‘สธ.’วอนร้านยาสอดส่อง ‘ต่างด้าว’ดอดซื้อกินเอง!


เพิ่มเพื่อน    

  ไทยติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย กลับจากสหรัฐอเมริกา สธ.ผวาโควิดลาม! ขอร้านขายยาจับตาต่างด้าวซื้อยากินเอง พบมากผิดปกติแจ้ง สสจ.ทันที รัฐบาลเตรียมลงนาม RCEP-ฟื้น FTA ไทย-อียู เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุน นักเศรษฐศาสตร์แนะใช้ Yield Curve Control กระตุ้นศก.

    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 27 กันยายน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา 1 ราย สัญชาติไทย เพศชาย อายุ 24 ปี เป็นนักศึกษา เมื่อวันที่ 22 ก.ย. เดินทางถึงประเทศไทย เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ใน จ.ชลบุรี วันที่ 25 ก.ย. ตรวจหาเชื้อครั้งแรกในวันที่ 3 ของการกักตัว ผลพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี
    ทั้งนี้ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 5 ราย ทำให้มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,367 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.57 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ใน รพ. 97 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.75 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,523 ราย
    สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 294,650 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 33,053,144 ราย โดยประเทศที่มีการติดเชื้อสะสมสูงสุด 3 อันดับแรก ยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา 7,287,561 ราย อินเดีย 5,990,581 ราย และบราซิล 4,718,115 ราย จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มระบาดต่อเนื่อง สำหรับในแถบเอเชีย ประเทศเมียนมาซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยทางตะวันตก ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 26 ก.ย. พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวน 880 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 9,991 ราย ซึ่งรัฐบาลเมียนมาได้ประกาศให้ประชาชนในเมืองอย่างน้อย 11 รัฐ และภูมิภาค เข้าสู่มาตรการ “อยู่บ้าน” หรืองดออกจากบ้านหากไม่มีกิจจำเป็น เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ
        “พรมแดนของไทยที่ติดกับประเทศเมียนมานั้น มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ เครือข่ายหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานด้านความมั่นคง ป้องกันแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หากสงสัยขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขอความร่วมมือร้านจำหน่ายยาแผนปัจจุบัน หากสังเกตพบแรงงานต่างด้าวไม่สบายไปซื้อยาแก้ไข้หวัดกินเองในจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ขอให้สอบถามข้อมูลและแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่เชื้อในชุมชน” นพ.โสภณระบุ
    ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องการค้าการลงทุน เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งในเดือน พ.ย.นี้ จะมีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย (ยังไม่ร่วมลงนาม) มีประชากรรวมกัน 3.6 พันล้านคน คิดเป็น 48.1% ของประชากรโลก ทั้งนี้ การลงนาม RCEP จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจและส่งเสริมระบบกฎเกณฑ์การค้าแบบพหุภาคี และมั่นใจว่าจะทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ
    นอกจากนี้ยังมีเรื่องการฟื้นการเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) 27 ประเทศ ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เป็นการขยายโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาอย่างรอบคอบ รับฟังทุกด้าน เตรียมความพร้อมเพื่อการเจรจาอย่างรัดกุมต่อไป โดยผลของการศึกษาและการฟื้นการเจรจาค้าเสรี กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในอีกไม่นานนี้
    นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงข้อเสนอใช้นโยบายการเงิน Yield Curve Control กระตุ้นภาคการลงทุนพร้อมนโยบายดอกเบี้ย 0% ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจภาคบริโภคนั้นมีความจำเป็นเพิ่มขึ้นในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้กระเตื้องขึ้น โดยแบงก์ชาติต้องกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางหรือระยะยาว จากนั้นจะเข้าทำการซื้อหรือขายพันธบัตรเพื่อรักษาเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ ขอเสนอให้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป้าหมายพันธบัตรระยะกลางอายุ 3-4 ปี ที่ 0.75%-1.25% และอายุ 7 ปี ถึง 10 ปี ไม่เกิน 2-2.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 1-2 ปี ควรปรับลงมาไม่ให้เกิน 0.50% ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนที่ซบเซาให้กระเตื้องขึ้นได้ระดับหนึ่งและจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงาน
    ทั้งนี้ หากธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจจะทำ Yield Curve Control ขอแนะนำให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้ 0% หรือ 0% เสียก่อน.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"