ความลับสามเรื่องที่ไม่ลับของปี 2563


เพิ่มเพื่อน    

สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านและแฟนคอลัมน์ "เขียนให้คิด" ทุกท่าน ปีที่แล้วเป็นปีที่หลายคนทั่วโลกอยากลืม เพราะเต็มไปด้วยความยากลำบากและมีการสูญเสียมาก ทั้งจากวิกฤติโควิด-19 และความรุนแรงของเศรษฐกิจตกต่ำ ปีนี้ก็ยังดูจะไม่ดีขึ้นเพราะเริ่มต้นปีทั่วโลกรวมถึงประเทศเราก็เจอกับพิษการระบาดรอบสองที่รุนแรง และไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลงง่าย ๆ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลกมากขึ้นอีก ดังนั้น ปีนี้คงเป็นอีกปีที่เราต้องทำใจและฝ่าฟันวิกฤติไปด้วยกัน จึงอยากให้ผู้อ่านทุกท่านดูแลสุขภาพ และมีกำลังใจดีที่จะผ่านปีนี้ไปด้วยสติและปัญญา

ช่วงปีใหม่ผมได้อ่านบทความสั้น ๆ ของ ดร.ยานิส วารูฟากิส (Yaris Varoufagis) ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเอเธนส์ อดีตรัฐมนตรีการคลัง ประเทศกรีซ บทความชื่อ "ความลับเจ็ดอย่างของปี 2020" (The seven secrets of 2020) พูดถึง "ความลับ" ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือ ข้อเท็จจริงที่เราอาจไม่ตระหนักของเศรษฐกิจการเมือง และระบบทุนนิยมโลกที่วิกฤติโควิด-19 ได้เปิดเผยให้เห็นปีที่แล้ว 

เจ็ดความลับนี้คือ หนึ่ง อำนาจที่มหาศาลของรัฐบาล สอง เงินมหาศาลที่ถูกสร้างขึ้นโดยการใช้อำนาจของภาครัฐ สาม ข้อเท็จจริงว่าภาวะล้มละลายของประเทศไม่ได้มาจากฐานะทางการเงิน แต่มาจากการตัดสินใจทางการเมืองของประเทศที่เป็นเจ้าหนี้ สี่ ความร่ำรวยของกลุ่มอภิมหาเศรฐกิจสามารถเพิ่มขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ในปีวิกฤติโดยไม่ต้องทำอะไร หรือผลิตอะไร ห้า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เช่น การคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด สามารถเร่งรัดได้โดยอำนาจรัฐและอำนาจเงิน หก ระบบทุนนิยมที่กำลังเปลี่ยนเป็นระบบผูกขาดเพราะการแข่งขันที่เป็นหัวใจของทุนนิยมนับวันจะมีน้อยลง และ เจ็ด ความเป็นจริงที่ว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรคงอยู่ได้ ซึ่งวิกฤติโควิด-19 คราวนี้ชี้ให้เห็นชัดเจน

ผมอ่านบทความแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกถึงบ้านเรา และตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรคือ ความลับของประเทศหรือของเศรษฐกิจเราที่ได้ถูกเปิดเผยให้เห็นปีที่แล้วจากพิษของโควิด-19 ปีที่แล้วเป็นปีที่มีหลาย ๆ อย่างระดับหัวเลี้ยวหัวต่อเกิดขึ้นในบ้านเรา ทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจในความเห็นของผมมีอย่างน้อยสามเรื่องที่ได้ถูกเปิดเผยให้เห็นในปี 2020 สามเรื่องนี้จะพูดว่าเป็นความลับก็ไม่ถูกเลยทีเดียว คือเป็นเรื่องที่พอรู้กันแต่เราอาจไม่แน่ใจ หรือไม่ตระหนักว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เลวร้ายแค่ไหน แต่พอวิกฤติโควิดเกิดขึ้น ทุกอย่างก็ชัดเจนเหมือนน้ำลดตอผุด กลายเป็นเรื่องที่ไม่ลับอีกต่อไป

วันนี้จึงอยากเขียนถึงสามเรื่องนี้ เรื่องของความลับที่กลายเป็นเรื่องไม่ลับในปี 2020

เรื่อง แรก คือ อำนาจรัฐ ซึ่งชัดเจนจากปีที่แล้วว่า การเมืองบ้านเรามีอำนาจมาก หรืออาจมีอำนาจมากเกินไป (too powerful) คือ นักการเมืองโดยรัฐบาลสามารถใช้อำนาจทางการเมืองได้อย่างเต็มมือ สั่งให้ประชาชนทำอะไรก็ได้โดยอ้างกฏหมาย ใช้การอ้างกฏหมายสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจ ขณะเดียวกันอิทธิพลของการเมืองก็เข้าไปในทุกหัวระแหง จนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอ่อนแอเหมือนตรวจสอบไม่ได้ นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดก็เหมือนยิ่งติดดาบติดเขี้ยวให้ภาครัฐในการใช้อำนาจ ทำให้สิ่งที่ทำหรือที่สั่งการดูชอบธรรม มีเหตุมีผล

เราจึงเห็นภาครัฐสั่งปิด หรือ lock down ธุรกิจ ให้ประชาชนอยู่บ้านห้ามเดินทางเพื่อหยุดการระบาด ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกและเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และเมื่อประชาชนให้ความร่วมมือ ยอมอยู่บ้านเป็นเดือน ๆ สถานการณ์การระบาดก็คลี่คลาย แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีอำนาจมากและถ้าใช้อำนาจอย่างถูกต้องและประชาชนร่วมมือ ปัญหาที่มีอยู่ก็สามารถแก้ไขได้

แต่ปัญหาอื่น ๆ ในบ้านเราก็มีมาก จึงมีคำถามว่า ทำไมภาครัฐไม่ใช้อำนาจที่มีมากแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่ประเทศมีเพื่อประโยชน์ของประชาชน ที่พูดกันมากปีที่แล้วคือ เรื่องการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ การทุจริตคอร์รัปชั่น และถ้าพูดถึงปีนี้ก็คือ ความไม่เอาไหนของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ละเลยการทำหน้าที่จนเกิดการระบาดรอบใหม่ที่กำลังกระทบประชาชนและเศรษฐกิจขณะนี้ คำถามคือ ทำไมภาครัฐไม่ใช้อำนาจที่มีมากจัดการกับปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยและประเทศเดินหน้าต่อได้อย่างเข้มแข็ง

ในเรื่องนี้มีการตั้งข้อสังเกตุว่าที่ภาครัฐไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่แก้ไขปัญหาสำคัญที่ประเทศมี ก็เพราะ หนึ่ง ระบบการเมืองในประเทศเราไม่สนองตอบการแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี ซึ่งเป็นอย่างนี้มานาน เพราะคนที่เข้ามาทำหน้าที่การเมืองไม่สามารถประนีประนอม (Compromise) และหาจุดร่วมกันได้ที่จะนำพาประเทศให้ดีขึ้น เมื่อไม่ทำผลคือ ความแตกแยก และระบบการเมืองที่ยืนห่างจากปัญหาที่ประเทศมี สอง มีอำนาจเหนืออำนาจการเมืองที่ทำให้การเมืองของประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะอำนาจดังกล่าวไม่พร้อมที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการรักษาสถานภาพอย่างปัจจุบันเอาไว้

ความลับที่ไม่เป็นความลับเรื่องที่ สอง คือ พลังและอิทธิพลของระบบราชการที่มีมากจนสามารถจับฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจเป็นเชลยได้ จากการไม่ทำอะไรหรือขับเคลื่อนอะไรจริงจัง หรือทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ประเด็นคือ ระบบราชการของเราขณะนี้ถูกมองว่าเป็นปัญหาต่อการทำธุรกิจและการพัฒนาประเทศ เช่น การสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจไทยและต่างประเทศ โดยองค์กร World Economic Forum ในรายงาน The Global Competitiveness Report 2017-18 ที่ชี้ว่าปัญหาสำคัญในการทำธุรกิจในประเทศไทย ห้าอันดับแรก คือ ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ประสิทธิภาพของระบบราชการ ความไม่เสถียรของนโยบาย ความสามารถด้านนวัตกรรม และการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งทั้งห้าปัญหาล้วนเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของภาครัฐและภาคราชการทั้งสิ้น

ในวิกฤติคราวนี้ เราหวังจะเห็นบทบาทของภาคราชการที่เข้มแข็งในการนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหา นำนโยบายหรือมาตรการของรัฐบาลไปปฏิบัติ เช่น การฟื้นเศรษฐกิจ และป้องกันไม่ให้การระบาดเกิดขึ้นอีกตามนโยบายสาธารณสุขที่รัฐบาลได้วางไว้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าที่เราเห็นคือ ความไม่เข้มแข็งในบทบาทเหล่านี้ แม้เป็นเวลาที่ประเทศมีวิกฤติ

เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งที่เห็น คือ ความกระตือรือร้นและความสามารถที่จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนกลับขาดหายไป เห็นได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่สามารถนำทรัพยากรที่มีออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างทันเวลา ทำให้พลังการแก้เศรษฐกิจดูอ่อนลง และรัฐต้องพึ่งพามาตรการแจกเงินอย่างเดียว ผลคือความเสียหายต่อเศรษฐกิจอาจมีมากกว่าที่ควรเป็นจากความไม่ทันเวลาของการผลักดันมาตรการ

เรื่องสาธารณสุข สิ่งที่เราเห็นคือ ความหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ จนทำให้การระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น และต้นเหตุหลักล้วนเกี่ยวโยงกับธุรกิจที่ผิดกฏหมายทั้งสิ้น ประเด็นคือ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐอีกส่วนเข้มแข็งกับการทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้การระบาดเกิดขึ้นที่จะกระทบคนทั้งประเทศด้วยมาตรการกักตัว 14 วันผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ข้าราชการอีกกลุ่มกลับยอมให้ธุรกิจผิดกฏหมายเกิดขึ้น ละเลยมาตรการคุมเข้มทางสาธารณสุขโดยไม่สนใจผลที่จะมีต่อส่วนรวม ปล่อยให้มีการเข้าออกประเทศของคนจำนวนมากโดยไม่มีการกักตัวจนเกิดการระบาดไปทั่ว ธุรกิจผิดกฏหมายเหล่านี้จะอยู่และเติบโตเป็นกระบวนการไม่ได้เลย ถ้าผู้ที่ทำหน้าที่รักษากฏหมายที่มีหน้าที่โดยตรงในการจับกุมป้องกันเรื่องผิดกฏหมายเหล่านี้ ทำหน้าที่ของตนอย่างจริงจัง ไม่ยอมให้สิ่งผิดกฏหมายเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงตอกย้ำว่า ระบบราชการของเรามีปัญหามาก ไม่เป็นเอกภาพและอาจคุมไม่ได้ จนการไม่ทำหน้าที่กำลังสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมาก

คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้ระบบราชการ ซึ่งมีกำลังคนมากกว่า 1.3 ล้านคนสนับสนุนการทำธุรกิจและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับให้จริงจังกว่านี้ อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้ฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจมากไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบราชการได้ ในเรื่องนี้สิ่งที่ไม่อยากเห็นและไม่ควรเกิดขึ้นคือ อิทธิพลของระบบราชการใหญ่มากและเกินความสามารถของฝ่ายการเมืองที่จะเข้าไปหักหาญ

ความลับที่ไม่ลับเรื่องที่ สาม คือ ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ประเทศมีจนคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามวิกฤติ ประเด็นคือ ก่อนโควิดความเหลื่อมล้ำที่ประเทศเรามีก็รุนแรงติดอันดับโลกอยู่แล้ว ขณะที่ความยากจนเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่สิ่งเหล่านี้ดูเป็นนามธรรม คือ มองไม่เห็นความรุนแรงของปัญหาในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัว แต่พอโควิดเกิดขึ้น ความรุนแรงของปัญหาก็เป็นที่ประจักษ์ เมื่อคนในประเทศเกือบ 40 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 67 ล้านคน ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ นี่คือ ความจริงที่วิกฤติคราวนี้เปิดให้เห็น

นอกจากนี้ที่เราเห็น คือ ประเทศเราไม่มีระบบช่วยเหลือทางสังคม (soical safety net) ให้กับคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ดังนั้น เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นและคนเหล่านี้ขาดรายได้ ไม่มีงานทำ ก็จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว เป็นภาระอย่างมากต่อฐานะการคลังของประเทศ ขณะเดียวกันภาคเกษตรที่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยในแง่การเป็นแหล่งรายได้ของผู้มีรายได้น้อยในยามทุกข์ยาก สิ่งที่เห็นในวิกฤติคราวนี้ คือ ศักยภาพของภาคเกษตรที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ลดลงไปมากเพราะที่ดินที่เป็นของเกษตรกรจริง ๆ ได้ลดลง ประกอบกับการรุกคืบของเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทใหญ่ที่ทำให้ความสามารถในการหารายได้และความสามารถในการต่อรองราคาของเกษตรกรลดลงไปด้วย ไม่รวมต้นทุนในการทำเกษตรกรรม เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและปริมาณน้ำในภาคเกษตรที่ไม่เพียงพอจากปัญหาสภาพอากาศ (climate change) สิ่งเหล่านี้ลดความสามารถของภาคเกษตรในการเป็นฐานของการสร้างรายได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการกระจายรายได้ของประเทศ

ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเราได้มาถึงจุดที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะถ้ารุนแรงกว่านี้ ปัญหาก็จะเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศจะไม่มีการเติบโตของรายได้มากพอที่จะเป็นกำลังซื้อให้กับระบบเศรษฐกิจ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงสำคัญและจำเป็นมาก เป็นสิ่งที่วิกฤติคราวนี้เปิดให้เห็น

บทความของศาสตราจารย์ยานิส ที่ผมพูดถึงในตอนต้นจบลงด้วยความลับข้อที่เจ็ดที่ให้ความหวังเพราะในทุกสถานการณ์ที่ดูเหมือนย่ำแย่มักมีสิ่งที่ดีซ่อนอยู่ เหมือนเมฆทุกก้อนที่จะมีเส้นสีน้ำเงินให้เห็นเสมอ และความลับข้อเจ็ดที่ยานิสพูดถึงคือ ทุกสรรพสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรคงที่

ของเราก็เช่นกัน แม้ปัญหาและความอ่อนแอในประเทศจะมีมาก แต่ถึงจุดหนึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็จะเกิดขึ้น เพราะคนในสังคมต้องการสิ่งที่ดีขึ้นและจะช่วยกันแก้ไขปัญหา ระดมความรู้ความสามารถที่สังคมมีเข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง ระบบราชการ หรือความเหลื่อมล้ำ.
 

เขียนให้คิด
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"