5 เหตุการณ์สำคัญการเมืองปี 63


เพิ่มเพื่อน    

      สำหรับปี 2563 ถือเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญมากมาย โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยมีบางเหตุการณ์เป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง โดยจะรอขอรวบรวม 5 เหตุการณ์สำคัญๆ ดังนี้

      ยุบ อนค.จุดเปลี่ยนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร

      หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ปล่อยกู้ให้แก่พรรคเป็นจำนวนเงิน 191 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลได้มีมติให้ยุบ อนค. เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 และมีมติให้สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคจำนวน 16 คนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่มีการทำสัญญากู้เงิน คือ วันที่ 2 มกราคา 2562 และ 11 เมษายน 2562 เป็นเวลา 10 ปี โดยในจำนวนนี้เป็น ส.ส. 11 คน ทำให้ อนค.เหลือเสียงในสภา 65 คน จากเดิม 76 คน

      ผลจากการยุบพรรค อนค. ทำให้อดีต ส.ส.ที่เหลือ ต้องออกไปตั้งพรรคใหม่ คือ พรรคก้าวไกล แต่ขณะเดียวกัน หลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคชาติพัฒนาได้ใช้โอกาสนี้ไปดึง ส.ส.ที่ไม่ตามไปอยู่พรรคก้าวไกลมาอยู่ด้วย จนคนที่ตัดสินใจย้ายขั้วถูกตราหน้าว่าเป็น ‘งูเห่า’ ทำให้ปัจจุบัน ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเหลือเพียง 54 คนเท่านั้น และส่งผลให้เสียงของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ได้อยู่ในสภาวะปริ่มน้ำเหมือนเมื่อครั้งตั้งรัฐบาล โดยขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงในสภาประมาณ 277 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมีประมาณ 212 เสียง ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพในสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น

      เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ปราบโควิด-19

      ในช่วงต้นปี 2563 หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญมหันตภัยครั้งใหญ่หลวง คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศไทย ต้องยอมรับว่าการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงแรกถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าล้มเหลว มีการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศไทยจากเคสสนามมวยลุมพินี และสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ขณะเดียวกันยังไม่สามารถจัดหาหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงได้ พร้อมกับมีข่าวกักตุนหน้ากากอนามัย ซึ่งเชื่อมโยงกับบุคคลในรัฐบาล

      ขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสภาวะเครียดจากแรงกดดันอย่างหนัก ที่สุดจึงตัดสินใจดึงนายแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการโรคระบาดเข้ามาให้คำปรึกษา อาทิ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข นพ.อุดม คชินทร อดีต รมช.ศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังมีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยโครงสร้างดังกล่าวประกอบด้วยฝ่ายข้าราชการมากกว่าฝ่ายการเมือง เพื่อหวังเรียกความเชื่อมั่น ปรากฏว่าประเทศไทยสามารถตีวงจำกัดการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ทำให้รัฐบาลได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกว่า สามารถบริหารจัดการได้ดีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก อย่างไรก็ดีในช่วงก่อนส่งท้ายปี ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักอีกครั้ง หลังพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. วันเดียวกว่า 500 คน มากกว่าในช่วงต้นปีที่พบมากสุดวันเดียว 188 คน จากนั้นขยายวงไปหลายจังหวัด ซึ่งมีสาเหตุมาจากแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง ทำให้รัฐบาลต้องถูกตำหนิอีกครั้ง และพยายามจะปิดเคสนี้ให้เร็วที่สุด เพราะกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีหน้า

      พลังประชารัฐไล่ 4 กุมารพ้นพรรค

      หลังจากมีความพยายามกดดันนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่ม 4 กุมาร ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ให้พ้นเก้าอี้รัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้บุคคลในพรรคมาตั้งแต่หลังเลือกตั้งเสร็จ ที่สุดความพยายามของกลุ่มก๊วนต่างๆ ภายในพรรคพลังประชารัฐก็สำเร็จ หลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไฟเขียวให้รื้อโครงสร้างพรรคครั้งใหญ่ และใช้ยุทธวิธีมัดคอ ด้วยการให้กรรมการบริหารพรรค จำนวน 18 คน หรือกึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารพรรคที่มีอยู่ทั้งหมด 34 คน ยื่นหนังสือลาออก เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคชุดนั้นสิ้นสภาพโดยอัตโนมัติ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ทำให้นายอุตตม นายสนธิรัตน์ และนายสุวิทย์ สิ้นสภาพหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และรองหัวหน้าพรรคทันที

      โดยในการประชุมใหญ่พรรคเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ประชุมมีมติเลือก พล.อ.ประวิตรให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เพื่อมาคุมพรรคเต็มตัว และให้นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท มาเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ พร้อมทั้งให้บรรดาหัวหน้ามุ้งต่างๆ เข้ามาเป็นรองหัวหน้าพรรค โดยภารกิจสำคัญของ พล.อ.ประวิตรคือ การจัดสรรผลประโยชน์ใหม่ในพรรคให้เท่าเทียมและลงตัว และแก้ปัญหาความขัดแย้งของมุ้งต่างๆ ภายในพรรค

        ‘สมคิด’ ไขก๊อก ปรับ ครม.ตู่ 2/2

      ภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ โดยไร้กลุ่ม 4 กุมารในผู้บริหารชุดใหม่ นายอุตตม นายสนธิรัตน์ นายสุวิทย์ และนายกอบศักดิ์ ได้ตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคทั้งหมด ทั้งที่เป็นผู้ก่อตั้ง กระทั่งวันที่ 16 ก.ค. นายสมคิด และ 4 กุมาร ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี หลังจากได้ข่าวว่าจะมีการปรับกลุ่ม 4 กุมารออกจากคณะรัฐมนตรีแบบยกยวง โดยอ้างว่า ไม่ต้องการสร้างความลำบากใจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ถูกบรรดาลูกพรรคพลังประชารัฐกดดันผ่าน พล.อ.ประวิตร เป็นการปิดฉากการร่วมทำงานกัน 6 ปี นับตั้งแต่ปลายปี 2558 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อเนื่องมาถึงยุคเลือกตั้ง นอกจากนี้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ยังตัดสินใจลาออกจากรัฐมนตรี เช่นเดียวกัน เพราะรู้ตัวว่า มีแรงยุผู้มีอำนาจให้ปรับโควตาของพรรคออก เนื่องจากมี ส.ส.น้อย

      โดยในวันที่ 6 ส.ค. มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ 2/2 ซึ่งมีการปรับ ครม.แทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยมีรัฐมนตรีป้ายแดง 6 คน ได้แก่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ นั่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน นายอนุชา นาคาศัย นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายปรีดี ดาวฉาย นั่ง รมว.คลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น นั่ง รมว.แรงงาน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ นั่ง รมช.แรงงาน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นั่ง รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ขณะเดียวกันยังได้ขยับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ให้มาควบรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่ง อย่างไรก็ดีภายหลังทำงานได้ไม่ถึงเดือน นายปรีดี ดาวฉาย ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง รมว.คลัง หลังมีกระแสข่าวว่ามีปัญหากับนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีต รมว.คมนาคม ในยุค คสช.มาเป็นขุนคลังคนใหม่

        กำเนิด ‘คณะราษฎร 2563’

      ในช่วงเดือน ส.ค. มีการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา ในรูปแบบแฟลชม็อบเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และสถานที่สำคัญๆ ใน กทม. นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มเยาวชนปลดแอก กระทั่งวันที่ 19 ก.ย. ได้มีการจัดชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง และในเช้าวันที่ 20 ก.ย. มีการประกาศตั้งคณะราษฎร 2563 โดยใช้ยุทธศาสตร์ทุกคนคือแกนนำ พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก และปฏิรูปสถาบัน จากนั้นมีการจัดแฟลชม็อบกันทุกสัปดาห์ตามจุดต่างๆ ใน กทม.และต่างจังหวัด

      ในวันที่ 16 ต.ค. หลังถูกตำรวจบล็อกไม่ให้ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ผู้ชุมนุมได้ย้ายมาชุมนุมกันที่สี่แยกปทุมวัน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะตัดสินใจใช้รถฉีดน้ำความดันสูงผสมสีฉีดใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการสลายการชุมนุม นอกจากนี้ยังมีการใช้รถฉีดน้ำความดันสูงกับผู้ชุมนุมในอีกหลายเหตุการณ์ เช่น วันที่ 8 พ.ย. ที่ผู้ชุมนุมจะเคลื่อนมวลชนไปที่พระบรมมหาราชวัง และวันที่ 17 พ.ย. บริเวณแยกเกียกกายและรัฐสภา ซึ่งมีการฉีดน้ำและใช้แก๊สน้ำตา รวมถึงมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับม็อบคณะราษฎรจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ดีปัจจุบันแกนนำและนักเคลื่อนไหวหลายรายได้ถูกตั้งข้อหาผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"