“โรงไฟฟ้าขยะ” ทางออก "วิกฤติขยะล้นเมือง" 


เพิ่มเพื่อน    

โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะที่ได้มาตรฐาน ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่หนองแขม

        ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านขยะชุมชนจากบ้านเรือน ร้านค้า ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต สำนักงาน สถานที่ต่างๆ และสารพัดกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน อยู่ในขั้นวิกฤติ ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนคนในชุมชนที่หนาแน่นมากขึ้น เมืองขยายตัว ยิ่งชุมชนใดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็ยิ่งพบปัญหาขยะอย่างมาก


    อีกทั้งไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน รักความสะดวกสบาย นิยมใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น ก็เป็นตัวสร้างปริมาณขยะให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติก เวลานี้เกิดปริมาณของเหลือทิ้งจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองและชุมชนใหญ่ๆ ภาพขยะกองเท่าภูเขายังมีให้เห็น ข่าวร้องเรียนบ่อฝังกลบขยะส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งรบกวนชาวบ้านปรากฏตามสื่อและโลกออนไลน์เป็นระยะ


    ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ปี 2562 ระบุว่า ประเทศไทยมีขยะชุมชนเกิดขึ้นประมาณ 28.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3 จำนวนนี้เป็นขยะพลาสติก 2 ล้านตันต่อปี อัตราการเกิดขยะเฉลี่ย 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ขยะถูกคัดแยกนำไปรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์ คิดเป็นร้อยละ 44 และร้อยละ 34 นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง  


    แต่ที่น่ากังวลยังมีขยะชุมชนที่เหลืออีกร้อยละ 22 กำจัดอย่างไม่ถูกต้อง โฟกัสที่ขยะพลาสติก 1.5 ล้านตันทิ้งปะปนกับขยะอื่น ขยะส่วนใหญ่ไหลผ่านชุมชนมาตามแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำเน่าเสีย กีดขวางการระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมเวลาฝนตกหนักๆ และขยะเหล่านี้ยังไหลออกสู่ทะเล เนื่องจากประเทศไทยมีแม่น้ำลำคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลไม่ต่ำกว่า 900 สาย นับเป็นการทำลายระบบนิเวศในทะเลและเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ รวมถึงส่งผลกระทบหลายด้าน  


    ที่ผ่านมามีการเสนอแนวคิดจัดการขยะชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพ ช่วยลดมลพิษสิ่งแวดล้อม หนึ่งในทางเลือกมีแนวคิดในการนำขยะชุมชนไปแปลงเป็นพลังงานด้วยกระบวนการต่างๆ ตามนโยบายรัฐ ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2570 ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากขยะชุนชม 900 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 หลายพื้นที่มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน หลายพื้นที่อยู่ระหว่างเตรียมโครงการ แต่อีกด้านหนึ่งโรงไฟฟ้าขยะมีเสียงต่อต้านจากชุมชนและองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังคาใจด้านมลพิษ


    สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดสัมมนา “การพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าจากขยะ” เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน (Public-Private-People Partnership: 4P) ในการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า กกพ. ปี พ.ศ.2562 และร่วมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางพัฒนาความร่วมมือในการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากขยะในอนาคต โดยมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ห้องแกรนด์ บอลรูม-2 โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ เมื่อวันก่อน

วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย


     ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ทุกคนยอมรับขยะเป็นปัญหาสำคัญ รัฐบาลก็มีนโยบายแก้ไข แต่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจัง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าจากขยะ อุปสรรคคือ ขาดความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ และความรู้ความเข้าใจว่า โรงไฟฟ้าขยะมีหน้าที่หลักกำจัดขยะ พลังงานไฟฟ้าเป็นผลพลอยได้ รวมถึงการทำให้ชุมชนยอมรับ ทั้งที่ในต่างประเทศมีแบบอย่างโรงไฟฟ้าจากขยะที่บริหารจัดการขยะได้ดี พร้อมระบบควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เรามีขยะ 27 ล้านตัน จัดการถูกวิธีไม่ถึงครึ่ง จากรายงานประเทศสหรัฐปี 55 ไทยถูกจัดอันดับประเทศมีปัญหาขยะพลาสติกอันดับ 6 ของโลก ปีนี้ขยับขึ้นเป็นอันดับ 4 ประเมินจากการจัดการขยะไม่ถูกต้อง 62% ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ


    “ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าขยะที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันและกองทุนพัฒนาไฟฟ้า นำมาสู่การศึกษา วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากขยะในระดับพื้นที่ ซึ่งการแก้ปัญหาขยะต้องจัดระบบให้ครบวงจร ยึดหลัก 3 R ส่วนการมีโรงไฟฟ้าจากขยะต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพราะทุกท้องถิ่นไม่สามารถตั้งโรงไฟฟ้าขยะได้หมด ปัจจัยขึ้นกับปริมาณขยะ บางท้องถิ่นมีปริมาณขยะน้อย ฉะนั้น ต้องช่วยกันออกแบบกระบวนการและมีกฎระเบียบที่ยืดหยุ่นมากกว่าปัจจุบัน" วิจารย์กล่าว


    ด้าน เบญจมาศ โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริการทางวิชาการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้เราต้องการเรียนรู้กรณีศึกษาในประเทศไทย ถอดบทเรียนจากการดำเนินงาน เชิญ อปท.จากทั่วประเทศเข้าร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนไปด้วยกัน อยากเห็นรูปแบบความร่วมมือในการทำงานด้านนี้มากขึ้น ปัจจุบันคัดเลือก อปท. 8 แห่ง จาก 30  แห่งที่สมัครเข้าร่วมโครงการ พิจารณาจากศักยภาพในพื้นที่ ได้แก่ อบต.เชียงหวาง จ.อุดรธานี อบต.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี ทม.ปราจีนบุรี ทม.สุรินทร์ ทม.คูคต จ.ปทุมธานี ทม.อุบลราชธานี เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และ อบจ.ฉะเชิงเทรา ดำเนินการตั้งแต่กันยายนปี 62 จะสิ้นสุดโครงการธันวาคมนี้


    ผลการทำงานมีคู่มือพัฒนาความร่วมมือ สำหรับผู้บริหารหน่วยงานและผู้นำชุมชน, คู่มือพัฒนาความร่วมมือสำหรับประชาชน และมีแผนจะเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ ด้านพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งต้องลดขยะตั้งแต่ต้นทาง จัดเก็บ รวบรวม และผลิตไฟฟ้าจากขยะ พื้นที่ที่เหมาะสมตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 1 แห่ง จะต้องมีปริมาณขยะ 400-500 ตันต่อวัน


     ในการกระบวนการพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะต้องมีข้อมูลขยะ วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่ให้ครอบคลุม  เข้าใจขั้นตอนและกฎในการรวบรวมขยะ ทั้งยังพบว่าการคัดเลือกเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากขยะเหมือนติดกระดุมเม็ดแรกให้ผู้ประกอบการและท้องถิ่น หากมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอจะเกิดข้อผิดพลาด แต่ละเทคโนโลยีมีจุดเด่นและจุดด้อย ต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะและปริมาณขยะ จากการศึกษาบทเรียนในต่างประเทศ การจัดการขยะเข้มงวดตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง รวมถึงจัดการเถ้าจากการเผาไหม้ ต้องทำให้ชุมชนในพื้นที่ยอมรับ สำหรับรูปแบบความร่วมมือ 4P นั้น จะเข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เดิมคุ้นเคยแบบ PPP เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ เน้นการลงทุน แต่ PPPP เพิ่มให้ความสำคัญกับภาคประชาชนมากขึ้น และมีกลไกความร่วมมือตลอด

 

เวทีเสวนาประเด็นการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เมื่อเร็วๆ นี้


    สำหรับรูปแบบและกลไกความร่วมมือ 4P ผู้อำนวยการคนเดิมระบุทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน อปท.ต้องทำงานร่วมกับท้องถิ่นด้วยกัน ไม่ใช่แค่ส่งขยะให้ แต่ร่วมวางแผนทำงาน และมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน ตลอดจนความร่วมมือกับชุมชนโดยรอบโครงการ และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ก่อขยะ อยากให้ตั้งคณะทำงานและมีสัญญาที่ครอบคลุมด้านความร่วมมือ มีข้อตกลงความร่วมมือ ตลอดจนเทศบัญญัติและข้อบัญญัติท้องถิ่น รวมถึงแผนงานดำเนินกิจกรรม CSR ของภาคเอกชน ไม่อยากให้เป็นเพียงงานอีเวนต์ โดยเรามี 6 ข้อเสนอ ทำพลังงานไฟฟ้าจากขยะที่จะเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดังนี้ 


    1.กฎระเบียบด้านขนาดและการวางแผนใช้พื้นที่ ให้มีพื้นที่เพียงพอในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ทั้งการปลูกต้นไม้เป็นแนวกันชน ระบบบำบัดน้ำเสีย จากน้ำชะล้าง การฝังกลบเถ้าอย่างถูกวิธี 2.เงื่อนไขการคัดแยกขยะและกำจัดขยะอินทรีย์/ขยะอาหาร เพราะมีข้อกังวลขยะในท้องถิ่นเป็นขยะอินทรีย์ร้อยละ 50 ต้องจูงใจให้คัดแยกขยะ และส่งเสริมให้มีการกำจัด โดยเทคโนโลยีทางชีวภาพ เช่น ไบโอก๊าซ เพื่อลดการกำจัดด้วยวิธีเผา ช่วยลดต้นทุนและมลพิษ 3.ศึกษาเพื่อกำหนดกรอบการจัดเก็บค่ากำจัดขยะเป็นธรรมและเหมาะสมกับการกำจัดขยะแต่ละรูปแบบ


    4.เพิ่มบทบาทคณะกรรมการปฏิกูลมูลฝอยจังหงวัด ให้ครอบคลุมจัดการทั้งระบบ 5.กำหนดพื้นที่และตั้งคณะกรรมการระดับคลัสเตอร์ ที่มีความยืดหยุ่น และมีปริมาณขยะที่สอดคล้องความคุ้มทุนในการทำโครงการ ควรมีการตั้งคณะกรรมการระดับคลัสเตอร์ที่มาจาก อปท. 6.ตั้งคณะทำงานระดับโครงการและจัดทำแผน CSR ยั่งยืน ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและมีการป้องกันผลกระทบอย่างเป็นระบบ


    ในเวทีเสวนาประเด็นการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าจากขยะ  กิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการ กกพ. ได้อัพเดตสถานการณ์ไฟฟ้าจากขยะของไทยว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.63 ครม.มีมติอนุมัติแผน PDP 2018 ปรับปรุงครั้งที่ 1 กำหนดโควตาสำหรับโรงงานพลังงานไฟฟ้าจากขยะจำนวน 400 เมกะวัตต์ จะเริ่มปี 2565 ก่อนหน้านี้มีโรงไฟฟ้าจากขยะ 2 ประเภท ได้แก่ ขยะชุมชน โควตาเดิมมีอยู่ 500 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 36 โรง รวม 328 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 13 โรง ที่ 121 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าขยะชุมชนกว่า 450 เมกะวัตต์ ขณะนี้กำลังเริ่มจัดกระบวนการใหม่ตามแผน PDP ซึ่งผู้ประกอบการสนใจมาก แต่ต้องมองปริมาณขยะเชื้อเพลิงนำสู่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่


    รองเลขาฯ กพพ. ให้ข้อมูลอีกว่า ไฟฟ้าจากขยะ 450 เมกะวัตต์ที่ผ่านมา มาจากเทคโนโลยีไบโอแก๊สจำนวนหนึ่ง ที่เหลือเป็นเทคโนโลยีทางความร้อน เทคโนโลยีทางกล  ส่วนอีก 400 เมกะวัตต์ หาก อปท.และเอกชนสนใจต้องติดตามข่าวสาร ส่วนจะเริ่มเมื่อใด หรือแบ่งเป็นเฟสๆ มั้ย พิจารณาจากปัจจัยหลายด้านทั้งสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศ มุ่งเน้นความมั่นคงเป็นสำคัญ ส่วนแนวคิด 1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้าขยะ เป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์และสำรวจพื้นที่หรือท้องถิ่นที่มีความพร้อม มีศักยภาพเพียงพอ สร้างโรงไฟฟ้าตามจำนวนเชื้อเพลิงที่มีรองรับ เพื่อลดการขนส่งขยะป้องกันผลกระทบที่จะตามมา จากนั้นตรวจสอบคุณสมบัติของชุมชน และเอกชนที่ร่วมทุนจัดสัดส่วนโควตา


    “กกพ.ไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าที่กระทบกับราคาที่เป็นธรรม โรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและจากขยะ ต้องถือว่ามีต้นทุนสูงกว่าที่เราซื้อไฟ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้าไปชดเชย แต่รัฐไม่ได้มองมิติเดียว ในมุมกลับกันช่วยกำจัดขยะ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าเม็ดเงินที่ชดเชย กกพ.จะส่งเสริมพลังงานสะอาดให้กับสังคมไทย โรงไฟฟ้าขยะถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการบริหารจัดการขยะ ไม่ได้เป็นทางออกการกำจัดขยะ เพราะขยะจำนวนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าเป็นเชื้อเพลิงขยะ คนไทยต้องตระหนัก" กิตติพงษ์เน้นย้ำ


    ขณะที่ ธนกร วนะกิจกุลพัฒน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองสุรินทร์ กล่าวว่า เทศบาลเมืองสุรินทร์มีปริมาณขยะ 50 ตันต่อวัน กระบวนการจัดการขยะใช้วิธีฝากฝังไว้ในที่เทศบาลวารินทร์ เดิมใช้เทกองและขนถ่าย งบประมาณจัดการ 2 ล้านบาทต่อเดือน เมื่อขนถ่ายไม่หมด ก่อปัญหามลภาวะชุนโดยรอบ จึงสร้างโรงงานบีบอัดขยะงบกว่า 90 ล้านบาท เพื่อให้เหลือปริมาณขยะน้อยลง แก้ปัญหาไม่มีพื้นที่ฝังกลบและลดขยะตกค้างได้ส่วนหนึ่ง เคยทำ MOU กับ 7 อบต.ข้างเคียง หากจะขนส่งขยะมาจัดการในเมือง เราคิดค่าจัดการขยะ แต่ได้รับความร่วมมือน้อยมาก ปัจจุบันเทศบาลเมืองสุรินทร์มีกระบวนการคัดแยกขยะแต่ต้นทาง มีจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ตั้งธนาคารขยะ และขยะรีไซเคิลสงเคราะห์ รวมถึงเก็บขยะตามเวลา แต่ทุกวันนี้ก็ยังฝากฝังขยะ 45 ตันต่อวัน


    “เวลามีข่าวทำโรงไฟฟ้าขยะในเมืองจะเกิดการต่อต้านทันที จำเป็นต้องปรับความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้มากยิ่งขึ้นว่า โรงไฟฟ้าขยะหัวใจสำคัญมีหน้าที่กำจัดขยะในท้องถิ่น แต่ได้พลังงานไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ รัฐบาลประกาศขยะคือวาระแห่งชาติ หลักการดีมาก แต่ถามว่าดำเนินการอะไรที่เป็นรูปธรรม ผมเห็นว่าต้องให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการขนส่งขยะและการรวบรวมขยะ อย่าไปมองว่าท้องถิ่นได้เงินใต้โต๊ะ มีเงินทอน ล็อกสเปกเอื้อบริษัท การพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าจากขยะกระบวนการต้องปรับให้ทันสมัย ลดขั้นตอน และไม่ใช่ท้องถิ่นเดินขาเดียว" ธนกรเผยอุปสรรค


    ปัจจุบันมีบางชุมชนที่ประสบปัญหาขยะล้นสุกงอม ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน อาทิ ชุมชนในสุราษฎร์ธานี นิภาพันธ์ ภักดี รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ทุกวันนี้เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีไม่มีพื้นที่ทิ้งขยะ ขนไปทิ้งนครศรีธรรมราช ก็ถูกประท้วง ร้องเรียน สุดท้ายตำบลท่าโรงช้างแบกรับภาระขยะ มีขยะเข้าพื้นที่เกือบ 400 ตันต่อวัน ปล่อยให้ อบต.เดินอยู่ลำพัง ขาดหน่วยงานที่ปรึกษา ท้องถิ่นไม่มีทรัพยากรบุคคลทำเรื่องนี้ ไม่เข้าใจด้านเทคโนโลยีเลย แต่เรามีแนวคิดจัดการขยะแปรรูปเป็นพลังงาน การนำขยะมาเป็นเชื้อเพลิงเป็นผลดี จนมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยสำรวจและชวนร่วมโครงการความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าจากขยะ แต่เป็นโครงการร่วมทุนกับภาคเอกชน เดินต่อด้วยความยากลำบาก บ่อขยะและพื้นที่เป็นของเอกชน ประชุมระดับคลัสเตอร์ครั้งแรกปี 61 ขั้นตอนต่างๆ เพิ่งเสร็จเดือน พ.ย.นี้ ใช้เวลา 2 ปี


    “อยากเสนอให้มีหน่วยงานกลางโดยตรงรับผิดชอบด้านโรงไฟฟ้าขยะทั้งกระบวนการและให้คำปรึกษา รวมถึงโรงฟ้าขยะที่จะเกิดขึ้นจะสร้างประโยชน์ สร้างรายได้ให้เกิดร่วมกันอย่างไร จ.สุราษฎร์ธานี แบ่งเป็น 6 คลัสเตอร์ พื้นที่เกาะ 3 แห่ง สมุยก็เกิดปัญหาเรือขนส่งขยะล่ม บนบก ซึ่งท่าโรงช้างเป็นเจ้าภาพหลักคลัสเตอร์หนึ่ง มี 92 อปท. ในกลุ่ม ลงนาม MOU ร่วมกัน 60 แห่ง ปริมาณขยะรวมกันแล้ว 402 ตันต่อวัน เสนอโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ ใช้ปริมาณขยะ 400 ตันต่อวัน ก็ขับเคลื่อนโครงการมาระยะหนึ่ง" รองปลัด อบต.ท่าโรงช้างแชร์ประสบการณ์


    แม้จะมีบางชุมชนต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ แต่สำหรับ โรงไฟฟ้าขยะ ที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว อย่างบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินโครงการโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะที่ได้มาตรฐาน ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ที่หนองแขม กลับสามารถลดแรงต้านจากชุมชนได้ระดับหนึ่ง ด้วยระบบจัดการที่เป็นระบบปิด

 

เหอ หนิง ประธานบริหารบริษัท ซีแอนด์จีฯ


     เหอ หนิง ประธานบริหาร บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีประสบการณ์ดำเนินโรงไฟฟ้าขยะ 8 แห่งที่ประเทศจีน ปัจจุบันในจีนมีโรงไฟฟ้าขยะ 600 แห่ง และวางเป้าลดการฝังกลบขยะให้เหลือ 15% รวมถึงส่งเสริมหลักการ 3R อย่างเต็มที่ ออกมาตรการลดหย่อนภาษีดึงดูดลงทุน สำหรับการทำโรงไฟฟ้าขยะหนองแขมในไทย เปิดดำเนินการมา 5 ปีแล้ว โรงงานตั้งอยู่บนบ่อขยะเดิม ลึกลงไป 16 เมตร มีขยะฝังกลบอยู่ โครงการจึงลดแรงต้านจากชุมชนได้ส่วนหนึ่ง โรงงานเป็นระบบปิดทั้งหมด แต่ละวัน กทม.จะส่งขยะจาก 6 เขต ปริมาณ 500 ตัน เข้าโรงงาน มีส่วนจัดการขยะ และกำจัดขยะ นำขยะไปทำลายและแปรรูปเป็นไฟฟ้า ระบบการทำงานเป็นเตาเผา เป้าหมายหลักคือกำจัดขยะ มีรายได้จากการผลิตไฟ ผลประกอบการโรงงานไฟฟ้าขยะหนองแขมได้กำไร และสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ  


    “เส้นทางรายได้ของโรงงานมาจากค่ากำจัดขยะหน่วยงานท้องถิ่นและรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ. แต่โรงงานก็ต้องได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มีระบบตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและตั้ง 5 สถานีตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีการนำข้อมูลมาเทียบกัน นอกจากนี้ สร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้เข้ามาเยี่ยมชม การดูแลชุมชนโดยรอบ นำมาสู่การยอมรับของชุมชน มีการจัดการขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้า โดยนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป" เหอ หนิง ผู้บริหาร ซีแอนด์จีฯ กล่าว และพร้อมเปิดโรงงานต้อนรับคณะมาศึกษาดูงาน ไม่ต้องเดินทางไปไกลต่างประเทศ


    สำหรับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากการสัมมนาครั้งนี้ ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจะรวบรวมเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะของประเทศต่อไป.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"