การลงทุนตามวิถีชีวิตใหม่ (ในโลกใบเดิม)


เพิ่มเพื่อน    

 

การระบาดของโควิด 19 เป็นทั้งวิกฤติด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ มีผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่อชีวิตของมนุษย์ และต่อเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลก Organization for Economic Co-operation and Development (OECD)  คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว  4.5% ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สภาพัฒน์ฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวประมาณ 8% ถือได้ว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงไม่น้อยไปกว่าวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งปี 2540 สาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือการท่องเที่ยวโดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้จะลดลงอย่างน้อย 70% ในขณะเดียวกันการส่งออกโดยรวมปีนี้ก็คาดว่าจะลดลงประมาณ 10%

ภาวะการระบาดของโควิดในปัจจุบันก็ยังไม่หมดไป หนำซ้ำจะยิ่งรุนแรงกว่าในช่วงแรก ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2563 ชี้ว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกสะสมกว่า 30 ล้านคน เพิ่มขึ้นวันละกว่า 300,000 คน และมีคนตายด้วยโรคระบาดนี้รวมกันเกือบ 1 ล้านคนแล้ว โดยตายเพิ่มขึ้นวันละกว่า 5 พันคน    

เราพอรู้แล้วว่าแนวโน้มและพฤติกรรมใหม่ๆ ของมนุษย์ได้เกิดขึ้น ซึ่งเรียกกันว่าเป็น “วิถีชีวิตใหม่” หรือ new normal และมีท่าทีว่าจะยังคงเป็นจริงอยู่ต่อไปแม้ว่าการระบาดจะบรรเทาหรือหมดไปในที่สุด  

new normal อันเกิดจากการ “ปิดเมือง-ปิดประเทศ” (lock down)   และการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ประกอบด้วย การทำงานจากบ้าน (work -from home)  บริการที่หลีกเลี่ยงการสัมผัส (contact-free services)  และการเดินทางที่น้อยลง (reduced travel) 

ข้อจำกัดพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อระงับการแพร่เชื้อโควิด-19 เหล่านี้ มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่จำเป็นต้องมีการเดินทางหรือการอยู่ใกล้กัน    กิจกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การเดินทาง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบินระหว่างประเทศ)  ร้านอาหาร  การกีฬา และสถานบันเทิงต่างๆ 

รัฐบาลทั่วโลกได้อัดฉีดเงินเป็นจำนวนมากเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการ “ปิดเมือง-ปิดประเทศ”  และเพื่อฟื้นฟูธุรกิจและเศรษฐกิจ จึงก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณและการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลไทยมีแผนที่จะใช้เงินมากถึงเกือบ 2 ล้านล้านบาทในการเยียวยาผู้เดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ  การใช้จ่ายของภาครัฐเป็นจำนวนเงินมหาศาลนี้น่าจะเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้ชี้นำและขับเคลื่อนให้สังคมและเศรษฐกิจปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับ new normal ได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำ

โควิด-19 และ new normal ที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจและกิจกรรมหลายประเภท ทั้งสำหรับโลกและประเทศไทย ซึ่งแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม  

กลุ่มแรก เกี่ยวกับดิจิตอลเทคโนโลยีซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจที่มีความต้องการมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด เช่น การซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ การประชุม/สื่อสาร/การเรียนการสอนออนไลน์ นอกจากนั้น ยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)

กลุ่มที่สอง เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย เช่น ยารักษาโรค เครื่องมือทางการแพทย์ (เช่น ถุงมือยาง และเครื่องช่วยหายใจ) รวมทั้งบริการทางการแพทย์แบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า telemedicine ซึ่งต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์

กลุ่มที่สาม เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสุขภาพ และอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในช่วงโควิดมีความต้องการผลิตอาหารมากขึ้นเพื่อทดแทนความสามารถในการผลิตที่ลดลงอันเนื่องมาจากโรคระบาด  จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถสนองความต้องการด้านอาหารให้กับโลกได้ 

ช่วงโควิดระบาดชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ 2 อย่าง  หนึ่ง คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มชนต่าง ทั้งในแต่ละประเทศและระหว่างประเทศ เราเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นว่าคนที่ได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุดคือผู้มีรายได้น้อยซึ่งสูญเสียทั้งงานและรายได้ทันทีที่มีการ lock down ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวนหนึ่งกลับมียอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้นมาก  สอง คือสภาพสิ่งแวดล้อม (เช่น คุณภาพของอากาศ) ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่มนุษย์เดินทางน้อยลงและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง แสดงให้เห็นว่าการกระทำของมนุษย์มีผลต่อสิ่งแวดล้อมโลก รวมไปถึงภาวะโลกร้อน (global warming) และการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศ (climate change) 

ดังนั้น จึงมีแนวโน้มและความเชื่อว่า ทิศทางการลงทุนของโลกในอนาคตภายใต้ new normal นี้ ควรคำนึงถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก การสร้างความเท่าเทียมกัน และความยุติธรรมในสังคม เพื่อความยั่งยืนทั้งของเศรษฐกิจและสังคม ทิศทางการลงทุนนี้อธิบายได้ในสองแนวทาง  แนวทางแรก เป็นการลงทุนในลักษณะที่ส่งเสริมสามมิติ อันได้แก่ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และธรรมาภิบาล  (environment, sustainability, governance) เรียกว่า การลงทุนแบบ ESG  

แนวทางที่สอง เป็นการลงทุนที่มุ่งส่งเสริม เศรษฐกิจชีวภาพ (bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) เรียกว่า การลงทุนแบบ BCG 

จุดเน้นของทั้งสองแนวทางคือการลงทุนที่ทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกดีขึ้น มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง เป็นการบรรเทาปัญหาโลกร้อนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นการลดปริมาณขยะและมลภาวะ มีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทดแทนที่ใช้น้ำมัน  มีการใช้วัสดุชีวภาพแทนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหรือพลาสติก มีการรีไซเคิลและการนำวัสดุต่างๆ มาใช้ซ้ำมากขึ้น รวมไปถึงอุตสาหกรรมสีเขียวต่างๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ การทำเกษตรแบบแม่นยำและชาญฉลาด  และการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อีกมิติหนึ่งของการลงทุนคือการคำนึงถึงสังคม เช่น ความพอใจของลูกค้า มาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชน และความสัมพันธ์กับชุมชน  ส่วนมิติในด้านธรรมาภิบาลจะเกี่ยวกับการป้องกันคอรัปชั่น ความโปร่งใสในการดำเนินกิจการ และความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้

นอกจากนั้น ยังมีการพูดถึง sharing economy  ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีการแบ่งปันกันใช้  อันนำไปสู่ประสิทธิภาพ การประหยัดทรัพยากร และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ยานพาหนะ/สถานที่ร่วมกันโดยทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของรถยนต์/สถานที่ (ตัวอย่างเช่น บริการ UBER Grab และ AirBnB) การผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อใช้เองและขายไฟที่เหลือให้กับเพื่อนบ้าน  

ทิศทางการลงทุนอีกแนวหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่กำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือ silver economy ซึ่งเป็นธุรกิจที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้สูงอายุ ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย  การดูแลรักษาพยาบาล และการท่องเที่ยว
ใครที่สนใจอยากให้โลกสะอาดขึ้น เท่าเทียมกันมากขึ้น และยั่งยืนมากขึ้น ช่วยออกมาเชียร์ให้รัฐบาลไทยหันมาส่งเสริมการลงทุนตามวิถีชีวิตใหม่ให้มากขึ้นกันเถอะครับ

 

บทความเวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ 
ดร พรายพล คุ้มทรัพย์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"