'แผนปฏิบัติการวัฒนธรรมหนังสือ' อ่านเป็นเล่มไม่มีวันตาย


เพิ่มเพื่อน    

 

 

                 ทุกวันนี้พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยมีอัตราเฉลี่ยลดลง หนึ่งในปัญหาสำคัญคือโอกาสในการเข้าถึงหนังสือหรือข้อมูลของประชาชนมีน้อย ขาดการส่งเสริมการอ่าน ขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมการอ่านและการผลิตหนังสือ ห้องสมุดที่ผุดขึ้นในปัจจุบันหลายแห่งมีค่าสมัครสูงเพื่อแลกกับการอ่าน  

                ในระดับท้องถิ่นส่วนใหญ่พบปัญหาไม่มีสถานที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ตำบล หรือชุมชน หรือที่เปิดให้บริการก็มีสภาพที่ไม่เหมาะสมต่อการอ่านหนังสือ หนังสือที่อยากอ่านไม่มีในระบบ บางแห่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเพียงสถานที่จัดเก็บหนังสือเสียมากกว่า ทั้งที่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ควรเป็นที่ที่คนทุกเพศทุกวัย เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ สามารถถึงได้ง่าย เท่าเทียม

                ปัญหาทั้งหมดนี้เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ และต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างวัฒนธรรมหนังสือให้เกิดขึ้นในบ้านเรา ล่าสุด มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม  มูลนิธิวิชาหนังสือ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันไทยศึกษา เรื่องความร่วมมือการส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทยที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

 

พิธีลงนาม MOU ระหว่าง สวธ. มูลนิธิวิชาหนังสือ และจุฬาฯ ส่งเสริมวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของไทยครั้งแรก

 

          อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า เอ็มโอยูครั้งนี้เป็นวาระสำคัญของชาติที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือ  เพราะหนังสือเป็นเครื่องมือ ทำให้มนุษย์มีการสื่อสารซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การถ่ายทอดจินตนาการ และการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการบันทึกเป็นภาพเขียนสีในถ้ำ การประดิษฐ์อักษรของแต่ละชาติ ประเทศไทยมีลายสือไทยตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงเป็นต้นมา  จากตัวหนังสือที่เขียนลงบนหิน ใบลาน สมุดข่อย จนเป็นกระดาษในปัจจุบัน เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้น หนังสือก็เปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลมากขึ้น 

                รมว.วธบอกว่า การพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของชาติตามนโยบายหลัก 4 ประการของกระทรวง คือ การมีส่วนร่วมกับภาคสังคม โดยส่งเสริมงานวิชาการระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ชาวบ้าน ครูอาจารย์ ครูภูมิปัญญา ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ซึ่งกรมส่งเสริมวัฒนธรรมมีทั้งกลุ่มงานด้านการศึกษา และกลุ่มงานด้านวัฒนธรรม การค้นคว้าวิจัย 

      “ เอ็มโอยูมีข้อตกลงและเวลาการวิจัยหนึ่งปีเพื่อจะผลักดันเรื่องแผนปฏิบัติการวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทยเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติแผนปฏิบัติการ ซึ่งเป็นแผนระดับสามเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และประกาศให้หนังสือเป็นวัฒนธรรมของชาติ “ นายอิทธิพล กล่าว  

      สำหรับความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้จะมีการสร้างองค์ความรู้ร่วมกัน จุฬาฯ เป็นภาคีหลักดำเนินการวิจัย ส่วนมูลนิธิวิชาหนังสือจะส่งเสริมระบบหนังสือในมิติต่างๆ ครบถ้วน ตั้งแต่การประพันธ์จนถึงอุตสาหกรรมหนังสือ และให้กำลังใจร้านหนังสือต่างๆ ที่ยังเปิดกิจการ

               “ การประกาศวัฒนธรรมหนังสือเพื่อให้มีผู้รับผิดชอบเรื่องหนังสือเพียงหน่วยงานเดียว ง่ายต่อการจัดระเบียบระบบต่างๆ เพราะปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ เช่น วธ. มีกรมศิลปากรที่จัดทำหอสมุดแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  มีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จัดทำห้องสมุดประชาชน และกระทรวงอื่นๆ ก็มีการดำเนินการ แต่ไม่มีกระทรวงหลัก ดังนั้น แผนปฏิบัติการนี้จะมีการจัดระบบ มีแผนงานโครงการ และมีงบประมาณเพื่อความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น  “ นายอิทธิพล กล่าว

 

            ด้าน ชาย  นครชัย อธิบดี สวธ. กล่าวว่า เอ็มโอยูฉบับดังกล่าวกำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2569 )  มีเป้าหมายให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการอ่านหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ที่ดีมีคุณภาพอย่างเท่าเทียม  อีกทั้งร่วมกันเผยแพร่และประกาศนโยบาย หนังสือ คือ วัฒนธรรมของชาติ รณรงค์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและส่งเสริมรากฐานของวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือของประเทศ และกลไกการเผยแพร่หนังสือทุกรูปแบบ    

            มกุฏ อรฤดี  เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  กล่าวว่า ประเทศไทยมีห้องสมุดและสำนักพิมพ์ที่ส่งเสริมการอ่าน แต่ยังไม่มีการจัดทำระบบหนังสือของชาติ จึงไม่อาจจะรู้ได้ว่า แต่ละปีมีการผลิตหนังสือออกมากี่เล่ม มีเรื่องอะไรบ้าง มีสาระสำคัญอะไรบ้าง ประชาชนเข้าถึงและเข้าไม่ถึงหนังสือมีจำนวนเท่าไหร่ เมื่อไม่มีข้อมูลเลย จะพัฒนาประเทศต่อไปไม่ได้

           “ การจัดทำระบบหนังสือนี้เป็นครั้งแรก โดยมอบหมายให้สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ  รวบรวมประมวลผลเกี่ยวกับปัญหาระบบหนังสือ ระบบความรู้ของประเทศ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กเยาวชนไปจนถึงผู้สูงอายุ ด้วยการใช้โจทย์จากความไม่รู้ดังกล่าวมาศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ชุดข้อมูลตอบโจทย์ที่สำคัญ คือ  มีคนในประเทศจำนวนเท่าไหร่ที่เข้าไม่ถึงหนังสือ ซึ่งจะไม่พิจารณาแค่ความรู้ผิวเผินที่เกิดจากอินเทอร์เน็ต แต่ต้องเป็นความรู้ที่แตกฉานจากการอ่านหนังสือโดยแท้จริง ซึ่งจะศึกษาห่วงปัญหา 14 ห่วง เช่น  ผู้ผลิต นักเขียน พ่อแม่  ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา  แล้ววิเคราะห์ หาทางแก้ปัญหาเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย หลังวิจัย 1  ปี   สวธ. จะเสนอให้หนังสือคือวัฒนธรรมของชาติ  ทั้งการส่งเสริม การผลิตหนังสือเล่มและอีบุ๊ก ส่งผลให้มีผู้ดูแลระบบหนังสือจริงจัง “ มกุฏ กล่าว    

 

       เลขานุการมูลนิธิฯ ย้ำที่ผ่านมาเราไม่เคยมีระบบหนังสืออย่างจริงจัง เราไม่อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกดีใจและตื่นเต้นกับหนังสือกระดาษ คนไทยจึงเข้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ความรู้ที่ได้รับไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง ที่น่าห่วง คือ ชาวบ้านเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ของชาติมีมากถึง ร้อยละ 80  ดังนั้น การสร้างระบบหนังสือนี้ขึ้นมาเป็นการสร้างทัศนคติให้คนไทยอ่านหนังสือรูปเล่ม สร้างสิ่งจูงใจให้เห็นประโยชน์จากการอ่านหนังสือ  จะทำให้คนที่เข้าไม่ถึงองค์ความรู้ได้เข้าถึง และนำไปใช้พัฒนาตนเอง พัฒนาชาติ

                การเดินไปให้ถึงเป้าหมาย มีภาคีสำคัญ คือ จุฬาฯ ศ.ดร.จักรพันธุ์ สุทธิรัตน์  รองอธิการบดีจุฬาฯ  กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมหนังสือ เพื่อสร้างคุณภาพคนไทยให้มีความรู้และจินตนาการที่ทันยุคสมัยพร้อมจะแข่งขันในเวทีโลก เพราะการอ่านสร้างองค์ความรู้ นำไปสู่การคิดต่อยอด การพัฒนา และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หนังสือสามารถสร้างคุณภาพคนและสร้างพื้นฐานที่ดีของชาติได้ แม้ปัจจุบันบทบาทของหนังสือ สิ่งพิมพ์ จะลดลงไป แต่การอ่านยังเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นกลไกขับเคลื่อนพัฒนาการของสังคมไม่ด้อยไปกว่าอดีต จุฬาฯ จึงสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาวัฒนธรรมหนังสือและระบบหนังสือไทย งานวิชาการและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"