‘เข็มแรก’วาเลนไทน์ อย.ไฟเขียวแล้วย้ำฉีดวัคซีนครึ่งประเทศภายในปีนี้


เพิ่มเพื่อน    

 

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินยันการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลทำเต็มที่-รอบคอบ เตรียมฉีดวัคซีนเข็มแรก 14 ก.พ.นี้ ได้วัคซีนแล้ว 2 แหล่ง จาก Sinovac และ AstraZeneca ยันในสภาวการณ์ระบาดฉุกเฉินทั่วโลก รัฐจะเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีน  ยังไม่สามารถให้เอกชนจัดซื้อได้โดยตรง รองเลขาธิการ อย.เผยอนุมัติวัคซีนแล้ว 2 บริษัท โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ มีนโยบายฉีดให้ประชาชน 50% ภายในปีนี้
    เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการจัดหาวัคซีนมานานแล้วตั้งแต่กลางปี 2563 มีการตั้งเป้าหมายการจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้วัคซีนจาก 2 แหล่ง คือ แหล่งที่ 1 ระยะเร่งด่วน จากบริษัท Sinovac Biotech จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน จำนวน 2,000,000 โดส คาดว่าจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันวาเลนไทน์เดือนกุมภาพันธ์นี้
    แหล่งที่ 2 จากบริษัท AstraZeneca จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศอังกฤษและสวีเดน จำนวน 26,000,000 โดส คาดว่าจะได้รับวัคซีนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งศึกษาถึงรายละเอียด ความปลอดภัย ความคุ้มค่า ในบริบทที่มีความเสี่ยงอย่างรวดเร็ว เต็มที่ และรอบคอบแล้ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนคนไทย ซึ่ง สตง.ได้ให้คำแนะนำว่า ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างนั้น  จะไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อสิ่งที่ยังไม่มีในตลาดได้ แต่สถาบันวัคซีนแห่งชาติสามารถใช้จ่ายงบประมาณในลักษณะของการร่วมวิจัยพัฒนาวัคซีน
         พล.อ.วิทวัสกล่าวว่า โดยที่ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 กำลังเป็นที่ต้องการทั่วโลก และบริษัท AstraZeneca จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผลิตวัคซีนได้ มีเป้าหมายการผลิตวัคซีนจำนวน 3,000 ล้านโดสต่อปี แต่ไม่สามารถดำเนินการผลิตฝ่ายเดียวได้ จึงต้องหาพันธมิตรที่มีศักยภาพของบุคลากรและมีเทคโนโลยีที่พร้อมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการมาสำรวจบริษัทต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและในประเทศไทย และพบว่าบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีขีดความสามารถเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้ได้ และเป็นบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร AstraSeneca จึงเลือกที่จะร่วมมือกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยมีการตั้งเป้าการผลิตจำนวน 200 ล้านโดสต่อปี
    "ในสภาวการณ์ระบาดฉุกเฉินทั่วโลก รัฐจะเป็นผู้บริหารจัดการวัคซีน ยังไม่สามารถให้เอกชนจัดซื้อได้โดยตรง สำหรับการแจกจ่ายนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะทำหน้าที่แจกจ่ายกระจายต่อไปยังประชาชนหรือหน่วยงาน โดยเรียงลำดับความจำเป็นของผู้ที่ต้องการใช้วัคซีน ซึ่งต้องมีแผนควบคุมการใช้ การแจกจ่าย การติดตามผลข้างเคียง ไปจนถึงการทิ้งหรือการทำลายภาชนะบรรจุ ทุกอย่างต้องมีการรายงานโดยละเอียด เพื่อป้องกันอันตรายจากการฉีดวัคซีน และการติดตามผลอย่างใกล้ชิด" พล.อ.วิทวัสกล่าว
     นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 อย่างเต็มที่ ได้ระดมสรรพกำลังทั้งผู้เชี่ยวชาญภายในและภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด ยึดหลักว่าต้องเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล ไม่สามารถผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือลดหย่อนการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน
อย.อนุมัติวัคซีนแล้ว 2 บริษัท
    สำหรับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้า เซนเนก้า อย.ได้รับเอกสารการขอขึ้นทะเบียนในวันที่ 22 ธ.ค.2563 และได้จัดส่งเอกสารให้ผู้เชี่ยวชาญประเมิน ทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีน จนมีการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้า เซนเนก้า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 รวมเวลาการพิจารณาประมาณ 1 เดือน ซึ่งวัคซีนที่ อย.รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง
    นพ.สุรโชคกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้มายื่นขออนุมัติวัคซีนโควิด จาก อย. จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอสตร้า เซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้มายื่นขอ ซึ่ง อย.รอเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ยืนยันว่าไม่ปิดกั้นบริษัทใดมายื่นขออนุญาตและพร้อมให้คำปรึกษาหรือตอบข้อสงสัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตอย่างเต็มที่
    ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน (Sinovac Biotech Limited, People’s Republic of China) ซึ่งองค์การดำเนินการตามที่ได้มอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ได้แจ้งยื่นขออนุญาตขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไปแล้ว อยู่ระหว่างการประสานรวบรวมข้อมูลประกอบการยื่นขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติม โดยการดำเนินการนี้องค์การจะทำหน้าที่จัดซื้อตามจำนวนที่กรมควบคุมโรคแจ้งความต้องการมา เพื่อนำไปฉีดตามแผนการจัดสรรของประเทศ
    “การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นี้ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและแข่งกับเวลา ภายใต้สถานการณ์มีความต้องการใช้ทั่วโลก อีกทั้งวัคซีนที่มีอยู่เพิ่งเสร็จจากงานวิจัยเข้าสู่กระบวนการผลิตของแต่ละบริษัท และทั่วโลกมีความต้องการใช้สูง ทราบมาว่าขณะนี้มีบริษัทเอกชนรายอื่นที่ได้ขอขึ้นทะเบียนวัคซีนจากผู้ผลิตประเทศจีนเช่นเดียวกัน” นพ.วิฑูรย์กล่าว
     ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์มีนโยบายให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนร้อยละ 50 ภายในปีนี้ จึงต้องจัดหาวัคซีนประมาณ 70 ล้านโดส เพราะแต่ละคนต้องฉีดคนละ 2 โดส ซึ่งการนำเข้าวัคซีนนั้นจะรีบร้อนไม่ได้ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยไม่ให้เกิดความเสียหายด้วย โดยคาดว่าวัคซีนล็อตแรกประมาณ 50,000 โดสจะมาถึงประเทศไทยภายในเดือน ก.พ.นี้
    เขากล่าวว่า เมื่อวัคซีนมาถึงประเทศไทยแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการสุ่มตรวจว่ามีคุณภาพตามที่บริษัทกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนที่จะนำไปฉีดให้ประชาชน หลังจากนั้นบริษัทดังกล่าวจะทยอยส่งวัคซีนที่เหลือเข้ามาอีก 1.5 แสนโดสตามมา คาดว่าจะเป็นในเดือน มี.ค.และ เม.ย.
    หรับการผลิตวัคซีนของบริษัท แอสตร้า เซนเนก้า ในประเทศไทย ที่ร่วมกับบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ฯ ก็จะมีการขึ้นทะเบียนสถานที่ผลิตในประเทศไทย และมีผลให้ใช้ได้ในประเทศไทยในเดือน พ.ค.นี้ ประมาณ 26 ล้านโดส ที่จะผลิตในประเทศไทย ซึ่งบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ฯ พยายามดำเนินการเพื่อประโยชน์คนไทยผลิตวัคซีนในไทย มีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปี ดังนั้นไทยเองไม่ใช่แค่ผลิตเพื่อคนไทยเท่านั้น ในอนาคตสามารถแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้อีกด้วย ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการจัดหาวัคซีนรัฐบาลให้ความสำคัญตรวจสอบรัดกุมเพื่อความปลอดภัย
"แรมโบ้"ตบปาก"ธนาธร"
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกลุ่มก้าวหน้าบอกว่าคำว่าวัคซีนพระราชทานไม่ได้พูด แต่เป็นคำพูดของนายกฯ โดยระบุว่าหากนายธนาธรได้ฟังคำพูดของนายกฯ ที่แถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย.63 หลังเป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งนายกฯ ระบุตอนหนึ่งว่า “เราต้องมีการเตรียมการภายในประเทศคือ เมื่อรับวัคซีนมาแล้ว จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งอันนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้บริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย อยู่ในขั้นตอนคือเมื่อรับวัคซีนเข้ามาแล้วจะมีการบรรจุ แจกจ่าย"
    ดังนั้น ในคำพูดของนายกฯ เป็นการพูดถึงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย รับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 เข้ามาเป็นผู้ร่วมผลิตวัคซีนโควิดแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทผลิตวัคซีนสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน และไม่ได้บอกว่าเป็นวัคซีนพระราชทานเพื่อจะนำมาฉีดให้กับประชาชน
    นายสุภรณ์ยังชี้แจงว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย มีวัตถุประสงค์ที่อยากจะผลิตยาเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ใช้ยาที่มีราคาถูกกว่ายาที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยไม่คิดถึงกำไรเลยแม้แต่น้อย ต้องการให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดี
    “การที่นายธนาธรบิดเบือนคำพูดของนายกฯ คือสิ่งที่เลวทรามที่สุด ไร้จรรยาบรรณความรับผิดชอบ และยังกล้าก้าวล่วงพาดพิงไปถึงสถาบันเบื้องบนเพื่อให้คนสำคัญผิด และยังดูหมิ่นดูแคลนเยี่ยงนี้ พวกผมทนไม่ได้ ต้องทำหน้าที่ดำเนินคดีไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป ไม่ใช่เป็นการเตะตัดขาหรือทำลายเครดิตทางการเมืองของนายธนาธร แต่ทุกอย่างนายธนาธรพูดเอง ทำเอง ต้องรับผิดชอบเอง คนประเภทนี้เหมือนสุภาษิตปลาหมอตายเพราะปาก"
    เจ้าของฉายาแรมโบ้อีสานกล่าวว่า นายธนาธรก็ควรสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ที่ท่านทรงมีพระเมตตาทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอดจวบจนถึงทุกวันนี้ มากกว่าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์ พูดจาบจ้วงสถาบันไม่หยุด เพราะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งนั้น  
    นายสุภรณ์กล่าวว่า การที่นายธนาธรออกมาพูดเรื่องวัคซีนพระราชทาน เชื่อว่านายธนาธรได้ฟังคำพูดของนายกฯ อย่างละเอียดแล้ว และทราบดีว่านายกฯ ไม่ได้พูดถึงวัคซีนพระราชทาน แต่นายธนาธรมีความพยายามที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจในตัวนายกฯ และรัฐบาลผิดๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนเลย พร้อมกับย้ำว่าการที่ตนเองและพวกไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายธนาธรมาตรา 112 จึงเป็นเรื่องที่ทำถูกต้องแล้ว เพราะคนประเภทนี้ต้องได้รับกรรมตามที่ทำไว้
    "ในสมองวันๆ มีแต่ความอาฆาตแค้น เพราะไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่เคยมีจิตสำนึกว่าครอบครัวนายธนาธรร่ำรวยบนผืนแผ่นดินไทย แทนที่จะช่วยกันตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ตรงข้ามมีแต่จะสร้างปัญหาความแตกแยกวุ่นวายให้เกิดขึ้นตลอดเวลา พยายามที่จะยุยงให้คนออกมาทำลายสถาบัน นี่คือสิ่งที่คนไทยเกลียดที่สุด สวรรค์มีตา กรรมจะตามสนองคนอย่างนายธนาธรอย่างแน่นอน"
อวย"ไบเดน"ถล่ม"บิ๊กตู่
     ขณะที่นางสาวอรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโจ ไบเดน เพียงในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง นายไบเดนได้เซ็นคำสั่งพิเศษ 10 ฉบับ เพื่อรับมือกับการจัดการโรคโควิด-19 โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนเทียบเท่ากับแผนรับมือสถานการณ์ในภาวะสงคราม สิ่งที่ไบเดนให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกคือ การเร่งหาวัคซีนและการเยียวยาความเดือดร้อนให้ประชากรในประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยซึ่งติดเชื้อโควิดครบรอบ 1 ปี สิ่งที่ได้เห็นจากรัฐบาลคือการตั้งคณะทำงานเกือบ 10 ชุด สวนทางกับคณะทำงานแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ระดับโลก โดยจะมอบอำนาจให้ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขดูแล แต่ของไทยทำงานข้ามหัวรัฐมนตรี ไปรายงานและขออนุมัติโดยตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งผูกขาดคำสั่งการไว้เพียงผู้เดียวในฐานะหัวหน้า ศบค. ซ้ำยังปล่อยให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงซึ่งเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดระลอก 2 มาควบคุมสถานการณ์และออกมาตรการ โครงสร้างแบบนี้ต่อให้มีนายกรัฐมนตรีเป็นร้อยคนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
    กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ถอดบทเรียน 365 วัน กับ COVID-19 คนไทย...เรียนรู้อะไร” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,186 คน พบว่า ตลอดปีที่ผ่านมา สิ่งที่คนไทยเรียนรู้และปฏิบัติตัวเพื่อให้อยู่รอดปลอด COVID-19 มากที่สุด คือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่าง ร้อยละ 99.3 รองลงมาคือ ระวังตัวมากขึ้นเวลาไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ร้อยละ 86.6 และเช็กไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ เช็กข่าวพื้นที่เสี่ยงอยู่เสมอ ร้อยละ 74.8
    ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 50.1 ระบุว่า หากการระบาดของ COVID-19 ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเรื่องรายได้ และการประกอบอาชีพมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 27.4 ส่งผลกระทบต่อความวิตกกังวลว่าตนเองและคนในครอบครัวจะติดเชื้อ และร้อยละ 15.0 ส่งผลกระทบต่อเรื่องการเดินทาง
    เมื่อถามถึงความหวังกับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่กำลังจะมานี้เพียงใดว่าจะช่วยป้องกันและหยุดยั้งเชื้อในประเทศได้ คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 51.3 ระบุว่า มีความหวังปานกลาง รองลงมาร้อยละ 32.8 ระบุว่ามีความหวังมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 15.9 ระบุว่ามีความหวังน้อยถึงน้อยที่สุด
    ส่วนเรื่องที่คนไทยกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกัน COVID-19 คือ เรื่องผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน ร้อยละ 39.6 รองลงมาคือ เรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ร้อยละ 17.0 และเรื่องเชื้ออาจกลายพันธุ์ต้องคิดค้นวัคซีนใหม่
    สำหรับบทเรียนสำคัญที่คนไทยได้เรียนรู้จาก COVID-19 ในรอบ 1 ปี คือการปล่อยให้มีการลักลอบเข้าประเทศส่งผลเสียรุนแรง ร้อยละ 40.2 รองลงมาคือการปิดบังข้อมูลเท่ากับทำให้คนอื่นมีความเสี่ยง ร้อยละ 20.3 และคนเพียงบางกลุ่มที่ไม่ระวังตัวทำให้คนส่วนมากเดือดร้อน ร้อยละ 17.6.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"