ค้นร่องรอย"เมืองใต้ดิน" อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ


เพิ่มเพื่อน    

 

สำรวจด้วยธรณีเรดาร์รอบเขาคลังนอก อุทยานฯ ศรีเทพ พบมีโบราณสถานฝังใต้ดิน

 

     

     หนึ่งในเมืองโบราณอายุกว่าพันปีในประเทศไทย และยังคงหลงเหลือสภาพความเจริญรุ่งเรืองในอดีตให้เราได้ชมและสัมผัสกับคุณค่าอย่างเต็มที่นั้นก็คือ เมืองโบราณศรีเทพ ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ หลักฐานที่ค้นพบสะท้อนว่า บริเวณนี้เคยเป็นแหล่งที่ผู้คนอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีโบราณสถานสำคัญเรียงรายกันสวยงาม

      เมืองได้ถูกหยุดเวลาเอาไว้มานาน แต่เราได้เห็นหลักฐานสำคัญแต่ละยุคสมัย วิถีความเป็นอยู่ผู้คน ความทรงคุณค่าของอาณาจักรโบราณแห่งนี้ผ่านการขุดค้นทางโบราณคดีต่อเนื่อง และดูเหมือนว่ายิ่งสำรวจยิ่งพบความน่าตื่นเต้น เมื่อทีมนักวิจัยอนุรักษ์โบราณสถานและผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากร (ศก.) นำเครื่องวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและธรณีเรดาร์ สำรวจพื้นที่อุทยานฯ พบร่องรอย ทำให้มีข้อสันนิษฐานใหม่ว่า ยังมีมหานครลึกลับฝังอยู่ใต้พื้นดิน และรอการเปิดเผยให้โลกได้รับรู้ ข้อมูลนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสนับสนุนให้เมืองโบราณศรีเทพขึ้นสู่บัญชีมรดกโลกได้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

เก็บข้อมูลด้วยภาพถ่ายภาคพื้นดินและภาพโดรน ใช้ขอขึ้นมรดกโลก

 

      ความเชื่อมั่นว่า เมืองโบราณศรีเทพควรค่าแก่การขึ้นบัญชีมรดกโลก ทำให้ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ประเทศไทยนำเสนอให้ยูเนสโกพิจารณา โดยไทยจะต้องส่งเอกสารข้อมูลให้ยูเนสโกภายในวันที่ 1 ก.พ.2564 เพื่อให้ทันกับกรอบเวลาการพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 ไทยได้นำเสนอเมืองโบราณศรีเทพเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ที่กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจานพิจารณามาแล้ว ซึ่งที่ประชุมมีมติรับรองการขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List)

      ในการขับเคลื่อนให้อุทยานฯ ศรีเทพ สู่มรดกโลก ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งขั้นตอนของการศึกษาความเหมาะสมขึ้นบัญชีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน ทางกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำคำของบประมาณเพื่อพัฒนาพื้นที่แนวเขตที่ถูกกำหนดให้ครอบคลุมแก่การเป็นแหล่งมรดกโลก  พร้อมกับการปรับปรุงผังเมืองโดยรวม

รูปปั้นคนแคระที่เขาคลังนอก อุทยานฯ ศรีเทพ

 

      จากข้อมูลของกรมศิลปากรระบุว่า เมืองโบราณศรีเทพมีความเก่าตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ 2,500 ปี และได้ขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์มีอายุเก่าแก่ถึง 1,800 ปี และยุคทวารวดีที่มีความเก่าแก่ถึง 1,400 ปี นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย เนื่องจากยังเป็นพื้นที่ที่ปรากฏร่องรอยหลักฐาน สะท้อนถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีแหล่งอารยธรรมและวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปีจวบจนทุกวันนี้

      นครโบราณแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลก ขั้นตอนการสำรวจและค้นหายังไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ได้หลักฐานจากอดีตที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งข้อมูลและหลักฐานที่ค้นพบจะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำเอกสารขอตีตราขึ้นเป็นมรดกโลก นอกจากกรมศิลปากรที่เป็นหัวเรือใหญ่แล้ว คณะวิจัยจากสถาบันต่างๆ ยังเข้ามามีส่วนร่วมช่วยศึกษาสำรวจ

ใช้เทคโนโลยีสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ประเมินเสถียรภาพปรางค์ศรีเทพ

 

      รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าคณะวิจัยโครงการ “การสำรวจและประเมินความมั่นคงเพื่อการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์มรดกโลก ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า อุทยานฯ ศรีเทพเป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษาหลักงานวิจัยครั้งนี้ โดยนำองค์ความรู้ที่คณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้นจากเฟสแรกที่อุทยานฯ พระนครศรีอยุธยามาผนวกกับการวิจัยเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานทางวิศวกรรมสำหรับขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก

      “ ผมนำคณะนักวิจัยสำรวจภาคสนาม รวบรวมข้อมูลเชิงโครงสร้างในสภาพปัจจุบันของโบราณสถานที่สำคัญของอุทยาน ได้ผลการบันทึกภาพดิจิทัลจากการถ่ายภาพภาคพื้นดิน และถ่ายภาพมุมสูงโดยโดรน ข้อมูลจะไปประมวลเป็นรูปทรง 3 มิติของโบราณสถาน รวมถึงเก็บข้อมูลตำแหน่งและขนาดของรอยร้าวปัจจุบัน ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลวางแผนบำรุงรักษาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป เราพบชั้นดินบริเวณโดยรอบปรางค์ฤาษีที่เอียงตัวทางด้านข้าง ต้องประเมินสาเหตุ รวมถึงแนวทางปรับปรุงให้โครงสร้างมั่นคง” รศ.ดร.นครกล่าว

      โบราณสถานหลัก 4 แห่งที่สำรวจ ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์ฤาษี เขาคลังนอก และเขาคลังใน ใช้เทคโนโลยีการสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อประเมินเสถียรภาพของโครงสร้าง พร้อมทั้งเป็นฐานข้อมูลติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างโบราณสถานในอนาคต เรื่องนี้ รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำภายใต้โครงการ “การใช้ฐานข้อมูลดิจิทัลสำหรับงานวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนในการอนุรักษ์โบราณสถานหรืออาคารโบราณในชุมชน”

ทดสอบวัสดุโบราณจากเมืองโบราณศรีเทพในห้องปฏิบัติการ มจธ. 

 

      คณะวิจัยยังได้รวบรวมวัสดุโบราณ และวัสดุทดแทน ภายใต้ความอนุเคราะห์จากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสมบัติทางกายภาพและทางกลของวัสดุตัวอย่าง เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวิเคราะห์และประเมินโครงสร้างให้มีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น

      ทั้งนี้ สำนักศิลปากรในเขตพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงสามารถนำองค์ความรู้และฐานข้อมูลที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากโครงการของเหล่านักวิจัยไป

ต่อยอด เพื่อพัฒนาและวางแผนกิจกรรมอนุรักษ์โบราณสถานในพื้นที่ศึกษาถูกต้องตามหลักวิชาการอีกด้วย

 

  

    การขุดค้นทางโบราณคดีค้นหาความจริง ซึ่งจะช่วยเติมเต็มการก้าวสู่มรดกโลก โดยมี ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้า โครงการการประยุกต์ใช้การสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานและการขุดค้นทางโบราณคดี ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร เข้าสำรวจธรณีฟิสิกส์แบบผสมผสานด้วยวิธีการวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าและธรณีเรดาร์บริเวณพื้นที่รอบๆ เขาคลังนอก อุทยานฯ ศรีเทพ ซึ่งคณะนักสำรวจได้พบกับความน่าตื่นเต้น

      “เราพบบริเวณที่มีค่าการเหนี่ยวนำไฟฟ้าสูงกว่าปกติ ชี้ว่า อาจจะมีโครงสร้างโบราณสถานหรือโบราณวัตถุฝังอยู่ข้างใต้ จะนำผลศึกษาที่ได้หารือกับอุทยานฯ ศรีเทพ และกรมศิลปากรเพื่อวางแผนการขุดค้นต่อไป และมอบผลศึกษาที่ได้ให้เป็นงานวิชาการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” ผศ.ดร.ภาสกรมั่นใจผลวิจัยน่าตื่นเต้น จะวิจัยเชิงลึกต่อ

      ความคืบหน้าและความแข็งขันจากหลายภาคส่วนในการสำรวจอุทยานฯ ศรีเทพ แสดงถึงความพร้อมในการเตรียมเอกสารเมืองโบราณเสนอบัญชีรายชื่อมรดกโลกอีกไม่กี่วันนับจากนี้.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"