ขานรับแจก7พัน พยุงศก.โต2.5%


เพิ่มเพื่อน    

 

“สุพัฒนพงษ์-อาคม” พร้อมใจแจงมาตรการเยียวยาโควิด “ขุนคลัง” ยันจ่าย 3,500 บาทแค่ 2 เดือน เพราะต้องประหยัดงบให้มากที่สุด แต่ยันเงินรัฐบาลเพียงพอ โอ่ครอบคลุม 35 ล้านคนได้เฮ แย้ม “คนละครึ่ง” ต้องประเมินเป็นรายไตรมาส  “ดีอีเอส” คุยเจรจาเอกชนเตรียมช่วยค่ามือถือทุกประเภท พร้อมเพิ่มความเร็วเน็ตบ้าน “ม.หอการค้าไทย” ยกมือเชียร์ บอกเกาถูกที่คัน ชี้หากคุมโควิดอยู่ใน ก.พ.ได้จะเสียหายแค่ 2 แสนล้าน

เมื่อวันพุธที่ 13 มกราคม ยังคงมีความต่อเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ในการคลอดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณามาตรการด้านไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 2 เดือน ในระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค.2564 ซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุม ครม.และได้มีการเห็นชอบ 3 มาตรการ  
    นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า มาตรการที่ 1 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.), ประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.), ลูกค้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และประเภท 10 ของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ (กิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ) รวมจำนวน 10.13 ล้านราย จะได้รับค่าไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรกทุกราย มาตรการที่ 2 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ได้แก่ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1.2 และ 1.3 ของ กฟน.  ประเภท 1.1.2 และ 1.2 ของ กฟภ. ลูกค้ารายย่อยของ กฟผ. และประเภท 11 ของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ รวม 11.83 ล้านราย จะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าในส่วนของหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากบิลค่าไฟฟ้าซึ่งใช้เดือน ธ.ค.2563 เป็นฐานในการคำนวณส่วนลด ทั้งนี้ ในการดำเนินงานดังกล่าวให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
    ส่วนมาตรการที่ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจของ กฟน.และ กฟภ.ลูกค้าตรงของ กฟผ.และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการฯ ที่มีลักษณะเป็นการอยู่อาศัยร่วมกับการประกอบธุรกิจรายเล็ก จะให้ค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรกทุกราย โดยจะแถลงรายละเอียดมาตรการความช่วยเหลือจาก กกพ., กฟน. และ กฟภ.อีกครั้งในวันศุกร์ที่ 15 ม.ค. 2564 นี้ โดยมาตรการดังกล่าวใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,202 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 23.70 ล้านราย หรือคิดเป็น 97% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ  
โวช่วยเหลือ 35 ล้านคน
       ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และในภาพรวมจะช่วยประคองเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการป้องกันการระบาดไม่ให้ขยายวงกว้าง โดยในส่วนของมาตรการเราชนะ จะเป็นการช่วยเหลือในกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการดูแล ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่นอกระบบ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ผู้ขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คาดว่ามีอยู่ราว 30-35 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำเสนอรายละเอียดต่อ ครม.อีกครั้งก่อนเปิดให้ลงทะเบียน
         "วิธีการลงทะเบียนจะไม่ยาก ต้องการแค่ข้อมูลส่วนตัวและเลขบัตรประชาชนเท่านั้น รอบนี้เราจะพยายามทำให้การลงทะเบียนง่ายขึ้นกว่ารอบแรกหรือโครงการเราไม่ทิ้งกัน" นายอาคมกล่าว และว่า ส่วนความช่วยเหลือที่รัฐบาลกำหนดไว้เพียง 2 เดือนนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องประหยัดการใช้งบประมาณให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นกัน
        นายอาคมยังกล่าวถึงโครงการคนละครึ่งทั้งเฟส 1 และเฟส 2 ว่าได้ผลตอบรับที่ดีมากจากประชาชน ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศได้มากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก หลังจากที่รายได้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งขณะนี้รัฐบาลขอพิจารณาสถานการณ์เป็นรายไตรมาสว่ายังจำเป็นต้องขยายเวลาโครงการในลักษณะนี้ออกไปอีกหรือไม่
       "ไม่ได้บอกว่าจะไม่ทำต่อ ยังมีโอกาส แต่หลักการที่เราจะดูคือ เวลานี้เศรษฐกิจของเราที่เคยอาศัยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศขณะนี้ยังไม่มีเข้ามาเลย ดังนั้นเราต้องใช้วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในก่อน เราจะดูไตรมาสต่อไตรมาส ยังไม่เคยบอกว่าจะไม่ทำต่อ ต้องดูว่ากำลังซื้อของประเทศดีขึ้นหรือไม่ และประชาชนได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ถ้าได้ประโยชน์จริง รัฐบาลก็ยินดีจะพิจารณา" รมว.การคลังระบุ
      นายอาคมยืนยันว่า รัฐบาลยังมีเม็ดเงินเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยขณะนี้ยังมีเงินเหลือจากในส่วนที่กู้มาตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนที่กังวลว่าถ้าสถานการณ์โควิดรอบนี้ยาวนานเกินกว่า 2 เดือนที่รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือในเบื้องต้นนั้น คงไม่มีใครอยากเห็นภาพแบบนั้น ดังนั้นจึงต้องพิจารณาใน 2 ส่วนควบคู่กันไปคือ ทำอย่างไรไม่ให้ระบาดมากไปกว่านี้ และจำกัดพื้นที่ให้ได้น้อยที่สุด ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับเรื่องเศรษฐกิจ คือให้ยังเดินต่อได้ด้วย ซึ่งการระบาดในรอบใหม่นี้ถือว่าดีกว่ารอบก่อน เพราะรอบนี้มีความก้าวหน้าเรื่องวัคซีนที่จะนำมาใช้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะทำให้เกิดความมั่นใจได้มากขึ้นว่าการระบาดรอบนี้จะไม่กินเวลายาวนานและไม่ขยายวงกว้างมาก ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ไทยจะถือเป็นประเทศแรกๆ ที่สามารถทำให้เศรษฐกิจไม่ได้หยุดชะงักท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาด
         "ความท้าทายของปีนี้คือทำอย่างไรให้ทั้งสองเรื่องเดินไปด้วยกันได้ สังเกตดูว่าที่โควิดระบาดรอบนี้ แม้แต่ในพื้นที่สีแดง การใช้จ่ายโครงการคนละครึ่งก็ยังเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้หยุดชะงักไปหมด ยกเว้นกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเป็นจุดเสี่ยง เพราะคนทั่วไปยังต้องกินต้องใช้ ถ้าทำได้สำเร็จ เราจะเป็นประเทศแรกๆ ที่สามารถทำให้เศรษฐกิจกับเรื่องการแพร่ระบาดไปด้วยกันได้" นายอาคมกล่าว
        รมว.การคลังย้ำว่า การออกมาตรการแต่ละเรื่อง รัฐบาลรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนมาโดยตลอด สำหรับมาตรการชุดแรกที่ออกมานี้ ในระยะต่อไปอาจพิจารณาเพิ่มเติม โดยจะพยายามให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปได้ เช่น อาจช่วยเรื่องมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
“14 ล้าน-คนรวย”แห้ว
    นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า กลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,500 บาท นาน 2 เดือน เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว เช่น กลุ่มข้าราชการกว่า 3 ล้านคน พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ กลุ่มที่อยู่ในฐานระบบกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน รวมทั้งผู้ที่มีรายได้สูง ซึ่งกระทรวงการคลังจะมีเกณฑ์มาวัดว่ารายได้เท่าใดจึงไม่ได้รับเงิน 3,500 บาท โดยพิจารณาบัญชีเงินฝาก รายได้เข้า-ออกเดือนต่อเดือน ฐานข้อมูลผู้เสียเงินภาษี เป็นต้น
    ส่วนนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ได้หารือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม ในรูปแบบการสนับสนุนค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งลูกค้าในระบบรายเดือน (โพสต์เพด) และระบบเติมเงิน (พรีเพด) ผ่านการทะเบียนรับสิทธิในจำนวนที่กำหนด เช่น 5 ล้านสิทธิ์ เป็นต้น สำหรับผู้ใช้บริการเติมเงินทุกราย และผู้ใช้บริการรายเดือนที่ใช้แพ็กเกจรายเดือนต่ำกว่า 500 บาท ส่วนสิทธิและจำนวนเงินการสนับสนุนต่อรายนั้น รวมถึงเวลาในการสนับสนุนนั้น ยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุปร่วมกัน อาจเป็น 100 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ขึ้นอยู่กับงบประมาณและจำนวนผู้ใช้งานว่าเป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้นจำนวนเท่าไหร่ โดยจะรีบหาข้อสรุปก่อนเสนอ ครม.โดยเร็ว
“ก่อนหน้านี้ได้ขอความร่วมมือให้โอเปอเรเตอร์ไม่คิดค่าบริการดาต้าสำหรับประชาชนที่โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะเป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม 11 ม.ค. ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวมีการเรียกหาตำแหน่งตลอดเวลามีการใช้ดาต้าเฉลี่ยวันละ 100 เมกะไบต์ คิดเป็นเดือนละ 3 กิกะไบต์ ซึ่งปกติโอเปอเรเตอร์มีแพ็กเกจ 3 กิกะไบต์ ที่เดือนละ 199 บาท ดังนั้นหากมีการใช้งานฟรีโดยไม่เสียดาต้า ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนใช้งานแอปฯ หมอชนะมากขึ้น ทำให้การเฝ้าระวังมีความแม่นยำ” นายพุทธิพงษ์ระบุ
นายพุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า กสทช.ยังได้ร่วมกับโอเปอเรเตอร์ช่วยเหลือประชาชนในการใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านและเน็ตมือถืออีกเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ได้แก่ 1.ปรับเพิ่มความเร็วขึ้นไม่ต่ำกว่า 100/100 เมกะบิต สำหรับผู้ใช้บริการในโครงข่ายไฟเบอร์ และเพิ่มความเร็วให้เต็มขีดความสามารถของอุปกรณ์นั้นๆ ในกรณีที่ไม่ได้ใช้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ และ 2.การออกแพ็กเกจเสริมพิเศษในราคา 79 บาทต่อเดือน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 10 เมกะบิต สำหรับการใช้แอปฯ เวิร์กฟรอมโฮมต่างๆ
ม.หอการค้าไทยชี้แก้ตรงจุด
     วันเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือที่รัฐบาลออกมาถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่ง ม.หอการค้าไทยประเมินว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทต่อเดือน หากสถานการณ์ยืดเยื้อ 1 เดือนครึ่ง-3 เดือน ก็จะเสียหายประมาณ 3-4 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ได้ โดยสถานการณ์ทั้งหมดจะคลี่คลายในเดือน ก.พ.2564 ซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจปี 2564 หดตัวเหลือ 2.2% จากที่คาดการณ์เดิมที่ 2.8%
    นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า มาตรการแจกเงิน 3,500 บาท 2 เดือน ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น โดยต้องโอนเงินเข้าถึงมือประชาชนเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าวิธีอื่นที่อาจไม่ทัน เป็นการแก้ไขได้ตรงประเด็น เพราะการขยายมาตรการคนละครึ่งถือว่าเต็มที่แล้ว และมีข้อจำกัด จากผู้รับสิทธิ์ 15 ล้านคน แม้จะเปิดเพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ์ ก็ยังเป็นตัวเลขตามกรอบเดิมอยู่ รวมถึงมาตรการเราเที่ยวด้วยกันก็ยังมีข้อจำกัด
         “มาตรการแจกเงินจะมีเงินเติมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยส่วนที่หายไปได้ไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท น่าจะเพียงพอจุนเจือสถานการณ์ โดยประเมินว่าหากมีการแจกเงินถึง 15 ล้านคน จะใช้เงินมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ก็จะมีโอกาสโตได้เพิ่มอีก 0.5-0.6% และมีโอกาสขยายตัวมากกว่า 2.5%” นายธนวรรธน์กล่าว
         นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาให้คลี่คลายได้ภายในเดือน มี.ค.2564 และหลังจากนั้นต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 2564 ซึ่งอาจยังทำได้ไม่มาก จึงต้องใช้มาตรการเดิมที่มีอยู่ไปก่อน เช่น มาตรการคนละครึ่ง และเที่ยวด้วยกัน ซึ่งหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลขยายเวลาโครงการให้ครอบคลุมถึงไตรมาส 2-3 ปี 2564 รวมทั้งมาตรการอื่นๆ เช่น การสนับสนุนให้เกิดการเดินทาง อบรมสัมมนา การดูแลค่าเงินบาท การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการพยุงการจ้างงานไม่ให้มีการปลดคนงาน.
    
          

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"