ลุ้นท่าทีม็อบ19ก.ย. ใช้ตำรวจหมื่นนายรับมือ! ห้ามเข้า'มธ.-ลานพระรูป'


เพิ่มเพื่อน    


    “บิ๊กตู่” แจงไม่ได้ยกโควิดระลอก 2 ขู่ม็อบย้ำเป็นห่วงจริงๆ ฝากผู้ปกครองดูแลลูกหลาน ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาจะรับมือไหวหรือ "บิ๊กป้อม" ลั่นม็อบอย่าเคลื่อนไปลานพระบรมรูปทรงม้า  "อนุทิน" สั่ง สธ.ทำแผนป้องกันโควิดแจกหน้ากาก-เจลให้ผู้ชุมนุม ตร.งัด "แผนชุมนุม 63" คุมม็อบ ฝ่ายความมั่นคงกาง พ.ร.บ.ชุมนุม เตรียมปิดกั้นพื้นที่รอบลานพระบรมรูปทรงม้า ส.ส.เพื่อไทยโต้นายกฯ อย่าโยนความผิดตัวเองให้คนอื่น ปูดมือที่สามจ้องก่อกวนม็อบ "ก้าวหน้า" ปลุกพอกันที 14 ปีระบอบกินคน โพลดักคอม็อบปชต.ที่สงบสุขควรจบที่สภา
    เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กันยายน มีความเห็นและความเคลื่อนไหว ก่อนจะมีการชุมนุมของนิสิตนักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางมายังค่ายพระรามหก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อเป็นประธานในพิธีเปิดและปิดการฝึกซ้อมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงแถลงการณ์เกี่ยวกับข้อห่วงใยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองว่า แล้วเป็นห่วงหรือไม่ ก็เป็นห่วงใช่หรือไม่ ตนห่วงทุกเรื่อง ไม่ใช่ห่วงตรงนี้เพื่อไปกดดันตรงนู้น ขอให้มองเจตนารมณ์ของคนเป็นนายกฯ หน่อย ตนเป็นนายกฯ ที่มีแต่ความห่วงใย ก็ไม่รู้สิ อยู่มาทุกวันนี้ตนก็อยู่มาแบบนี้  
     “ที่ผมพูดไปเมื่อวานห่วงใยจริงๆ ผมไม่ต้องการจะไปข่มขู่ใครทั้งสิ้น แต่มันเป็นเรื่องจริง ฉะนั้นผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องเข้าใจตรงนี้ ต้องห่วงใยลูกหลานของท่าน ถ้ามันเป็นอะไรกันขึ้นมาจะรับมือกันไหวหรือเปล่า แค่นั้นที่เป็นห่วง เพราะคนมันจำนวนมาก แม้ว่าจะมีความพร้อมอยู่ก็ตาม ฉะนั้นอะไรก็ตามที่จะลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่เขาได้บ้าง ซึ่งต้องมาตรากตรำหลายเรื่อง ทั้งโควิดด้วยอะไรด้วยหลายอย่าง เจ้าหน้าที่เขาก็เหน็ดเหนื่อย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 
    ทั้งนี้ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ทักทายพร้อมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับเจ้าหน้าที่ที่ร่วมฝึกซ้อม ได้ถือโอกาสพูดคุยกับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มาร่วมในงาน ตอนหนึ่งว่า เด็กเหล่านี้คืออนาคตของชาติ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องแก้ปัญหาที่ระบบการศึกษาของเรา โดยต้องปรับให้ทันสถานการณ์และโลกปัจจุบัน 
    "ลุงก็เคยอายุเท่าหลานๆ แต่ชีวิตผ่านมา 50-60 ปีแล้ว เคยรู้เคยมีประสบการณ์ และรู้ถึงความต้องการของเด็กๆ และอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด และขอยืนยันว่าสิ่งที่ลุงและรัฐบาลทำจะดีขึ้นตามลำดับ วันข้างหน้าก็จะทำต่อไป และจะดีขึ้นอีก เราต้องทำงานไปด้วยกัน ทุกคนต้องทำงานไปด้วยกัน พร้อมสานต่อสิ่งที่ดีงาม สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และในทุกๆ เรื่อง ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ไม่ว่าจะวงเล็กหรือวงใหญ่ และแม้จะเป็นเด็กทุกคนก็มีความคิด วันนี้ลุงก็รับฟังทั้งหมด และวันนี้หน้าที่ของพวกเราคือการเรียนหนังสือ และเรียนให้มาก อนาคตเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ส่วนอย่างอื่นก็มีหลายฝ่ายพร้อมที่จะทำให้ แต่เราต้องกำหนดอนาคตตัวเอง เราต้องตั้งความหวังและเดินไปถึงความหวังตรงนั้นให้ได้ เราต้องไปด้วยกันให้ได้ แต่อย่าให้ใครมากำหนดชีวิตเรา วันนี้รัฐบาลเตรียมนโยบายและมาตรการต่างๆ ไว้สำหรับทุกคน รวมทั้งแก้ไขปัญหาระหว่างทาง ไม่มีใครทำสำเร็จเพียงฝ่ายเดียว" นายกฯ กล่าว
     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการดูแลสถานที่สำคัญและสถานที่ราชการ ในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ ว่าไม่ต้องห่วง ตนทำไว้เรียบร้อยแล้ว
    เมื่อถามว่า หากผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมายังทำเนียบฯ และเดินต่อไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า จะดูแลอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็ต้องป้องกัน เขามีทางอื่นก็เลี่ยงไปที่อื่น อย่าไปลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เมื่อถามว่ามีข่าวว่ามีการระดมพลมาจากหลายจังหวัด และมีการปล่อยคลิปต่างๆ มีการประชุมการวางแผนกัน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ผมรู้ๆๆ รู้หมดแหละ ไม่เป็นอะไร ก็ปล่อยให้เขาว่ากันไป”
    ถามว่าจะมีการเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมให้ระมัดระวังดูแลสุขภาพที่อาจจะต้องเจอฝน หรืออาจต้องเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของโควิด พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “คุณเตือนเลยๆ”
สธ.แจกหน้ากากในม็อบ
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. จัดทำแผนการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ชุมนุมตามข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ไปแจกให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคน รวมทั้งการจัดทีมงานของ สธ. ซึ่งประกอบด้วยแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปดูแล ให้บริการ และอำนวยความสะดวก เพื่อให้การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นเป็นการชุมนุมที่มีความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานการป้องกันโรคติดต่อของ สธ.ให้ได้มากที่สุด และให้ผู้ชุมนุมรับหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์จากเจ้าหน้าที่ของ สธ. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ เพื่อความปลอดภัยและเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน
    นายอนุทินกล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้ นพ.สุขุมและ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมกันกำกับดูแลหน่วยพยาบาลในบริเวณสถานที่ชุมนุม และเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลในสังกัด สธ. เพื่อให้การบริการผู้ชุมนุมที่มีอาการเจ็บป่วยได้ตลอดเวลา สิ่งที่อยากจะขอร้องผู้จัดการชุมนุมคือ ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ติดตามการชุมนุมอยู่ที่บ้าน หรือที่พัก เพื่อป้องกันโรคติดต่อภายในกลุ่มผู้ชุมนุม ขอให้ทุกคนมีความเชื่อมั่น เชื่อใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ สธ. จุดมุ่งหมายของผู้ปฏิบัติทุกคนมีเพียงข้อเดียวคือต้องการให้ทุกคนที่เข้าร่วมการชุมนุมมีความปลอดภัย และไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การชุมนุมของนักศึกษาคงไม่เกิดความรุนแรงขึ้นหากเป็นพลังที่บริสุทธิ์ของนักศึกษา แต่เป็นห่วงกลุ่มการเมืองที่ผสมโรงเข้ามา เพราะขณะนี้ทราบว่ามีการขนประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ ที่สำคัญเป็นห่วงการบริหารจัดการม็อบ เพราะเท่าที่ดู แกนนำแต่ละคนไม่น่าจะบริหารจัดการม็อบได้ดี อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายได้ อยากให้ม็อบตระหนักและดูแลกันให้ดี อย่าให้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เห็นแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านสนับสนุนการชุมนุมในครั้งนี้แล้วก็อยากจะให้ช่วยกันดูแลการชุมนุมด้วย เพื่อป้องกันความรุนแรง ข้อเรียกร้องต่างๆ โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็มีการสนองตอบแล้ว จึงอยากให้ช่วยอธิบายเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบสันติ
    นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาแถลงว่าการชุมนุมอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นว่า ขณะนี้มีภาคีเครือข่ายซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์จะเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการปฐมพยาบาลและคัดกรองโควิดด้วย
    นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณนายกฯ ที่มีความห่วงใยประชาชน หากจะเกิดการแพร่ระบาดโควิดรอบ 2 ขึ้นจริงๆ รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ไม่เห็นด้วยกับการที่โจมตีการชุมนุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เพราะในข้อเท็จจริงแล้วการที่ประเทศไทยประสบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนมีข่าวฆ่าตัวตายไม่เว้นแต่ละวันนั้น เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินที่บกพร่องผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ นายกฯ อย่าโยนความผิดของตัวเองและพวกพ้องไปให้กับลูกหลานเยาวชนคนไทยเลย 
    ที่รัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อติดตามการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ในวันที่ 19 ก.ย. คณะทำงานฯ มีอาสาสมัครทั้งที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ผู้ช่วย ส.ส. และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่อาสามาเป็นผู้สังเกตการณ์การชุมนุม โดยขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้วกว่า 80 คน เราจะมีการตั้งเต็นท์บริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผมข้างสนามหลวง และจะมีป้ายคณะทำงาน มีการลงทะเบียน และมีการแต่งตัวด้วยเสื้อโปโลสีขาวพร้อมป้ายแขวนคอแสดงตัวตน 
สส.พท.ปูดมือที่สามจ้องป่วน
    “ได้รับข้อมูลจากฝ่ายการข่าวว่าจะมีม็อบอีกกลุ่มมาก่อกวน โดยจะแต่งตัวเป็นไอ้มดแดง ซึ่งเกรงว่าจะเกิดปัญหามือที่สามหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น ดังนั้นทางคณะจะดูแลทุกกลุ่มให้เกิดความเรียบร้อย แต่อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ว่าต้องระมัดระวัง ในส่วนมือที่มองไม่เห็น และขอเตือนล่วงหน้าว่าใครก็ตามที่ประสงค์ร้ายต่อผู้ชุมนุม ขอให้หยุดกระทำการ” นายสมคิดกล่าว
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์พูดมามีข้อผิดเต็มไปหมด การแก้ปัญหาโควิด แก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้รัฐธรรมนูญสามารถทำไปด้วยกันพร้อมกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเครื่องมือในการแก้ปัญหาทั้งหมดจากสภามาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายปี 2563, พ.ร.ก.เงินกู้  3 ฉบับ และรวมถึง พ.ร.บ.งบประมาณ 2564 ซึ่งสภาก็คงจะผ่านให้อีก มีเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจและโควิดได้ทั้งหมด ดังนั้นเรื่องจัดการปัญหาโควิดและปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องของรัฐบาลล้วนๆ
    ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" เปิดตัวผู้ปราศรัยในการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย.นี้ ประกอบด้วย เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, รุ้ง ปนัสดา แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, ไมค์ ภาณุพงศ์ เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย, นายอานนท์ นำภา ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน, ไผ่ ดาวดิน กลุ่มดาวดิน สามัญชน, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง, ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี หรือหมู่อาร์ม, มิน ซูฮัยมี สมาชิก สนท.ภาคใต้, หลิน ปิยมิตร กล้าณรงค์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ องค์กรปลดเผด็จการเพื่อเสรีภาพ, ฮ่องเต้ ธนาธร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  มิน ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ นักเรียนเลว, แชมป์ ฉัตรชัย พุ่มพวง คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, วาดดาว สุมาพร แต่งเกลี้ยง รองหัวหน้าพรรคสามัญชน และนายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินและถิ่นเกิด
    ส่วนเฟซบุ๊กเพจคณะก้าวหน้า -  Progressive Movement โพสต์ข้อความปลุกใจก่อนการชุมนุมใหญ่  “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ใจความว่า “14 ปี ระบอบกินคน เริ่มมาตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาจนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน เขียนรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ตั้งพวกพ้องเป็น ส.ว.สอพลอ ร่วมกันยึดประเทศ ฯลฯ นี่คือการดิ้นเฮือกสุดท้ายเพื่อยึดครองประเทศเอาไว้กับพวกพ้องตัวเอง ไม่สนใจว่าผู้คนจะเดือดร้อน ประเทศจะพินาศ ลูกหลานจะไม่มีอนาคต พอกันที 14 ปีของระบอบกินคน สูบเลือดสูบเนื้อประชาชน ทำลายทุกอย่างเพื่อให้คนไม่มีคนไม่กี่ตระกูลได้ครองอำนาจ ให้มันจบที่รุ่นเรา 19 กันยายนนี้ ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลต้องรู้ว่าการชุมนุม 19 ก.ย. ประชาชนมามาก รัฐต้องตั้งเต็นท์พยาบาล มีหน้ากากอนามัยแจก มีรถพยาบาลไว้บริการ ห้องน้ำ รวมทั้งดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยร่วมมือกับผู้จัดการชุมนุม ถ้าทำเช่นนี้ได้เหตุรุนแรงคงไม่เกิดขึ้น สิ่งที่รัฐต้องพึงระวังคือการสร้างสถานการณ์ของมือที่ 3 เท้าที่ 4 การชุมนุม 19 ก.ย.นี้ รัฐบาลต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้ประชาชน และควรท่องคาถาไว้ว่า มีอะไรรัฐบาลต้องรับผิดชอบ สถานการณ์รัฐบาลขณะนี้มีภูมิต้านทานที่เหนื่อยอ่อนอยู่แล้ว จึงอย่าให้การชุมนุมครั้งนี้เป็นชนวนน้ำผึ้งหยดเดียว 
    นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลต้องไม่ประกาศใช้กำลังทหารในการควบคุมฝูงชนหรือสลายการชุมนุม เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจตามหลักสากล ขอให้รัฐบาล ตำรวจและ กทม. ร่วมอำนวยความสะดวกเพื่อให้เป็นการชุมนุมโดยปลอดภัย และรัฐบาลต้องควบคุมกองทัพบก อย่าได้ฉวยโอกาสประกาศกฎอัยการศึก เพื่อเคลื่อนกำลังทหารรักษาความสงบ เพราะการประกาศกฎอัยการศึกคือการรัฐประหาร อำนาจรัฐบาล รัฐบาลมีทางเลือกที่จะเปิดการเจรจาทางการเมือง และเสนอทางออกโดยการเมืองได้หากไม่ต้องการให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อของประชาชน 
    "ขอเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก รับผิดชอบแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นบ้าง โดยขอให้พรรคการเมืองเลือกนายกฯ คนใหม่ในที่ประชุมสภาตามบัญชีรายชื่อที่เหลืออยู่ 5 คน ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ โดยมีพันธกิจเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว" นายเมธากล่าว
ข้อเรียกร้อง10ข้อดึงสถาบันต่ำ
     นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี เปิดเผยว่า ตนกังวลว่าการชุมนุมรอบนี้เยาวชนจะมาน้อย แต่จะมีการขนคนมาร่วมมากขึ้นจากกระแสการเกิดรัฐประหาร และไม่เห็นถึงเหตุผลเพียงพอที่จะก่อให้เกิดรัฐประหาร แต่ถ้ามีภาพผู้เสียชีวิต อาจจะโดนนำมาหาผลประโยชน์ได้ โดยเฉพาะสื่อต่างชาติที่พร้อมจะสร้างกระแสให้รุนแรงมากขึ้น ถึงแม้ตนจะไม่พอใจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นที่จะต้องเกิดเหตุรุนแรงอย่างสมัยของนายทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
    "การที่ม็อบเยาวชนออกมาเรียกร้อง 10 ข้อ ผมมองไม่เห็นถึงผลประโยชน์สำหรับประชาชน รวมถึงเป็นการลิดรอน จำกัดสิทธิเสรีภาพของสถาบันกษัตริย์ นี่คืออคติส่วนบุคคล ไม่มีเหตุผล ดึงสถาบันลงต่ำ อีกทั้งปัญหาในประเทศตอนนี้เกิดจากนักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไข” นพ.วรงค์ระบุ
    ที่กรมสรรพากร นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอให้ตรวจสอบการชำระภาษีของบุคคลต่างๆ ที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับม็อบที่ชุมนุมอย่างผิดกฎหมายที่ผ่านมา และล่าสุดคือกลุ่มที่กำลังจะดำเนินการจัดการชุมนุมสาธารณะขึ้นใน ม.ธรรมศาสตร์นั้น แต่เนื่องจากมีบุคคลต่างๆ ที่ประกาศตัวเป็นท่อน้ำเลี้ยง และกลุ่มผู้จัดงานชุมนุมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้เปิดบัญชีธนาคารขอรับเงินบริจาค โดยอ้างว่าเพื่อนำไปสนับสนุนการจัดชุมนุม ถือว่าเป็นผู้ที่มีรายได้พึงประเมินตามที่กรมสรรพากรกำหนด จึงจะนำรายชื่อผู้ที่เปิดบัญชีธนาคารรับเงินบริจาค  11 รายชื่อ โดยเฉพาะม็อบที่กำลังจะ เกิดขึ้นในวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ เพื่อให้กรมสรรพากรได้ใช้เป็นข้อมูลในการประเมินภาษีของผู้ถือบัญชีต่างๆ เหล่านั้น เพื่อเรียกมาตรวจสอบการเสียภาษีต่อไป
     วันเดียวกัน นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ชัยชนะ บนซากแห่งความสูญเสีย กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 2,145 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-17 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.9 สนับสนุนประเด็นเนื้อหาที่ม็อบ 19 กันยายน เรียกร้องเช่น การแก้รัฐธรรมนูญและหยุดคุกคามประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 17.1 ไม่สนับสนุน
    ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.0 ระบุความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต้านกับกลุ่มสนับสนุนม็อบ 19 กันยายน ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ในขณะที่ร้อยละ 19.0 ระบุไม่ขัดแย้งรุนแรง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.1 ระบุ ภาพอนาคตของประเทศจากความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย เป็นภาพเดิมๆ แห่งการสูญเสีย ฉายหนังซ้ำในอดีต ในขณะที่ร้อยละ 5.9 เท่านั้นระบุเป็นภาพใหม่ที่จะดีต่อประเทศชาติ
     เมื่อถามว่าภาพสุดท้ายใครแพ้ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.9  ระบุประเทศชาติแพ้ วิกฤติเศรษฐกิจหนักลงไปอีก ในขณะที่ร้อยละ 81.2 ระบุประชาชนส่วนใหญ่แพ้, ร้อยละ 6.7 ระบุคนหยิบมือเดียวได้ประโยชน์ และร้อยละ 3.2 ระบุอื่นๆ เช่น ทุกฝ่ายแพ้ ไม่มีใครชนะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 17.0 สนับสนุนการลงถนน รวมตัวชุมนุม 19 กันยายน ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.0 ไม่สนับสนุน 
    ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.4 ระบุประชาธิปไตยที่สงบสุขควรจบในสภาที่มีตัวแทนจากประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 9.6 ระบุจบลงที่การพากันลงถนน ก่อชุมนุม
งัดแผนชุมนุม 63 คุมม็อบ
    ทางด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า  ตร.จะใช้แผนรักษาความสงบชุมนุมสาธารณะหรือแผนชุมนุม 63 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำกับดูแลการชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. และการชุมนุมจากนี้ตลอดไปแทนแผนกรกฎ 52 ที่ใช้มานานกว่า 10 ปี ซึ่งไม่ทันสมัย เนื่องจาก สถานการณ์เปลี่ยนแปลง และจากการระบาดของเชื้อโควิด-19  ผบ.ตร.จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปรับปรุงแผนขึ้นมาใหม่ ให้มีความทันสมัย เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  และรองรับ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ที่บังคับใช้เมื่อปี 2558 ซึ่งแผนได้ทำเสร็จและ ผบ.ตร.ลงนามบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา 19 ก.ย.นี้ จึงเป็นครั้งแรกที่จะมีการนำ “แผนชุมนุม 63” มาใช้กับสถานการณ์ชุมนุมจริง
    สำหรับ “แผนชุมนุม 63” ยังยึดแนวทางปฏิบัติกับผู้ชุมนุมจาก มาตรการเบาไปหาหนัก เหมือนแผนกรกฎ 52 และเป็นแผนที่ไม่มุ่งเน้นการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ แต่เน้นเรื่องการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการดูแลการชุมนุม เช่น รอศาลให้การชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกำลังตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งตำรวจหญิงรวมกว่า 10,000 นาย จะเริ่มเข้าพื้นที่ประจำจุดเพื่อ รักษาความปลอดภัยตั้งแต่คืนนี้ ยืนยันการข่าวยังไม่พบการพยายามสร้างสถานการณ์ของมือที่สาม
     มีรายงานว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 19 ก.ย. มีคำสั่งห้ามพกพาอาวุธอย่างเด็ดขาด
    ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. แนะประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 เนื่องจากจะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และคณะประชาชนปลดแอก บริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และอาจมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล โดย 9 เ​ส้นทาง 2  สะพาน จะยังไม่ปิดจราจรยกเว้นกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมเต็มพื้นที่และลงมายังพื้นผิวการจราจรก็จะเสนอให้ปิดการจราจรในจุดนั้น ส่วนกรณีเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล อาจจะพิจารณาปิดการจราจรชั่วคราวบางจุด ไม่ว่าจะดาวกระจายไปจุดไหน สามารถรองรับได้ โดยจะใช้กำลังตำรวจจราจรกว่า 300 นาย เข้าประจำจุดทันที พร้อมกันนี้ตำรวจได้กำหนดเส้นทางกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเพื่อนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงให้เร็วที่สุด ส่วนบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พื้นที่ชุมนุมหลัก ได้กำหนดจุดตรวจ คัดกรองไว้ 4 จุด เพื่อตรวจคัดกรองโควิด-19 รวมถึงตรวจอาวุธและสิ่งผิดกฎหมาย 
    ที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงบ่ายวันที่ 18 ก.ย. มีการนำรถไฟฟ้าส่องสว่างและรถดับเพลิงของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานครอย่างละ 2 คน เข้ามาเตรียมความพร้อมในพื้นทำเนียบฯ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ทำเนียบฯ ได้เก็บป้ายบอกตำแหน่งจุดจอดรถของรองนายกรัฐมนตรีและคนสำคัญในทำเนียบฯ ที่บริเวณลานจอดรถข้างตึกบัญชาการ 2
     นอกจากนี้ไ ด้มีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมบริเวณด้านนอกทำเนียบฯ ฝั่งสะพานอรทัย และให้หน่วยงานต่างๆ ในทำเนียบรัฐบาลขอความร่วมมือข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้เดินทางกลับบ้านเร็วกว่าปกติ เพื่อเคลียร์พื้นที่ในการรองรับการชุมนุม ในส่วนการเพิ่มกำลังตำรวจสันติบาล 3 ภายในทำเนียบฯ 2 กองร้อย และตำรวจนครบาลบริเวณโดยรอบ 3 กองร้อย ได้ทยอยเข้ามาประจำการตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 18 ก.ย.เป็นต้นไป
ปิดพื้นที่ลานพระรูป
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ​ฝ่ายความมั่นคงประเมินว่าการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งตัวแทนเข้ายื่นข้อเรียกร้อง แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมจะบุกเข้าทำเนียบรัฐบาลนั้น ​ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ​ 3 ​กองร้อยตรึงกำลังสกัดให้อยู่แค่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการชุมนุม ต้องอยู่ห่างทำเนียบรัฐบาล 50 เมตร และเขตพระราชฐาน 150 เมตร จึงคาดว่าการเคลื่อนขบวนของ​กลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากต้องผ่านบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ​ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านไปยังทำเนียบรัฐบาล​ ​
    โดย พล.อ.อภิรัชต์​ คงสมพงษ์​ ผบ.ทบ. ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนตั้งรับ​ป้องกันสถานที่ราชการ​ โดยเฉพาะพื้นที่ภายในกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งถือเป็นสถานที่สำคัญล่อแหลมต่อการบุกรุกสถานที่
    มีรายงานว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาที่ทำเนียบฯ หรือเป็นพื้นที่ใกล้เคียงลานพระบรมรูปทรงม้า เขตพระราชฐาน อาจใช้เส้นทางถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนผ่านฟ้าฯ กองบัญชาการกองทัพบก องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และมารวมตัวกันสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ห้ามชุมนุมใกล้ทำเนียบรัฐบาล 50 เมตร และใกล้เขตพระราชฐาน 150 เมตร
    โดยเบื้องต้นฝ่ายความมั่นคงซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ลานพระบรมรูปฯ เตรียมแท่งแบริเออร์ที่เป็นทั้งแท่งปูนซีเมนต์ขนาดความสูง 2 เมตร และพลาสติก เตรียมปิดกั้นพื้นที่รอบลานพระบรมรูปทรงม้า คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนช่วงเช้าของวันที่ 19 ก.ย.
     ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนที่จะมีการจัดการชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19 ก.ย.   โดยบรรยากาศล่าสุดภายในมหาวิทยาลัย ยังคงมีการเรียนการสอนตามปกติ มีนักศึกษาและบุคลากรเดินทางเข้า-ออกและทำหน้าที่ตามปกติ ส่วนในวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งเป็นวันชุมนุมนั้น จะมีการยกเลิกการเรียนการสอน ด้านการรักษาความปลอดภัยนั้น ภายหลังจากมีคำสั่งเพื่อขอความร่วมมือบุคลากรดำเนินการด้านจราจร และสถานที่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้บุคลากรทุกหน่วยงานออกนอกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยก่อนเวลา 20.00 น.ของวันที่ 18 ก.ย. และไม่อนุญาตให้นำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัวมาจอดค้างคืนในพื้นที่นั้น โดยหลังจากมีการเคลียร์รถยนต์และจักรยานยนต์ออกนอกมหาวิทยาลัยแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการล็อกประตูทุกด้านในเวลา 20.00 น. 
     ขณะที่บรรยากาศโดยรอบมหาวิทยาลัย ด้านหน้าประตูฝั่งสนามหลวง ได้มีการเตรียมแผงเหล็กไว้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีการกั้นพื้นที่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงชนบทได้ทำการติดตั้งเต็นท์สีขาวบริเวณด้านหน้าประตูมหาวิทยาลัยทุกด้าน พร้อมมีการเดินสายไฟภายในเต็นท์ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา 
    ส่วนที่บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ มีแนวร่วมผู้ชุมนุมบางส่วน อ้างว่าเป็นเสื้อแดงลาดพร้าว ได้เดินทางมาสังเกตการณ์ โดยระบุว่า "วันนี้ได้เดินทางมาดูว่ามีพี่น้องผู้ชุมนุมเดินทางกันมาหรือยัง แต่เท่าที่ทราบคือมีพี่น้องจากต่างจังหวัดบางส่วนเดินทางมาถึงแล้ว และเช่าโรงแรมอยู่บริเวณรอบพื้นที่เต็มหมดแล้ว ขณะที่บางส่วนจะเดินทางมาถึงในวันพรุ่งนี้ในช่วงเช้ามืด ยืนยันว่าพรุ่งนี้พวกเราจะเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุมแน่นอน"
    อย่างไรก็ตาม รอบบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยยังไม่พบว่ามีการปักหลักกางเต็นท์ของผู้ชุมนุมแต่อย่างใด.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"