึ่งก็อาจจะเป็นเวลาอีกหลายเดือนหรือหลายปีด้วยซ้ำไป

ในระหว่างนี้ น่าจะเป็นเวลาที่พวกเราควรช่วยกันคิดว่า การท่องเที่ยวไทยควรมีรูปร่างหน้าตาที่พึงปรารถนาอย่างไรในอนาคตหลังโควิด ผมเห็นด้วยกับคุณพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่บอกว่า เราควรมองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการแก้ปัญหาการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในอดีต และหาทางแก้ไขปรับปรุงให้เสร็จทันก่อนที่เจ้าโควิดนี้จะหมดฤทธิ์ไป

เท่าที่ผ่านมา ธุรกิจการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ต่างก็มีส่วนในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความเสียหายให้กับชายหาด ปะการัง สัตว์ป่า พันธุ์พืช และแหล่งน้ำต่างๆ สร้างมลภาวะสารพัดชนิด ก่อให้เกิดขยะสะสมเป็นกองใหญ่ 
นักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่มมุ่งมาเที่ยวไทยเพื่อซื้อบริการทางเพศ ซื้อยาเสพติด บางคนก็นำโรคร้ายมาแพร่เชื้อ หลายคนเข้ามาปักหลักทำมาหากินแย่งอาชีพคนไทย เมืองไทยได้ “ชื่อเสีย” ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวของโลกที่มีครบทั้ง sun, sand and sex
เราต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ได้ การท่องเที่ยวไทยควรเติบโตอย่างมีคุณภาพและความยั่งยืน ไม่เน้นปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณนักท่องเที่ยว แต่เราก็คงจะต้องคำนึงถึงปริมาณเงินรายได้ที่ได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย เราควรส่งเสริมนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เราอยากเห็นนักท่องเที่ยวที่สนใจต้องการเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของคนไทย บางกลุ่มอาจสนใจในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบทไทย 

ในขณะเดียวกัน เราก็อยากจะส่งเสริมต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทย โดยไม่ทำให้คนไทยเองต้องเสียโอกาสในการรักษาพยาบาลที่จำเป็น

เรายินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวสูงวัยที่เกษียณแล้วและต้องการใช้ชีวิตในบั้นปลายในประเทศและสังคมที่สงบสุข หรือที่เรียกว่า long stay เราอยากเห็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายในลักษณะเป็นการกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยให้มากขึ้น การท่องเที่ยวควรเป็นแนวทางหนึ่งที่นอกจากจะทำให้รายได้ของประเทศสูงขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอีกด้วย

ในฐานะเจ้าภาพ รัฐบาลและคนไทยก็ควรให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ให้เป็นอย่างดีกว่าที่เคยเกิดปัญหาในอดีต เราต้องสร้างความมั่นใจและมาตรฐานในเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ไม่ปล่อยปละละเลยให้เรือบรรทุกผู้โดยสารจนเรือล่มทำให้มีคนตายจำนวนมาก ป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มักไม่คุ้นเคยกับสภาพสังคมไทย ป้องกันไม่ให้แท็กซี่เอาเปรียบผู้โดยสารต่างชาติ และป้องกันไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าโก่งราคาขายคนต่างชาติ 

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ถ้าเราทำได้ ก็จะกลายเป็นการ “ยกเครื่อง” หรือ reset ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย เรามีโอกาสแล้ว เรามีงบประมาณด้วยแล้ว อย่างน้อยรัฐบาลก็ควรใช้เงินเพื่อการนี้จากบางส่วนในงบ 4 แสนล้านบาทที่กันไว้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังภาวะโควิด  


เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ 
ดร พรายพล คุ้มทรัพย์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภูบาล
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"