วราวุธ ศิลปอาชา แก้ปัญหาขยะพลาสติกจากวินัย! สร้างพื้นที่ป่าชุมชนเพิ่มต้นน้ำรับอุตสาหกรรมบุกอีอีซี


เพิ่มเพื่อน    

        “วันนี้อยู่ที่ว่าพวกเราทุกคนพร้อมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือไม่ เพราะการที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม การที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ ทุกอย่างต้องอาศัยความมีวินัย และความอดทน ความร่วมมือของตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงลูกบ้านทุกคน”

 

 

        “มลพิษ” เป็นประเด็นที่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากประเทศไทยต้องเจอกับปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) และปัญหามลพิษในแง่มุมต่างๆ อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาหลังโครงการลงทุนจำนวนมหาศาลในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว

        วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า  กระทรวงฯ ได้เตรีมแผนรองรับปริมาณของภาคอุตสาหกรรม  และนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะชูให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่แห่งการลงทุน และแน่นอนสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือเรื่อง  “ปัญหาขยะ-การปล่อยน้ำเสีย-ควันพิษและปริมาณน้ำไม่เพียงพอ”

 

ติดดาบ “กรมควบคุมมลพิษ”

        อย่างปัญหาโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยควันพิษ ปัญหาโรงงานปล่อยน้ำเสียออกมา ยังเป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสนใจ และทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้น หน่วยงานแรกที่ทุกฝ่ายคิดถึงคือ “กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ที่มี “หน้าที่” ในการลงพื้นที่ไปตรวจสอบรายละเอียด และท้ายที่สุดแม้ว่าจะพบปัญหาควันพิษที่มีอันตรายมาก แต่กรมควบคุมมลพิษก็ “ไม่มีอำนาจ” สั่งปิดโรงงาน จึงกลายเป็นประเด็นที่ “กรมควบคุมมลพิษ” ถูกมองว่า เหมือนยักษ์ที่ไม่มีกระบอง

        ตรงนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการหารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงแนวคิดในการจัดตั้งองค์การ หรือหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้มีอำนาจเต็มในการตรวจสอบ และควบคุมมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม

        “ผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเด็นมลพิษในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะเรื่องปริมาณน้ำในภาคตะวันออกเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันแค่ภาคธุรกิจที่เข้าไปในพื้นที่ ปริมาณน้ำก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว ฉะนั้นจากนี้เป็นหน้าที่ที่สำคัญของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จะเอาแหล่งน้ำมาจากไหนที่จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มีการพูดถึงกระบวนการเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด แต่ก็ต้องดูมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วยว่า ถ้าเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดในปริมาณที่มหาศาล ปริมาณเกลือในทะเล ความเค็มในทะเลของอ่าวไทยจะกระทบมากน้อยแค่ไหน หรืออีก 5 ปีจากนี้อาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ก็ได้ นี่เป็นสิ่งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการบริหารจัดการปัญหามลพิษในทุกมิติเป็นอย่างไร”

        อย่างในกรณีปริมาณน้ำในพื้นที่ EEC มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน การประปา รวมถึงกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่อยู่ระหว่างทำแผนที่น้ำบาดาลอย่างละเอียด โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เพื่อดูว่ามีศักยภาพน้ำบาดาลมากน้อยแค่ไหน และจะนำมาใช้ได้อย่างไร และก็ต้องหาแหล่งน้ำเพิ่ม ซึ่งการหาแหล่งน้ำเพิ่มมีหลายรูปแบบ แทนที่จะเป็นแหล่งใหญ่ ก็สามารถทำเป็นลักษณะแก้มลิงหลายๆ แก้ม แล้วนำมาผูกรวมกันเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้หรือไม่

        แต่ที่สำคัญที่สุด วิธีที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำในประเทศไทยที่ดีที่สุด คือ “การกลับมาปลูกต้นไม้” ที่แม้จะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่จะเห็นผลใน 3-5 ปี แต่ตรงนี้เป็นประเด็นที่จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยในระยะยาว ถ้าเราไม่เริ่ม มันก็ไม่ได้ปลูกสักที

 

ชู “ป่าชุมชน” แก้ปัญหาน้ำระยะยาว

        “วราวุธ” ย้ำว่า ต้นไม้คือโรงงานผลิตออกซิเจน คือโรงงานผลิตน้ำ ถ้าดูปริมาณน้ำในเขื่อนหลักของประเทศไทยตอนนี้ ทุกๆ เขื่อนต่ำกว่า 10% เกือบทุกเขื่อน ยกเว้นเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เพราะเขื่อนนี้อยู่ที่ภาคตะวันตก ซึ่งผืนป่าภาคตะวันตกเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุด จึงเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นได้ชัดเลยว่า เมื่อป่าสมบูรณ์ น้ำก็มา พอกลับมาดูที่แม่น้ำสายหลักอื่นๆ ของประเทศยังค่อนข้างน่าเป็นห่วงอยู่มาก พื้นที่ป่าส่วนใหญ่กลายเป็นเขาหัวโล้น นั่นหมายถึงโรงงานผลิตน้ำ โรงงานผลิตออกซิเจนไม่มี แล้วถามว่าน้ำจะมาจากไหน

        ผมเห็นแล้วก็สะท้อนใจ สิ่งที่ประชาชนทำในวันนี้ คือ คุณกำลังทำลายโรงงานผลิตน้ำของตัวเอง คุณตัดไม้ทำลายป่าไปหมดแล้ว แล้วก็มาบ่นวันวันนี้ทำไมฝนไม่มา ฝนจะมาจากไหน เพราะไม่มีป่าในการให้ความชุ่มชื้น พอฝนตกลงมา น้ำเก็บบนดินไม่ได้ก็เกิดปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วม

        จากปัญหาเรื่องน้ำที่กล่าวมาทั้งหมด “วราวุธ” ยืนยันในฐานะที่ทำหน้าที่ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแล ได้วางแนวคิดในการทำงานเพื่อพลิกฟื้นผืนป่าของประเทศไทย ผ่านแนวคิดในการจัดทำ “พื้นที่ป่าชุมชน” จากปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชนกว่า 11,250 แห่งทั่วประเทศ

        โดยจะขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการหาพื้นที่สาธารณะ 200-300 ไร่ในจังหวัดมาปลูกป่า พอทำอย่างนี้แต่ละปีจะสามารถชี้ได้ว่าปีนี้เราปลูกป่าชุมชนที่ไหน ปีหน้าจะปลูกที่ไหน ป่าชุมชน 1 ป่า ที่ 1 ไร่ใช้ต้นกล้าไม้ใหญ่ประมาณ 200 ต้น ดังนั้นกล้าไม้แต่ละกล้าจะมีระบบติดตามผ่านแอปพลิเคชัน โดยจะสร้างขึ้นเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อในอนาคตเราจะสามารถติดตามได้ว่ามีกล้าไม้เท่าไหร่ ไปปลูกที่ไหนบ้าง สามารถติดตามการเติบโตได้ และจะมีการพัฒนาต่อยอดให้สามารถจ้างประชาชนในการดูแลต้นไม้ ต้นละ 10 บาทต่อเดือน 200 ต้น ก็ 2,000 บาทต่อเดือน ปีหนึ่งก็ 20,000 กว่าบาท

 

อัพสกิลแก้ปัญหาขยะพลาสติก

        สำหรับปัญหา “ขยะพลาสติก” นั้น รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการแปรสภาพขยะพลาสติกให้มีประโยชน์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง นั่นคือการอัพไซเคิล (Upcycle) เป็นการเอาขยะมาแปรสภาพเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อีกรอบ ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีประโยชน์ไม่แพ้กับการรีไซเคิล (Recycle) โดยปัจจุบันมีการอัพไซเคิลขยะพลาสติกจนออกมาเป็นเสื้อผ้า เสื้อยืด เสื้อโปโล ไปจนถึงชุดดำน้ำ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จัดทำโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ”

        ที่จะเน้นหนักในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพแทนการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวซึ่งนำกลับมารีไซเคิลได้ยาก, ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรืออัพไซเคิลจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการใช้และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในสังคม

        หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาขยะพลาสติก นั่นคือคำว่า “วินัย” ถ้าทุกคนรู้วิธีที่จะทำมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการบริหารจัดการ แต่ยังไม่มีวินัยในการคัดแยกขยะ ทุกสิ่งที่มีก็จะไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด และจากสถานการณ์ขยะที่ประเทศไทยผลิตขึ้น เฉพาะถุงพลาสติกเฉลี่ยปีละ 4 หมื่นล้านใบ หากไม่มีวินัย ขาดความรับผิดชอบปัญหาขยะพลาสติกล้นประเทศคงเลี่ยงไม่ได้ในที่สุด

        การรู้จักการนำมาใช้ใหม่ (Reuse) รีไซเคิล และอัพไซเคิล จะเป็นอีกแนวทางในการช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างมหาศาล และประเด็นเหล่านี้จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “เลิกใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง” ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เพราะหากทุกคนตระหนักและหันกลับมาใช้ถุงพลาสติกใหม่อีกหลายๆ รอบ ปริมาณขยะถุงพลาสติกที่ 4 หมื่นล้านใบต่อปีจะลดลงครึ่งต่อครึ่ง และมีโอกาสที่จะได้เห็นจำนวน 2 หมื่นล้านใบต่อปีแน่นอน

        “วันนี้อยู่ที่ว่าพวกเราทุกคนพร้อมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือไม่ เพราะการที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม การที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องขยะ ทุกอย่างต้องอาศัยความมีวินัย และความอดทน ความร่วมมือของตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปจนถึงลูกบ้านทุกคน” วราวุธระบุ

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

        ปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศไทยมีอยู่ 31% เป้าหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ การเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทยเป็น 40% พื้นที่สีเขียวเป้าหมาย 55% โดยวันนี้ตัวเลข 55% เป็นเป้าหมายที่เรียกว่า “ไม่เกินความเป็นจริง” เราสามารถทำได้

        “วราวุธ” ยอมรับว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พี่น้องคนไทยมีความตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มคนที่มีไฟในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

        “ผมเองรู้สึกดีใจ เพราะคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อน โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรง ในอีก 10-20 ปี ถ้าเรายังไม่เริ่มทำอะไรตั้งแต่วันนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็จะตกอยู่กับคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้นั่นเอง นี่จึงอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนกลุ่มนี้ออกมาตื่นตัวกับการรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศมากขึ้น แต่วันนี้ก็ยังมีพวกคนมักง่ายบางคน คนเห็นแก่ตัวบางกลุ่ม ที่บอกว่าฉันอยู่ไม่กี่ปีก็ตายแล้ว ผมเห็นแล้วก็สะท้อนใจ กลุ่มคนบางกลุ่มที่หากินกับธรรมชาติ ที่พอมีปัญหาก็แก้ปัญหาแบบมักง่าย สิ่งเหล่านี้เป็นจิตสำนึกที่ต้องสร้างให้กับคนทุกกลุ่ม”

        วันนี้มีคนกลุ่มที่เริ่มกระตุ้นจิตสำนึกสังคมมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนรุ่นก่อนอีกมาก ที่บอกว่า ฉันไม่สน ฉันจะทำอย่างนี้ เวลามีปัญหาเอาง่ายเข้าว่า ลดต้นทุนเข้าว่า แต่การลดต้นทุนของคุณนั้น มันเป็นการเพิ่มต้นทุนมหาศาลให้สิ่งแวดล้อม และในอนาคตคุณก็ต้องกลับมาจ่าย ทำกรรมอะไรไว้ คนเราหนีไม่พ้น มันกลับมาเจอกรรมที่ตัวเองทำเต็มๆ

        คำว่าสะดวกในทุกวันนี้คงใช้ไม่ได้เสมอไป แม้บางอย่างอาจจะทำแล้วไม่สะดวกบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับในไม่สะดวกนั้น โดยหากมองลงไปในรายละเอียดของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากคำว่า “สะดวก” เกือบทั้งสิ้น

        หลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่กำลังส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชน เช่น กรณีที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปลาพะยูนมาเรียมตาย ก็ล้วนมาจากคำว่าความสะดวก โดยเฉพาะความสะดวกจากการใช้ถุงพลาสติก จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลของการทำแคมเปญเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง และรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ถุงผ้า หรือถุงพลาสติกแบบหนาที่สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายๆ  ครั้ง แรกๆ คนอาจจะพูดว่าไม่สะดวก แต่โดยปกติของมนุษย์หากทำอะไรติดต่อกัน 21 วัน มันจะเริ่มกลายเป็นนิสัย และกลายเป็นปกติไปเอง

        ตอนงดใช้ถุงแรกๆ คนบ่นเยอะ แต่ลองทำยังไม่ถึง 2 เดือน บางร้านค้า บางผู้ประกอบการบ่นว่าลูกค้าไม่สะดวก ก็กลับมาแจกถุงบ้าง นี่คือสิ่งที่ผมกำลังบอกว่ามันจะมีคนบางกลุ่มที่มักง่าย คนบางกลุ่มที่เอาสะดวกเข้าว่า แล้วจะเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ถามว่าคนกลุ่มดีๆ มีไหม ต้องบอกเลยว่ามีเยอะแยะ ผมเห็นวัยรุ่นสมัยนี้เวลาไปไหนมาไหนเดินหิ้วถุงผ้า แต่จะมีร้านค้าที่มักง่ายบางกลุ่ม ร้านสะดวกหลายแห่งเริ่มกลับมาแจกถุงพลาสติก ทั้งที่เข้าร่วมโครงการงดใช้ถุงพลาสติกของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรงนี้ก็อาจต้องกลับไปพิจารณาจัดการให้เหมาะสมต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"