แพทย์เตือนโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs-อ้วน-เบาหวานสุดเสี่ยง


เพิ่มเพื่อน    

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จี้จุดโควิดรอบ 2 รุนแรงกว่าครั้งแรก เตือนคนมีโรคประจำตัวน่าเป็นห่วง กลุ่มโรค NCDs เบาหวาน-อ้วน-โรคหลอดเลือดหัวใจ ชี้ผู้เสียชีวิตไม่ใช่เพียงปอดถูกทำลายสาเหตุเดียว แต่ตายจากไตวาย-เลือดไม่เลี้ยงแขนขา ย้ำไวรัสพัฒนาตัวเอง พร้อมกลายพันธุ์เสมอ สสส.วอนคนไทยสร้างสุขภาพตนเองรับมือ ใช้วัคซีนพฤติกรรมยกระดับป้องกันตนเองสูงสุด ทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีน

 

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ รุนแรงกว่าและต่างจากรอบแรก ด้วยเหตุผลหลายปัจจัย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากภายในสถานที่อโคจร การกระทำผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง คนไม่ยอมเปิดเผยตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงและติดโควิดมาแล้ว จะเป็นการง่ายกว่าในการสืบสวนต้นตอที่มาของโรคซึ่งมีที่มาอย่างซับซ้อน ความรุนแรงของโรคจากเชื้อโรคกลายพันธุ์ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ปอดทำงานไม่เต็มที่ เมื่อไวรัสจู่โจมระบบทางเดินหายใจอาจทำลายปอด 10-20% จนปอดไม่พื้นกลับมา

 

กลุ่มเสี่ยงมีดังนี้ 1.ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ จะเสื่อมตามกาลเวลา 2.คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง แม้ปอดถูกทำลายเล็กน้อย ก็จะส่งผลต่อชีวิตอย่างมาก ร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว 3.คนที่มีน้ำหนักมาก มีไขมันใต้ผิวหนัง หรือใต้ช่องท้องมาก รวมถึงผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มนี้เสี่ยงกับการหายใจที่ยากลำบากกว่าเดิม เพราะกระบังลมเคลื่อนไหวได้ยาก ทำให้ปอดทำงานได้น้อยลง

 

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวอีกว่า งานวิจัยพบเมื่อโควิด-19 เข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่สัปดาห์ที่ 2 หรือวันที่ 8 หลังรับเชื้อ เพื่อยับยั้งหรือช่วยไม่ให้เกิดโรค ถ้าภูมิคุ้มกันปกติ 2-3 สัปดาห์แรกจะทำงานเต็มที่ จากนั้นค่อยๆ ลดลง จึงพบมีกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และหายได้เอง หากภูมิคุ้มกับไม่ปกติ เพราะมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยารักษาที่ไปกดภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวาน ที่ควบคุมระดับน้ำตาลเองไม่ได้ เป็นโรคหลอดเลือด เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจัดการเชื้อโรคได้ คนกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่เพียงปอดถูกทำลาย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตเพราะไตวาย เลือดไม่ไปเลี้ยงแขนขา ความรุนแรงของเชื้อไปกระทบกับอวัยวะอื่นด้วย ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก

 

“ธรรมชาติของไวรัสทุกชนิดไม่เฉพาะโควิด-19 มันจะปรับตัวหรือที่เรียกว่ากลายพันธุ์อยู่เสมอ อย่างในอังกฤษพบว่าเชื้อโควิด-19 ติดต่อได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น ดังนั้นต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกลายเป็นวิกฤติ คือ 1.พบกับบุคคลเสี่ยง 2.อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 3.ร่วมกิจกรรมเสี่ยง 4.เข้าไปช่วงเวลาเสี่ยง คนไทยทุกคนต้องร่วมกันจัดการกับ 4 เสี่ยงนี้เท่าที่จะทำได้ตามปัจจัยและเงื่อนไขชีวิตตนเอง ไม่ต้องรอให้รัฐออกมาตรการ ไม่จำเป็นต้องให้มีการบังคับ นี่คือสิ่งที่เราจะช่วยปกป้องชีวิตของตัวเองและคนที่เรารัก” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non communicable diseases) อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไต หัวใจ เส้นเลือดอุดตัน และมะเร็ง มีความเสี่ยงโควิด-19 รุนแรงต่อโรคมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

 

โดยผู้ป่วยเบาหวานในไทยมีถึง 4.8 ล้านคน และข้อมูลจาก UNIATF (United Nations Inter Agency Task Force Mission to Thailand on Noncommunicable Disease) รายงานว่า ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงของโควิด-19 ถึง 7 เท่า

 

ขณะที่เด็กและเยาวชนมีปัญหาน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นถึง 13.1% ผู้ที่สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงถึง 1.5 เท่า และการดื่มสุราส่งผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานในการต่อสู้กับไวรัสต่ำลง แม้จะดื่มหนักเพียงครั้งเดียว เราจึงควรดูแลสุขภาพอยู่เสมอ เพราะร่างกายที่ดีจะเป็นต้นทุนสำคัญเพื่อต่อสู้กับทุกโรคไม่เฉพาะโควิด-19 และยกระดับการป้องกันตนเอง คนรอบข้าง และกลุ่มเสี่ยง โดยใส่หน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่ให้ตนเองกลายเป็นบุคคลเสี่ยงเสียเอง เปรียบเสมือนเรากำลังสร้างวัคซีนทางพฤติกรรมป้องกันการติดเชื้อ ทั้งในขณะที่วัคซีนฉีดยังไม่มา หรือแม้กระทั่งมีวัคซีนกันแล้วพฤติกรรมเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคเหล่านี้ก็ควรจะต้องยังปฏิบัติคู่ขนานไปต่อเนื่องไปด้วย

 

ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด อาชีพใด รวมทั้งตัวเรา ทุกคนในครอบครัวสามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้ทั้งนั้น มีข้อมูลพบว่าคน 100 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 80 คนไม่มีอาการป่วย ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อแล้ว อีก 15 คนมีอาการป่วยต้องได้รับการรักษา อีก 5 คนมีอาการป่วยรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิต 2-3% ดังนั้นคนไทยรับผิดชอบส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

 

โควิด-19 ติดต่อได้โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง โดยเฉพาะละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย ผ่านการไอ จาม และเราเองใช้มือของเราที่สัมผัสเชื้อมาเช็ดจมูก ขยี้ตา หรือเช็ดปาก หรือจับอาหารกิน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยที่เราไม่ได้ทันระวังตัว ลืมตัว ซึ่งเป็นไปตามความเคยชิน

 

โควิดไม่ติดถ้าเราช่วยกันป้องกัน เพียงทำตามคำแนะนำ และมีการป้องกัน ไม่ตายถ้ารักษา ไม่ตีตรา เพราะเราอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย ยิ่งชุมชนที่มีการรังเกียจ คนก็จะยิ่งปกปิดข้อมูล คนในชุมชนก็จะยิ่งเสี่ยงมาร่วมกันเปิดพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน ไม่รังเกียจ ไม่ขับไล่หรือไล่ล่า เพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงหรือคนที่ติดเชื้อโควิด-19 มีความมั่นใจที่จะออกมาบอกข้อมูลและเข้ารับการตรวจรักษา

 

การป้องกัน ไม่กีดกัน ต้องเริ่มต้นที่ตัวเรา เพราะทุกคนอาจจะติดเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ยังเป็นระยะที่ไม่มีอาการ เราจำเป็นต้องป้องกันตัวเองและผู้อื่นด้วยวิธีการดังกล่าว

1.สวมหน้ากากป้องกัน 2.ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ และทุกครั้งหลังจับสิ่งของใดๆ 3.เว้นระยะปลอดภัย 4.หลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์ การสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย ไม่จับมือหรือการรวมกลุ่มชุมนุมกัน ทั้งนี้เราต้องการระยะห่างทางกาย ต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทางสังคม

 

 

กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 จากโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งยังคุกคามผู้ป่วย ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนก่อให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีภาระต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง ทั้งนี้ในเลือดของคนปกติต้องมีน้ำตาลในระดับที่พอเหมาะอยู่ตลอดเวลา ถ้าระดับน้ำตาลต่ำเกินไปร่างกายจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาจถึงขั้นหมดสติหรือชัก ถ้าระดับน้ำตาลสูงมากๆ จะเกิดเป็นพิษ ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเสื่อมเร็วขึ้น ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ ในเวลาอันสั้นจะทำให้ชักหรือหมดสติได้

 

น้ำตาลในร่างกายได้จากอาหารที่รับประทานเข้าไป ก็จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล แต่ถ้าไม่ได้กินอาหารนานๆ ตับจะช่วยสร้างน้ำตาลให้ ไตก็ช่วยตับสร้างน้ำตาลได้ด้วย ส่วนใหญ่น้ำตาลที่ร่างกายสร้างขึ้นมานั้นมากกว่า 80% ได้มาจากตับ

 

สาเหตุมาจากการหลั่งอินซูลินซึ่งเป็นตัวที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ เรียกว่ามีภาวะขาดอินซูลิน หรือเกิดจากความสามารถในการตอบสนองต่อฤทธิ์ของอินซูลินลดลง เรียกว่ามีภาวะดื้ออินซูลิน หรืออาจจะเกิดจากทั้งสองอย่าง ทำให้เซลล์นำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ เบาหวานพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย อ้วนหรือผอม และหญิงมีครรภ์ก็มีสิทธิ์เป็นเบาหวานได้ แต่หลังคลอดก็จะหายได้เอง ดัชนีที่ชี้ว่าเป็นโรคเบาหวานคือ ดื่มน้ำมาก น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ปัสสาวะบ่อย มีอาการชาที่ปลายมือ ปลายเท้า ความรู้สึกลดลง การมองเห็นไม่ชัดเจน แผลหายช้า

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานชนิดเรื้อรัง ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาที่หลอดเลือดหรืออวัยวะใดของร่างกายจะทำให้เกิดความพิการ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ การมองเห็นบกพร่อง อาจตาบอดจากเบาหวานแทรกซ้อนที่จอประสาทตา อัมพฤกษ์อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไตวาย หลอดเลือดที่ขาตีบตัน อาการปลายประสาทเสื่อม ทำให้มีอาการชา ปลายมือปลายเท้า ปวดแสบปวดร้อน แขนขาไม่มีแรง เท้าหรือข้อเท้าผิดรูป

 

ดังนั้น จะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงกับปกติ ขณะเดียวกันต้องควบคุมภาวะหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่พบร่วมด้วย ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันผิดปกติในเลือดอย่างเข้มงวด สิ่งสำคัญต้องดูแลเรื่องอาหารให้ดี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์สั่งเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาว

 

ข้อมูลการลงทะเบียนเด็กและวัยรุ่นที่ป่วยเป็นเบาหวานมีอายุน้อยกว่า 18 ปีทั่วประเทศ จำนวน 915 ราย ในช่วงปี 2553-2557 โดยชมรมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย พบว่าความชุกของผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กมีมากกว่าชนิดที่ 2 โดยพบเบาหวานชนิดที่ 1 ทั้งหมด 612 ราย (จำนวน 67%) เบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 208 ราย (23%) ที่เหลือเป้นเบาหวานชนิดอื่นๆ อายุเฉลี่ยเด็กเป็นเบาหวาน 10.3 ปี

 

ปี 2563 เด็กไทยมีภาวะโรคอ้วนถึง 12% คาดหมายว่าอีก 10 ปีข้างหน้าในปี พ.ศ.2573 เด็กไทยในวัย 2-17 ปีจะมีภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านคน (16%) และอาจรุนแรงเป็น 2 เท่าถึง 3.9 ล้านคน (32%) ในจำนวน 50% เด็กที่มีภาวะโรคอ้วนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อ้วน 1.มีปัญหาต่อสุขภาพและพัฒนาการ 2.ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จทางการศึกษาและคุณภาพชีวิต 3.เสี่ยงต่อโรคร้ายในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDS) 4.มีระดับไขมัน ความดันเลือดและน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนแปลง เป็นภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน

 

เพื่อเป็นการรู้เท่าทัน ป้องกันโรคอ้วนในเด็ก องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดตั้งคณะกรรมาธิการระดับสูงว่าด้วย “การยุติโรคอ้วนในวัยเด็ก” จำเป็นต้องมีการจัดการควบคุมน้ำหนักสำหรับเด็ก การจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ระบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้งาน มีกลไกการติดตามผล เฝ้าระวัง ค้นหาและจัดการกับโรคอ้วน เพื่อให้บริการสาธารณสุขมูลฐาน ทั้งป้องกันและรักษาลดความเสี่ยงด้านสุขภาพในระยะยาว

 

การรู้เท่าทันตัวเลข “น้ำหนัก-ส่วนสูง” ช่วยป้องกันโรคอ้วนในเด็กไทย การชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงให้ได้มาตรฐาน อ่านผลได้อย่างถูกต้องและจัดเก็บเป็นประจำอย่างเป็นระบบช่วยประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนในเด็กได้ ทั้งยังเป็นการลดโอกาสเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDS มีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะสู้โรคโควิด-19 ได้

 

สสส.วอนสังคมไม่เลือกปฏิบัติผู้ติดเชื้อแรงงานข้ามชาติศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

 

หมอประสิทธิ์เตือน ต้องเร่งตั้ง รพ.สนาม แยกคนติดเชื้อ-คนป่วยออกจากคนปกติ ไม่รีบทำโอกาสระบาดพุ่ง-แพร่ในชุมนุมหนักกว่าเดิม-ทำระบบแพทย์ล่มสลาย ย้ำ “อะไรที่ผิดไปแล้ว อย่าให้เกิดซ้ำอีกครั้ง” บ่อนพนัน-ลักลอบเข้าเมืองต้องหมดไปเด็ดขาด สสส.วอนสังคมไม่เลือกปฏิบัติ แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดเชื้อ ล้วนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีความจำเป็นยิ่งที่ไทยต้องเตรียมตั้ง รพ.สนาม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหลายๆ พื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ต้องเร่งจัดหาสถานที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ นำมาพัฒนาเป็น รพ.สนาม สามารถดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการแต่แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ และรักษาผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ให้สัมผัสกับคนปกติ หากไม่เร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์การระบาดในไทยรุนแรงเพิ่มขึ้น ขอให้คนไทยทุกคนรับรู้ว่า รพ.สนามคือเครื่องมือควบคุมการระบาด และช่วยจัดสรรทรัพยากรช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้คนไทยปลอดภัยจากโควิด-19 มากขึ้น

 

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวอีกว่า รพ.สนามมีความจำเป็น 4 ข้อ คือ 1.ผู้ป่วยทั่วไปใน รพ.จะลดการติดเชื้อ แยกแยะระหว่างผู้ป่วยโรคทั่วไป ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่ให้ปะปนกัน 2.บุคลากรสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ลดความเสี่ยงติดเชื้อ เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ 3.รพ.ในระบบปกติจะมีเตียงเพียงพอสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่ต้องงดรับผู้ป่วยทั่วไป เหมือนช่วงระบาดเมื่อต้นปี 63 และ 4.ชุมชนจะปลอดภัยมากขึ้น เพราะ รพ.สนามจะรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ติดเชื้อ ผู้กักกันตัวเองที่อยู่ระหว่างรอผลยืนยัน ช่วยแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน ลดการแพร่เชื้อได้อย่างดี ตอนนี้ รพ.ต่างๆ เริ่มพบคนไข้โควิด-19 อาการหนักมากขึ้น และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หากยุทธศาสตร์ต้นน้ำไม่สามารถคุมการระบาดได้ ยุทธศาสตร์ปลายน้ำจะเอาไม่อยู่ และขอให้มั่นใจว่าหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงก็จะถูกส่งต่อไปยัง รพ.ปกติแน่นอน

“รอบนี้การติดเชื้อมาจากเรื่องที่ผิดกฎหมาย แหล่งอบายมุข การลักลอบเข้าเมือง การสอบสวนโรคจึงทำได้จำกัด ดังนั้นผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ ปิดบังไทม์ไลน์และไม่กักตัว ใช้ชีวิตตามปกติยังมีอีกมาก ในที่สุดไทยจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีอาการรุนแรงขึ้นจนทำให้เตียงใน รพ.ไม่พอ เหมือนหลายๆ พื้นที่เสี่ยงที่ รพ.ในพื้นที่เริ่มส่งสัญญาณแล้ว ผมขอร้องคนไทยทุกคนให้มองตามความจริง ว่า รพ.สนามคือตัวช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19 มากขึ้น เราต้องเร่งตั้ง รพ.สนาม ตั้งแต่วันนี้ เพราะการตั้ง รพ.สนามต้องใช้เวลา ทั้งเตรียมพื้นที่ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ บุคลากร เพื่อปฏิบัติตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด ดังนั้นขอให้มั่นใจเรื่องความปลอดภัยว่าเชื้อจะไม่หลุดรอดออกไป ผมขอฝากอีกเรื่องว่าสิ่งใดที่เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว ขออย่าให้เกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่รัฐต้องช่วยกันอย่าให้มีอีก คนไทยต้องร่วมใจกัน” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

 

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้ติดโควิด-19 ในระลอกนี้มีทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย การควบคุมโรคที่จะได้ผลดีควรจะดำเนินการโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติในทุกมิติ ทั้งระหว่างคนต่างสัญชาติ หรือการตั้งข้อรังเกียจกับผู้ติดเชื้อ คนข้างเคียงและคนที่รักษาหายแล้ว ซึ่งถ้าเกิดความกลัวที่จะถูกรังเกียจ ถูกต่อต้าน จะยิ่งทำให้เกิดการปกปิดข้อมูล ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง แม้ว่าเราต้องดูแลการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด แต่ก็ต้องดูแลไม่ให้ถึงขั้นไปด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของคนด้วยกัน และขาดความเห็นอกเห็นใจผู้ติดเชื้อที่ได้รับทุกข์อยู่แล้ว ท่าทีนี้จะทำให้เกิดความสะดวกใจ ยอมเปิดเผยข้อมูล ยอมรับการรักษา เกิดความร่วมมือในการช่วยดูแล ลดการกระจายเชื้อในชุมชนได้ผลดียิ่งกว่าสังคมที่ต่างคนต่างห่วงแต่ตัวเอง

สสส.จึงขอชวนให้ทุกคนทำความเข้าใจและปรับวิธีคิดว่าการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดและการเห็นอกเห็นใจไม่ตีตราผู้เสี่ยงผู้ติดเชื้อ เป็นเรื่องที่ทำควบคู่กันได้อย่างเกื้อกูล โดยรู้จักวิธีป้องกันตัวเองและผู้อื่นเสมือนเรามีเชื้อ ขณะเดียวกันก็ระวังคำพูด สายตา ท่าทางที่บั่นทอนคนอื่น ให้กำลังใจผู้ที่อาจติดเชื้อ ต้อนรับผู้ที่รักษาหายแล้ว และให้ความร่วมมือกับกระบวนการควบคุมโรคในชุมชนของเรา เช่น การให้ความร่วมมือกับกติกาต่างๆ ที่กำหนด การสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เป็นต้น

 

             

โรงพยาบาลสนามหรือ Field hospital หรือ Cohort center รพ.สนาม อาวุธสู้โควิด-19

 

เป็นการจัดตั้งที่พักสำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ ในพื้นที่ที่มีการควบคุม ทำให้การดูแลทันท่วงที

 

จะต้องมีการคัดกรอง ไม่รับกลุ่มที่มีอาการหรือมีความเสี่ยง รวมถึงระบบการส่งต่อกรณีที่ต้องการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน มีระบบดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น และระบบสำคัญๆ ของโรงพยาบาล โดยเฉพาะระบบการควบคุมการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการระบาดสู่บุคคลภายนอกและชุมชน ทำให้ชุมชนปลอดภัย ลดการแพร่กระจายเชื้อ บุคลากรทางการแพทย์ใน รพ.ไม่เสี่ยงต่อการติดโควิด-19

 

หลังจากการตรวจเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุขพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ทำให้ ศบค.มีแนวคิดที่จะให้พื้นที่หลายแห่งโดยเฉพาะพื้นที่ของกองทัพเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วย ก่อนหน้านี้มีการตั้งโรงพยาบาลสนามที่ จ.สมุทรสาคร ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร บริษัท พัทยาฟู้ด อินดัสตรี จำกัด และที่บริษัท วัฒนาฟาร์ม ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร

 

ขณะเดียวกัน ทางกองทัพเรือส่งมอบโรงพยาบาลสนามให้จังหวัดชลบุรี 3 แห่ง เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ โรงพยาบาลสนามศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โรงพยาบาลสนามค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โรงพยาบาลสนาม สนามฝึกกองทัพเรือ บ้านจันทเขลม หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จ.จันทบุรี นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลสนามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"