ประคองเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติ


เพิ่มเพื่อน    

      ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ถูกกระทบทั้งจากปัญหาสงครามการค้าที่ค่อนข้างยืดเยื้อ การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก จนอาจทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกถดถอย เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบกับภาพรวมการค้าและการลงทุนทั้งหมด และกระทบโดยตรงมาถึงผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่าง “เอสเอ็มอี” ที่ส่วนใหญ่มีทุนไม่มาก การประคองรักษาการดำเนินธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่เป็นอุปสรรค

      ปัญหา “สภาพคล่อง” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเข้าใจเป็นอย่างดีว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องการเรื่องดังกล่าวมากที่สุด โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางรายยังมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจอย่างปัจจุบันที่ส่งผลทำให้การค้าขายเป็นไปได้ยาก ก็กลายมาเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีกหลายรายที่เจอปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบได้เลย

      ที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามออกมาตรการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีตามความต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ด้วยการออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่ก็ดูเหมือนว่ายังมีปัญหาเรื่องเงื่อนไขของมาตรการที่เป็นอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งต้องมีการผ่อนผัน ผ่อนปรน เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าไปถึงกลุ่มที่เดือดร้อนอย่างรวดเร็ว

        ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน บางรายมีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายราย เป็นปัจจัยกดดันในการประกอบธุรกิจ ล่าสุด “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ได้ร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จัดทำ โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง (โครงการดีอาร์บิส) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้ได้รับการบรรเทาภาระหนี้ และให้มีกลไกในการจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่งได้อย่างบูรณาการ ซึ่งโครงการดังกล่าวช่วยลดเวลาให้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น ผ่านแนวทางการแก้ไขหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ตกลงร่วมกันในรูปแบบมาตรฐาน

        โดยการกำหนดบทบาทของเจ้าหนี้หลักในการดูแลลูกหนี้และประสานกับเจ้าหนี้อื่น ทำให้การตัดสินใจแก้ไขหนี้ทำได้รวดเร็วและเบ็ดเสร็จ ให้ธุรกิจของลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้ตามศักยภาพของตัวเอง รวมทั้งปรับตัวให้ทันกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการจ้างงาน และเศรษฐกิจของประเทศสามารถฟื้นตัวได้ในระยะต่อไป

        “วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.” ระบุว่า มีการประเมินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวต้องใช้เวลากว่า 2 ปี จึงจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการประเมินว่าหลายภาคอุตสาหกรรมต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว และในอีกหลายภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหากำลังแรงงานส่วนเกินเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

        "ปัญหาที่ต้องเผชิญข้างหน้า คือ ยังมีผู้ประกอบการจำนวนมากต้องการให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก และยังมีอีกหลายผู้ประกอบการต้องเผชิญกับอุปสรรคในการมีเจ้าหนี้หลายราย ทำให้การปรับโครงสร้างหนี้อาจไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นการเร่งทำมาตรการเพื่อลดปัญหาในระยะยาว เพื่อช่วยแก้ปัญหาทั้งลูกหนี้และสถาบันการเงิน ลดภาระการตั้งสำรองหนี้เสีย ลูกหนี้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล สะท้อนว่าโครงการดีอาร์บิสมีความสำคัญ และถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยเร่งให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก"

        นั่นเพราะโครงการดีอาร์บิส จะให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ที่ยังคงมีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาจากสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบของโควิด-19 โดยสถาบันการเงินจะมีเครื่องมือและแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่เหมาะสมกับศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย เช่น การขยายเวลาชำระหนี้ การลดค่างวด หรือการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระให้สอดคล้องกับธุรกิจของลูกหนี้ รวมทั้งการพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ มีแผนธุรกิจชัดเจน มีพฤติกรรมชำระหนี้ดี และมีความตั้งใจในการทำธุรกิจ

      ขณะที่ภาคธุรกิจเอง ที่ปัจจุบันต้องยอมรับว่ากำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในหลายภาคอุตสาหกรรม จากผลกระทบของปัญหาสงครามการค้าโลก และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่างก็ยังรอมาตรการในการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในมิติต่างๆ ส่วนโครงการดีอาร์บิส ที่เน้นการปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านการยืดเวลาการชำระหนี้ การเพิ่มวงเงินสินเชื่อ และการหาผู้ร่วมที่ ธปท.และสถาบันการเงินจะช่วย จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"