ก้าวสู่ปีที่ 125 “กรมป่าไม้” ขยายผลป่าชุมชน 15,000 แห่ง เร่งจัดสรรที่ดิน 5 ลุ่มน้ำ และเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั่วประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

 

วันที่ 18 กันยายน 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าราชการ และพนักงานกรมป่าไม้ ได้ร่วมกันทำพิธีถวายเครื่องสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 และวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์วีรชนป่าไม้ เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของบรรพชนและวีรชนป่าไม้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 124 ปี วันสถาปนากรมป่าไม้ ภายในงานมีพิธีมอบโล่รางวัล เกียรติบัตร หนังสือชมเชยแก่ผู้ช่วยเหลือราชการกรมป่าไม้ และรางวัลอื่น ๆ โดยมี นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัล ในโอกาสนี้ นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานของกรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยได้พัฒนาและปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติด้วยการสร้างเครือข่าย และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้ในท้องถิ่นมากขึ้น โดยใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ควบคู่กันไปในการปฏิบัติงาน โดยสร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนในการใช้ประโยชน์และดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมด้วยกันทุกฝ่าย และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อมิให้ประชาชนเดือดร้อนและถูกเพิกถอนสิทธิในการอยู่อาศัยและการทำกินในพื้นที่เดิม นอกจากนี้ จะต้องไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และอยู่ภายใต้มาตรการอนุรักษ์ดิน น้ำ และป่าไม้ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดสำหรับนายทุนและกลุ่มชนที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 124 ปีที่ผ่านมา กรมป่าไม้ ได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจการบริหารทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน โดยปัจจุบันได้กำหนดวิสัยทัศน์การเป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นรักษาป่า ส่งเสริมไม้มีค่า ป่าชุมชน คนอยู่กับป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อความสุขของคนไทย โดยมีภารกิจ 5 ด้าน ที่เรามุ่งมั่นดำเนินการในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย การป้องกันและรักษาป่า โดย กรมป่าไม้ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พัฒนาระบบ ปฏิบัติการพิทักษ์ไพร โดยนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง มาวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า เพื่อตรวจจับการรุกป่าแบบเรียลไทม์ โดยหากพบความผิดปกติที่ป่าบริเวณใด ระบบจะส่งการแจ้งเตือนถึงกรมป่าไม้และส่งข้อมูลต่อไปยังแอปพลิเคชั่นในสมาร์ตโฟน ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีระบบนำทางเข้าไปตรวจสอบยังจุดต้องสงสัย โดยที่ผ่านมาระบบสามารถระบุพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่เข้าทำการจับกุมการบุกรุกป่าได้ถึงกว่า 2,000 ไร่ “เทคโนโลยีที่เรานำมาใช้ มีความละเอียดมากจนสามารถตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ได้ในระดับ 1 ไร่ และยังสามารถมองเห็นในพื้นที่ลับตา เช่น บริเวณหลังเขา หรือ ในหุบ ทำให้การตรวจสอบจับกุมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ในระยะหลังจะไม่ค่อยมีข่าวการบุกรุกพื้นที่ป่ารายใหญ่ เพราะเราป้องปรามได้ตั้งแต่ต้น จนสามารถตรึงพื้นที่ป่าไว้ที่ 32% ของเนื้อที่ประเทศ และมีแนวโน้มจะทำให้เพิ่มขึ้นได้”

 

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจที่ 2 คือ การส่งเสริมไม้มีค่า โดยหลังจากการแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ เปิดทางให้ประชาชนสามารถปลูกไม้หายากและไม้มีค่าได้อย่างถูกกฎหมาย กรมป่าไม้ จึงได้ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าเพื่อเป็นป่าเศรษฐกิจ โดยจัดตั้ง สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ ดำเนินการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าบนที่ดินกรรมสิทธิ์และที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ เช่น ที่ดิน สปก. และ คทช. เพื่อนำไปสู่การค้า โดยมีการสนับสนุนทั้งด้านการจัดหากล้าไม้ การให้คำแนะนำด้านการปลูกป่าที่เหมาะสมกับพื้นที่ การดูแลรักษา และการเข้าร่วมโครงการขอรับการสนับสนุนจากรัฐ ขณะเดียวกันยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบการตรวจรับรองไม้ โดยเริ่มตั้งแต่การตัด การเคลื่อนย้าย และการแปรรูปให้ได้ตามมาตรฐานสากล เช่น อียู เฟล็กที ของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันไม้ผิดกฎหมายเข้ามาสู่ระบบ ซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับจากนานาชาติ และนำไปสู่การขยายตลาดการค้าไม้ระหว่างประเทศ เพื่อรองรับแผนการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า โดยตั้งเป้าประเทศไทยจะมีป่าเศรษฐกิจ 15% ของพื้นที่ประเทศ

 

สำหรับภารกิจที่ 3 คือ เรื่องป่าชุมชน โดยในรอบปีที่ผ่านมา กรมป่าไม้ได้เร่งผลักดันการออกอนุบัญญัติหรือกฎหมายลูกภายใต้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 เพื่อสร้างกลไกการขับเคลื่อนและดูแลป่าชุมชนในระดับต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการระดับชุมชน คณะกรรมการระดับจังหวัด และคณะกรรมการระดับนโยบาย ซึ่งทั้งหมดได้ดำเนินการจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันก็มีการรับรองการจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้ว 11,327 แห่ง ซึ่งใกล้จะบรรลุเป้าหมาย 15,000 แห่ง เนื้อที่ 10 ล้านไร่ทั่วประเทศแล้ว

 

ภารกิจต่อมา คือ การส่งเสริมคนอยู่กับป่า หรือการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรยากไร้ที่รุกเข้ามาทำกินในพื้นที่ป่าก่อนปี 2557 เป้าหมายรวม 12.5 ล้านไร่ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 1, 2, 3, 4 และ 5 ซึ่งปีที่ผ่านมามีการดำเนินการตรวจรับรองสิทธิให้กับประชาชนไปมากพอสมควร แต่ยังต้องเร่งดำเนินการให้ได้ตามโรดแมป โดยเฉพาะการจัดสรรที่ดินในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำ 3, 4 และ 5 ให้ครบตามเป้าหมาย 1 ล้านไร่ ภายในปี 2564 ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปจนเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 7 แสนไร่ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้าอยู่ในพื้นที่ได้อย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งประสานกลไกช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเหมาะสม มีการอนุรักษ์ดิน น้ำ และพื้นที่ป่าพร้อม ๆ กัน เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน 

 

ส่วนภารกิจสุดท้าย คือ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อความสุขของคนไทย โดยยุทธศาสตร์ชาติ 50 ปี กำหนดว่า ประเทศไทยต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 55% ของพื้นที่ ซึ่งจะมีทั้งป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ ตามนโยบายการส่งเสริมปลูกไม้มีค่า และป่าในเมือง รวมถึงการปลูกต้นไม้ในชุมชนหรือที่สาธารณะ ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการสนับสนุนด้วยการผลิตกล้าไม้แจกจ่ายให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ นำไปปลูกโดยกรมป่าไม้ได้ผลิตกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายแล้วจำนวน 60 ล้านกล้า และปีนี้ตั้งเป้าขยับขึ้นมาเป็น 79.9 ล้านกล้า พร้อมกับดำเนินโครงการรวมใจไทยปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดิน เทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยรณรงค์ให้ประชาชนมารับต้นไม้ไปปลูกและลงทะเบียนเพื่อติดตามต้นกล้าแต่ละต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 20 ล้านกล้า จากเป้าหมาย 100 ล้านกล้า นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังได้ทำระบบรับรองกล้าไม้เอาไว้ด้วย เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนหารายได้จากการเพาะกล้า และสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปลูกต้นไม้อีกทางหนึ่ง

 

อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า นอกจากภารกิจหลักทั้ง 5 ด้านดังกล่าว ในรอบปีที่ผ่านมา กรมป่าไม้ ยังได้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีการจ้างงานให้ประชาชนเข้าไปช่วยงานป่าไม้ทั่วประเทศ 5,000 คน และในปี 2564 ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการกู้เงินของรัฐบาล เพื่อนำมาจ้างงานในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น จ้างงานฟื้นฟูป่า จ้างลาดตระเวน จ้างเพาะกล้าไม้ สร้างเรือนเพาะชำชุมชน และเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องการจัดที่ดินชุมชนและป่าชุมชน รวม 30,000 คน ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท เป็นเวลา 12 เดือน

 

“ภารกิจทั้ง 6 ด้านนี้ คือ สิ่งที่เราได้ลงมือทำตลอดปีที่ผ่านมา และเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้สำเร็จในช่วงของการก้าวย่างสู่ปีที่ 125 ของกรมป่าไม้ ทั้งเรื่องการรักษาป่าที่ต้องเข้มงวดต่อไป การส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า การขยายผลป่าชุมชนให้ครบ 15,000 ชุมชน การจัดสรรที่ดินทำกินให้แล้วเสร็จในทุกพื้นที่ และการรณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งหมดนี้ คือ ความท้าทายที่เราจะต้องทำให้บรรลุตามเป้าหมายให้เร็วที่สุด” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"