ประชาพิจารณ์'ต้มยำกุ้ง'ขึ้นมรดกโลกของยูเนสโก เห็นด้วยเป็นภูมิปัญญาโดดเด่น-ใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพ


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     วันนี้ - นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.)  กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ผลักดันต้มยำกุ้งเข้าสู่บัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโกต่อจากโขนและนวดไทย  ล่าสุด ได้มีการประชุมประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งชุมชนผู้ถือครองภูมิปัญญา ผู้ปฏิบัติ และผู้สืบทอด ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ประกอบการ บริษัทผลิตอาหาร ร้านอาหาร  เพื่อให้ได้รับรู้ รับทราบ ยินยอม และเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำข้อมูล เอกสาร นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พิจารณา ระหว่างเดือน พ.ย.- ธ.ค. นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อไปยังที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ภายในเดือน มี.ค.  2564
     นายชาย กล่าวอีกว่า จากการประชาพิจารณ์ทุกฝ่ายได้เห็นพ้องในการเสนอต้มยำกุ้งเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ด้วยลักษณะธรรมเนียมและการแสดงออก การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล ตลอดจนความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล โดยต้มยำกุ้งเป็นภูมิปัญญาการทำอาหารที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่องของชุมชนภาคกลางที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งมีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารผ่านการสังเกตและเรียนรู้จากธรรมชาติ โดยนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่สำคัญได้มีการนำเสนอถึงสมุนไพรไทย องค์ประกอบสำคัญของการปรุงอาหารต้มยำกุ้ง ได้แก่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก และมะนาว ซึ่งนิยมปลูกตามพื้นที่ว่างภายในบริเวณบ้านหรือตามสวนไร่นาแบบวิถีไทย สมุนไพรเหล่านี้มีสรรพคุณช่วยบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลซึ่งร่างกายมักจะมีไข้ ปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว การได้รับประทานต้มยำกุ้งซึ่งมีสมุนไพรจะช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนดี และปรับสมดุลร่างกายให้ธาตุทั้งสี่เดินเป็นปกติ
      “  สูตรต้มยำกุ้งยังสามารถประยุกต์ได้มากมายเพื่อตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และรสนิยมทางอาหารที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่างๆ จนต้มยำกุ้งเป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากต้มยำกุ้งได้รับการขึ้นทะเบียนจะส่งผลให้เกิดการสืบสานและพัฒนายกระดับอาหารไทยสู่สากล สร้างความภาคภูมิใจ และสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ตั้งแต่ชุมชน ผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ผู้ผลิต และผู้ส่งออกวัตถุดิบ” นายชาย  กล่าว


 

เครดิตภาพ : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"