ส่องเทรนด์การกิน คนกรุงปี ’64 ให้โจทย์เพิ่ม 'ผัก' ซ่อมร่าง สู้ไวรัส


เพิ่มเพื่อน    

 ฟู้ดเดลิเวอรี ตอบโจทย์วิถีสังคมเมือง และส่งผลต่อพฤติกรรมการกินคนไทย

 

 

 

     ปี 2564 สหประชาชาติประกาศให้เป็น 'ปีแห่งผักผลไม้สากล' เพื่อยกระดับเรื่องผักและผลไม้เป็นประเด็นระดับโลก เพราะการกินใยอาหารจากผักผลไม้ทำให้มีสุขภาพดี เสริมภูมิต้านทานโรค สู้ไวรัสได้ ถ้าสำรวจพฤติกรรมการกินอยู่ของคนไทย โดยเฉพาะสังคมเมือง พบว่า คนไทยกินผักและผลไม้ไม่เพียงพอในแต่ละวัน คนไทย 4 ใน 10 คนเท่านั้นที่กินผักพอ ส่วนเด็กวัยเรียนจาก 10 คน มี 2-3 ที่กินผักมาก ซึ่ง FAO และ WHO ชี้กินผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 4-6 ขีด ลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้
    ยุคนี้เสิร์ฟถึงบ้าน ตอบโจทย์คนกรุง แนวโน้มคนเมืองพึ่งพาอาหารจากเดลิเวอรีและร้านสะดวกซื้อพุ่งสูงขึ้น แต่อาหารยอดฮิตจากร้านสะดวกซื้อเป็นไส้กรอก แซนด์วิช โยเกิร์ต รองลงมาคือ ของหวาน และเครื่องดื่มสารพัดยี่ห้อ ขณะที่เมนูยอดนิยมจากเดลิเวอรี มีอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว กะเพรา ต้มยำ ไข่ดอง อาหารฝรั่งเป็นเบเกอรี่ สเต๊ก และอาหารญี่ปุ่น สั่งซูชิ ราเมน ข้าวหน้าเนื้อ หน้าหมู กินกันอร่อย ซึ่งจานอร่อยยุค 4.0 มีผักน้อยมากถึงไม่มีเลย
    ทั้งนี้ เทรนด์อาหารที่ได้รับความนิยมบนโลกออนไลน์ ระหว่างเดือน ก.ค.62-มิ.ย.63 ผ่านแฮชแท็กเกี่ยวกับอาหาร เช่น #อร่อยบอกต่อ #เมนูกักตัว #cafehoppingbkk #รีวิวของกิน #อร่อยจนต้องรีวิว เมนูอาหารที่ติดอันดับเน้นเป็นอาหารรสจัด

.แนวโน้มการสั่งอาหารเดลิเวอรีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด


    สถานการณ์วิกฤติของประเทศจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ลามข้ามปี 63-64 ก็เป็นโจทย์ยากในการกระตุ้นการกินผักผลไม้ที่เพียงพอของผู้คน มีงานวิจัยยืนยันระบุชัดว่า คนไทยกลุ่มที่มีรายได้น้อยกินผักผลไม้ลดถึง 47% เหตุผลง่ายๆ คือ มีเงินไม่พอซื้อนั่นเอง
    สำรวจตลาดอาหารของบ้านเรา ตลาดผักและผลไม้สดมีส่วนแบ่งในตลาดอาหารรองจากตลาดอาหารแปรรูป บวกกับการเติบโตขึ้นของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง จำนวนร้านสะดวกซื้อที่มากขึ้นนั้น ทำให้คนไทยกินผักผลไม้น้อยลง เพราะรายการสินค้าอาหารที่ขายในร้านสะดวกซื้อ เน้นอาหารแปรรูป อาหารกินเล่น ขนมกรุบกรอบถึง 41% เมนูอาหารประเภทผักผลไม้สดขายน้อย ที่ขายเป็นผักผลไม้กระป๋องเท่านั้น ข้อมูลจากจับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2564 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
    นี่ยังไม่พูดถึงประเด็นสำคัญสารพิษตกค้างในผักผลไม้ตามร้านค้าและตลาดเกินมาตรฐานความปลอดภัย ส่งผลให้คนไม่ตัดสินใจซื้อหา ส่วนผักผลไม้อินทรีย์ที่กลายเป็นทางเลือกของคนกรุงที่ต้องการกินผักผลไม้ปลอดภัย ราคาผักผลไม้อินทรีย์แพงหูฉี่ เป็นอุปสรรคสำคัญการเข้าถึงผักผลไม้คนไทย

.สหประชาชาติประกาศให้ปี 64 เป็นปีแห่งพืชผักสากล ส่งเสริมให้กินผัก


    "แววตา เอกชาวนา" นักกำหนดอาหารวิชาชีพและที่ปรึกษาโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม เผยว่า ปี 2564 นี้มีเทรนด์ผักผลไม้สากลจากสหประชาชาติ ชวนให้ประเทศสมาชิกสนับสนุนกิจรรมเพิ่มความตระหนัก และเดินหน้านโยบายให้ความสำคัญกับคุณประโยชน์โภชนาการและสุขภาพของการกินผักผลไม้ รวมถึงลดของเสียเหลือทิ้งจากผักผลไม้ ซึ่งไทยยังต้องทำงานเรื่องนี้ต่อเนื่อง
    เพราะเมื่อสำรวจพฤติกรรมการกินของคนในสถานที่ทำงานช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เธอระบุว่า กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ ปัจจัยที่คนให้ความสำคัญการเลือกซื้ออาหารคือ ความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว รวมถึงความสวยงามของอาหาร อีกทั้งอาหารพร้อมทาน หรือ Ready To Eat เป็นที่นิยมมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ปัจจัยสนับสนุนมาจากร้านสะดวกซื้อเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น คนไม่มีเวลา ไม่มีพื้นที่ทำอาหาร วิถีชีวิตแบบสังคมเมือง ใช้ชีวิตครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้
    "แต่ที่น่าห่วงที่สุด การกินอาหารฟาสต์ฟู้ดหาง่าย รวดเร็ว หิวก็สั่งได้เลย อย่างพิซซ่า ไก่ทอด ฮอตดอก แฮมเบอร์เกอร์ เฟรนช์ฟราย มีภัยร้ายแฝงมา คือ ไขมันและโซเดียมที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย นอกจากนี้คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่ากินผักผลไม้ครบแล้ว 4 ขีดต่อวัน ทั้งที่กินราดหน้า 1 จาน มีผักไม่ถึง 25 กรัม หรือข้าวกะเพรา 1 จาน ผักไม่ถึง 10 กรัม บางคนนึกว่า กินผลไม้แทนผัก แต่มันแทนกันไม่ได้"  แววตา กล่าว

พืชผักพื้นบ้านนำมาทำอาหาร กินอร่อย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สู้ไวรัส


    จากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ กลับสู่นโยบาย Work from Home ไปจนถึงร้านอาหารจำเป็นต้องยุติการให้บริการนั่งทานภายในร้านตามเวลาที่กำหนด นักกำหนดอาหารวิชาชีพบอกว่า โควิดจะยืดเยื้อยาวนาน ทำให้ธุรกิจอาหารเดลิเวอรีเป็นทางเลือกของผู้คน เป็นชีวิตวิถีใหม่ที่จะอยู่กับคนไทยไปอีกนาน การแข่งขันในฟู้ดเดลิเวอรีทำให้เกิดสินค้าที่กระตุ้นความต้องการลูกค้า เน้นเมนูเนื้อ จัดโปรโมชั่นทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจสั่งซื้อเร็วขึ้น กลยุทธ์เหล่านี้ส่งผลต่อพฤติกรรมการกิน หากไม่มีการวางแผน อาหารที่เรากินจะไม่มีผักผลไม้เลย
    "ผักและผลไม้มีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถสร้างเสริมภูมิต้านทานโรคได้ มีสารต้ารอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยยืดอายุคน อยากให้กินผักเป็นยา อย่างกะเพรา สรรพคุณลดท้องอืด น้ำมันหอมระเหยจากกะเพราช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัส หอมแดง รวมถึงขมิ้น ข่า ลดติดเชื้อทางเดินหายใจ พืชผักยังเสริมสร้างวิตามินซีที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ขจัดเชื้อโรค ป้องกันหวัด เช่น ผักคะน้า มะระขี้นก" แววตาแนะการใช้ชีวิตช่วงโควิดกินผักผลไม้
    ไม่ว่าจะสั่งเมนูไหน เธออยากจะให้ทุกคนมีผักสดๆ เคียงมาให้เต็มจาน หรืออยู่บ้านเป็นเชฟทำเมนูง่ายๆ สนุกๆ เติมผักผลไม้ที่มีอยู่ในครัวในตู้เย็นเข้าไป ทุกมื้อเพิ่มผักหน้าใหม่ในจานอาหาร เท่านี้ก็เก็บ 400 กรัมได้สบายๆ การเตรียมสุขภาพรับมือสู้ไวรัสเป็นสิ่งที่คนไทยต้องให้ความสำคัญมากๆ

รถพุ่มพวงเร่ขายอาหาร อีกแหล่งซื้อผักพื้นบ้านราคาเบา


    เป็นที่รู้กันว่า คนที่มีรายได้น้อยส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงผักและผลไม้ ส่วนใหญ่มักจะอ้างว่า ผักแพง คำแนะนำที่น่าสนใจจากแววตาคือ สามารถเลือกซื้อผักพื้นบ้านตามฤดูกาล เพราะราคาถูกกว่าผักนอกฤดูกาล หาซื้อตามตลาดนัดในกรุงเทพฯ ได้ทั่วไป รวมถึงรถพุ่มพวงที่เร่ขายตามหมู่บ้าน ทั้งตำลึง ใบยอ สายบัว ดอกแค มะละกอดิบ กะหล่ำปลี หรือผักอะไรก็ได้ สำคัญคือต้องล้างให้สะอาด ป้องกันอันตรายจากสารพิษที่ตกค้าง ยิ่งจนยิ่งต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง แค่กินผักก็ลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล
    อีกสัญญาณเตือน คนกรุงเสี่ยง 'มะเร็งลำไส้ใหญ่' เพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการกินอาหาร มีข้อมูลจาก Thaihealth Watch สสส. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ รวบรวมสถิติสุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลัง ปี 53-62 คนไทยมีแนวโน้มตายด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่า ที่น่าสนใจ คนในเขตเมืองตายจากมะเร็งลำไส้ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากกว่าคนนอกเขตเมือง

 

ตลาดผักผลไม้ปลอดภัย ส่งเสริมการกินผักของคนเมือง


    รศ.นพ.ม.ล.ทยา กิติยากร อาจารย์หน่วยโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า มี 3 สาเหตุเพิ่มเสี่ยงเกิดโรค คือ พันธุกรรม เช่น ยีนผิดปกติ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ไม่ออกกำลังกาย และกินอาหารบางชนิด และโรคลำไส้อักเสบ
    ไทยพบแนวโน้มมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะเขตเมืองที่กินอาหารที่มีผักน้อย เน้นแต่เนื้อสัตว์และมีไขมันสูง รวมถึงภาวะอ้วนก็เพิ่มความเสี่ยง ซึ่งมีข้อมูลงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การกินผักจะช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ และควรลดการกินเนื้อแดง เนื้อปิ้งย่างที่เพิ่มเสี่ยงเกิดโรค ปรับการกินสำคัญมาก“ รศ.นพ.มล.ทยาย้ำ จำเป็นต้องส่งเสริมให้คนกินผักผลไม้ในชีวิตมากขึ้น.



 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"