จ่อเยียวยาม.33ผ่านแอปฯ


เพิ่มเพื่อน    

"อาคม" เผยมาตรการเยียวยากลุ่มมาตรา 33  ยังหารืออยู่ คาดได้ผลสรุปเร็วๆ นี้ แต่ที่ชัดเจนคือจ่ายผ่านแอปเหมือนเราชนะ "คลัง" โปรยหาหอม "สภาหอการค้าไทย"  รับลูกข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ขอเวลา 1 เดือนแจงความคืบหน้า

    เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ว่า ต้องใช้ฐานข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มาพิจารณาทั้งหมดว่าต้องช่วยเหลือแรงงานในกลุ่มใดบ้าง แต่รูปแบบการจ่ายเงินเยียวยาจะเป็นลักษณะเดียวกับมาตรการเราชนะ ที่โอนวงเงินผ่านแอปพลิเคชัน โดยรายละเอียดกำลังหารือกัน ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
    ทั้งนี้ นายอาคมยังได้กล่าวถึงการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยว่า หอการค้าไทยได้ขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการหลายเรื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยวและวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)  เพราะขณะนี้ธุรกิจโรงแรมเริ่มมีปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา จึงเสนอให้ยกเว้นเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีมติให้เลื่อนการยื่นแบบฟอร์มเสียภาษีออกไป 3 เดือนแล้ว
    ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังหารือกับนายอาคมว่า ภาคเอกชนขอขอบคุณกระทรวงการคลังที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2563 ไปถึง 30 มิ.ย., การลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบปี 2564 ลง 90% และการสนับสนุนการลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเอกชนผู้ปลูกป่าเศรษฐกิจ รวมทั้งที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย  (ธสน.) ขยายระยะเวลาสำหรับสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยให้บริการถึง 30 มิ.ย.64
    นายกลินท์ยังกล่าวถึงข้อเสนอที่หอการค้าไทยได้ร่วมหารือว่า ประกอบด้วย 1.การเตรียมความพร้อมเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งเรื่องภาษีออนไลน์คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณไตรมาส 4  ของปีนี้ 2.การออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อร่วมดูแลและป้องกันการระบาดโควิด-19 ขอให้ออกมาตรการลดหย่อนภาษีหรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งกระทรวงได้ขอให้หอการค้าไทยนำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุม ศบค.พิจารณา 3.การจัดตั้งกองทุน  Asset Warehousing และกองทุน Real Estate Investment  Trust (REIT) เพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจโรงแรม ซึ่งกระทรวงอยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) คาดว่าจะชัดเจนใน 1-2 สัปดาห์
    4.การเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจค้าปลีก 5.มาตรการด้านภาษีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนายอาคมได้ให้กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำข้อเสนอไปดูรายละเอียดต่อไป และขอให้กรมสรรพากรดูเรื่องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในส่วนของงานอีเวนต์ 6.มาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการยกเลิกการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยกำหนดอัตราสินเชื่อต่อมูลค่าที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ชั่วคราว ซึ่งกระทรวงรับเรื่องไว้พิจารณา
    7.มาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งกระทรวงยินดีสนับสนุน 8.การเสริมสร้างขีดความสามารถธุรกิจพาณิชย์นาวี 9.แนวทางการพัฒนาด้านการค้าชายแดน 10.การเพิ่มช่องทางให้เข้าถึงแหล่งหางานทำ ซึ่งกระทรวงโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะประสานงานกับกระทรวงแรงงานต่อไป
    "กระทรวงการคลังรับข้อเสนอของหอการค้าไทย โดยจะประสานงานและติดตามความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และจะรายงานผลให้ทราบภายใน 1  เดือนหลังจากนี้" นายกลินท์กล่าว
    วันเดียวกัน ที่ประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี นำโดย น.ส.ธนพร วิจันทร์ เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ทวงถามมาตรการเยียวยาอย่างถ้วนหน้า โดยให้จ่ายเป็นเงินสดเพื่อสะดวกต่อการเข้าถึง และเรียกร้องให้รัฐอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าอายุ 0-6 ปี  เดือนละ 600 บาท ตั้งแต่ ก.พ.64
    ขณะที่นายทักษะศิลป์ อุดมชัย ตัวแทนกลุ่มคนทำงานสถานบันเทิง นักร้อง นักดนตรี และผู้ประกอบอาชีพกลางคืน  มายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้ง หลังยื่นไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ม.ค. โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ให้รัฐบาลทบทวนเนื้อหาของหนังสือขอความช่วยเหลือที่ยื่นไปแล้วเมื่อวันที่ 8  ม.ค.อย่างเร่งด่วน 2.ขอให้ทบทวนมาตรการเยียวยาเราชนะเป็นเงินสด และ 3.หากกลางเดือน ก.พ.สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ขอให้กลุ่มสามารถกลับไปทำงาน โดยจะยินยอมให้มีมาตรการร่วมกันของทางภาครัฐและ ศบค. ทั้งนี้ในการยื่นหนังสือดังกล่าวที่มีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ เป็นผู้รับนั้น นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เดินทางสังเกตการณ์และรับข้อเรียกร้องด้วย
    โดยนายปกรณ์วุฒิกล่าวด้วยว่า ในฐานะที่เคยอยู่ในแวดวงนักดนตรีกลางคืนเข้าใจสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดี และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษางบประมาณโควิด สภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาอย่างทั่วหน้าและตรงจุด อีกทั้งจะนำประเด็นดังกล่าวเตรียมพร้อมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะสะท้อนให้เห็นการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์.
        

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"