ทวงสิทธิ์ลูกจ้างเตะฝุ่น ‘จับกัง1’ควักแล้ว264ล.


เพิ่มเพื่อน    

"สุชาติ" เผยสั่ง ก.แรงงานไล่บี้ทวงสิทธิ์ลูกจ้างตกงานช่วงโควิด-19 ได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว 264 ล้านบาท "บิ๊กตู่" กำชับดูแลเศรษฐกิจฐานราก ลดผลกระทบผู้มีรายได้น้อย เร่งส่งเสริมอาชีพ หลังประสบสถานการณ์โควิด-19
    เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความห่วงใยลูกจ้างพร้อมสั่งการมาที่ตนให้ติดตามปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะกรณีลูกจ้างจำนวนมากที่ถูกบริษัทเลิกจ้างกะทันหันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบก่อน อาทิ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ที่เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 2,500 คน, บริษัท ยูนิสันแพน (เอเซีย) จำกัด เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 658 คน และขณะนี้การแพร่ระบาดระลอกใหม่มีแนวโน้มจะกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะซ้ำเติมลูกจ้างได้อีก หากยังไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย
    รมว.แรงงานเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งรัดติดตามการช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิลูกจ้างอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้รับสิทธิอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว เพราะปัญหาค่าใช้จ่ายในเรื่องความเป็นอยู่และปากท้องของแรงงานในปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้รายงานว่า ขณะนี้กรมได้ติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด โดยได้ดำเนินการประสานบริษัท วิงสแปนฯ และผู้ทำแผนฟื้นฟูบริษัท  การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยได้นำแคชเชียร์เช็คมาจ่ายให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 2,441 คนแล้ว รวมเป็นเงิน 258,309,031.87 บาท ยังคงมีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างยังไม่มารับแคชเชียร์เช็คอีกจำนวน 59 คน ซึ่งได้ให้คำแนะนำแก่บริษัทโอนเงินตามสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเข้าบัญชีธนาคารตามรายชื่อของลูกจ้างทั้ง 59 คนแล้ว
    นายสุชาติกล่าวว่า สำหรับกรณีลูกจ้างบริษัท ยูนิสันแพน (เอเซีย) จำกัด ที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานภายในระยะเวลาที่กำหนด และกรมได้แจ้งความดำเนินคดีต่อนายจ้างฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และกระทรวงแรงงานได้อนุมัติเงินกองทุนสงคราะห์ลูกจ้างกรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายเงินค่าชดเชย จำนวน 426 คน เป็นเงินจำนวน 6,743,750 บาท ซึ่งมีลูกจ้างมายื่นขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ฯ แล้วจำนวน 175 คน เป็นเงินจำนวน 2,713,750 บาท ในขณะที่มีลูกจ้างจำนวน 252 คน ได้ทำสัญญากับนายจ้างที่ยื่นข้อเสนอว่าจะจ่ายเงินค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ ซึ่งเป็นจำนวนงินที่ลูกจ้างพอใจ และได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาเพื่อเป็นหลักฐาน ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ได้เข้ามายื่นขอรับเงินกองทุนฯ กรมจะได้ประสานให้ลูกจ้างเข้ามารับเงินดังกล่าวต่อไป
    ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจประเทศได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจะช่วยลดผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อย และในระยะถัดไปจะช่วยให้มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรอีกด้วย
    โดยที่เมื่อวันที่ 8 ม.ค. มีการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาแผนงานโครงการที่จะต้องดำเนินการร่วมกันระหว่าง 8 กระทรวง 50 หน่วยงาน 1 รัฐวิสาหกิจ เบื้องต้นจะเสนอกรอบวงเงินให้สำนักงบประมาณพิจารณา จำนวน 6.3 พันล้าน ซึ่งจะเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณาร่วมกับแผนงานด้านอื่นๆจากกระทรวงต่างๆ ก่อนเสนอ ครม. ลำดับต่อไป
    รองโฆษกฯ กล่าวว่า สำหรับแผนบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ประจำปี 2565 ได้ตั้งกลุ่มเป้าหมายที่ 1. ประชาชนผู้มีรายได้น้อย 2.เกษตรกรรายย่อย 3.สถาบันเกษตรกร 4.วิสาหกิจชุมชน 5.ผู้ประกอบการชุมชน ครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ ประกอบด้วย 3 แนวทางคือ 1.การสนับสนุนการเข้าถึงปัจจัยการผลิต และการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ 2.การพัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 3.การพัฒนาการบริหารจัดการการตลาด ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นคือ ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้าถึงแหล่งทุนและที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 4.5 แสนราย ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพไม่น้อยกว่า 2.5 แสนราย ผลิตภัณฑ์ชาวบ้านได้รับการพัฒนาไม่น้อยกว่า 9,700 ผลิตภัณฑ์ และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เป็นต้น
    น.ส.รัชดากล่าวด้วยว่า โครงการต่างๆ ภายใต้แผนงานการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากนี้ เป็นการทำงานและรับผิดชอบร่วมกันระหว่างกระทรวง โดยที่มีแนวทางและเป้าหมายสอดคล้องเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ของการส่งเสริมอาชีพ การเพิ่มรายได้ ภายใต้แนวคิดการตลาดนำการผลิต อีกทั้งยังเป็นแผนงานโครงการต่อเนื่อง 3-5 ปี.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"