ชาวบางกลอยอพยพกลับป่า 'ใจแผ่นดิน' สมทบอีกระลอก-หนีโควิด อยู่ก็อดตาย


เพิ่มเพื่อน    

21 ม.ค.64 - ได้มีเสวนาออนไลน์เรื่อง "จากกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชาติพันธุ์" ซึ่งผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นายพฤ โอ่โดเชา ชาวกะเหรี่ยง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสุนี ไชยรส นักวิชาการจากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์  ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

นายอภิสิทธิ์ เจริญสุข ชาวบ้านบางกลอยกล่าวว่าสถานการณ์ในหมู่บ้านบางกลอยล่างตอนนี้ยังเงียบๆ แต่มีชาวบ้านที่อพยพขึ้นไปข้างบนกลับลงมาส่งข่าวให้ทราบโดยตลอด พวกเขายังรู้สึกกังวลเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ไม่เป็นธรรม ส่วนความเป็นอยู่นั้น ตอนนี้ชาวบ้านกางเต้นท์ ผูกเปลนอนกัน โดยไม่ได้มีการปลูกกระท่อม และได้เตรียมเพาะปลูกในไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นพื้นที่เดิมในจุดที่เคยถูกเผาไล่เมื่อปี 2554

“การที่ชาวบ้านตัดสินใจกลับขึ้นไปในครั้งนี้ เพราะตั้งแต่เจ้าหน้าที่พาลงมาตั้งแต่ปี 2539 ยังไม่มีการจัดการใดๆเลย เราร่วมประชุมและยื่นหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ หลายครั้งแล้ว หากชาวบ้านอยู่แบบเดิมก็อดตาย จึงตัดสินใจกลับขึ้นไป ชาวบ้านมีทั้งเด็ก ผู้หญิงและคนท้อง มีทุกรูปแบบ พวกเขาหาทางออกเกี่ยวกับที่ทำกินไม่ได้แล้ว เราออกไปรับจ้างก็ไม่ได้ ขายของก็ไม่ได้ พวกเราไม่มีรายได้เลย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว การมาอยู่ข้างล่างไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต อยู่ข้างบนใช้เงินน้อยมาก แต่อยู่ข้างล่างต้องใช้เงินเยอะ ที่สำคัญคืออยู่ข้างบนไม่ต้องใช้สารเคมี

นายสุรพงษ์ กองจันทึก กล่าวว่า การเอาชาวบ้านมาไว้บางกลอยล่าง ไม่ใช่เป็นอำนาจรัฐเพราะในกฎหมายไม่ได้มีการอนุญาตให้จัดตั้งหมู่บ้านในอุทยานฯ เพราะทั้งบางกลอยล่างและบางกลอยบนอยู่ในเขตอุทยานฯ การโยกย้ายชาวบางกลอยลงมาครั้งนี้เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่บางคน ส่วนหมู่บ้านบางกลอยบนใจแผ่นดินนั้น มีคนอาศัยมานานนับพันปีโดยในถ้ำใจแผ่นดินมีขวานหินของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยขวานเหล่านี้มีร่องรอยการใช้งานจริง และในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีนักเดินทางจดบันทึกไว้ถึงเส้นทางจากมะริด ข้ามมาแม่น้ำเพชรบุรีและล่องตามลำคลองต่อไปกรุงเทพ ซึ่งบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินซึ่งเป็นต้นน้ำจึงมีความสำคัญ โดยมีแผนที่ทหารระบุความเป็นหมู่บ้านไว้ชัดเจน ซึ่งศูนย์พัฒนาชาวเขา กรมประชาสังเคราะห์เคยสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2528 จนกระทั่งปี 2531 ได้มีการทำทะเบียนชาวเขาซึ่งมีชื่อปู่คออี้อยู่ด้วย และพบว่ามีชาวบ้านอยู่กระจัดกระจายกันหลายร้อยคน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปี 2539 ชาวบ้านบางกลอยถูกโยกย้ายมาอยู่ข้างล่าง แต่ชาวบ้านอยู่กันไม่ได้จึงย้ายกลับขึ้นข้างบนจนกระทั่งเกิดยุทธการตะนาวศรี เผาบ้านชาวบ้านจนเกลี้ยง และต่อสู้ในศาลกันมาหลายปี สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าบ้านบางกลอยเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น ใช้อำนาจเกินความจำเป็น ไม่ปฎิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการใช้อำนาจของพนักงาน ไม่ปฎิบัติตามมติ ครม.3 สิงหาคม 2553 และให้ยุติการจับกุม

“เมื่อเป็นท้องถิ่นดั้งเดิม ชาวบ้านก็มีสิทธิกลับไปได้ การบังคับย้ายเขาจึงผิดกฎหมาย ฝากหน่วยงานราชการว่าคำสั่งศาลปกครองออกมาแล้ว ชาวบ้านเขาทำถูกกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่รัฐต่างหากที่ทำผิดกฎหมาย” นายสุรพงษ์ กล่าว

นางสุนี ไชยรส กล่าวว่า การบังคับให้ปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยลงมาอยู่ข้างล่าง ไม่ใช่แค่เกิดปัญหาที่ดิน แต่ยังมีเรื่องบิลลี่หรือนายพอลละจี รักจงเจริญ หลานชายปู่คออี้ถูกคับให้สูญหาย แต่จนบัดนี้ยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ อยากเสนอว่า เราต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ต้องดำเนินการกับคนที่บังคับชาวบ้านให้อพยพลงมา และชาวบ้านควรมีสิทธิเต็มที่ในการกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน รัฐควรกลับไปสู่การปฎิบัติตามมติ ครม. สิงหาคม 2553 ขณะเดียวกันรัฐบาลควรทบทวนนโยบายเรื่องการจัดการป่า

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเรื้อรังและโยงใยหลายเรื่อง เวลามีปัญหาลักษณะนี้สังคมส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ บางครั้งมีอคติเหมารวม ภาพชาติพันธุ์เป็นภาพจำและเหมารวมที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อ 30-40 ปีเช่น การทำลายป่า การค้ายาเสพติด ดังนั้นจึงต้องต่อสู้เพื่อลดอคตินี้ กรณีที่เกิดขึ้นที่บางกลอยปะทุขึ้นในสถานการณ์โควิด โดยโควิดเป็นตัวเปิดแผลปัญหาเรื้อรังในสังคม ถ้ามองในแง่ดีก็ถือว่าเป็นโอกาส เดิมวิถีชีวิตชาวบางกลอยไม่ได้เสี่ยงกับโรคเหล่านี้ กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ค่อยมีโรคระบาดใหญ่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาอ่อนด้วยเพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อมีเชื้อโรคจึงติดง่าย

“หลักฐานต่างๆ ที่เอาออกมาแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านบางกลอยเป็นคนดั้งเดิม ไม่มีข้อโต้แย้ง ตอนนี้เหลือแต่เรื่องมนุษยธรรม ว่าเราจะมีใจให้พวกเขาหรือไม่ ถ้าเราศึกษาทุกครั้งที่มีการเจ็บป่วย ทุกคนอยากกลับบ้านเพราะบ้านคือที่ที่ปลอดภัย เมื่อชาวบางกลอยถูกย้ายลงมาเผชิญชะตากรรม 20 ปี เมื่อเกิดโควิด จึงเป็นฟางเส้นสุดท้าย การที่กลับไปก็เพื่อความอยู่รอดของพวกเขา ถ้าเป็นเราก็คงกลับไปอยู่ที่ที่เราหาอาหารให้ลูกเราได้ ปัญหาบางกลอยมาถึงจุดที่ตั้งคำถามกับสำนึกของสังคมไทยจะอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรได้หรือไม่ เราปล่อยปละใช้มาตรการด้านกฎหมายอย่างเดียวมั้ย 20 ปีที่เอาพวกเขาลงมา มันไม่เวิร์ค มันปลุกเร้าสำนึกว่ารัฐควรปฎิบัติอย่างไร บางหน่วยงานอาทรร้อนใจหาทางออก แต่บางหน่วยงานยึดแต่กฎหมายทำให้ปัญหาทับซ้อนยิ่งขึ้น” นพ.โกมาตร กล่าว

นพ.โกมาตร กล่าวว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือรัฐบาลต้องยืดหยุ่นและประนีประนอมให้ชาวบ้านบางกลอย เพราะเขาต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่จิตวิญญาณ เมื่อพื้นที่เหล่านี้อยู่ในพื้นที่รัฐหรือเอกชน เราจะทำอย่างไรให้พวกเขาได้มีชีวิตอยู่ในจารีตประเพณีของเขา มายาคติที่บอกว่าคนอยู่กับป่าไม่ได้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ต้องดูว่าใครอยู่ ถ้าเป็นพ่อค้าไม้ก็อยู่ไม่ได้ สังคมต้องชัดว่าเราเห็นพี่น้องชาติพันธุ์อย่างไร 

นายมานพ คีรีภูวดล กล่าวว่ากรณีเร่งด่วนคือทุกฝ่ายต้องเข้าใจชาวบ้านและไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าประชาชนที่คิดต่างหรือเจ้าหน้าที่รัฐ อย่าได้คิดเรื่องการใช้ความรุนแรงเลย ส่วนคนที่จะเยียวยาก็ต้องว่าไป ถึงที่สุดก็ต้องมีทางออก ที่สำคัญต้องมีกลไกในการพูดคุย การอพยพชาวบางกลอยลงมาด้านล่างตั้งแต่ปี 2539 และปี 2554 เป็นการสะท้อนความล้มเหลวของรัฐที่พยายามเอาคนออกจากป่า เพราะมนุษย์กับป่าพึ่งพากันตลอด การอพยพจึงเป็นความล้มเหลวของระบบคิดของรัฐไทย และยังมีความล้มเหลวที่ทำให้คนที่อยู่ด้วยกันกลายเป็นอื่น ทั้งคนมอญ กะเหรี่ยง มลายู กัมพูชา คนเหล่านี้เคยมีความสำคัญในการสื่อสารให้ศูนย์กลางของรัฐ แต่ต่อมาคนเหล่านี้ถูกตัดทิ้ง และลืมความเป็นรัฐไทยใจอดีต ลืมการสร้างชาติร่วมกัน ทำให้คนไทยในเมืองไม่เข้าใจคนไทยในชายขอบ จึงเกิดกรณีบางกลอยและอีกหลายพื้นที่ 

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ชาวบ้านบางกลอยอีก 17 คน ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้หญิง ได้พากันอพยพขึ้นไปสมทบกับชาวบ้านที่ขึ้นไปก่อนหน้านี้ ทำให้ปัจจุบันมีชาวบ้านบางกลอยอพยพกลับขึ้นไปป่าใหญ่ใจแผ่นดินแล้วประมาณ 74 คน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"