2 กมธ. 'กฎหมาย-กิจการศาล' ร่วมสางคดีบอส 'ชวน' ชี้ทุกองค์กรมีทั้งคนดี-ไม่ดี อย่าเหมารวม


เพิ่มเพื่อน    

2 กมธ. "กฎหมาย-กิจการศาล" จับมือสางคดีบอส กระทิงแดง "สิระ" ลั่น 5 ส.ค.จะเผาตำราหรือเผาคน "จิรายุ" เตรียมใช้ผลชันสูตรศพ "จารุชาติ" พยานปากเอก กระกอบการพิจารณา ส่วนกมธ.ตำรวจฯ ปิดจ็อบเตรียมส่งรายงานถึง "ชวน" สัปดาห์นี้

3 ส.ค.63 - นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร จัดประชุมพิจารณาเรื่องซ้ำซ้อนกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขับรถชนตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิตในปี 2555 โดยเชิญประธานคณะกรรมาธิการ3  ชุดที่พิจารณาเรื่องเดียวกัน คือนายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมการการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน  และนายนิโรธ สุทรเลขา ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ

นายชวน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วม ว่า ที่ประชุมได้ข้อยุติเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกมธ.กิจการตำรวจ ได้แจ้งว่า ได้ศึกษามาระดับหนึ่งแล้ว จึงไม่ติดใจ แต่หากกมธ.ตำรวจ อยากมาร่วมกับอีก 2 คณะก็จะนำเข้าหารือต่อที่ประชุมกมธ.ตำรวจก่อนว่า จะมาร่วมประชุมกับอีก 2 คณะด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ การที่ตนไม่ให้ทำงานซ้ำซ้อนกัน เพราะไม่ต้องการรบกวนข้าราชการ หรือบุคคลภายนอกต้องเข้ามาชี้แจง เพราะหากกมธ.ทั้ง 3 คณะ เชิญตำรวจ อัยการ หรือองค์การต่างๆทุกคณะก็ต้องมา 3 ครั้ง ซึ่งถือเป็นภาระและความเดือดร้อน ดังนั้น ตามระเบียบแล้วต้องการให้กมธ.ที่มีความซ้ำซ้อน สามารถทำงานร่วมกันได้ โดยต้องมีกมธ.ชุดใดชุดหนึ่งเป็นเจ้าภาพของเรื่องนั้นๆเพื่อมาประชุมร่วมกัน

เมื่อถามว่า ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติมองว่า คดีนี้ควรเดินไปในทิศทางใดเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจกับกระบวนการยุติธรรม นายชวน กล่าวว่า ตนเชื่อว่าองค์กรทั้งหลายที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบรู้ว่า ต้องเอาอะไรไว้ในบ้านเมืองเพราะบ้านเมืองอยู่ได้ด้วยหลักการความถูกต้อง ดังนั้น ตนเชื่อว่า ทุกฝ่ายคงจะรู้ว่าอะไรคืออะไร เพียงแต่ต้องให้องค์กรทั้งหลายได้ทำงาน อย่าเพิ่งไปวิจารณ์อะไรมาก และตนเชื่อว่า แต่ละองค์กรรู้ว่า ทำอย่างไรถึงจะให้บ้านเมืองอยู่ได้ด้วยความถูกต้องชอบธรรม ที่ถือว่า เป็นสิ่งสำคัญมากสุด และองค์กรเองก็ต้องรู้ว่า ถ้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้ององค์กรนั้นก็จะมีอันเป็นไปในระยะยาว ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่แต่ละองค์กรต้องตระหนักในความรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า เวลานี้ทั้งตำรวจ และอัยการถูกลดความเชื่อมั่น ในฐานะนักกฎหมายจะทำอย่างไรเพื่อกู้ความเชื่อมั่นกลับมา นายชวน กล่าวว่า เราต้องถือองค์กร อย่าไปถือตัวบุคคลมาเป็นตัววัด เพราะในทุกองค์กรย่อมมีทั้งคนที่พร้อมและไม่พร้อม มีคนที่มีปัญหาและไม่มีปัญหาเสมอ พูดง่ายๆทุกองค์กรมีทั้งคนดีและไม่ดี จึงอย่าไปเหมาว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้นแล้วองค์กรนั้นจะเลวร้ายไปหมด แม้แต่ฝ่ายการเมืองตนก็เคยพูดเวลามีคนตำหนินักการเมือง ตนก็ยอมรับว่า นักการเมืองก็มีทั้งดีและไม่ดี

เมื่อถามถึงกรณีที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. ขอบันทึกการประชุมของกมธ.การกฏหมาย สมัยสนช.ที่พิจารณาคดีนายวรยุทธ์ เพื่อมาเปิดเผยต่อสังคม นายชวน กล่าวว่า ข้อมูลอะไรที่นำมาเปิดเผยก็สามารถเปิดเผยได้ แต่เรื่องที่ขอมา ตนยังไม่เห็นรายละเอียด เบื้องตนทราบว่า อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบอยู่ แต่ยืนยันว่ารายงานของกมธ.กฏหมาย สามารถนำมาเปิดเผยได้ เว้นแต่การประชุมลับ และมีมติไม่ให้เปิดเผย ดังนั้น ตนจึงไม่ทราบว่า กรณีดังกล่าว กมธ.ประชุมแบบลับหรือไม่

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน เปิดเผยว่านายชวนมีดำริให้รวมกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ขับรถชนตำรวจสน.ทองหล่อเสียชีวิตในปี 2555 ที่มีคณะกรรมาธิการ3 ขณะพิจารณาอยู่ โดยขณะนี้รอให้คณะกรรมาธิการตำรวจ พิจารณาว่าจะเสนอเรื่องใดเข้ามา ส่วนการประชุมวันที่ 5 ส.ค.นี้ก็จะเป็นการแชร์ข้อมูลกันระหว่างคณะกรรมาธิการการกิจการศาล ฯ ซึ่งจะทำข้อมูลและคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯจะเป็นคนออกจดหมายเชิญผู้ชี้แจงเป็นหลักเพื่อที่จะได้พิจารณาในเรื่องเดียวกัน หากพิจารณาวันที่ 5 ส.ค.ไม่จบก็จะขยับต่อไปอีกสัปดาห์ เนื่องจากรูปคดีและการพิจารณาต่างๆค่อนข้างมีความหลากหลาย รวมถึงมีสถานการณ์เกิดขึ้นใหม่รายวัน

นายจิรายุ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการกิจการศาลฯจะรับหน้าที่เชิญอดีตอัยการสูงสุดอดีตผู้พิพากษา หรือแม้แต่อดีตองค์กรอิสระต่างที่จะมาให้ความเห็น เนื่องจากไปดูฏีกาคดีลักษณะเดียวกันก็มีคำตัดสินที่หลากหลาย เช่นอาจจะตัดสินว่าผิด แต่ให้โทษรอลงอาญา เนื่องจากบรรเทาทุกข์ให้ผู้เสียหายแล้วเป็นต้น ก็จะนำมาเทียบเคียงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาต่อไป

นายจิรายุ ยืนยันว่าสิ่งที่คณะกรรมการของรัฐบาลและคณะกรรมาธิการของสภา เมื่อทำงานถึงวันสุดท้ายแล้วเอกสารจะปรากฎ ใครก็แล้วแต่ที่ไปบิดเบือนหรือปรับปรุงเอกสารคงเป็นเรื่องยาก และเรียกร้องกรณีการเสียชีวิตของนายจารุชาติ มาดทอง หนึ่งในพยานปากสำคัญ ซึ่งนายกฯก็สั่งให้ชันสูตรใหม่เพื่อทำให้ความจริงปรากฎ แต่กลับมีบางประเด็นบอกว่าไม่ไว้ใจกับผู้ชันสูตรที่จ.เชียงใหม่ ซึ่งนายกฯก็ต้องสั่งการให้ชัดเจนว่าคนชันสูตรต้องมีความเป็นกลาง หรือควรตั้งกรรมการกลางขึ้นมาหรือไม่ เพราะสังคมเคลือบแคลงใจ

"เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันนี้ และหากเป็นไปได้หากมีการชันสูตรศพเสร็จอย่างรวดเร็ว พรุ่งนี้ช่วงเย็นผลการชันสูตรก็คงออกมาและจะทำให้ความจริงปรากฎอีกครั้งหนึ่ง จะได้หาข้อมูลต่างๆต่อเนื่องไปถึงวันที่5 ส.ค.ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะต้องตรวจสอบต่อไป"

นายสิระ เจนจาคะ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า มีการออกหนังสือเชิญไปตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. โดยเชิญคณะกรรมาธิการกฎหมายในสมัยสนช.ทั้งหมด ตำรวจที่เกี่ยวข้อง อัยการที่เซ็นลงนามสั่งไม่ฟ้อง และตำรวจที่เซ็นไม่เห็นแย้ง พนักงานสอบสวนทั้งหมด เพราะการประชุมครั้งที่แล้วมีปัญหายังไม่ทราบข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด

ส่วนพยานที่เสียชีวิตไปแล้วก็ตัดออกไปเหลือ พล.อ.ท.จักรกฤษ ถนอมกุลบุตร ซึ่งได้ทำหนังสือเชิญมาด้วย ส่วนกรรมาธิการสมัยสนช.มีการตอบรับมาพอสมควร โดยจะขอดูเรื่องมติ ชวเลข รายงานการประชุม และมติที่ออกมาของกรรมาธิการว่าแทรกแซงกระบวนการตุติธรรมหรือไม่  มีผลกับการสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ซึ่งจะได้รับรายงานบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการของสนช.ในวันพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) โดยขอจากประธานสภาผู้แทนราษฏร ส่วนพล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมาธิการของสนช.จะมาชี้แจงด้วยหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ แต่ก็อยากให้มาทุกคนเพื่อความโปร่งใส จะได้ตอบให้ประชาชนได้หายสงสัย จะได้นำไปสู่การแก้ไขช่องโหว่และให้ประชาชนเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม และจะได้ไม่มีคำว่าคุกมีไว้ขังแค่คนจน

ตนยืนยันว่าคณะกรรมาธิการฯจะใช้ความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ ในฐานะคนกลางจากประชาชน ถ่ายทอดการประชุมสามารถฝากคำถามได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯทั้ง 2 คณะที่ต้องพิจารณาร่วมกันเพราะข้อบังคับการประชุมสภาที่ 90 กำหนดว่าประเด็นที่ซ้ำซ้อนกันต้องมาพิจารณาร่วมกัน และขอให้เชื่อมั่นคณะกรรมาธิการฯชุดต่างๆและคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น

"มีนักวิชาการบอกว่า ถ้าคดีเป็นอย่างนี้ก็ต้องกลับไปเผาตำราทั้งหมด ดังนั้นในวันที่ 5 ส.ค.นี้ก็จะรู้ว่าตำราผิด หรือคนผิด ถ้าตำราผิดก็ต้องเผาตำรา แต่ถ้าคนผิดก็ต้องเผาและดำเนินคดีไป เดี๋ยวจะได้รู้ว่าต้องเผาอะไร" นายสิระกล่าว

ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าได้แจ้งต่อนายชวนแล้วว่า ขณะนี้ภารกิจในการตรวจสอบคดีของนายวรยุทธ ในส่วนของคณะกรรมการตำรวจถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว เพราะได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงและได้ข้อมูลในระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องของความเร็วของรถและสารเสพติดก็เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการได้รวบรวมเอกสารข้อมูลต่างๆเพื่อมอบให้กับประธานสภาผู้แทนราษฎร ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ว่ากระบวนการสืบสวนสอบสวนครั้งนี้ไม่น่าจะถูกต้องชอบธรรมและควรรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ ถ้ารื้อฟื้นคดีโดยมรดกตกทอด ทางทายาทในเรื่องฟ้องคดีอาญานั้นพบทางตัน แต่กรรมาธิการฯมองเห็นน่าจะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งฟ้องตำรวจและอัยการ ตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งหากศาลเห็นว่ากระทำผิดก็สามารถนำคดีกลับมารื้อฟื้นใหม่ได้ ขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการฯกำลังประสานกับทายาทของดาบตำรวจที่เป็นพี่หรือน้อง เพื่อให้ข้อเสนอแนะและให้ความช่วยเหลือ เพื่อรื้อฟื้นคดีต่อไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"