สร้างแลนด์มาร์คใหม่ให้ 5 คูคลองหัวใจพระนคร


เพิ่มเพื่อน    

คลองหลอดวัดราชนัดดา คลองขุดสมัย ร.1 พัฒนาสร้างแลนด์มาร์คใหม่ 

 

 

 

     เศรษฐกิจที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน รากฐานต้องมาจากวัฒนธรรมและชุมชนที่แข็งแรง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งมีแนวทางที่จะพัฒนาพื้นที่ด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและนวัตกรรมทันสมัยได้คัดเลือกโครงการ "ศิลปะร่วมสมัยสร้างสรรค์แลนด์มาร์คใหม่ให้หัวใจพระนคร” เป็น 1 ใน 43 โครงการที่ได้รับการจัดสรรทุนส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จากผู้เสนอโครงการเข้ามาพิจารณารวมทั้งสิ้น 337 โครงการ                    
    “ ศิลปะร่วมสมัยสร้างสรรค์แลนด์มาร์คใหม่ให้หัวใจพระนค ร” เป็นโครงการที่กลุ่มศิลปิน มีกิม สตูดิโอ และชุมชนบริเวณรอบคูคลองในกรุงเทพมหานคร จะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้สอดคล้องกับวิถีชุมชน เพื่อให้กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมใหม่ๆ ดึงดูดทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้มาเยี่ยมเยือนหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลาย
        มีทั้งผลงานศิลปะที่รังสรรค์ใหม่ ผลงานออกแบบต่างๆ ประเภทกราฟฟิก ออกแบบบรรจุภัณฑ์ สินค้าที่ระลึกของชุมชน ปรับโฉมร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมแต่ละแห่ง ด้วยงานดีไซน์ให้มีจุดเด่นที่น่าสนใจ รวมถึงจัดทำเพจศิลปะ เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือสื่อใหม่ต่างๆ กิจกรรมขับเคลื่อนภายใต้องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ 

 

เสน่ห์คลองรอบกรุง มีศิลปะและสถาปัตยกรรมงดงาม


    กลุ่มศิลปินมีกิม สตูดิโอ คัดเลือกพื้นที่คูคลอง 5 แห่งรอบกรุงที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนให้มีชีวิตชีวา ได้แก่ 1.คลองคูเมืองเดิม เป็นคลองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเป็นคูเมืองด้านตะวันออกของกรุงธนบุรี ขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ด้าน ปากคลองฝั่งเหนือบริเวณท่าช้างวังหน้า ปากคลองฝั่งใต้บรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโรงเรียนราชินี ซึ่งมีสถานที่ประวัติศาสตร์รอบคลอง ป้อมปราการเด่นเป็นสง่ารอบคลอง นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมของอาคาร สถานที่รอบริมคลองสวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจ 

 

วิถีคลองคูเมืองเดิม ต่อยอดให้น่าสนใจ 


    2.คลองหลอดวัดราชนัดดา ซึ่งเป็นคลองขุดที่รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นปี 2326 เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาอยู่ฝั่งพระนคร เชื่อมคลองคูเมืองเดิมออกไปบรรจบกับคลองรอบกรุง 2 คลอง เรียกชื่อตามลักษณะคลองว่า “คลองหลอด” เที่ยวรอบคลองมีวัดเทพธิดารามวรวิหาร อดีตที่พำนักของสุนทรภู่ โลหะปราสาทหนึ่งเดียวในโลกวัดราชนัดดา ภูเขาทอง วัดสระเกศ วัดโบราณสมัยอยุธยา รวมถึงหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน พื้นที่จัดแสดงศิลปะร่วมสมัย หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และย่านบางลำพูที่ทุกคนคุ้นเคย

 

ภาพศิลปะลายเส้นคลองคูเมืองเดิม ฝีมือศิลปินร่วมสมัยในโครงการ 


    3.คลองหลอดวัดราชบพิธ เริ่มจากคลองคูเมืองเดิมตรงวัดราชบพิธ ผ่านถนนราชบพิธ ถนนดินสอ ถนนมหาไชย บรรจบคลองรอบกรุงตอนเหนือสะพานดำรงสถิต คลองนี้สำคัญต่อวิถีชีวิตคนในอดีตใช้สัญจรทางน้ำและค้าขาย รวมถึงใช้พร่องน้ำระบายน้ำบรรเทาน้ำท่วมกรุง 4.คลองโอ่งอ่าง คลองสำคัญกลางกรุงเทพฯ ทอดยาวจากคลองมหานาคถึงเจ้าพระยายาว 1,900 เมตร ขุดสมัย ร.1 เช่นกัน เป็นย่านค้าขายแต่อดีต กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนตลอดคลองเป็นโบราณสถานของชาติ ปัจจุบันมีการปรับปรุงและพัฒนาทัศนียภาพใหม่รอบคูคลอง มีถนนคนเดินคลองโอ่งอ่างคึกคัก รอบคลองมีวัดชนะสงคราม วัดโสมนัส หรือวัดบพิตรพิมุข นอกจากนี้ ใกล้สำเพ็ง ย่านการค้าที่มีประวัติศาสตร์คู่กรุงรัตนโกสินทร์ 
    คูคลองที่ 5 คลองผดุงกรุงเกษม เป็นคลองรอบพระนครชั้นนอก รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดเมื่อปี 2394 ทรงเห็นว่าบ้านเมืองเจริญ ควรขยายเมืองออกไป ความยาว 5.5 กม. ขุดเสร็จปี 2395 คลองตัดผ่านคลองมหานาค ผ่านบริเวณหัวลำโพงปัจจุบัน ถือเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าสำคัญ เป็นอีกคลองอนุรักษ์ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบมีมากมาย ก่อนโควิดมีตลาดน้ำคลองผดุงกรุงเกษม มีล่องเรือชมคลองย่านเทเวศร์ถึงหัวลำโพง ตอนนี้งดบริการ


    ปิยะธิดา ไกรกิจราษฎร์ ผู้แทนกลุ่ม มีกิม สตูดิโอ บอกว่า โครงการ “ศิลปะร่วมสมัยสร้างสรรค์แลนด์มาร์คใหม่ให้หัวใจพระนคร” ที่ผ่านการพิจารณากองทุนศิลปะร่วมสมัยรับทุนจาก สศร. กลุ่มมีกิม สตูดิโอ ต่อยอดจาก "โครงการรักษ์คูคลองเมืองเดิมเฉลิมพระเกียรติ” ซึ่งกลุ่มได้มีส่วนร่วมจัดทำให้สำนักงานเลขานุการสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมเมื่อปี 2563 เป็นโครงการฟื้นฟูและพัฒนาคูคลองตามแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.10 เพราะคูคลองรอบกรุงที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิต สร้างระหว่างตั้งเมืองหลวงใหม่ เปรียบเหมือนหัวใจพระนคร การฟื้นฟู สร้างการรับรู้ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ส่วนโครงการศิลปะร่วมสมัยฯ จะมีขั้นตอนการทำงานลงพื้นที่กับชุมชน และประชุมหาไอเดียเพื่อผลิตผลงานใหม่ๆ ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันนี้ 20 พ.ย.2563 ถึงวันที่ 20 ส.ค.2564 
    “ เราจะพัฒนางานในรูปแบบใหม่ๆ และนำความสามารถด้านศิลปะและเทคโนโลยีต่างๆ ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการพัฒนาศิลปะเพื่อชุมชน คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าการพัฒนาชุมชน สร้างพื้นที่ตัวอย่างพัฒนาชุมชนโดยศิลปะร่วมสมัย กลุ่มสามารถนำเครือข่ายและองค์กรหลายภาคส่วนร่วมพัฒนาโครงการนี้ กลุ่มมีกิม สตูดิโอ จะจัดสร้างผลงานศิลปะในบริเวณคูคลองเมืองเดิม จะนำกลุ่มศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่หลายแขนงมาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อชุมชน มีการปรึกษากับชุมชนในการสร้างชิ้นงาน เพื่อให้ศิลปินออกแบบสร้างแลนด์มาร์คใหม่ และจัดทำนิทรรศการศิลปะกับชุมชนขึ้นที่ชุมชนรอบคูคลองเมืองเดิม เป้าหมายสู่แหล่งท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมแบบร่วมสมัยที่มีความทันสมัย มีเอกลักษณ์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทย" ปิยะธิดา ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวทิ้งท้าย 
    เป็น 1 โครงการที่น่าจับตาสู่การพัฒนาต่อยอดชุมชนในปีที่สังคมยังต้องต่อสู้กับไวรัสและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"