จับตาร่าง พ.ร.บ.โลกร้อน เข้าถึงต้นตอปล่อยก๊าซหรือแค่เสือกระดาษ?


เพิ่มเพื่อน    

 

 

 

    ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่แบ่งออกเป็น 8 หมวด 56 มาตรา ซึ่งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น เป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศไทยที่กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2563 ประเทศไทยจะต้องมีร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. … หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า กฎหมายโลกร้อน แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เมื่อพิจารณารายละเอียดเนื้อหาในหลายมาตรการ และความมีประสิทธิภาพของการบังคับใช้จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์แก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่ หรือจะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมจริงหรือ

     ปัจจุบันวิกฤติโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ทั้งในเมืองใหญ่และพื้นที่ชนบท นอกจากประชาชนทุกคนต้องมีความรับผิดชอบเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อลดอุณหภูมิโลกใบนี้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่ง ตั้งแต่ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคการผลิต และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ที่ต้องร่วมลดการปล่อยอย่างจริงจัง

     ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมข้อตกลงปารีส เมื่อปี 2559 เป้าหมายสำคัญมุ่งสู่การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 11-20% ในภาคพลังงานและขนส่ง และจะขยับขึ้นเป็น 20% ทุกภาคส่วนในปี 2573 และหากมีการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ดีพอ ไทยสามารถผลักดันอัตราการลดปริมาณคาร์บอนได้ถึง 25%

     อย่างไรก็ตาม รัฐเองยอมรับในการเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซของไทย ยังมีอุปสรรคใหญ่ ขาดกลไกการตรวจวัด และการจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างครบถ้วน ทุกวันนี้ข้อมูลกระจัดกระจายในหลายหน่วยงาน และมีข้อมูลบางส่วนไม่เคยถูกสำรวจและจัดเก็บเลย เหตุนี้ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังจัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จึงเป็นความหวังจะมีกลไกให้อำนาจหน่วยงานรัฐเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเอกชน 

ภาพจากเพจ TOP Varawut 

 

     ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศผลักดัน พ.ร.บ.โลกร้อน ให้สามารถใช้ได้ภายใน 2 ปี เพื่อลดปัญหาโลกร้อนที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสร้างกลไกควบคุมภาคเอกชนให้ส่งข้อมูลรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นวาระร่วมกันของประชาคมโลก วัตถุประสงค์ของร่าง กม.ฉบับนี้ คือ การร่วมมือกับเอกชน ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ จะมีหน้าที่เก็บข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกในกิจการของตน เช่น วางมิเตอร์ การใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงงาน และจัดทำรายงานให้หน่วยงานรัฐในกำกับเพื่อที่จะส่งต่อข้อมูลให้ สผ. คำนวณออกมาเป็นข้อมูลการปล่อยก๊าซในภาคส่วนต่างๆ คาดว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้คณะรัฐมนตรีได้ภายในปลายปีนี้

 

   

 

 

  ซึ่งในเวทีรับฟังความคิดเห็นได้มีหลายภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยน เสนอแนะ และท้วงติงให้มีการปรับแก้บางมาตราใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อหน่วยงานรัฐสามารถใช้อำนาจในการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจกได้

     จริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซประเทศไทย กล่าวว่า ในเวทีมีการตั้งคำถามว่า การมี พ.ร.บ.โลกร้อนของประเทศไทย จะเป็นกรอบใหญ่หรือไม่  เพื่อให้กฎหมายสิ่งแวดล้อม, แผนแม่บท, นโยบายลดมลพิษทางอากาศที่จะเกิดขึ้นตามมาอยู่ภายใต้กฎหมายโลกร้อนนี้ แต่เราพบว่า การจัดทำกฎหมายโลกร้อนยังละเลยประเด็นนี้ เป็นแค่กฎหมายอีกฉบับหนึ่งเท่านั้น หลายภาคส่วนเห็นด้วยกับความจำเป็นต้องร่างกฎหมายโลกร้อน ในต่างประเทศมีการบังคับใช้กฎหมายโลกร้อนไปแล้ว แต่เราสามารถทำกฎหมายให้ดีกว่านี้ จะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางที่นำไปสู่การปฏิบัติตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะฐานคิดของร่างกฎหมายนี้ มาจาก 3 ปัญหา ได้แก่ ฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก, การลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

         จริยาตั้งข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 29 ข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจก และมาตรา 30 ข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกนี้ ลักษณะฐานข้อมูลเปิดเหมือนปิด  คือ กำหนดการเปิดเผยข้อมูลนั้น มีข้อยกเว้นกรณีการเปิดเผยจะก่อความเสียหาย อาจร้องขอต่อ สผ.ไม่ให้เปิดเผยได้ แม้กฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐเรียกข้อมูล แต่มีข้อยกเว้นให้ภาคเอกชนเลี่ยงการเปิดเผย ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ เพราะกฎหมายนี้ต้องการฐานปล่อยก๊าซและให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะนี่คือผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของคนจากภาวะโลกร้อน

     ประเด็นต่อมาที่ชวนให้จับตามองคือ กลไกติดตามการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผน ทั้งจากแหล่งกำเนิดและการกักเก็บ ตามมาตรา 16 ถึงมาตรา 20 จะเห็นโครงสร้างชัดเจน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กระทรวงทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภาคเอกชน คำถามใหญ่กระบวนการมีส่วนร่วมในการติดตามใครหายไป คำตอบคือ ภาคประชาสังคม ภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  สะท้อนโครงสร้างกลไกติดตาม ตรวจสอบที่ไม่แข็งแรง ขาดการคานอำนาจ หากภาคเอกชนมีความเข้มแข็งมาก ก็ยากที่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ในเวทีรับฟังเสนอให้มีการจัดตั้งเป็นหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เพราะการพูดถึงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีแค่ปล่อยก๊าซ ลดปล่อยก๊าซ ยังรวมถึงผลกระทบ เพราะหายนะจากโลกร้อนมีหลายด้าน

     แม้กฎหมายโลกร้อนให้วางแผนระยะยาวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จริยาเปิดประเด็นว่า มาตราที่ 37 ให้ความสำคัญกับกรมอุตุนิยมวิทยา จัดทำฐานข้อมูล เพื่อจะนำมาวิเคราะห์ คาดการณ์ และวางแนวทางปฏิบัติเผยแพร่ให้ประชาชน แต่ในความเป็นจริงมีหน่วยงานมากกว่ากรมอุตุฯ ตลอดจนชุมชนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์และวิเคราะห์ผลกระทบ รวมถึงการแจ้งเตือนข้อมูล นอกจากนี้ ยังละเลยเรื่องชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ ซึ่งต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก นี่คือสิ่งที่ขาดหายไปจากกฎหมายโลกร้อน 

     “ เมื่อพูดถึงโลกร้อน จะมีการสื่อสารไทยไม่ได้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ ไทยปล่อยน้อย แต่เมื่อดูรายงานประเมินความเสี่ยง ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกระทบต่อจีดีพีร้อยละ 1 เราจ่ายไป แต่ประชาชนมองไม่เห็น หากกฎหมายไปไม่ถึงวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ใน พ.ร.บ. จะเหมือนกระดาษเปล่า จึงเป็นความท้าทาย กฎหมายนี้สำคัญ จะกำหนดทิศทางนโยบายรัฐด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม"

     จริยาตบท้ายว่า อย่างไรก็ตาม ภาคประชาสังคม องค์การพัฒนาเอกชน นักวิชาการ จะร่วมจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมไปที่ สผ.  เราจะจับตาดูและจะทำงานเรื่องนี้ต่อไป เพราะอดีตที่เราเพิกเฉย กำลังกระหน่ำปัจจุบันและอนาคตของเราทุกคน  ซึ่งเราจะติดตาม พ.ร.บ. โลกร้อนฉบับนี้จะมีประสิทธิภาพแค่ไหนในการบรรเทาผลกระทบ ก่อนภัยพิบัติทางธรรมชาติจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"