เป็นเรื่อง!อดีตผู้พิพากษาชี้ประกาศ ‘สคบ.’ คุมราคาอัตราน้ำไฟหอพักผิดกฎหมาย


เพิ่มเพื่อน    

ภาพจากเฟซบุ๊ก pairat kerdsiri

6 พ.ค. 61 - นายไพรัช เกิดศิริ อดีตผู้พิพากษาในศาลเยาวชนและครอบครัว จ.ภูเก็ต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pairat Kerdsiri ถึงกรณีการประกาศคุมหอพัก(และห้องเช่า) ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ว่าเรื่องทุเรศ เพราะความตื้นเขิน และหยาบคายที่สุด ฟังความคิดอ่านที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และการทำธุรกิจที่ถูกต้อง ของนักศึกษาท่านนี้ดูบ้าง 4 เหตุผล ที่ทำให้ประกาศคุมสัญญาหอพัก(และห้องเช่า)ของสคบ. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

ข้อ 1. ประกาศสคบ.ขัดแย้งกับพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ.2542 มาตรา 5 ที่ระบุว่า “ก่อนออกปรกาศกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา ให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญารับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยคำนึงถึงขอบเขตและสภาพปัญหา เช่น การจัดสัมมนา การประชุม หรือให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็น...” แต่สคบ.ไม่เคยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการใดๆแม้แต่น้อย กระทั่งร่างประกาศฉบับนี้ก็ไม่เคยนำขึ้นแสดงในเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้อ่าน ทั้งที่ประกาศนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศซึ่งมีอยู่นับหมื่นราย หลังจากสคบ.ออกมาให้ข่าวช่วงปลายปี 2560 เพียงไม่กี่เดือนก็ประกาศใช้ในราชกิจจาฯเลย แสดงให้เห็นว่าสคบ.ออกประกาศมาโดยเร่งรีบ ลุกลี้ลุกลน ขาดความรอบคอบ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 2. การประกาศควบคุมอัตราค่าบริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ ว่าหอพักต้องคิดได้เท่าไหร่นั้นเป็นการกระทำเกินกว่าอำนาจหน้าที่ที่สคบ.มี เพราะตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และ พ.ศ. 2541 ไม่มีข้อไหนให้อำนาจสคบ.ในการกำหนดอัตราค่าสินค้าและบริการ อีกทั้งการบังคับว่าหอพักจะคิดค่าบริการได้ไม่เกินต้นทุนเป็นการออกข้อบังคับที่ไร้เหตุผล ตื้นเขิน และขัดกับหลักพื้นฐานของการประกอบธุรกิจที่ต้องการผลกำไร เนื่องจากในทางปฏิบัติแล้วค่าเช่าที่ผู้ประกอบการคิดไม่ได้ตั้งมาสูงเกินความเหมาะสม เพราะการทำธุรกิจห้องพักให้เช่ามีต้นทุนที่สำคัญคือค่าเสื่อมราคาของอาคาร การสร้างตึกหลังหนึ่งกว่าจะคืนทุนก็ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเกือบสิบปี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงใช้กำไรจากค่าน้ำไฟมาเป็นส่วนหนึ่งในการจุนเจือค่าใช้จ่ายและสร้างกำไร ซึ่งไม่ได้มากจนจะเรียกว่าเป็นการขูดรีดได้ การบีบบังคับเช่นนี้นอกจากจะกระทำโดยใช้อำนาจที่สคบ.ไม่มีแล้ว ยังเป็นการละเมิดสิทธิในการประกอบธุรกิจซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ที่ได้รับรองสิทธิของประชาชนไว้ 

ข้อ 3. การกำหนดว่าหอพักสามารถเก็บเงินประกันได้ไม่เกิน 1 เดือนเป็นการกำหนดอย่างส่งเดช ขาดความรู้ความเข้าใจ และมักง่ายของสคบ. เพราะในความเป็นจริงเงินประกันการเช่า 1 เดือนนั้นน้อยเกินกว่าจะครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นในห้องพัก เช่นห้องพักที่มีเฟอร์นิเจอร์ครบชุดจะมีมูลค่าทรัพย์สินรวมหลายหมื่นบาท เงินประกันจำนวนน้อยนั้นแทบไม่สามารถชดเชยอะไรได้ถ้าเกิดความเสียหายที่ร้ายแรงจริงๆ นอกจากนี้ความเสียหายยังอาจเกิดขึ้นได้จากการผิดนัดชำระของผู้เช่า ซึ่งมีทั้งค่าเช่าและค่าน้ำไฟ หลายครั้งที่เกิดกรณีผู้เช่าที่ค้างชำระค่าเช่าใช้วิธีย้ายหนีออกไปโดยไม่จ่ายค่าเช่า ทำให้เจ้าของหอพักเสียหาย การเรียกเก็บเงินประกัน 1.5-2 เดือนจึงไม่ใช่เรื่องเกินความเหมาะสม แต่สอดคล้องกับค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจริง และเงินจำนวนนี้ปกติก็จะคืนให้แก่ผู้เช่าเมื่อย้ายออกอยู่แล้ว การกำหนดของสคบ.เช่นนี้ทำให้เห็นถึงความเข้าใจที่ตื้นเขินต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นผลจากการออกประกาศอย่างลุกลี้ลุกลนโดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการดังที่ได้กล่าวแล้วใน ข้อ 1. ประกาศที่อาจสร้างความเสียหายและความยุ่งยากเช่นนี้จึงขัดกับพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ.2552 มาตรา 4 วงเล็บ (6) ที่ระบุว่า "การกำหนดลักษณะของสัญญาต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระเกินควรแก่การประกอบธุรกิจ" 

ข้อ 4. ประกาศของสคบ.สร้างความสับสนและขัดแย้งในตัวเอง ดังจะเห็นได้จากจากกำหนดว่าหอพักจะต้องไม่คิดค่าบริการเกินกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หรือคิดค่าน้ำไฟตามที่การไฟฟ้า/ประปาเรียกเก็บ ซึ่งจะต้องระบุอัตราดังกล่าวไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติทั้งค่าน้ำค่าไฟที่ถูกเรียกเก็บนั้นมีอัตราผันแปรไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนหน่วยที่ใช้ ค่าไฟฟ้าผันแปรในแต่ละช่วงเวลา หากผู้ประกอบการต้องทำตามที่ประกาศกำหนดจะเกิดความ “ย้อนแย้ง” ในตัวเอง กล่าวคือหากระบุอัตราค่าน้ำไฟให้ชัดเจนในสัญญาตั้งแต่แรก ค่าน้ำไฟในแต่ละเดือนก็จะไม่ตรงกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง แต่หากระบุว่าค่าน้ำไฟจะผันแปรไปในแต่ละเดือน ก็จะไปขัดแย้งกับข้อกำหนดที่บอกว่าต้องระบุอัตราให้ชัดเจนอีก นี่แสดงให้เห็นว่าประกาศของสคบ.ออกมาโดยขาดความเข้าใจและมักง่าย ก่อให้เกิดความสับสนอย่างกว้างขวางแก่ผู้ประกอบการหลังการประกาศใช้ แม้กระนั้นสคบ.ก็ทำตัวทองไม่รู้ร้อน ไม่มีการจัดให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ประกอบการให้ทั่วถึง ทั้งที่สคบ.เองกระทำผิดพรฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา ที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่แรก สคบ.ใช้วิธีให้ผู้ประกอบการติดต่อสอบถามเป็นรายๆ ซึ่งคำตอบที่ได้บางครั้งก็ไม่ตรงกัน สร้างความสับสนเป็นอย่างมาก

โดยสรุปแล้วประกาศนี้สคบ.เป็นประกาศที่ออกมาอย่างมักง่าย ไม่รอบคอบ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลุแก่อำนาจ(ซึ่งตนไม่มีอยู่แต่แรก) สร้างความเดือดร้อน ความยุ่งยาก และภาระแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ผู้เขียนเชื่อว่าการออกประกาศนี้ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการร้องเรียนความไม่เป็นธรรมในหลายกรณี แต่เป็นการแก้ปัญหาอย่างเหวี่ยงแหและมักง่าย ซึ่งนอกจากจะแก้ไม่ตรงจุดแล้วยังสร้างปัญหาตามมาในวงกว้าง 

สำหรับผู้เขียนแล้วการออกประกาศนี้เป็นความหยาบคายอย่างรุนแรงที่หน่วยงานราชการกระทำต่อประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการ หลังจากประกาศออกมาไม่นานผู้เขียนได้ร่างคำฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนประกาศดังกล่าวไว้ แต่ผู้เขียนเองขณะนี้ติดภารกิจการศึกษาต่ออยู่ในต่างประเทศ จึงไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ด้วยตนเอง ประกอบกับการทัดทานจากบุคคลในครอบครัว การฟ้องร้องต่อศาลปกครองจึงต้องยุติไป แต่ผู้เขียนหวังว่าในบรรดาผู้ประกอบการทั่วประเทศจะมีใครสักคนที่ทนความหยาบคายนี้ไม่ได้และดำเนินการฟ้องร้องบ้าง หรือหากใครต้องการนำคำฟ้องที่ร่างไว้แล้วไปดำเนินการยื่นต่อศาล ก็สามารถติดต่อกับผู้เขียนได้โดยตรง

ปล.ใครที่เห็นว่าโพสต์นี้เป็นประโยชน์ กรุณาแชร์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ข้อบังคับนี้ใช้บังคับแก่เจ้าของห้องเช่าที่มีให้บุคคลธรรมดาเช่าห้าห้องขึ้นไปด้วย ไม่ว่าห้องเหล่านั้นจะอยู่แห่งเดียวกันหรือไม่ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"