กองทัพเรือเปิด"โคก หนอง นา" ชูปลูกผัก-เลี้ยงสัตว์ พึ่งพาตัวเอง


เพิ่มเพื่อน    

   

 

 

      พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารจากสายพระเนตรอันกว้างไกลได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตการเกษตรและปศุสัตว์ การเข้าถึงแหล่งความรู้ด้านวิชาการเกษตรสมัยใหม่ ให้สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิผล

        ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้าทดลองและวิจัย เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติ ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ประหยัด เหมาะสมกับสภาพสังคม และสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง จึงเกิดโครงการตามพระราชดำริหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” อันเป็นการจัดการและการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงศึกษา คิดค้นและวิจัยแล้วพระราชทานให้แก่พสกนิกรชาวไทยใช้ในการจัดการลุ่มน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ สู่ปลายน้ำ จากภูผาสู่มหานที เมื่อนำองค์ความรู้นี้มาปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

      กองทัพเรือได้น้อมนำแนวทางตามพระราชดำริมาดำเนินการในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน แก่หน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพเรือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังพลและครอบครัวของกองทัพเรือ ตลอดจนประชาชนได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ในศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิผล

      สำหรับโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา กองทัพเรือ” นั้น กองทัพเรือได้ดำเนินการโดย น้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9  มาประยุกต์เป็นต้นแบบให้กำลังพลกองทัพเรือ และครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป ใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง  

      ล่าสุด พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ และ นางจุฬารัตน์ ศรีวรขาน นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นประธานเปิดโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา กองทัพเรือ” พร้อมทั้งร่วมปล่อยพันธุ์ปลาและปลูกข้าวในแปลงนาสาธิต ณ ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ตำบลเกล็ดแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี  โดยมี ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา กองทัพเรือ” ในพื้นที่รับผิดชอบอื่น ๆ ของกองทัพเรือ ร่วมเปิดโครงการพร้อมกันผ่านการถ่ายทอดในระบบการประชุมทางไกล

    โครงการนี้สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยปัจจุบันพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ ของกองทัพเรือ มีจำนวนทั้งสิ้น  7 พื้นที่ จาก 10 หน่วยงาน ประกอบด้วยพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2 หน่วยงาน คือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ และกรมยุทธศึกษาทหารเรือ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 

 

 

      พื้นที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 3 หน่วยงาน คือ กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบและหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อำเภอสัตหีบ พื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 หน่วยงาน คือ กรมสวัสดิการทหารเรือ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว พื้นที่ จังหวัดตราด จำนวน 1 หน่วยงาน คือ ทัพเรือภาคที่ 1 อำเภอแหลมงอบ

     พื้นที่ จังหวัดสงขลา จำนวน 1 หน่วยงาน คือ ทัพเรือภาคที่ 2 อำเภอเมืองสงขลา  พื้นที่ จังหวัดพังงา จำนวน 1 หน่วยงาน คือ ทัพเรือภาคที่ 3 อำเภอท้ายเหมือง  พื้นที่ จังหวัดจันทบุรี จำนวน 1 หน่วยงาน คือ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน อำเภอโป่งน้ำร้อน

        โครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา กองทัพเรือ” ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นมา มีการปฏิบัติที่สำคัญได้แก่ การให้ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งออกเป็นฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ เช่น ฐานการปลูกต้นไม้ ฐานการปลูกมะนาวในบ่อวงซีเมนต์ ฐานการเลี้ยงปลา ฐานการเลี้ยงกบ ฐานการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ ฐานการเลี้ยงหมู

      ฐานการทำปุ๋ยหมัก ฐานการเลี้ยงไก่ และฐานการปลูกอ้อยเป็นต้น ซึ่งปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆของกองทัพเรือ มีความพร้อมในระดับ “ก้าวหน้า” สามารถประชาสัมพันธ์ให้กำลังพล ครอบครัว และประชาชนสามารถเข้าเยี่ยมชมโครงการ เพื่อศึกษาและนำไปใช้เป็นแนวทางการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเองตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

      โคก หนอง นา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตรที่เป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก - หนอง - นา โมเดล เป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งโคก - หนอง - นา โมเดล เป็นแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน

 

     องค์ประกอบสำคัญ ประกอบด้วย โคก : พื้นที่สูง ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริ  ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขายและเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

     หนอง : หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก) / ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ ทำฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง  พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

      นา : พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน / ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา

       ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา กองทัพเรือ” พร้อมเปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดตามพระราชปณิธาน ร.10 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"