รำลึก'พระปิ่นเกล้าฯ' พระปรีชาสามารถประวัติศาสตร์จารึก


เพิ่มเพื่อน    

พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ

 

 

     พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มุ่งมั่นพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศ การบริหารราชการบ้านเมืองของพระองค์กลายเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งของสยามประเทศในยุคต่อมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

      วันที่ 7 มกราคมของทุกปี มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อน้อมรำลึกพระเกียรติคุณและพระปรีชาสามารถกษัตริย์พระองค์นี้ หนึ่งในสถานที่สำคัญคือ พระบวรราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณโรงละครแห่งชาติ ปีนี้ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พิธีบวงสรวง และพิธีสงฆ์ เพื่อบำเพ็ญกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีนายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยผู้บริหารกรมศิลปากรร่วมพิธี

 

 น้อมรำลึกพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 

 

     พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระราชสมภพเมื่อวันที่ 4 ก.ย. พ.ศ.2351 ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฑามณี ทรงเป็นพระราชอนุชาร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้านตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ บังคับบัญชาทหารปืนใหญ่ ทหารแม่นปืนหน้าปืนหลังว่าการกรมทหารญวนอาสารบ  แขกอาสา ซึ่งเป็นกองทหารที่สำคัญและมีกำลังคนมาก ทรงแปลและเรียบเรียงตำราปืนใหญ่ รวมทั้งอำนวยการฝึกหัดทหารปืนใหญ่ ทำให้กองทหารมีระเบียบวินัยแบบตะวันตก

 

  พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ที่ประทับสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  

 

    ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศร มหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง และพระราชทานพระบวรราชวังให้เป็นที่ประทับ พระปิ่นเกล้าฯ โปรดให้ทำพิธีและสถาปนาอาคารสิ่งก่อสร้างใหม่ให้งดงามและสมบูรณ์ โปรดให้สร้างพระราชมมณเฑียร พระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ เช่น พระที่นั่งเก๋งจีน เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับศิลปะแบบจีน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับแบบยุโรป พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระที่นั่งชลสถานทิพอาศน์ พระที่นั่งประพาสคงคา พระที่นั่งทัศนาภิรมย์ พลับพลาสูง และพระตำหนักแดง เป็นต้น

 

ชั้นบนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์เป็นที่ประทับ จัดแสดงให้ผู้สนใจเข้าชม

 

      พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถทั้งการช่าง การปกครอง การทหาร และศิลปกรรม ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเป็นพระองค์แรก ทรงวางรากฐานการจัดกิจการทหารเรือให้เข้าสู่ระบบสากลตามแบบอย่างอารยประเทศ ทรงสนพระทัยการต่อเรือโดยใช้เครื่องจักรกลตามแบบยุโรป และประสบผลสำเร็จสามารถแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ด้วยความที่ทรงใฝ่พระทัยในวิทยาการตะวันตก โปรดให้นำธรรมเนียมปฏิบัติแบบตะวันตกมาใช้หลายประการ เช่น โปรดให้ติดตั้งเสาธงเพื่อชักธงพระจุฑามณี ทรงออกแบบตราประจำพระองค์เป็นรูปพระปิ่น สมอเรือ และปืนใหญ่ แสดงถึงการที่ทรงบังคับบัญชาทั้งทหารเรือและทหารปืนใหญ่ ทั้งยังสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับการแพทย์สมัยใหม่ ทรงสนับสนุนให้สตรีไทยคลอดบุตรตามแบบตะวันตก

      ด้านการปกครอง แม้จะไม่ทรงมีหน้าที่โดยตรง แต่พระองค์โปรดการเสด็จประพาสหัวเมือง โดยเฉพาะภาคอีสาน โปรดให้สร้างพระตำหนักที่บ้านสีทา จังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ยังโปรดศิลปะทั้งดนตรี กวี และนาฏศิลป์ ทรงเป็นนักเล่นสักวาที่มีฝีพระโอษฐ์คมคาย ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมและเพลงยาวต่างๆ ขึ้นหลายสำนวน ทรงริเริ่มประดิษฐ์ระนาดทุ้มเหล็กขึ้น โดยจัดเล่นประกอบกับระนาดแบบเดิม รวมเป็นเครื่องดนตรี 4 ชนิด เรียกว่า "ปี่พาทย์เครื่องใหญ่" สืบทอดมาจนทุกวันนี้ ทุกปีกิจกรรมร่วมรำลึกพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมศิลปากรจัดแสดงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ให้ประชาชนได้รับชม แต่ปีนี้งดแสดงจากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่

 

พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ พระนคร 

 

      เบื้องปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล ปัจจุบันอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พระที่นั่งตึกแบบตะวันตกงามล้ำค่านี้ เดิมชื่อ พระที่นั่งวงจันทร์ โปรดให้สร้างด้านทิศเหนือของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย โดยหลวงชาติเสนี (ทัด) เป็นนายช่าง หลังคาพระที่นั่งทรงจั่วชั้นเดียว ไม่มีมุขลด หน้าจั่วทั้งสองด้านปั้นปูนประดับเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ รูปปิ่นประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า อยู่ภายในช่อมาลาประกอบลายพันธุ์พฤกษา มีที่มาจากพระนามเดิมคือ “เจ้าฟ้าจุฑามณี”

      พระที่นั่งมี 2 ชั้น ชั้นล่างใช้เป็นที่อยู่ของพนักงาน ส่วนชั้นบนเป็นที่ประทับ มี 5 ห้อง ได้แก่ ห้องเสวย ห้องรับแขก ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์พร้อมห้องสรง ห้องสมุดและห้องทรงพระอักษร ประทับ ณ พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ตลอดมาจนกระทั่งสวรรคตในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2408 ปัจจุบันพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และเครื่องที่ประทับของพระองค์ มรดกทรงคุณค่า

   หน้าจั่วปั้นปูนประดับตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์

 

     สนใจแวะมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตรงข้ามกับสนามหลวง ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีพระที่นั่งและนิทรรศการอีกมากมายที่ปรับปรุงใหม่ นำเทคโนโลยีทันสมัยสร้างการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน อีกทั้งได้รื่นรมย์กับความสวยงามของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า เข้าชมได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในเวลา 09.00-16.00 น. โดยมีค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"