งัดโทษหนักสกัดโควิด บิ๊กตู่ยกระดับคุมเข้มสูงสุดยอดติดเชื้อพุ่งเฉียดหมื่น


เพิ่มเพื่อน    

 

"บิ๊กตู่" ประกาศยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ระดับสูงสุด สั่งเข้มงวดเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ควบคุม 5 จังหวัดสกัดการระบาด เร่งหาต้นตอขบวนการแพร่เชื้อโรคมาลงโทษ ขู่เอาผิดผู้ติดเชื้อจงใจปกปิดข้อมูล "ศบค." พบติดเชื้อรายใหม่พุ่ง 365 ราย ยอดสะสมใกล้หมื่นคนแล้ว เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย "บิ๊กป้อม" ฟันธง รพ.สนามจังหวัดใครจังหวัดมัน "ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร" อาการดีขึ้น "ตาก" ผวา! 4 หญิงไทยติดโควิดลอบข้ามชายแดน

    เมื่อวันที่ 6 ม.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17) ระบุตอนหนึ่งว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังนี้ 1.การยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่ กิจกรรม หรือกิจการต่างๆ ดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้บริการ ผู้เดินทาง และประชาชนทั่วไปปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยการรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การติดตั้งแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" และ "ไทยชนะ" ตลอดจนยอมรับการกักกันตัวตามระยะเวลาในสถานที่ที่กำหนด หากอยู่ในข่ายที่ต้องรับการกักกัน
    2.การยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะของประชาชนในการเดินทางเข้า-ออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จ.จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง และสมุทรสาคร เพื่อสกัดและยับยั้งการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด โดยให้ตั้งจุดตรวจหรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่อย่างเข้มข้น และให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวติดตั้งและใช้ระบบแอปพลิเคชัน "หมอชนะ"  นอกจากนี้บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางออกนอกพื้นที่ดังกล่าว ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นโดยแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองความจำเป็นที่ออกโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทยกำหนด
    3.การปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค รัฐบาลมีเจตจำนงที่ชัดเจนและเด็ดขาดในการปราบปรามและลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบขนย้ายแรงงานต่างประเทศโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ การคัดกรองโรค และการกักกันตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข รวมทั้งการปล่อยปละละเลย เอื้ออำนวย หรือสมรู้ร่วมคิดให้มีการเปิดบ่อนการพนันในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อนจนส่งผลกระทบอย่างรุนแรง จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเร่งตรวจสอบเพื่อดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามขั้นตอนกฎหมาย และแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการดังกล่าว และเสนอมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีกต่อไป  
ยกระดับป้องกันโควิด
    นอกจากนี้ ให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงหน่วยงานด้านความมั่นคง (ศปม.) และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ปฏิบัติการกวดขัน สอดส่อง และเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมือง และการเปิดให้มีการมั่วสุมลักลอบเล่นการพนัน โดยให้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายทั้งทางวินัยและทางอาญา รวมถึงให้รัฐบาลสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบของภาคประชาชน หากพบเห็นการกระทำหรือการปล่อยปละละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายและส่งผลกระทบที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่นายกรัฐมนตรีผ่าน ศบค. ทำเนียบรัฐบาล
    4.โทษผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าว อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทาง หรือแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ด้วย ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.2564 เป็นต้นไป
    ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ในประเทศไทยรายวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 365 ราย ในจำนวนนี้เป็นการผู้ติดเชื้อในประเทศ 250 ราย การค้นหาเชิงรุกในแรงงานต่างด้าว 99 ราย อยู่ในสถานกักตัวของรัฐ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 9,331 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้จะครบหมื่นรายแล้ว จึงขอให้ช่วยกัน เพราะไม่ต้องการเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 63 ปี เป็นชาว จ.พระนครศรีอยุธยา อาชีพขับรถรับส่งแรงงานต่างด้าวใน จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมุทสาคร ออกซิเจนในเลือดต่ำ ปอดอักเสบ และตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากนั้นวันที่ 30 ธ.ค. มีอาการหอบมากขึ้น หายใจลำบาก ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และย้ายไปยังห้องไอซียู วันที่ 31 ธ.ค.อาการไม่ดีขึ้น มีอาการไตวาย จึงต้องฟอกเลือดทุกวัน จนกระทั่งวันที่ 5 ม.ค. หัวใจหยุดเต้น อวัยวะภายในหลายส่วนล้มเหลว ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 66 ราย ทั้งนี้ อัตราการเสียชีวิตในประเทศไทย อยู่ที่ 1-2%
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 250 ราย มีประวัติไปสถานที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง และสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 215 ราย อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 35 ราย ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 86,832,019 ราย เสียชีวิตสะสม 1,875,451 ราย และมีภาพที่น่าตกใจคือ ที่เมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา มีภาพที่ต้องประเมินผู้ป่วยหากคิดว่าใครไม่สามารถช่วยชีวิตได้ก็ไม่ให้นำส่งโรงพยาบาล ปล่อยให้เสียชีวิตที่บ้าน ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นที่สหรัฐ เนื่องจากมีการติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ทรัพยากรในการรักษาไม่เพียงพอ ก็ขอภาวนาให้คนที่อยู่ในสหรัฐ บรรเทาสถานการณ์ลงได้ และขอให้อย่ามาเกิดกับเรา
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน หรือศูนย์อีโอซี (EOC) ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการวิเคราะห์เรื่องการกระจายตัวในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร พบพื้นที่ดังกล่าวมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก มีโรงงานในพื้นที่กว่า 11,467 แห่ง ทำให้เราต้องเร่งเข้าไปตรวจในพื้นที่โรงงาน เพื่อเข้าไปดูให้มั่นใจ ไม่ให้เป็นที่แพร่ระบาดเชื้อโรค และนอกจากโรงงานแล้วยังเข้าไปตรวจทั้งตลาดและที่พักเพื่อวางแผนเชิงรุกให้การตรวจครอบคลุมทุกพื้นที่
    "โรงพยาบาลสนามในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร มีแล้วทั้งสิ้น 2 แห่ง ส่วนที่มีข่าวว่าจังหวัดข้างเคียงคัดค้านการตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จาก จ.สมุทรสาครนั้น อยากจะบอกว่ายังมีข่าวดีๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งคนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร พร้อมจะให้ใช้พื้นที่ส่วนตัวของตัวเองตั้งโรงพยาบาลสนามดูแลคนสมุทรสาครจำนวน 4-6 พื้นที่ หลังจากนี้ สธ.ต้องมองข้ามไปวันข้างหน้า ประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะมีสูง เราต้องเตรียมพื้นที่ไว้ล่วงหน้า จึงต้องวางแผนไว้ก่อน เพราะการตั้งโรงพยาบาลสนามต้องใช้เวลา เบื้องต้นเราจะใช้โรงพยาบาลสนามของจังหวัดนั้นๆ เพื่อดูแลคนของจังหวัดตัวเอง" โฆษก ศบค.กล่าว          
สธ.คาดยอดติดเชื้อเพิ่ม
    ถามถึงความแตกต่างระหว่างพื้นที่ควบคุมสูงสุดกับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ที่ประกอบด้วย สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด รวมถึงเจตนาในการแยกคืออะไร เพราะไม่อยากใช้คำว่าล็อกดาวน์ใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ควบคุมสูงสุดมีทั้งสิ้น 28 จังหวัด มีมาตรการที่ทั้ง 28 จังหวัดต้องดำเนินการคือ คนที่เข้าพื้นที่ต้องรับการตรวจอุณหภูมิ สังเกตอาการ และต้องรับการตรวจว่ามีแอปพลิเคชันหมอชนะหรือไม่ รวมถึงสอบถามเหตุผลความจำเป็นในการเดินทาง โดยเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการปิดแหล่งที่อาจแพร่เชื้อ เช่น บ่อน ร้านอาหาร แต่ไม่ทำให้เกิดการชัตดาวน์ ล็อกดาวน์ ไม่มีเคอร์ฟิว ไม่ปิดการเดินทาง
    ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มี 5 จังหวัดคือ มีมาตรการเพิ่มเติมขึ้นมา ผู้ที่จะเดินทางเข้าพื้นที่ต้องแสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใครจะเดินทางเข้าพื้นที่หรือไปไหนมาไหนในพื้นที่ต้องแสดงหลักฐาน พ่อค้าแม่ค้าจะขายอาหารก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่รับทราบก่อน ผู้คนในพื้นที่อาจจะต้องลำบากกันสักหน่อย
    "มาตรการเหล่านี้จะใช้ถึงวันที่ 1 ก.พ. ใครที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการเดินทางก็ขอให้ชะลอไว้ก่อน แต่ถ้าตัวเลขต่างๆ แสดงถึงความน่ากลัว และพุ่งขึ้นในทิศทางที่ชัน เราคงไม่ต้องรอถึงวันที่ 1 ก.พ.อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่าคงต้องดูสถานการณ์เป็นรายวัน ถ้าไม่ดีก็ต้องเข้มงวด อาจจะมีคำว่าเข้มงวดสูงสุดหรืออีกหลายๆ เข้มขึ้นมา" โฆษก ศบค.ระบุ
    ที่กระทรวง?สาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การสอบสวนโรคคลัสเตอร์บ่อนพนัน จ.ระยอง พบการติดเชื้อมากกว่าครึ่งหนึ่ง 225 ราย จากทั้งหมด 423 ราย มีประวัติเข้าไปในบ่อนพนัน รองลงมาพบการติดเชื้อในตลาดต่างๆ นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อกระจายไปหลายจังหวัด จุดใหญ่อยู่ใน จ.ชลบุรี จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ก่อนที่เชื้อจะแพร่สู่ผู้สัมผัสอื่นๆ ได้แก่ สมาชิกในครอบครัว ฟิตเนส โต๊ะสนุ้ก ร้านอาหาร และบ่อนไก่ ส่วนกรณีคลัสเตอร์บ่อนไก่ จ.อ่างทอง พบผู้ติดเชื้อรวม 76 ราย ตรวจพบเพิ่มขึ้น 28 ราย จากวันที่ 5 ม.ค.64 โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดใน จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ่อนไก่ และผู้ติดเชื้อขยายไปยังจังหวัดข้างเคียงอีก 6 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี อยุธยา ลพบุรี มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละ 4 ราย สุพรรณบุรีและขอนแก่น มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละ 2 ราย และนนทบุรี มีผู้ติดเชื้อ 1 ราย แม้จะเป็นการเดินทางเข้ามาในบ่อนไก่เพียงช่วงสั้นๆ หรือเข้ามาแค่วันเดียวก็ต้องเฝ้าระวัง กักกันตัวเอง 14 วัน สวมหน้ากาก หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่น หากมีอาการให้สงสัยว่าติดเชื้อรีบไปพบแพทย์ด่วน
    นพ.โสภณกล่าวว่า การสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อกลุ่มแรก จำนวน 38 ราย พบผู้ติดเชื้อมีทั้งอายุน้อย วัยกลางคน 45-54 ปี และผู้สูงอายุ ที่ชื่นชอบในกีฬาชนไก่ โดยกลุ่มผู้สูงอายุถือว่ามีความเสี่ยงสูง หากได้รับเชื้ออาจป่วยรุนแรง เข้ารับการรักษาช้าอาจเสียชีวิตได้ และยังต้องเฝ้าระวังเด็กเล็กที่อาจติดเชื้อจากผู้ปกครอง นอกจากนี้ในบ่อนไก่ พบผู้ป่วยเพศชายจะมากกว่าเพศหญิงถึง 5 เท่า โดย 1 ใน 3 ติดเชื้อแบบมีอาการ และ 2 ใน 3 ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ซึ่งเป็นผลมาจากการสอบสวนโรคที่สามารถค้นหาผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว ทำให้มีความปลอดภัยในการควบคุมโรค จึงขอให้ผู้มีประวัติไปบ่อนพนันทั่วประเทศ เมื่อมีอาการเจ็บป่วยต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง
    นอกจากนี้ ผลการสอบสวนโรคการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในสถานบันเทิงและร้านอาหารย่านปิ่นเกล้า ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 105 ราย เพิ่มขึ้น 23 ราย โดยผู้ติดเชื้อมีทั้งลูกค้าและพนักงาน สาเหตุจากการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ไม่สวมหน้ากากขณะดื่มหรือกินอาหาร โดยพบว่าลูกค้าเริ่มป่วยก่อน แนะนำเชื้อมาแพร่ให้พนักงาน ต่อมาลูกค้าและพนักงานมีโอกาสแพร่เชื้อไปมาระหว่างกัน ขณะที่นักร้องทำงานมากกว่า 1 แห่ง มีโอกาสนำเชื้อไปแพร่ในวงกว้าง เช่นเดียวกับลูกค้าที่มาใช้บริการในสถานบันเทิงมากกว่า 1 แห่ง
    "ในช่วงเทศกาลปีใหม่มีการติดเชื้อกระจายไปใน 56 จังหวัด หลายจังหวัดพบผู้ติดเชื้อจากพื้นที่อื่นและไม่มีการติดเชื้อเพิ่ม แต่ยังต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจมีผู้ได้รับเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ ดังนั้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าจะยังมีการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น" ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
บิ๊กป้อมแก้ปม รพ.สนาม
    ขณะที่ นพ.โอภาส? การ?ย์?กวิน?พงศ์ ?อธิบดี?กรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีโซเชียล?มีเดียแชร์มีโรงงานบริษัท พัทยาฟู้ด ประเทศไทย? จำกัด ซึ่งอยู่ในสมุทรสาคร พบผู้ป่วย?ติดเชื้อ 900 คนว่า เป็นตัวเลขที่ได้ระบุไปแล้วเมื่อวันที่ 4-5 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่ใช่วันนี้ โดยวิธีการจัดการกับคนงานที่ติดเชื้อ?นั้นจะทำคล้ายกับตลาดกลาง?กุ้ง คือไม่ให้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นออกนอกพื้นที่ จากนั้นจะตั้งโรงพยาบาล?สนามไปดูแล และคัดแยกผู้ป่วย โดยขณะนี้ตลาดกลางกุ้งได้คัดแยกผู้ป่วยออกแล้ว คาดว่าจะจัดเป็นโซนปลอดภัย?ได้อีกไม่นานไม่เกิน 1-2 สัปดาห์
    "โรงงานดังกล่าวต้องขอชื่นชมว่าให้ความร่วมมือดีมาก เตรียมจัดพื้นที่ภายในโรงงานใหม่ มีการตั้งโรงพยาบาล?สนามในบริเวณนั้น คนติดเชื้อก็จะได้รับการดูแล ส่วนคนงานที่เหลือจะอยู่ในโรงงาน และมีการตรวจเป็นระยะเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ และทำความสะอาด ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อจะไม่มีการเล็ดลอด?ไปสู่ชุมชน นอกจากมีความกังวลว่าผลิตภัณฑ์?อาหารกระป๋อง?แปรรูป?จากโรงงานดังกล่าวจะสามารถบริโภคได้หรือไม่ ย้ำว่าวิธีการ?ผลิต?จะมีการฆ่าเชื้ออยู่แล้ว ทั้งการใช้ความร้อนที่สามารถฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ และการบรรจุที่ได้รับ?มาตรฐาน?" นพ.โอภาสกล่าว
    ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณี น.ส.กุลวลี นพอมรบดี  ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. นำประชาชนมาคัดค้านการก่อสร้างโรงพยาบาลสนามในพื้นที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เวลานี้เราต้องดูว่าใช้พื้นที่ไหน และพยายามจะไม่ออกจากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และก็ควรจะเป็นพื้นที่จังหวัดใครจังหวัดมันในการดูแล
    "จ.สมุทรสาครกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเอาพื้นที่ตรงไหนจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งต้องมีความเหมาะสม" พล.อ.ประวิตรกล่าว
    ส่วน พล.ร.ท.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ เสนาธิการทหารเรือ ส่งมอบโรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ซึ่งในอยู่ความรับผิดชอบของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับมอบที่โรงพยาบาลสนาม ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
    "โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 3 กองทัพเรือได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารฝึกของศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง พื้นที่เกล็ดแก้ว ใช้อาคารฝึกที่ 13-16 สำหรับเป็นที่พักผู้ป่วย และอาคารฝึกที่ 2 เป็นอาคารอำนวยการสำหรับเจ้าหน้าที่ สามารถรองรับผู้ป่วยได้รวม 320 เตียง" โฆษก ทร.กล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล นายพิทักษ์ โยทา ตัวแทนสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้ผ่อนผันให้ร้านนวด ร้านสปา เปิดบริการได้หลังกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยยืนยันที่ผ่านมาร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านสปา ได้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง จำกัดผู้ใช้บริการ และไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาเป็นกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิด และให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย
ผู้ว่าฯ สมุทรสาครดีขึ้น
    วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ว่ามีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อวันที่ 5 ม.ค. กลับมาใช้เครื่องช่วยหายใจ กลับมานอนคว่ำ ทำให้ระดับออกซิเจนตลอดวันดี วันนี้จะลองทดลองมานอนท่าหงาย เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของปอด ที่ยังคงเหลือว่ากลับมาทำงานได้ดีแค่นี้ และวันนี้จะเริ่มเปลี่ยนมาให้อาหารทางสายยาง เพื่อให้กระเพาะอาหารกลับมาทำงานบีบตัวได้ตามปกติ จากเดิมที่ให้อาหารทางเส้นเลือด ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้อวัยวะต่างๆ กลับมาทำงานตามปกติ
    "อาการไข้ไม่มีแล้ว ถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ขณะนี้ผู้ว่าฯสมุทรสาครเข้ารับการรักษาตัวที่ศิริราชมานาน 1 สัปดาห์แล้ว หากอาการดีขึ้นต่อเนื่อง เตรียมถอดเครื่องช่วยหายใจเร็วๆ นี้ ส่วนการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ยังดำเนินการตามปกติ และไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อไวรัสในร่างกาย เพราะแรกเข้ารักษาอาการก็หนักแล้ว ปอดอักเสบเร็ว สะท้อนว่ามีเชื้อในร่างกายมากอยู่แล้ว ตอนนี้ห่วงการทำงานของปอดเท่านั้น ส่วนอาการของภริยาดีขึ้น วันนี้เข้าสู่การรักษาวันที่ 5 เตรียมหยุดยาฟาวิพิราเวียร์" คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าว
    ที่จ.ตาก เพจหมอแม่สอด โพสต์ความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรอบวันที่ผ่านมาระบุว่า พบกลุ่มสาวชาวไทยที่ไปประกอบอาชีพฝั่งจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา จำนวน 4 ราย ลักลอบข้ามมาทางท่าธรรมชาติ มาตรวจที่โรงพยาบาลแม่สอด เพื่อขอใบรับรองตรวจโรคเพื่อเดินทางออกนอก จ.ตาก ปรากฏว่าทั้ง 4 รายพบเชื้อโควิด-19 โดย 3 ใน 4 คนพบซากเชื้อโควิดที่ไม่แสดงอาการ ส่วนอีกรายค่อนข้างรุนแรง ถูกส่งเข้าห้องความดันลบทันที ส่วนอีก 3 รายที่พบซากเชื้อฝังอยู่ในร่างกาย ถูกส่งเข้า local quarantine กักตัว 14 วันเพื่อให้เชื้อหมดไปจึงจะปล่อยกลับบ้านได้
    ด้าน พ.ต.อ.สุรเวช การวัฒนาศิริกุล ผกก.สน.ภาษีเจริญ เซ็นหนังสือบันทึกข้อความถึง บก.น.9 แจ้งมีผู้ใต้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีตำรวจยศ ร.ต.อ. ตำแหน่งรอง สว.จร. ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังเข้าไปตรวจหาเชื้อที่ รพ.เกษมราษฎร์บางแค จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้สัมผัสใกล้ชิดกักตัว 14 วัน
    เบื้องต้นทราบว่าติดเชื้อมาจากภรรยา เนื่องจากภรรยาได้ไปเดินซื้อของที่ตลาดสดบางใหญ่ ซึ่งในขณะนี้เป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไทม์ไลน์ ร.ต.อ.ดังกล่าว วันที่ 24-25 ธ.ค. ไปตลาดบางใหญ่ จ.นนทบุรี ด้วยรถยนต์ส่วนตัว และเดินทางไปประชุมที่สำนักงานเขต จากนั้นไปปฏิบัติหน้าที่จุดเพชรราชพฤกษ์ วันที่ 26 ธ.ค. พักผ่อนอยู่บ้าน, วันที่ 27-30 ธ.ค. ไปปฏิบัติหน้าที่ที่จุดเพชรราชพฤกษ์, วันที่ 31 ธ.ค. พักผ่อนอยู่บ้าน,  วันที่ 1 ม.ค. ไปปฏิบัติหน้าที่ที่จุดเพชรราชพฤกษ์, วันที่ 2 ม.ค. ตอนเย็นไปตลาดสดแถวบ้าน ตลาดกรุงนนท์ ย่านตลิ่งชัน, วันที่ 3 ธ.ค. พักผ่อนอยู่บ้าน, วันที่ 4 ม.ค. ไปตรวจหาเชื้อโควิด กระทั่งวันที่ 5 ม.ค. แพทย์แจ้งผลว่าติดเชื้อและให้มารักษาตัวที่ รพ.เกษมราษฎร์บางแค.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"