จ่อผ่อนคลาย4.5พันโรงเรียน


เพิ่มเพื่อน    

 ไทยติดโควิดใหม่อีก 4 รายจากสหรัฐฯ-ไต้หวัน เตรียมผ่อนคลายกว่า 4,500 โรงเรียนให้  นร.กลับมาเรียนในห้องปกติ สธ.ดันจ่ายค่าตอบแทนเป็นกำลังใจให้ อสม. 500 บาทต่อคนยาวตลอด 19  เดือน “สภาพัฒน์” งัดมติ ครม.แจง

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 4 รายในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,295  ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย และในสถานที่กักตัวของรัฐ 358 ราย หายป่วยสะสม 3,111 ราย ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 126 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ รายที่  1-3 กลับจากสหรัฐอเมริกา โดยรายที่ 1 เป็นหญิงไทยอายุ 44 ปี นักท่องเที่ยว ถึงไทยวันที่ 20 ก.ค. เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อวันที่ 25 ก.ค. ไม่มีอาการ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า รายที่ 2 และ 3 เป็นนักศึกษาชายไทยอายุ 25 ปี และหญิงไทยอายุ 21 ปี  เดินทางถึงไทยวันที่ 25 ก.ค. ผ่านการคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคพบว่ามีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค  (pui) โดยผู้ป่วยชายมีไข้ เจ็บคอ ผู้ป่วยหญิงมีไข้ จมูกไม่ได้กลิ่น ตรวจหาเชื้อใหม่วันที่ 25 ก.ค.ตรวจพบเชื้อ และรายที่ 4 กลับจากไต้หวัน เป็นชายไทยอายุ 30 ปี พนักงานโรงงาน เดินทางมาถึงวันที่ 21 ก.ค.  เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐในกรุงเทพฯ ผลตรวจพบเชื้อวันที่ 25 ก.ค. มีอาการถ่ายเหลว สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อรวม 16,412,794 ราย รักษาหายแล้ว 10,042,362 ราย เสียชีวิต 652,039 ราย
โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ในส่วนของแนวทางมาตรการผ่อนคลาย ประเด็นแรกการใช้รถโดยสารประจำทางที่เว้นระยะห่าง มีประชาชนจำนวนมากใช้บริการในช่วงวันหยุดยาวนี้ โดยกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้รายงานต่อที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ โดยยังยืนยันว่ามาตรการต่างๆ ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและขนส่งทั้งภาคเอกชนและรัฐเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการจองตั๋วล่วงหน้า พนักงานขับรถและผู้ประจำรถต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอด มาตรการต่างๆ เหล่านี้ได้รับการยืนยันว่ามีชัดเจน ส่วนการกำกับดูแลจะมีผู้กำกับและประเมิน ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร และจุด Checking Point ทุกๆ 90 กิโลเมตร รวม 99 จุด ตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ โดยจะดูทั้งเรื่องการใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล การเว้นระยะ การมีคิวอาร์โค้ดไทยชนะ เพื่อความมั่นใจในระบบต่างๆ
โฆษก ศบค.กล่าวว่า จากการประเมินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรถโดยสารระหว่างจังหวัดในช่วงวันที่ 28 มิ.ย.-19 ก.ค. มีการรายงานว่าใส่หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย 99.67  เปอร์เซ็นต์ แอลกอฮอล์เจล 98.22 เปอร์เซ็นต์ การเว้นระยะห่าง 99.97 เปอร์เซ็นต์ และการใช้คิวอาร์โค้ดไทยชนะ 98.74 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นภาพจากภาครัฐและผู้ประกอบการเป็นผู้ประเมิน ดังนั้นตนขอให้ภาคประชาชนในฐานะผู้ใช้บริการได้ประเมินตรงนี้ด้วยว่าเห็นด้วยหรือไม่ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีความปลอดภัยกับท่าน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับแนวทางการผ่อนคลายมาตรการของสถานศึกษาซึ่งเปิดมาร่วม 1  เดือน จากที่มีความกังวลว่าเด็กๆ ที่มีความใกล้ชิดกันอาจติดโรคกันได้ ตอนนี้ ศบค.ชุดเล็กได้ให้กรมควบคุมโรคร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลองประเมินดูชุดทิศทางงานการข่าวว่ามีอะไรบ้าง ที่ผ่านมาเกือบ 1 เดือนยังไม่มีการติดเชื้อในกลุ่มนี้เลย เมื่อมาดูข้อมูลจากคณะกรรมการด้านวิชาการตาม  พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พบข้อมูลสถิติผู้ป่วยสะสมโรคโควิด-19 ของไทย เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อค่อนข้างต่ำ จากรายงานมีเพียง 1-6 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มอายุ 0-9 ปี มี 62 ราย หรือ 1.9 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มอายุ 10-19 ปี 126 ราย หรือ 3.87 เปอร์เซ็นต์ และไม่เคยพบการป่วยเป็นกลุ่มก้อนในโรงเรียนและยังไม่มีการระบาดในโรงเรียน ทั้งนี้เป็นเพราะตัวรับเชื้อในโพรงจมูกของเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่  ทำให้การรับเชื้อในเด็กน้อยไปด้วย แต่สิ่งที่กังวลไม่ใช่ว่าการไม่รับเชื้อแล้วจะไม่มี เขาอาจสัมผัสเชื้อมาแล้วนำไปติดกับผู้ใหญ่ที่บ้านซึ่งมีตัวรับเชื้อได้ง่ายกว่า
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีกว่า 4,500 โรงเรียนที่ต้องใช้วิธีการสลับเวลาเรียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กที่ไม่ได้เรียนในห้องเรียนนานๆ เช่น การเรียนรู้ที่ถดถอยลง ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงทางทรัพยากรทางการศึกษา ผลกระทบของโภชนาการ การออกจากโรงเรียนกลางคัน ผู้ปกครองอาจจะต้องลางานหรือสูญเสียรายได้ จึงมีการประชุมร่วมกันของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข โดยมีข้อพิจารณาในการผ่อนคลาย คือให้นักเรียนไปเรียนได้ตามปกติแต่ต้องมีมาตรการเสริมที่เข้มข้นขึ้น จัดห้องเรียนให้มีโต๊ะเรียนที่ห่างกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กรณีห้องแอร์ให้เปิดประตูหน้าต่างช่วงพักเที่ยงหรือช่วงที่ไม่มีการเรียนการสอน โดยภาพของมาตรการนี้จะผ่านการกำกับดูแลโดยมีศบค.เป็นหลัก และมีคณะกรรมการสถานศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ทั้งคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ทุกๆ ระดับต้องดูแลเด็กตามลำดับขั้นลงไป
โฆษก ศบค.กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เข้าไปตรวจประเมินและติดตามหลังการเปิดภาคเรียน แนวปฏิบัติกรณีสถานการณ์การเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 และแนวทางการผ่อนคลายมาตรการของสถานศึกษา พบว่าสถานศึกษามีมาตรการความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค 99.47 เปอร์เซ็นต์ มีไม่ครบแค่ 0.53 เปอร์เซ็นต์ หรือ 132 แห่งทั่วประเทศ จาก 25,140 แห่ง  ทั้งนี้ได้รับคำชี้แนะให้ไปปรับปรุงแล้ว ส่วนข้อมูลพบเด็กป่วยเพียง 687 ราย แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคโควิดแต่อย่างใด สำหรับแผนการรองรับของสถานศึกษาพบว่ามี 96 เปอร์เซ็นต์ ไม่มี 3.75 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องเข้าไปแนะนำเพิ่มเติม มีการตั้งแผนเผชิญเหตุเพื่อไม่ให้การเรียนการสอนสะดุดและการควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 อสม.ได้มีส่วนสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบแทนและให้กำลังใจในความทุ่มเท เสียสละ ตรากตรำทำงานอย่างหนักของพี่น้อง อสม. กระทรวงสาธารณสุขเห็นควรให้ อสม.ได้รับค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยในการป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 500 บาท เป็นระยะเวลา 19 เดือน (มี.ค.63 - ก.ย.64) ตามระยะเวลาพระราชกำหนดกู้เงิน ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ อสม.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนต่อไปอย่างเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของประชาชนอันเกิดจากผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจแก่คนในชุมชน
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ กรณีสภาพัฒน์ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ได้พิจารณาตัดเงินช่วยเหลือ อสม.จาก 19 เดือน เหลือ 7 เดือนนั้น  คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้จึงมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019  ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับค่าใช้จ่าย ค่าเยียวยา ค่าชดเชยและค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมถึงผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดหาผู้ชำนาญการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (แผนงานหรือโครงการที่ 1) เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษคนละ 500  บาทต่อเดือน ให้แก่ อสม.และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ถึงกันยายน 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3195 ล้านบาท เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 และหนังสือเวียนของกระทรวงการคลังที่กำหนดให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษถึงเดือนกันยายน 2563
 ทั้งนี้ หากกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มที่จะเกิดความเสี่ยงของการระบาดมากขึ้น ก็ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งนำเสนอเหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายเวลาการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาพรวมต่อไป.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"